Skip to main content
sharethis

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิมูลนิธิ มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป



 นิธินันท์ ยอแสงรัตน์: จะชอบหรือไม่ชอบ อนาคตสื่อกระแสหลักก็ต้องมุ่งสู่ นิว มีเดีย

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโสฝ่ายบริหาร บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตอบสิบคำถามว่าด้วยสื่อใหม่กับสื่อเก่า ซึ่งเธอบอกว่าคนทำสื่อกระแสหลักหลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติ นิว มีเดีย ไม่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ตัวคุณเองก็ต้องการความจริง และ เสรีภาพ”

นิธินันท์ เป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษา ในรุ่นที่มีชื่อเรียกว่า “คนเดือนตุลา” เป็นอดีตสมาชิกวงดนตรี “ต้นกล้า” และเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2517

เริ่มงานในฐานะผู้สื่อข่าวที่ค่ายมติชน จากนั้นย้ายมาสู่ชายคาเครือเนชั่น

ในโมงยามปัจจุบัน แม้โดยตำแหน่งหน้าที่การงานแล้ว เธอคือผู้บริหารในสื่อกระแสหลัก แต่ปลอดจากเวลาทำงาน เราพบเจอเธอได้ในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ (บ่อยครั้งเล่นผ่านอุปกรณ์สื่อสารอินเทรนด์ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า BB) และบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหน้าวอลล์ของเธอนั้นหลากหลาย ทั้งประเด็นศิลปวัฒนธรรม สังคมการเมือง เรื่อยไปจนกระทั่งเกมออนไลน์ เพื่อนๆ ของเธอจึงมีวัยที่หลากหลายทั้งเด็กวัยรุ่นเรื่อยไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ถ้ามองด้วยสายตาของนักข่าว ก็ดูเหมือนเธอบริหารการสื่อสารกับแหล่งข่าวได้หลากหลายอย่างยิ่ง มองด้วยสายตาของผู้อ่อนวัยกว่า เธอคือผู้ใหญ่ที่ไม่ตกยุคและเปิดใจกว้าง

ประชาไทขอสัมภาษณ์เธอในฐานะที่เป็นคนทำงานในสื่อกระแสหลัก (เจ้าตัวเรียกว่า “โอลด์มีเดีย” ) ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายของกระแสนิวมีเดียอย่างรุนแรงในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้บรรยากาศการเมืองที่แบ่งขั้วแบ่งข้างที่ลุกลามไปถึงสื่อมวลชนผู้ทำหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงด้วยแล้ว

มีบ่อยครั้งที่เธอเองวิพากษ์การทำหน้าที่สื่อด้วยกันอย่างรุนแรง ผ่านบทความของเธอ (หลายชิ้นหาอ่านได้ในประชาไท) และหลายครั้งที่เป้าหมายแห่งการวิพากษ์นั้นพุ่งตรงกลับไปที่สถาบันสื่อที่เธอสังกัดนั่นเอง

นิธินันท์ ขอตอบคำถามผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีที่เธอเชื่อว่าจะสื่อสารได้ดีกว่า การสัมภาษณ์และถอดเทป และด้านล่างคือ คำถามทั้ง 10 ข้อ พร้อมคำตอบของเธอ

1.คำจำกัดความของ นิวมีเดีย สำหรับคุณคืออะไร

อันที่จริงไม่เพียงคนทั่วไป แต่ดูเหมือนหลายคนในวงการสื่อเอง ก็ยังไม่แจ่มชัดว่าอะไรควรเป็นคำจำกัดความของ “นิว มีเดีย” หรือ “สื่อใหม่”  ซึ่งมีความหมายมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้สมาร์ท โฟน การสื่อสารออนไลน์  แต่มันยังรวมถึงเกมคอมพิวเตอร์ ซีดี ดีวีดี เทคโนโลยีทรีดี และอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบดิจิทัล และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นิว มีเดีย ก็เลยยังคงความเป็น “นิว มีเดีย” เพราะยังไม่เก่า

ถ้าพิจารณาจากพัฒนาการของเครื่องมือสื่อสารในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบจนถึงยุคต้นสหัสวรรษใหม่ หรือยุคปัจจุบัน เราอาจบอกว่า นิวมีเดีย คือ สื่อดิจิทัล  ที่ทำให้ผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารสนองตอบความต้องการรับและส่งข้อมูลข่าวสารของตนได้ทันที สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ทันทีผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ในเวลา และ สถานที่ใดก็ได้ ตามที่ผู้รับสารและผู้ส่งสารต้องการ อีกทั้งยังสามารถสื่อสารไปมาพร้อมๆ กันระหว่างผู้คนจำนวนมากกับผู้คนจำนวนมากทั้งในแง่ปัจเจกต่อปัจเจก ปัจเจกต่อชุมชน และชุมชนต่อชุมชน

หัวใจสำคัญของนิวมีเดียคือความรวดเร็ว ความสดใหม่ และความเสมอภาคกันในการส่ง, รับและ เผยแพร่ข่าวสารของผู้คนร่วมชุมชนออนไลน์ ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาสู่สังคม โดยเฉพาะในด้านชีวิตวัฒนธรรม ทั้งการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมใหม่ และการเรียนรู้ใหม่จากวัฒนธรรมเก่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โลกของผู้คนในชุมชนออนไลน์นั้น ด้านหนึ่งเหมือนโลกแคบ ไกลเหมือนใกล้ ติดต่อกันได้รวดเร็วชั่วลัดนิ้วมือเดียว แต่อีกด้านก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีเรื่องราวและข้อมูลให้ติดตามค้นหามากมายไม่สิ้นสุด ซึ่งถ้าจัดระบบความคิดไม่ดี ไม่เข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมอง ก็อาจเครียดกับกองข้อมูลข่าวสารที่มีขยะปะปนอยู่มากมายได้

2.การที่สื่อหลักหันมาใช้พื้นที่ออนไลน์ อยู่ภายใต้คำจำกัดความของ นิว มีเดีย หรือไม่

อยู่ภายใต้คำจำกัดความระดับหนึ่ง เวลานี้คนทำสื่อจำนวนมากเหมือนกำลังพยายามใช้นิวมีเดียในฐานะเครื่องมือใหม่ทางการสื่อสารที่จำเป็นต้องใช้ ไม่เช่นนั้นจะตามไม่ทันคนอื่น จะตกขบวนรถไฟ ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง แต่อย่างที่หลายคนว่าไว้ว่า สิ่งสำคัญกว่าเครื่องมือคือเนื้อหา

มีความเห็นว่าสื่อหลักและคนทำสื่อหลักหลายคน ยังคงเชื่อว่าฉันแต่ผู้เดียวคือผู้ควบคุมประตูข่าวสาร จึงมีแต่ฉันเท่านั้นคือ “สื่อแท้” ซึ่งนำความจริงและความถูกต้อง ไปบอกกับสังคม (อุดมคติดั้งเดิมของสื่อที่ฟังใหญ่โตอย่างนั้น ทำให้คนทำสื่อหลายคนตัวพองว่าฉันช่างดีเลิศประเสริฐศรี ทั่วปฐพีไม่มีใครเทียบ) ส่วนคนทั่วไปหรือสื่อเล็กๆ อย่าง “ประชาไท” ที่ใช้แต่ “ นิว  มีเดีย” เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เป็น “สื่อเทียม”  เพราะฉะนั้นประชาไทซึ่งเป็นสื่อเทียมจะถูกปิด ถูกบล็อกเว็บ ก็ไม่เป็นไร ผู้จัดการเว็บถูกจับแบบมีเงื่อนงำก็ไม่เป็นไร ไม่เกี่ยวกับเราชาวสื่อแท้

คล้ายกับคนทำสื่อหลักมองว่าแบรนด์ดั้งเดิมของสื่อและความใหญ่โตของธุรกิจสื่อคือตัวตัดสินความเป็นสื่อแท้และสื่อเทียม ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองเหลืองแดงยิ่งไปกันใหญ่ ในช่วงที่สื่อบ้าคลั่งเลือกข้าง  สื่อกระแสหลักยี่ห้อดังๆ เลือกข้างไม่เป็นไร ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าพวกเราเลือกข้างความถูกต้องดีงาม แต่พอสื่อเล็กๆ ออนไลน์เลือกข้างบ้าง กลับถูกแปะป้ายโดยสื่อกระแสหลักว่าเป็นพวกสื่อเทียม หิวเงิน รับจ้างนักการเมืองมาทำกองเชียร์

สื่อกระแสหลักตามไม่ทันผู้บริโภคสื่อว่า เขาไม่ต้องการถูกยัดเยียดข่าวสารด้านเดียวที่เขาไม่เชื่อ เขาอยากฟังทุกด้าน แต่เมื่อสื่อกระแสหลักเลือกข้างไปแล้ว และไม่ให้พื้นที่อีกข้าง ถ้ามีให้ก็เป็นพื้นที่สำหรับการดูหมิ่นเหยียดหยาม จิกหัวกล่าวหา ด่าทอ แต่เมื่อประชาชนผู้บริโภคสื่อที่เป็นฝ่ายถูกกล่าวหา รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ สื่อพูดผิด ชี้นำผิด เขาก็หันไปทำสื่อของเขาเอง เสพสื่อของพวกเดียวกันเอง กลายเป็นข่าวเลือกข้างอีกข้าง แล้วใครจะทำไม

ตรงนี้จึงย้อนกลับมาว่า คนทำสื่อกระแสหลักหลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติ นิว มีเดีย ไม่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ ไม่เข้าใจว่าถึงที่สุดแล้ว แม้แต่ตัวคุณเองก็ต้องการความจริง และ เสรีภาพ 

สื่อหลายคนยังทำสื่อแบบเดิมๆ ชินกับการเป็นผู้ส่งสารทางเดียว คิดเองเออเองว่าฉันนี่แหละรู้เยอะกว่า เพราะมีแต่สื่อหลักอย่างฉันนะที่ได้สัมภาษณ์คนสำคัญๆ ของประเทศมา ข้อมูลจากฉันจึงถูกต้องกว่า ลึกกว่า จริงกว่าใครๆ ในโลก แต่สังคมโลกยุคใหม่ไม่ใช่สังคมแนวดิ่ง วัฒนธรรมออนไลน์สร้างสังคมแนวนอน  ไม่จำเป็นว่าข่าวจากคนระดับผู้นำประเทศเท่านั้นจึงมีความหมาย  ข่าวจากประชาชนทั่วไปก็มีความหมายไม่ต่างกัน  จริงอยู่ว่าคนระดับนำกุมนโยบายประเทศ และนั่นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เสียงประชาชนที่ร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ที่ใช้หยาดเหงื่อแรงงานทำนุบำรุงประเทศไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่า และเมื่อวัฒนธรรมออนไลน์เกื้อหนุนให้สังคมหรือชุมชนแนวนอนแผ่ขยายไพศาลมากขึ้น  เสียงประชาชนก็อาจจะกลายเป็นเสียงสำคัญที่สุดได้ในทางปฏิบัติ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ อนาคตสื่อกระแสหลักก็ต้องมุ่งสู่ นิว มีเดีย

เชื่อว่าแม้สื่อเก่าหรือ โอลด์ มีเดีย โดยเฉพาะบนแผ่นกระดาษจะไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง เพราะยังมีพื้นที่ที่เข้าไม่ถึงนิว มีเดีย แต่ไม่เห็นแนวโน้มว่าสื่อเก่าจะเติบโตไปกว่านี้ งานศึกษาเรื่องสื่อทั่วโลกให้ข้อมูลตรงกันว่าผู้บริโภคสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ตกอย่างรวดเร็วมาก แค่ปีที่แล้วกับปีนี้ก็ตกวูบ คือยังไม่ต้องเทียบกับนิว มีเดียก็ได้ แค่เทียบสื่อเก่าด้วยกัน คือทีวีกับหนังสือพิมพ์ คนก็ดูทีวีมากกว่าหนังสือพิมพ์ รู้ข่าวจากทีวีเร็วกว่าหนังสือพิมพ์

มองในแง่ธุรกิจ เวลานี้บริษัทสื่อใหญ่ๆ ทั่วโลกที่เคยทำแต่หนังสือพิมพ์อย่างเดียวอยู่ไม่ได้  ต้องหันไปหาสื่อใหม่ ต้องมีความเป็นมัลติมีเดีย นอกจากนั้น ก็ยังต้องหารายได้จากทางอื่น เช่น การจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการจัดสัมนา โดยร่วมมือกับสปอนเซอร์ซึ่งก็ต้องการใช้สื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่งานในลักษณะ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ขององค์กรของตน

กิจกรรมลักษณะนี้มีมากขึ้นทุกวัน จนคิดว่าในที่สุด สื่ออาจไม่ต้องทำเนียนแบบเก่า คือไม่ต้องโฆษณากิจกรรมนั้นๆ ในลักษณะข่าวซึ่งมีตัวอักษรเล็กๆ เขียนแอบไว้ด้านข้างหรือด้านล่างว่า “พื้นที่โฆษณา” หรือไม่ต้องขออาศัยพื้นที่ข่าวทำเป็นเขียนข่าวเนียนๆ ด้วยเหตุผลที่ฝ่ายโฆษณาอาจอ้างว่า ถ้าไม่เขียนข่าวให้ หนังสือพิมพ์จะไม่มีสปอนเซอร์แล้วจะอยู่ไม่ได้ เพราะต่อไป ทั้งคนทำสื่อและผู้บริโภคสื่อก็อาจเห็นตรงกันว่า ข้อมูลเหล่านี้ก็มีอะไรให้อ่านเหมือนกัน อ่านในเชิงโฆษณา คือรับรู้ว่ากำลังอ่าน ฟัง ดู โฆษณาด้านดีขององค์กรต่างๆ เหล่านั้น เป็นต้น ซึ่งสามารถอ่านได้จากหนังสือเฉพาะกิจ รูปเล่มสีสรรสวยงาม เป็นหนังสือแจก แถม ไปกับหนังสือพิมพ์ หรือตามสถานที่สาธารณะต่างๆ  เป็นการ “ขายสินค้าเพื่อการบริโภค” อย่างตรงไปตรงมาในสังคมบริโภค

แต่ในกรณีนี้ ทั้งบริษัทสื่อที่เผยแพร่โฆษณาและองค์กรที่จ่ายเงินเพื่อโฆษณาตัวเอง จะต้องรับผิดชอบร่วมกันว่า ข้อมูลที่ให้ไปแม้จะมีการตกแต่งให้งดงาม ก็ต้องไม่ใช่หลอกลวงผู้บริโภค อย่าตกแต่งจนเกินจริง เหมือนคุณแสดงภาพคุณที่แต่งหน้าทำผมสวยงามให้เราดู และเราก็รู้ว่าคุณไม่ได้แต่งหน้าทำผมอย่างนี้ทุกวัน แต่มันจะเป็นเรื่องโกหก ถ้าในชีวิตปกติของคุณไม่ล้างหน้าแปรงฟัน ไม่ดูแลผมของคุณเลย ปล่อยหัวเน่าเหม็นเป็นเดือนไม่ยอมสระ ทำนองนั้น

หนังสือพิมพ์กระดาษ และสื่อเก่าอื่นๆ เช่นทีวี วิทยุ แบบเดิม คงยังไม่ตายในเวลาอันรวดเร็ว แต่มันจะค่อยๆเปลี่ยนไป เพราะถึงอย่างไรเทคโนโลยีใหม่ก็ต้องมาแทนที่เทคโนโลยีเก่า และจะผสานผสมกลมกลืนเข้ากันเองโดยธรรมชาติ  

ในอนาคตอีกหลายๆ ปีมากข้างหน้า ถ้าทุกพื้นที่เข้าถึงเทคโนโลยีนิวมีเดีย บางทีหนังสือพิมพ์กระดาษยุคใหม่อาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นขนาดแทบลอยด์เพื่อนำเสนอข่าวเฉพาะชุมชน หรือโฆษณากิจกรรมต่างๆ ในชุมชนก็ได้ แล้วคนก็หันไปดู-ฟังข่าวทั่วไปของประเทศและโลกทางมือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์  ไม่ว่าจะเป็นข่าวสั้นทันสถานการณ์หรือข่าววิเคราะห์เจาะลึก ซึ่งถ้าอยาก “อ่าน” ตัวหนังสือ ก็สามารถตามไป “อ่าน” ข้อความที่ได้ฟังแล้วจากเว็บไซต์ หรือจากบล็อกเป็นต้น ในเวลาใดก็ได้ที่อยากอ่าน

แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็ยังเชื่อว่าสื่อเก่าในรูปแบบ “หนังสือ” ไม่มีวันตาย ผู้คนน่าจะยังอ่านหนังสือเล่มที่มีเรื่องราวเฉพาะเจาะจง  หนังสือที่มีรูปสวยงาม หนังสือเชิงศิลปะ หรือหนังสือแนววิชาการ ซึ่งอาจถูกเครื่องมือสื่อสารอย่างไอแพดแย่งตลาดไปบ้าง แต่คงแย่งได้ไม่หมด คนเราใช้สายตา “อ่าน” บนเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่นานๆ ก็มีปัญหาเหมือนกัน 

ประเด็นสำคัญสำหรับคนทำสื่อในเวลานี้ก็คือ คนทำสื่อต้องทำความเข้าใจ นิว มีเดีย ให้มากขึ้น ต้องเข้าใจว่า นิว มีเดีย ไม่ใช่แค่เครื่องมือและช่องทางสื่อสารที่แสดงรสนิยมทันสมัยไม่ตกยุค คนทำสื่อมืออาชีพไม่จำเป็นต้องมีเครื่องมือสื่อสารใหม่ล่าสุดทุกชนิดที่วางจำหน่ายในตลาด  ไม่จำเป็นว่าตลาดออก บีบี ไอโฟน ไอแพด กล้องใหม่ไฮเทค อะไรต่อมิอะไร คนทำสื่อจะต้องซื้อมาครอบครองก่อนคนอื่น และต้องครอบครองทุกสิ่งซึ่งเป็นของเล่นใหม่ของคนมีสตางค์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นคนนิวมีเดีย แต่คนทำสื่อต้องมองให้ออกว่านิว มีเดีย มีส่วนเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์อย่างไร เปลี่ยนโลกอย่างไร แล้วเราจะสื่อสารอะไรและอย่างไรกับผู้คนในโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งสื่อสารกลับมาถึงสื่อตลอดเวลา

3. การรุกคืบของนิวมีเดียส่งผลอย่างไรต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและส่งผลอย่างไรต่อแนวทางของวารสารศาสตร์

ส่วนแรกของคำถาม สรุปสั้นๆ ว่าเปลี่ยนไป คือ หนึ่ง เปลี่ยนจากการส่งและรับทางเดียวเป็นปฏิสัมพันธ์สองทาง สอง มีข้อมูลข่าวสารให้รับรู้มากขึ้น ทั้งแบบเฉพาะทางตามความสนใจพิเศษ และแบบกว้างๆ ปนกันไปทุกเรื่อง ส่วนข้อที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้ารับข้อมูลมากไปและเร็วไป สมองอาจสับสนว่าจะเลือกรับและรู้อะไร ซึ่งในที่สุดสมองอาจทิ้งหมดทุกอย่าง หรือถ้าเลือกรับแต่ข้อมูลที่สนใจ ไม่เปิดรับข้อมูลอื่นเลย สมองก็ทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ

ส่วนหลังของคำถามเกี่ยวกับการรุกคืบของนิวมีเดียส่งผลอย่างไรต่อแนวทางของวารสารศาสตร์  อยากฟังข้อมูล ความเห็น และคำอธิบาย ของนักวิชาการสายวารสารศาสตร์ค่ะ สำหรับนักวิชาชีพที่เรียนศาสตร์อื่นมาเห็นว่า หลักการสื่อสารเบื้องต้น และหลักการเสนอข่าวเบื้องต้นประเภทใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด ทำไม อย่างใด คงไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่ความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดจากรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน การรับรู้เปลี่ยน ก็คงต้องมีคำอธิบายชุดใหม่ หรือคำอธิบายเพิ่มเติม อย่างน้อยก็ในเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อ จริยธรรมสื่อ และเสรีภาพสื่อ เป็นต้น

มีความเห็นว่าหลักจริยธรรมสื่อขั้นพื้นฐานที่ว่าด้วย truthfulness, accuracy, objectivity, impartiality, fairness และ public accountability มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อ” ไม่ว่าจะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่  นอกจากนั้น  ทั้งสื่อเก่าสื่อใหม่ก็ต้องการ freedom of speech ซึ่งไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการใส่ความคนอื่นให้เสียหายเดือดร้อน แต่หมายถึงเสรีภาพในการพูด แสดงความเห็น ตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตอย่างอิสระ โดยไม่ถูกบีบบังคับให้พูดตามใจผู้มีอำนาจหรือผู้ถือกฎหมาย

4. มีความวิตกกังวลในผู้ประกอบวิชาชีพสื่อว่า นิวมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ทำให้พฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแย่ลง รวมถึงผู้ใช้สื่อออนไลน์ปราศจากความรับผิดชอบ และขาดจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ส่งผลให้เกิดข่าวที่ไม่ได้รับการตรวจสอบก่อนการเผยแพร่ ขาดกระบวนการคัดกรองข้อมูล เกิดข่าวลือ และทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างขึ้น มีความเห็นอย่างไร

1. ต่อให้ไม่มีการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บบอร์ด ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค พฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้คนก็อาจแย่ลงเพราะข้อมูลข่าวสารที่ได้จากสื่อกระแสหลักเหมือนกัน

ปัญหาของสื่อกระแสหลักทุกวันนี้ก็คือ ขาดการทำข่าวเชิงวิเคราะห์เจาะลึก ไม่เกาะติดข่าว มีแต่ข่าวเขาพูดเธอพูดตามกระแสไปวันหนึ่งๆ  ทั้งข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม บันเทิง โดยเฉพาะข่าวบันเทิงเลวร้ายที่สุด เน้นแต่ข่าวซุบซิบนินทา

2. ความรับผิดชอบของผู้ใช้สื่อออนไลน์เป็นประเด็นสำคัญ แต่อาจจะเข้าใจง่ายกว่า ถ้าพิจารณาว่า คนใช้สื่อออนไลน์ที่เป็นคนทั่วไปที่อยากแสดงความเห็น กับคนใช้สื่อออนไลน์ที่แสดงตัวว่าเป็นสื่อออนไลน์ หรือคนทำสื่อกระแสหลักที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อเสริมสื่อกระแสหลัก ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกัน

ประเด็นมีอยู่ว่า ใครก็ตามที่ประกาศตัวว่าจะทำหน้าที่ “สื่อ” ไม่ว่าจะสื่อเก่าสื่อใหม่ ต้องยึดกุมหลักการของการสื่อสาร ยึดกุมหลักจริยธรรมสื่อขั้นพื้นฐาน ส่วนคนทั่วไปก็เป็นเรื่องของคนทั่วไป

3. ข่าวลือมีอยู่ทุกวัน ถ้าเราเชื่อทุกข่าวลือ คงไม่เป็นอันทำอะไร และมันก็ผิดหลักจริยธรรมสื่อชัดๆ ถ้าสื่อมักง่ายสร้างข่าวลือเป็นข่าวใหญ่โต ทำเสมือนเป็นข่าวจริง หรือไม่มักง่าย แต่สร้างข่าวเพื่อหวังผลบางอย่าง

5. แนวทางการนำเสนอของสื่อใหม่และวิธีบริโภคข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ คือการเลือกเชื่อหรือเลือกรับข่าวสารเฉพาะเจาะจงตามความสนใจหรือตามสังกัดความเชื่อ เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ สื่อใหม่ทำให้พฤติกรรมการเสพข่าวสารแบบนี้มีมากขึ้นหรือไม่

ถ้าเป็นเรื่องทั่วไป ไม่เห็นว่าเป็นปัญหา คนชอบถ่ายรูปก็บริโภคเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพถ่าย คนชอบเพลงก็เข้าเว็บเพลง คนชอบการเมืองก็เข้าเว็บการเมือง วัยรุ่นก็เข้าเว็บวัยรุ่น เป็นเรื่องปกติมากๆ ถึงไม่มีสื่อใหม่ คนที่คิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกันก็รวมกลุ่มกันอยู่แล้ว สื่อใหม่ออนไลน์ เพียงแต่ทำให้รวมง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องออกจากบ้านมาเจอกันก็ได้ แต่ถ้าพูดเรื่องความขัดแย้งเหลืองแดงในประเทศ อาจเป็นปัญหาเพราะเรื่องยังไม่จบ ความรู้สึกขัดแย้งยังไม่จบ ยังคาใจกันอยู่หลายประเด็น จะปรองดองกันอย่างไรเมื่อคุณมองไม่เห็นคนตาย บ้างก็ว่า มาเผาห้างฉันแล้วจะให้เชื่อได้ไงว่าเธอมาดี แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปบอกว่า คุณจากฝั่งโน้นฝั่งนี้ออกมาจากฝั่งของคุณเถอะ มาปรองดองกันเถอะ ลืมไปเถอะ

