นักปรัชญาชายขอบ: พรรคการเมืองใหม่ต้องต่อสู้ทางความคิด!

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
พอ คำนูณ สิทธิสมาน เขียนบทความเรื่อง “ความรุนแรงและการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์” ที่ระบุว่า “การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ของสมบัติ บุญงามอนงค์ อันตรายกว่า!” เช่นไปรณรงค์ที่อยุธยาเพื่อที่จะโชว์ป้าย “(สะพาน)ปรีดี พนมยงค์” ลงหน้า 1 จัดรณรงค์สารพัดรูปแบบที่ “ราชประสงค์” !ปล่อยลูกโป่งสีแดงในนามของกิจกรรม “ฟ้องฟ้า” หรือ “เขียนจดหมายถึงฟ้า” ! แล้วยังมีหนังสือพิมพ์รายวันและหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชั้นนำที่เลือกพาดหัวเลือกพาดหน้าปกอย่างมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ และสรุปท้ายบทความว่า “ขับเคลื่อนประเทศไปแบบนี้พอมองเห็นอนาคต เป็นอนาคตที่น่ากลัว!”
 
แล้ววันถัดมา สำราญ รอดเพชร กับ สุริยะใส กตะศิลา ก็ออกมาแถลงข่าวด้วยท่วงทำนองเดียวกันว่า การเคลื่อนไหวของสมบัติอาจกระทบสถาบัน แล้วก็โยงเหตุระเบิดต่างๆ ในช่วงนี้ทำนองว่าเป็นการเคลื่อนไหวอีกรูปแบบหนึ่งของคนเสื่อแดงที่คู่ขนานกันไปกับการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ พร้อมกับเรียกร้องให้ทหาร ตำรวจ รัฐบาลใช้ความเด็ดขาดในการจัดการไม่ต้องพูดถึง “ตัวพ่อ” อย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เล่นบทแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว
 
ปัญหาคือ ถ้าพันธมิตร หรือพรรคการเมืองใหม่ ไม่ดึงสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง จนกระทั่งนำมาสู่รัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วก็เรื่อยมาจนเกิดเหตุการณ์เมษา–พฤษภา 53 คนเสื้อแดงก็คงไม่มีการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์
 
คือมันมีการนำสัญลักษณ์มาสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองก่อนโดยพันธมิตร แล้วก็บานปลายมาสู่การนองเลือด การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อโต้ตอบโดยคนเสื้อแดงจึงเกิดขึ้น!
 
แต่ประเด็นสำคัญคือ การต่อสู้โดยใช้สัญลักษณ์ หรือเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว ย่อมมีความคิดหรือ “อุดมการณ์” บางอย่างรองรับอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าความคิดหรืออุดมการณ์ของคนเสื้อแดงตรงๆ เลยก็คือ ต้องการประชาธิปไตยที่มีความเป็นธรรมในการต่อรองอำนาจทางการเมือง หรือประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจ เจ้าของประเทศเท่าๆ กัน 1 คน 1 เสียงเท่ากัน
 
พูดอย่างสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ก็คือ เป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 ที่เปลี่ยนอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นอำนาจของประชาชน สถาบันกษัตริย์มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญกำหนด หมายความว่ามีอำนาจตามที่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจให้ความยินยอม อำนาจของสถาบันกษัตริย์จึงต้องยึดโยงอยู่กับอำนาจของประชาชน
 
คือเป็นสถาบันที่ประชาชนยินยอมให้ใช้อำนาจแทน ทางการบริหารประเทศโดยผ่านรัฐบาลที่ประชาชนเลือก อำนาจนิติบัญญัติผ่านสภา และอำนาจตุลาการผ่านศาล
 
ซึ่งการใช้อำนาจต่างๆ นั้นจะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการที่จะต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจนั้นด้วย ฉะนั้น พระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไม่ใช่อำนาจส่วนตัวของ “บุคคล” หรือก ลุ่มบุคคลใดๆ ที่อยู่เหนือ หรือเป็นอิสระจาก หรือไม่ขึ้นต่อ “อำนาจของประชาชน!”
 
การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดง ก็เพื่อที่จะยืนยันความคิดดังกล่าวนั้น คือความคิดหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจแทนประชาชน 3 ทางดังกล่าว สถาบันกษัตริย์ไม่มีอำนาจเหนือประชาชน หรือไม่มีอำนาจเฉพาะที่ไม่ขึ้นต่อความยินยอมของประชาชน
 
ถ้าถามว่า การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อยืนยันความคิด หรืออุดมการณ์ดังกล่าวนี้ จะนำไปสู่อนาคตที่น่ากลัวไหม? ก็ต้องถามกลับว่าอนาคตที่น่ากลัวคืออะไร? ถ้าอนาคตที่น่ากลัวคือความเป็นประชาธิปไตย มันก็น่ากลัวสำหรับคนที่กลัวความเป็นประชาธิปไตย คนเสื้อแดงต้องการประชาธิปไตยที่อำนาจต้องเป็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ถ้าใครจะเห็นว่าอนาคตของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแบบนี้มันน่ากลัว ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ก็คงต้องสู้กันไป!
 
แต่ในเมื่อพันธมิตรหรือพรรคการเมืองใหม่ ก็ประกาศว่าตัวเองต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเช่นกัน ขั้นต่ำสุดที่ควรแสดงออก คือต้องเปิดใจกว้างยอมรับความคิด เหตุผล อุดมการณ์ที่แตกต่าง ยอมรับวิธีการที่แตกต่างบ้าง การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคุณสมบัติจะว่าไปแล้วมันคือโมเดลหนึ่งของ “อารยะขัดขืน” นั่นเอง แล้วมันก็ดีกว่าที่พันธมิตรเคยทำมาในอดีต เพราะไม่มีไม้กอล์ฟ หรือเครื่องทุ่นแรงใดๆ
 
แล้วจะไปป่าวประกาศว่าเป็นความรุนแรงที่น่ากลัวกว่าทำไมครับ!
 
สิ่งที่พันธมิตรหรือพรรคการเมืองใหม่ต้องสู้ คือ ต้องสู้อย่างคนที่มี “สปิริตประชาธิปไตย” อย่างน้อยถ้าคุณไม่มีความคิดหรืออุดมการณ์อะไรที่จะเสนอว่าของคุณเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่า ที่น่าพึงประสงค์กว่า คุณก็ควรจะวิจารณ์ด้วยเหตุผลให้เห็นว่า ประชาธิปไตยที่ยืนยันอำนาจของประชาชน สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม ความเสมอภาคในความเป็นคน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงแนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นต้น ที่คนเสื้อแดงเสนอนั้น มันไม่ดีอย่างไร ไม่น่าพึงประสงค์อย่างไร
 
ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ล้มเจ้าๆ!!! เชียร์ให้ทหาร ให้รัฐบาลใช้อำนาจเข้ามาจัดการ อย่างที่ทำมาตลอด อ้างความจงรักภักดี อ้างจริยธรรม สะอาดโปร่งใส แต่เชียร์ให้ใช้ความรุนแรงกับฝ่ายอื่น ซึ่งเขาก็เป็น “คน” เหมือนกัน เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของทุกสถาบันเท่ากัน แบบนี้มันก็ไม่แฟร์!
 
ผมว่าควรสู้กันให้แฟร์ดีกว่า! ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับความคิด อุดมการณ์ ของคนเสื้อแดง ก็วิจารณ์ให้เห็นจุดอ่อนเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆ ไป
 
แล้วถ้าคุณมีความคิดมีอุดมการณ์อะไรดีกว่า ก็เสนอมาอย่างเป็นระบบ เป็นพิมพ์เขียวได้ยิ่งดี เช่น 70-30 ดีกว่ายังไง ให้ทหารปฏิวัติได้ถ้ารัฐบาลคอร์รัปชันเป็นประชาธิปไตยกว่ายังไง ถวายคืนพระราชอำนาจแล้วความยุติธรรมในสังคมจะมากขึ้นอย่างไร ให้การเลือก ผบ.เหล่าทัพเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์แล้ว จะทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นอย่างไร ฯลฯ ก็เสนอสู่สาธารณะให้ชัดๆ เลยครับ สังคมจะได้ตัดสินใจ
 
สู้กันด้วยเหตุผลแบบ “ผู้มีปัญญา” (อย่างที่ชอบอวดตัวเอง) ไม่ใช่เอาแต่กล่าวหา กุเรื่องล้มเจ้า เรื่องความรุนแรงไปวันๆ เซ็งเป็ด (ว่ะ !)        
 
 
 
 
มติชนออนไลน์ 10 ตุลาคม 2553
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท