Skip to main content
sharethis

เผยผลวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาตัวอย่าง 6 ประเทศ พบต้องนำระบบชดเชยฯ มาใช้ เพราะระบบฟ้องศาลระบบเดียวไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุของวิกฤติในระบบสุขภาพ

รศ.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัยที่เกาะติดกับการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมาโดยตลอด กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า หลักการของระบบชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก - ผิด เป็นเรื่องที่ดี แต่จากระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีความเห็นต่างและมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่คิดต่างกัน ทำให้ภาพรวมของระบบสุขภาพมีความปั่นป่วนพอสมควร ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้ทบทวนประสบการณ์ใน 6 ประเทศ ที่มีการใช้ระบบชดเชยความเสียหายฯ มาก่อน พบว่า หลายประเทศประสบความยากลำบากในตอนเริ่มต้น

รศ.ลือชัย เผยผลวิจัยกรณีตัวอย่างที่ศึกษาใน 6 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน อังกฤษ นิวซีแลนด์ อเมริกา นอร์เวย์ และออสเตรเลีย ชี้ชัดว่า สาเหตุที่ทุกประเทศต้องนำระบบชดเชยฯ มาใช้ เพราะประจักษ์ชัดเจนว่า การมีระบบฟ้องศาลระบบเดียวนั้นไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุของวิกฤติในระบบสุขภาพ เช่น คนไข้ที่เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม แพทย์ถูกฟ้องและต้องรับภาระคนเดียวทั้งๆ ที่ความผิดพลาดเกิดจากหลายปัจจัย เมื่อแพทย์หันไปซื้อประกันเอกชนเพื่อคุ้มครองตนเอง ก็ทำให้ค่าประกันสูงขึ้น สุดท้ายก็มาเพิ่มภาระค่ารักษาจนผลตกแก่ประชาชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นห่วงใยต่างๆ ของกลุ่มผู้คัดค้าน ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นประเด็นที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีดำเนินการแล้ว และมีเครื่องมือหรือมาตรการต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ โดยทุกประเทศเห็นตรงกันที่จะไม่ใช้มาตรการทางศาลในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด และในหลายประเทศ ต้องอาศัยการทำโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาในรายละเอียดของกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง” รศ.ลือชัย กล่าว

ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบอีกว่า หลายประเทศที่เริ่มจะทดลองใช้ระบบชดเชยฯ มักถูกโจมตีเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจมีแนวโน้มว่า หากใช้ระบบชดเชยฯ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเริ่มมีกองทุน เพราะอาจเกิดจากกรณีเสียหายสะสมมาก่อน ทั้งยังมีประเด็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพที่เกรงว่าจะตกต่ำลง เพราะมีกองทุนมาชดเชยแทน แต่จากประสบการณ์หลายประเทศ การที่ไม่นำข้อมูลที่พบในกระบวนการพิจารณาชดเชยฯ ไปใช้หากจะมีการฟ้องศาล หรือมีการสอบสวนขององค์กรวิชาชีพ มีผลดีคือ ช่วยผ่อนคลายความกดดันให้กับแพทย์ให้ร่วมมือเปิดเผยข้อมูลและขอโทษผู้เสียหายอย่างจริงใจ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การป้องกันเหตุซ้ำซ้อนในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดมาตรฐานการบริการที่ดีขึ้นจริงอย่างเป็นระบบ

รศ.ลือชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เกือบทุกประเทศใช้การผสมผสานระบบฟ้องศาลและระบบชดเชยฯ กล่าวคือ ไม่ปิดทางที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิพื้นฐานในการเข้าสู่ระบบศาล แต่ขณะเดียวกันก็จ่ายชดเชยอย่างเป็นธรรมและจูงใจให้เลือกใช้ระบบชดเชยฯ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นในงานวิจัย ที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายเป็นสำคัญ ผู้สนใจงานวิจัยประสบการณ์ต่างประเทศดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ห้องสมุดดิจิตัล สวรส.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net