สังคมไทยชอบพูดอะไรง่ายๆ แบบนี้ แต่ความจริงคือไม่ง่าย และอีกด้านหนึ่งการรวมกลุ่ม รวมสังกัด มันก็เป็นเสมือนกรุ๊ปเทอราปี เป็นกลุ่มบำบัดความทุกข์ ความเศร้าโศกของคนที่ประสบภัยพิบัติมาแบบเดียวกัน  รวมถึงในบางกรณีก็เป็นกลุ่มบำบัดคนอ่อนไหวที่มีจริตแบบเดียวกัน

สรุปว่า สำหรับคนทั่วไป การเลือกเชื่อเป็นปกติ ไม่มีปัญหา ยกเว้นว่าถ้าคนเชื่อเหมือนกันรวมกลุ่มกันแล้วบอกว่าเราไปฆ่าพวกมันที่ไม่ใช่พวกเรา ที่ “เป็นคนไทยหรือเปล่า” กันเถอะ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น จะมีสัญญานบอก ก็ต้องต่อต้านแก้ไขกันไป

ส่วนสื่อนั้น ถ้าอยากจะเลือกข้างก็ไม่ผิด แต่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าฉันเลือกข้างและเลือกเพราะอะไร แนวคิดอย่างไร ซึ่งก็ควรจะมีหลักการชัดเจนทางแนวนโยบายเศรษฐกิจสังคมอะไรก็ว่าไป ไม่ใช่เลือกข้างคนดืมีคุณธรรมแบบฉันขอผูกขาดความดีมีคุณธรรม เพราะใครๆ ก็อ้างตัวเป็นคนดีได้ และคนที่อ้างตัวว่าดีมีคุณธรรม มีศีลธรรมบางคน ก็บอกว่าฆ่าคนเห็นต่างได้ไม่ผิด ซึ่งเป็นคุณธรรมหรือศีลธรรมประเภทไหนก็ไม่ทราบ นอกจากนั้น สื่อเลือกข้าง ก็ต้องไม่ยุให้คนเกลียดกันจนถึงขั้นฆ่ากันเพราะความคิดต่างกัน ซึ่งน่ารังเกียจที่สุด

ถึงที่สุดแล้ว ถ้าสังคมมีแต่สื่อเลือกข้าง โดยเฉพาะประเภทเชียร์แต่พวกเดียวกันทุกเรื่องไป ก็เชื่อว่าจะมีผู้บริโภคสื่อถามหาสื่อที่เสนอข่าวตามหลักจริยธรรมสื่อดั้งเดิม คือทำหน้าที่สื่ออย่างเที่ยงธรรม ทำความจริงหรือสิ่งที่ใกล้เคียงความจริงที่สุดให้ปรากฎอยู่ดี  แต่สื่อนั้นก็อาจกลายเป็นสื่อเลือกข้างในทัศนะของคนที่คิดไม่ตรงกันก็ได้

การไม่ตั้งใจเลือกข้าง แต่ตั้งใจทำหน้าที่สื่อตามหลักการสื่อจึงดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือสื่อใหม่

6. ข้อจำกัดหรือสิ่งพึงระวังสำหรับการใช้สื่อใหม่คืออะไร ข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักคืออะไร ทั้งสองสิ่งนี้สามารถไปด้วยกันหรือว่าสื่อกระแสหลักกำลังจะถูกลดบทบาท

ข้อจำกัดของสื่อกระแสหลักในโลกดิจิทัลคือทั้งทัศนคติและรูปแบบงุ่มง่าม เชื่องช้า

สื่อเก่าหรือสื่อกระแสหลักกับสื่อใหม่ไปด้วยกันอยู่แล้ว และแน่นอนว่าสื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ กำลังจะถูกลดบทบาท

ข้อพึงระวังสำหรับการใช้สื่อใหม่ก็คือ  คนทำสื่อต้องเข้าใจสื่อใหม่ให้มากกว่าแง่มุมของเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ  และอย่าลืมตัวสนใจความเร็วมากกว่าความถูกต้องของข้อมูล

