คุยเรื่องสื่อออนไลน์: การเข้าถึง เสรีภาพ บทบาท และการบันทึก

วงเสวนาเรื่องสื่อใหม่ มองรัฐขยับคุมสื่อใหม่ สร้างเครือข่ายจับตาประชาชนกันเองมากขึ้น ทำให้คนที่เห็นไม่ตรงกันกลายเป็นศัตรูของชาติ ระบุสื่อใหม่ไม่ได้มาแทนที่สื่อเก่า แต่ทำหน้าที่ลดทอนการครอบงำ เสนอจัดเก็บข้อมูลออนไลน์ในฐานะประวัติบอกเล่าจากคนธรรมดา

เว็บไซต์ประชาไท ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ จัดการเสวนาเรื่อง นิวมีเดีย (สื่อออนไลน์) ในวิกฤติทางการเมือง ณ ห้องประชุม ศศนิเวศ ชั้น 1 จุฬาฯ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สื่อใหม่จัดการได้ (?) ผ่านรัฐและเครือข่าย
ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวเดอะเนชั่น ตั้งประเด็นว่า ข้อถกเถียงเรื่องโลกออนไลน์อาจจะอยู่ที่วัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตหรือการแลกเปลี่ยนออนไลน์ว่าจะมีภูมิต้านทาน ก่อนที่รัฐจะสร้างวัฒนธรรมแบบในจีนหรือสิงคโปร์ได้หรือไม่ โดยเขามองว่า เหตุผลหนึ่งที่รัฐห่วงเรื่องออนไลน์มาก เพราะเป็นที่ที่ไม่ได้มีศูนย์กลางเดียว ทุกอย่างคาดการณ์ลำบาก เพราะการเคลื่อนไหวของข้อมูล-ความเห็นเกิดขึ้นเร็วมาก รัฐมอนิเตอร์ลำบาก อย่างไรก็ตาม คิดว่ารัฐยังคอยมอนิเตอร์อยู่ เห็นได้จากบันทึกของ "ปรวยฯ" ที่เล่าถึงการที่ดีเอสไอจับตาการใช้งานเว็บบอร์ดของเขา  

อย่างไรก็ตาม ประวิตรมองว่า การต่อต้านความพยายามควบคุมสื่อของรัฐในโลกออนไลน์ดูเหมือนจะยังมีความหวัง เพราะมีการต่อสู้อย่างดุเดือด ขณะที่การแทรกแซงฟรีทีวีของรัฐนั้นน่าเป็นห่วงกว่า เพราะรัฐทำอย่างแนบเนียบ และคนทำสื่อเองก็ดูจะไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ สังเกตจากการรายงานข่าวที่ค่อนข้าง “ปกติ” เมื่อ 10 เม.ย. หรือการแทรกแซงช่วง 19 พ.ค.53

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา เห็นความพยายามของรัฐในการจำกัดและกำจัดสื่อค่อนข้างมาก ผ่านการใช้กฎหมายต่างๆ ทั้ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ โดยมองว่ารัฐมีวิธีแทรกแซงฟรีทีวีต่างจากนิวมีเดียอย่างอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน เพราะหากใช้วิธีการรุนแรงกับฟรีทีวี จะโดนสังคมโดยรวมโจมตี ขณะที่เมื่อจัดการกับนิวมีเดีย ซึ่งเป็นสื่อใหม่และมีขนาดเล็ก สื่อเหล่านี้ก็ทำได้เพียงแต่ร้องกันในกลุ่ม รัฐจึงไม่ลังเลการจัดการกับนิวมีเดีย อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐเริ่มรู้ข้อจำกัดแล้วว่าทำเองไม่ได้ทั้งหมด จึงพยายามตั้งกองกำลังประชาชนขึ้นมาในรูปแบบของการล่าแม่มด หรือลูกเสือออนไลน์ ให้ประชาชนตรวจสอบประชาชนด้วยกันเองซึ่งควบคุมได้ดีและกว้างขวางกว่า

ทั้งนี้ สาวตรี ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การล่าแม่มด ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4-5 เดือนก่อน รุนแรงกว่าการแซงก์ชั่นในทางสังคม โดยหลายกรณีถึงขั้นมีการโทรศัพท์ขู่ฆ่า พอกระบวนการพวกนี้กระเด็นออกไปสู่โลกจริงทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งส่วนตัวรู้สึกการล่าแม่มดที่รุนแรงนี้ ทำให้กระบวนการโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ให้เปิดรับเพื่อนใหม่ๆ ขยายเครือข่ายออกไป ทำไม่ได้จริง เพราะต้องคอยระวังว่าคนที่ขอเป็นเพื่อนมาเป็นใคร 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมา การแซงค์ชั่นหรือจัดการกันเองในอินเทอร์เน็ตมีพัฒนาการอยู่แล้ว เช่น สังเกตว่าคำหยาบคายน้อยลง แต่เมื่อรัฐเข้ามายุ่งในกระบวนการนี้ เช่น ดีเอสไอส่งฟ้อง บริษัทกดดันพนักงาน ทำให้เราไม่ได้เป็นแค่ศัตรูที่คิดต่างกับเพื่อน แต่กลายเป็นศัตรูของชาติไป ผ่านการสร้างวาทกรรมต่างๆ ของรัฐ 

ขณะที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปรียบเทียบอินเทอร์เน็ตว่าเป็นป่า เป็น digital jungle ที่รัฐพยายามจะเปลี่ยนให้เป็น digital forest โดยเขามองว่า รัฐไม่ได้ต้องการปราบปรามทั้งหมด แต่ต้องการจัดระเบียบบางอย่างและหาประโยชน์จากมัน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างอินเทอร์เน็ตและพลเมืองเน็ต เพราะที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐพยายามสร้างเครือข่ายช่วยจับตาการโพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตด้วย ดังนั้น คำถามใหญ่จึงคือการหากติการ่วมกัน เอาพื้นที่ประชาธิปไตยกลับมาก่อนเพื่อให้ทุกฝ่ายคุยกันได้

ทั้งนี้ พิชญ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เวลาพูดถึงสื่อออนไลน์ในสถานการณ์วิกฤตการเมือง เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพค่อนข้างมาก ขณะที่ในเวลาปกติ ในโลกออนไลน์ก็พูดกันถึงเรื่องการจัดการ-กระบวนการควบคุมเนื้อหาอยู่บ้าง โดยหยิบยกโมเดลจากประเทศต่างๆ มีจินตนาการ อย่างไรก็ตาม ระบุว่า ทุกเว็บที่ไม่ใช่เว็บใต้ดินแต่อาจมีความเปราะบาง ก็มีเงื่อนไขกติกาบางอย่างของชุมชนนั้นๆ อยู่แล้ว ไม่ใช่ใครจะทำอะไรก็ได้

ประเด็นเรื่องการเข้าถึงสื่อใหม่นั้น สุภิญญา กลางณงค์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้ยกตัวอย่างเรื่องเทคโนโลยี 3 จีว่า จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสิทธิที่จะเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเข้าถึงนี้มีความสำคัญและยากพอๆ กับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และหากมีปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่การขยายการเข้าถึงสื่อใหม่ได้มากขึ้น ก็ย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท เสริมว่า เข้าถึงอย่างเดียวแก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้มีส่วนร่วมกำกับดูแล เฝ้าระวัง พื้นที่ที่มีอาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูง แต่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า หากพื้นที่ที่มีแห้งแล้ง จะมีไปทำไม
 

"สื่อใหม่" การเคลื่อนไหว และการลดทอนการครอบงำ
สมบัติ บุญงามอนงค์ เห็นว่า สื่อใหม่นั้นมีศักยภาพสูงมาก ตัวอย่างของเฟซบุ๊กที่เขาใช้อยู่นั้นสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารแลกเปลี่ยนและกระจายข้อมูลข่าวสารในหมู่คนที่สนใจเรื่องเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ตาม เขาเชื่อว่าหลักใหญ่ใจความของขีดความสามารถในการกำหนดวาระข่าวสารทางสังคมนั้นอยู่ที่ “ไอเดีย” ถ้ามันใช่ ณ เวลานั้นจริงๆ มันก็จะขยายตัวเร็วมากยกกำลังแบบทวีคูณ โดยสมบัติหยิบยกเทรนด์การตลาดใหม่ของโลก คือ Viral Marketing มาจากคำว่า virus + oral เป็นการตลาดที่คนธรรมดาก็ทำได้ หากมี “ไอเดียที่ใช่” 

“เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทำได้แน่นอน ผมเชื่อ” สมบัติกล่าว

ขณะที่มุมมองจากสุภิญญา กลางรณรงค์ เห็นว่า สื่อหลักยังคงเป็นตัวหลักในการกำหนดวาระทางสังคม เพราะมีนักข่าวที่สามารถเข้าถึงแหล่งข่าวระดับนโยบายได้ ดังนั้นสื่อใหม่ จึงเป็นได้แค่สื่อกระแสรอง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าสื่อหลักเหล่านั้นก็ยังคงไม่สามารถกำหนดวาระที่มีประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับสังคมได้มากพอ

ด้านนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ บรรณาธิการอาวุโสฝ่ายบริหารของเนชั่นบรอดแคสติ้งฯ เห็นว่า แม้คนเข้าถึงสื่ออนไลน์ไม่มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ เพราะคนที่เข้าถึง “สาร” ในออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพราะมันมีการแจกจ่ายกระจายข้อมูลกันในหลายรูปแบบ ดังนั้น การที่สื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาทางเลือกถูกปิดจึงเป็นสิ่งที่กระทบต่อผู้คนในวงกว้าง

ในเรื่องการเข้าถึงแหล่งข่าวสำคัญระดับนโยบายนั้น มีผู้เห็นแย้งและยกตัวอย่าง โดยอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ นักวิจัยจาก Siam Intelligence Unit ยกตัวอย่างว่า ทวิตเตอร์ในแง่มุมหนึ่งก็สามารถเปิดให้คนธรรมดาถาม public figure ได้ด้วยตนเอง และคนเหล่านั้นตอบโดยตรง แต่ก็มีผู้ตั้งคำถามต่อไปว่า คนที่ว่านั้น ตอบเองหรือที่จริงสื่อใหม่ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์อย่างหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่ชูวัส อธิบายบทบาทของสื่อใหม่ว่า อันที่จริงแล้ว การแย่งกันกำหนดวาระทางสังคมอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะสื่อใหม่ไม่ได้มีภาระในการกำหนดวาระทางสังคม แต่มันเป็นสื่อที่จะตรวจสอบการกำหนดวาระทางสังคม ส่งผลทำให้น้ำหนักการครอบงำของผู้กำหนดวาระทางสังคมถูกลดทอนลงต่างหาก

"สื่อใหม่ไม่ได้มาแทนสื่อเก่าในการชี้นำสังคม (agenda setting) แต่เป็นการทำลายกำแพง ไม่ให้สื่อเก่าเป็นสิ่งเดียวที่สามารถชี้นำสังคมได้" ชูวัสกล่าว

ด้านปราบต์ บุนปาน บรรณาธิการเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ตั้งข้อสังเกตว่า อันที่จริงสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ ก็สวิงไปมากันอยู่ ยกตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ 19 กันยาที่สี่แยกราชประสงค์ที่มีข้อความบางส่วนรอบเซ็นทรัลเวิลด์ คนร่วมถ่ายภาพข้อความเหล่านั้นเยอะมาก เป็นกระแสทางเฟซบุ๊กที่ใหญ่มากจนประจักษ์ ก้องกีรติ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการต่อสู้ในเมืองไทยเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์แล้วเหมือนนิยายของแดน บราวน์ ปรากฏว่า กลายเป็นสื่อออนไลน์เสียอีกที่ไม่สามารถนำเสนอข่าวตรงนั้นได้ อาจเพราะถูกจำกัดโดยศักยภาพของตัวเอง เพราะคนอาจคาดว่าจะได้เห็นภาพเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งหมิ่มเหม่ต่อกฎหมาย แต่ในสื่อสิ่งพิมพ์มีบทความหรือข้อเขียนจำนวนหนึ่งเลยที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ มันทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนิวมีเดียวกับสื่อเก่าที่ทำงานร่วมกันได้ หรือมีแทคติกบางอย่างที่สนทนาหรือโต้ตอบอะไรกับรัฐได้เหมือนกัน

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิจัยอิสระ กลับมายังจุดเริ่มต้นของคำถามว่า แล้วสื่อใหม่มีพลังถึงขนาดผลักดันให้เกิดมวลชนออกมารวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นต่างๆ ได้เลยหรือไม่ ซึ่งนิธินันท์ เห็นว่า ที่เห็นอยู่นี้ (การต่อสู้ทางการเมืองในโลกออนไลน์) มันเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการ set แต่หากมองในฐานะเครื่องมือการเป็นไปโดยธรรมชาตินี่เองที่เป็นคำตอบว่า มันใช้ได้ ถ้ามีการ set ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม น่าจะส่งผลได้จริง แต่อาจกินระยะเวลานานสำหรับ viral effect

อย่างไรก็ตาม สุภิญญา ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า การใช้สื่อออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย อาจไม่ใช่คำตอบในการกระตุ้นให้คนออกมาบนท้องถนน แต่อาจเป็นเหมือนพื้นที่ระบายอารมณ์ ความคิดของผู้คน ซึ่งเธอเห็นว่า ในยุคนี้การต่อสู้กันในเชิงวาทกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าการต่อสู้บนท้องถนน ขณะที่อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่า ต้องแยกกันระหว่าง publicize กับ mobilize ซึ่งกรณีสมบัติทำให้เห็นว่าสื่อใหม่ mobilize ได้จริง
 

เสนอเก็บบันทึก "สื่อใหม่" ในฐานะ "ประวัติศาสตร์บอกเล่า"
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เสนอว่า ควรมีศึกษาทำความเข้าใจสภาพทางจิตวิทยาและสังคมของอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมา เรามักจะอยู่ในกรอบของกฎหมายและเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตเป็นโลกที่เข้าใจแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ ทั้งที่ตามทฤษฎีสื่อ สื่อโดยตัวเองก็เป็นเนื้อหา ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพหรือการเข้าถึงที่สำคัญ แต่การจัดเก็บเอกสารย้อนหลังก็ควรทำด้วย โดยยกตัวอย่างยุคที่ บก.ลายจุดเป็นมือปราบคุณธรรมในอินเทอร์เน็ต จนตอนนี้กลายเป็นคนที่พูดเรื่องเสรีภาพที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง ตรงนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีใครบันทึกเอาไว้ 

อาทิตย์ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน (Library of Congress) ได้ร่วมกับทวิตเตอร์ จัดเก็บข้อความที่ผู้ใช้ทวีตแล้ว ซึ่งเขามองว่า นี่คือการดึงประวัติศาสตร์แบบบอกเล่า (Oral history) กลับเข้ามาในการศึกษาประวัติศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ประวัติศาสตร์แบบทางการถูกท้าทาย เพราะที่ผ่านมา ปัญหาที่มีมาตลอดในการศึกษาประวัติศาสตร์คือ ผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์ คือคนที่มีความสามารถในการเขียน สื่อใหม่จึงดึงตรงนี้กลับมา นี่จะเป็นมิติของนิวมีเดีย ที่จะดึงตรงนี้กลับมา

ปราบต์ บุนปาน แสดงความเห็นด้วยกับการจัดเก็บบันทึก และกล่าวเสริมว่า เดิม เมื่อพูดถึงการจัดเก็บจะนึกถึงเอกสารที่ถูกจัดเก็บโดยรัฐไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่ในอินเทอร์เน็ต หลักฐานหรือประวัติศาสตร์ส่วนบุคคลจำนวนมากเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียง ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ และทำให้การจัดเก็บมีความหมายเปลี่ยนไป แต่ก็ขึ้นกับว่าที่ผ่านมามีการจัดเก็บแค่ไหนอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท