Skip to main content
sharethis

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ซึ่งบางคนบอกว่าสนับสนุนคนเสื้อแดง และถูกบล็อคมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถูกจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ก.ย.) ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและละเมิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากอนุญาตให้มีการโพสต์ความเห็นโดยผู้ใช้ หลังกลับจากการสัมมนาเรื่องเสรีภาพในโลกไซเบอร์ที่ประเทศฮังการี เธอถูกควบคุมไปที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อต่อสู้คดีซึ่งถูกแจ้งความเมื่อสองปีก่อน ล่าสุด เธอได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 200,000 บาท และได้ให้สัมภาษณ์กับประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น
 

ประวิตร: แปลกใจกับการจับกุมอย่างกระทันหันนี้หรือไม่
จีรนุช: มากๆ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้น หมายจับนี้ออกมามากกว่าหนึ่งปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยทราบเลย อันที่จริงก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งแล้ว (หลังจากที่มีหมายจับออกมา) ไม่เคยเจอปัญหา มีเพียงเมื่อตอนเดินทางออกที่ถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ขอให้หยุด 5 นาที โดยแจ้งว่าชื่อของฉันไปพ้องกับชื่อของคนที่ถูกออกหมายจับ 5 ชั่วโมงที่ต้องเดินทางไปขอนแก่น และกลับถึงกรุงเทพฯ ตอนสิบโมงเช้าในวันต่อมา ตอนที่ถูกจับค่อนข้างกังวลว่าจะไม่ได้รับการประกันตัว

คิดอย่างไรกับการถูกจับในช่วงนี้ ทั้งที่มีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ขอนแก่นนานแล้ว
ไม่สามารถเข้าใจหรือหาคำตอบได้ ยืนยันว่าไม่เคยได้รับหมายเรียก แม้ว่าจะถูกออกหมายจับ ตำรวจขอนแก่นบอกว่า พวกเขาไม่ได้เตรียมจะจับกุม แต่จู่ ๆก็ได้รับการติดต่อจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองว่าได้ดำเนินการจับกุมแล้ว

ต้องทำอะไรต่อไป
ต้องรอดูว่าอัยการจะส่งฟ้องหรือไม่ คดีแรก (คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ส่งฟ้องแล้วและยังอยู่ในชั้นศาล หลังจากได้รับการประกันตัวครั้งนี้ ก็จะต้องไปรายงานตัวที่ สภอ.ขอนแก่น ทุกเดือน ซึ่งนับว่าเป็นภาระพอสมควร

กรณีนี้กระทบกับชีวิตของคุณอย่างไร
โดยส่วนตัวก็ตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม กรณีแบบนี้ถ้าเราต้องการกลั่นแกล้งใคร เราก็สามารถแจ้งความไว้ที่สถานีไกลๆ ที่ไหนก็ได้ แล้วคนที่เป็นผู้ต้องหาหรือถูกกล่าวหาก็ต้องเดินทางไปแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในแง่การประกันตัวตามระเบียบเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกหมายจับได้ตามอัตราโทษ ทว่าในหลักปฏิบัติที่จะให้ความเป็นธรรมต่อคนที่ยังเป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา และไม่ได้มีพฤติการณ์ของการหลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การออกหมายเรียกจะเปิดโอกาสให้ไม่ต้องเผชิญกับความยุ่งยากในชีวิต อย่างการประกันตัว เพราะหากเป็นหมายเรียกแล้วเราไปรายงานตัวก็เข้าสู่กระบวนการของการสู้คดี แต่พอแบบนี้เหมือนกับเราถูกจับเข้าสู่ทางเลือกที่ไม่มีทางเลือก เพราะวันนั้นถามไปทางตำรวจที่คุมตัวว่าหากไม่ไปขอนแก่นได้หรือไม่ ก็ได้คำตอบว่า ไม่ได้ ดูเหมือนว่า เรามีทางเลือกที่ถูกเลือกไว้ให้แล้วเท่านั้นเอง

เคยรู้จักผู้ฟ้องมาก่อนไหม
ไม่รู้จัก เท่าที่ทราบเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

คิดอย่างไรต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในหลายส่วนทั้งภาครัฐเองหรือคนในกระบวนการยุติธรรมเองก็เคยยอมรับว่ามีปัญหาอยู่ในกระบวนการ เพียงแต่ยังไม่ถูกดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่มีการนำกฎหมายมากลั่นแกล้งใคร หรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม ดูเหมือนว่ากลไกการนำกฎหมายนี้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปกป้องสถาบันยังไม่ถูกดำเนินการอย่างแท้จริง และเห็นชัดว่า คนที่ฟ้อง ซึ่งเราไม่รู้จักเลย นึกอยากจะฟ้อง-ร้องทุกข์ก็สามารถทำได้ และอยากไปร้องทุกข์ที่ไหนก็ได้ ยังคุยตลกกันว่า ดีที่เขาไม่ได้ฟ้องที่นราธิวาส ไม่เช่นนั้นวันนั้นก็คงต้องไปนราธิวาส อันนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับจังหวัดนราธิวาส เพียงแต่มันไกลมากๆ หากต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ

สถานการณ์ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
คิดว่ามีปัญหาแน่ๆ และคงต้องช่วยกันทบทวนและช่วยกันพิจารณาทั้งในแง่ข้อกฎหมาย บรรยากาศ และปัญหาในแง่ความเข้าใจต่อพื้นที่ของสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต ที่เป็นวัฒนธรรมใหม่ วัฒนธรรมเปิด ที่สังคมยังไม่เข้าใจและกลายเป็นพื้นที่จำเลยของการกดบังคับ หรือถูกทำให้เงียบ เนื่องจากมันเป็นพื้นที่ที่คนรู้สึกว่าน่าจะพูดได้ แล้วก็อาจจะมีความรู้สึกของคน ไม่เฉพาะในฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ของคนในสังคมเองที่อาจจะไม่ค่อยพึงพอใจนักต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนอย่างเปิดๆ อาจจะรู้สึกหวั่นไหวต่ออะไรแบบนี้ ก็อยากจะทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ที่ควบคุมได้และเงียบ และมีข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้ในแง่ของการบังคับ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะซับซ้อนเพิ่มขึ้นบางประการแบบนี้ และเป็นกฎหมายใหม่ จากที่ตัวเองประสบมาเห็นว่าอาจจะยังมีช่องว่างหรือจุดอ่อนของกระบวนการบังคับที่ก่อให้เกิดปัญหาคือความไม่เป็นธรรมต่อคนที่ถูกดำเนินคดี

โทษใครไหมกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา
พยายามจะไม่โกรธ แต่คิดว่าต้องแฟร์กับคนที่โพสต์ด้วยเพราะหลายอันยังไม่มีใครบอกว่าข้อความนั้นผิดกฎหมายจริงหรือไม่ คือการที่จะบอกว่าอันไหนผิดหรือไม่ผิดจริงๆ โดยหลักการถึงที่สุดควรจะเป็นการตัดสินในชั้นศาล เพราะฉะนั้น ถ้าจะโกรธ ก็คงอยากโกรธความไม่ชัดเจนในสังคมไทย ความไม่สามารถอดทนที่จะยอมรับต่อความเห็นต่างของผู้คนในสังคมได้ และเลือกวิธีที่จะกดให้สิ่งเหล่านั้นมันเงียบให้หายไป ไม่ได้โกรธเป็นตัวบุคคล อย่างคุณอภิสิทธิ์ เองก็คิดว่าคงอยู่ในฐานะที่ไม่ง่ายนักและไม่สนุกนักกับการอยู่ในบรรยากาศแบบนี้ แต่ในฐานะผู้นำรัฐบาลก็คาดหวังว่าเขาน่าจะแก้ปัญหาหรือทำอะไรได้มากกว่านี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net