ทวิตเตอร์ที่ฮิตกันเวลานี้ ควรใช้เป็นช่องทางบอกประเด็นข่าว เหมือนการ”โฆษณา ตีฆ้องร้องป่าว” ให้คนติดตาม แต่ต้องระวังประเด็นข่าวลือ ระวังว่าต้องไม่ทวีตหรือรีทวีตข่าวลือ เช่นดียวกัน ความเร็วและเนื้อหาในเฟสบุ๊ค ที่พูดได้ยาวกว่าทวิตเตอร์ก็ควรมีไว้บอกเนื้อความข่าวเป็นการ “ประชาสัมพันธ์” ข่าวให้ไปอ่านต่อในเว็บไซต์ หรือ ทางมือถือ ทางทีวี ทางสื่อสิ่งพิมพ์ หรือใช้เป็นพื้นที่ถกเถียงสนทนาต่อเนื่องเพื่อแตกประเด็นความคิด  

ที่สำคัญคือ คนทำสื่อต้องไม่หมกมุ่นกับการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์จนลืมความแข็งแรงของเนื้อหาข่าวสารที่ยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เจาะลึก จำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งระดับผู้นำประเทศและระดับประชาชน

7. พลเมืองผู้ใช้เน็ต นักข่าวพลเมือง นักข่าวอาชีพ เส้นแบ่งที่พร่าเลือนเหล่ามีผลต่อการนำเสนอข่าวาสารและการรับรู้ข่าวสารไหม?

โดยส่วนตัว ไม่คิดเรียกร้องจริยธรรมสื่อจากพลเมืองผู้ใช้เน็ตและนักข่าวพลเมืองที่รายงานข่าวของตัวเองโดยไม่อิงกับสื่อหลัก เพราะแต่ละคนต้องรับผิดชอบกฎหมายหมิ่นประมาทเอง แต่จำเป็นต้องเรียกร้องจริยธรรมสื่อ และคุณภาพการวิเคราะห์เจาะลึกที่เข้มข้นกว่าจาก “มืออาชีพ”

8. อินเทอร์เน็ต เป็นแค่ของเล่นของคนชั้นกลางหรือพื้นที่เปิดของคนด้อยสิทธิ

ดูภาพรวมเหมือนเป็นของเล่นคนชั้นกลางและชั้นสูง แต่เชื่อว่า ข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตกระจายถึงคนด้อยสิทธิด้วย และคนชั้นกลางบางกลุ่มก็นำเรื่องคนด้อยสิทธิมาเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนชั้นกลางอื่นๆ ได้รับรู้เพิ่มเติมด้วย

9. ประเด็นเรื่องการยึดกุมความจริงเป็นเรื่องที่เริ่มถูกนำมาอภิปรายเมื่อพูดถึงบทบาทของสื่อทั้งสื่อหลักและสื่อนิวมีเดีย ในอีกด้านหนึ่งในฐานะสื่อหลัก คุณคิดไหมว่า อำนาจในการยึดกุมความจริงของสื่อหลักกำลังสั่นคลอน

ในทางปรัชญา อาจมีคำถามว่า ความจริงมีหรือไม่ ความจริงของใคร หรือไม่มีความจริง มีแต่คำอธิบายถึงสิ่งที่ใกล้เคียงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด ความเห็นแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิทธิอันชอบธรรมของคนที่คิดแตกต่างหลากหลาย สิ่งสำคัญคือ เสรีภาพที่เราแต่ละคนสามารถคิดอย่างแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ฆ่ากัน

10. พลังของสื่อใหม่สามารถ set agenda ทางสังคมระดับมหภาคได้หรือไม่

มันเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวจะเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับมหภาค “สื่อใหม่” เป็นหนึ่งในเครื่องมือและช่องทางที่ผู้ใช้สามารถใช้เพื่อ set agenda ร่วมกับเครื่องมือและช่องทางอื่น การเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งมีมนุษย์เป็นผู้ขับเคลื่อนนั้น ไม่สามารถเกิดได้จากการ “สั่ง” ของใครคนใดคนหนึ่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้  มนุษย์ที่จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงต้องมีความรู้สึกร่วมเองว่าอยากจะเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นจาก “คำสั่ง” แต่เกิดขึ้นจากประสบการณ์สะสมของแต่ละคน ที่ทำให้สมองของแต่ละคนมีความรับรู้ ความจำ ความเชื่อ ความเข้าใจ จนถึงตัดสินใจกระทำการในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net