Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 รวมทั้งขึ้นค่าจ้างเป็น 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ – ด้าน รมว.แรงงานออกมารับหนังสือไม่ได้ติดชี้แจงกฎหมายอยู่ที่รัฐสภา

ภาพโดย พรพรรณ มังกิตะ

7 ต.ค. 53 - เครือข่ายองค์กรแรงงาน ประกอบด้วยสภาองค์กรลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) และกลุ่มแรงงานในประเทศไทย กว่า 1 พันคน ถือโอกาสที่วันนี้เป็นวัน งานที่มีคุณค่าสากลเดินรณรงค์จากหน้าองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 และ 98 และปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นธรรม

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 421 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยยกเลิกระบบโครงสร้างค่าจ้างเดิมที่ให้อนุกรรมการระดับจังหวัดพิจารณา เพราะไม่มีความเป็นธรรมและเป็นสาเหตุทำให้ค่าจ้างมีความเหลื่อมล้ำกันมากเหมือนทุกวันนี้

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 421 บาทต่อวัน หรือ12,000 บาทต่อเดือน ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ โดยอ้างถึงความเหมาะสมจากข้อมูลที่สำรวจถึงการสอดคล้องของรายได้และค่าครองชีพของแรงงานทั่วประเทศในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

เมื่อวันที่7ตุลาคมปีที่แล้ว พวกเราได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า5,000คนออกมารณรงค์เคลื่อนไหนหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่ง พล.ต. สนั่น รับปากว่าจะเร่งผลักดันอนุสัญญาดังกล่าวให้เรียบร้อยภายใน 3เดือน ซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 1ปี แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เราจึงกลับมาทวงสัญญานายสาวิทย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า เมื่อเวลา 11.00 น.นาย สุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน มาเป็นตัวแทนรัฐบาลออกมารับหนังสือของเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจ โดยอ้างว่าเคยยื่นหนังสื่อให้กับรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า และการออกมาเรียกร้องวันนี้ต้องการยื่นข้อเรียกร้องกับรัฐมนตรีในสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ดังนั้นนายสุธรรมจึงต่อรองขอพูดผ่านทางเครื่องขยายเสียงกับผู้ชุมนุมว่า

ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน) ไม่สามารถมารับหนังสือได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากติดชี้แจงกฎหมายอยู่ที่รัฐสภา และสำหรับเรื่องของความล่าช้าในการทำงานที่ผ่านมาเป็นปี ที่ไม่สามารถหวนกลับไปแก้อดีตได้ แต่ต่อจากนี้ขอให้คำมั่นสัญญาว่าข้อตกลงทั้งหมดจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2สัปดาห์นายสุธรรม กล่าว

อย่างไรก็ตามหลังนายสุธรรมพูดจบ ทางแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงไม่พอใจคำพูดของนายสุธรรม โดยอ้างว่าคำพูดแบบนี้ใครๆก็พูดได้ และทางกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ขอยื่นหนังสื่อผ่าน นายสุธรรม จึงได้ชักชวนให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อกดดัน และยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรี

ทั้งนี้การชุมนุมใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงเศษทำให้การจราจรบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลขาดการคล่องตัว แต่ยังคงสามารถเคลื่อนตัวไปได้เล็กน้อย และตลอดระยะเวลาการชุมุนม กลุ่มผู้ชุมนุมได้โบกแผ่นป้ายเรียกร้อง ให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง ทั้งนี้หากรัฐบาลขึ้นค่าแรง จะทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนคนรากหญ้าจะมีดีขึ้น

ขณะที่ พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ โดยกล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มแรงงาน จะต้องกลับไปดูหลักเกณฑ์ในพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)ที่ยัง คงมีการประกาศใช้ในกรุงเทพมหานคร ว่าการชุมนุมขัดข้องบังคับหรือไม่ เนื่องจากห้ามปิดการจราจร ทำลายทรัพย์สิน หรือข่มขู่ แต่ขณะนี้เท่าที่เห็นยังไม่มีการปิดการจราจร เพราะรถยังสัญจรได้

 

แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
ฉบับที่ 5/2553
เรื่อง ทวงสัญญา 1 ปี กับความคืบหน้าในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553) เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสกล (International Decent Work’s Day) พวกเราเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมไปถึง สมาชิกสหพันธ์แรงงานระดับสากล (GUF) ในประเทศไทย ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่ น้องผู้ใช้แรงงาน

ซึ่งที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 ที่พวกเราคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้พาพี่น้องผู้ใช้แรงงานกว่า 5,000 คน ออกมารณรงค์เคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาล และยื่นหนังสือต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งท่านได้รับปากว่าจะดำเนินงานผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ให้เรียบร้อยภายใน 3 เดือน จนถึงวันนี้ครบ 1 ปี การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้จะมีการประชุ่มร่วมกับคณะกรรมการประสานงานเพื่อการให้สัตยาบัน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของกระทรวงแรงงานถึง 5 ครั้ง ซึ่งมีมติร่วมกันว่าให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับพร้อมกัน โดยให้มีการให้สัตยาบันก่อนแล้วค่อยทยอยแก้กฎหมายหลังจากนั้น

ดัง นั้นในวันนี้พวกเราในนามคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอทวงสัญญาจากรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างเร่งด่วน โดยต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาตามลำดับโดยด่วน การสร้างงานที่มีคุณค่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากรัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาหลัก ทั้ง 2 ฉบับ ในโอกาสครบรอบ 91 ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  และการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกองค์กรแรงงานระหว่างประเทศของประเทศไทย ในปี 2553 นี้ เป็นวาระสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

การที่รัฐบาลไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้ง เป็นองค์กรของคนงานและมีข้อจำกัดในการเจรจาต่อรอง ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน และแสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ที่จะได้มาโดยรูปแบบการรวมตัวและเจรจาต่อรองกับอำนาจทุน ดังนั้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานซึ่งมี จำนวนมากถึง 37 ล้านคน รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยทันที ทั้งนี้หากรัฐบาลไทยยังเพิกเฉย ไม่ให้ความสำคัญต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว พวกเราในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ก็จะมีการรณรงค์กดดันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ในประเทศและการรณรงค์ในระดับสากลร่วมกับพี่น้องผู้ใช้ แรงงานทั่วโลก

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้สอดคล้องกับการทำงานที่มีคุณค่า คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอสนับสนุนการรณรงค์ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นธรรมของพี่น้องผู้ใช้แรง งาน 421 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้จริงในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553
เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล
คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 9

 

 

 

 

ที่มาข่าว:

 

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐบาลรับอนุสัญญา 87, 98 (สำนักข่าวไทย, 7-10-2553)
http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/111830.html

ม็อบแรงงานแห่ปิดทำเนียบ เรียกร้องค่าแรง 421 บาทต่อวัน (แนวหน้า, 7-10-2553)
http://www.naewna.com/news.asp?ID=231168

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net