Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เมื่อไม่นานมานี้มีคนตั้งคำถามสำคัญท้าทายกับผมว่า “ทำไมถึงเสนอว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอำมาตย์ เป็นพรรคเสรีนิยม?” ผมจะพยายามตอบในบทความนี้"

เมื่อไม่นานมานี้มีคนตั้งคำถามสำคัญท้าทายกับผมว่า “ทำไมถึงเสนอว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอำมาตย์ เป็นพรรคเสรีนิยม?” ผมจะพยายามตอบในบทความนี้

แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) เป็นทั้งแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐศาสตร์พร้อมกัน แยกออกจากกันไม่ได้ จุดเริ่มต้นของแนวนี้คือการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นนายทุน กับชนชั้นขุนนางอนุรักษ์นิยมในยุโรป ในสมัยปฏิวัติ อังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17-18

ในยุคนั้นพวกขุนนางอนุรักษ์นิยมสามารถผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ ผ่านการถือตำแหน่งในรัฐ และสามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองผ่านเผด็จการ ดังนั้นแนวคิดของชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาและท้าทายขุนนางอนุรักษ์นิยม จะเสนอว่าต้องมีประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และต้องทำลายการผูกขาดระบบเศรษฐกิจของรัฐโดยการใช้กลไกตลาดเสรีและการค้าเสรี

นักคิดสำคัญๆ ของแนวเสรีนิยมนี้มีอย่างเช่น John Locke, de Tocqueville, James Mill และเขามักจะเน้นเรื่อง “ประชาธิปไตย” เสรีภาพปัจเจกกับสิทธิในทรัพย์สินปัจเจก เพื่อเผชิญหน้ากับรัฐเผด็จการของขุนนาง ส่วน Adam Smith จะเน้นเรื่องความสำคัญของกลไกตลาดเสรีเพื่อต้านการผูกขาด แต่ “ประชาธิปไตย” ของเขาไม่ใช่ประชาธิปไตยที่พลเมืองชายหญิงทุกชนชั้นจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่างที่เราเข้าใจในยุคนี้ มันเป็นการเน้นสิทธิเสรีภาพของนักธุรกิจและชนชั้นกลางเพศชายมากกว่า สิทธิในทรัพย์สินคือสิทธิของนายทุนที่จะจ้าง (และขูดรีด) แรงงาน และสำหรับ Smith การใช้กลไกตลาดมีเป้าหมายในการทำลายอำนาจผูกขาดของขุนนาง ในขณะเดียวกัน Smith เน้นว่าระบบเศรษฐกิจที่พึงปรารถนา จะมีความเป็นธรรมสำหรับคนจนด้วย ไม่ใช่ระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” แต่ลูกศิษย์ Smith ในยุคนี้มักจะลืมประเด็นสำคัญอันนี้

เราต้องเข้าใจว่าคนที่ยึดถือแนวเสรีนิยมในยุคนั้นคือคนสมัยใหม่ก้าวหน้า ที่กำลังสู้กับระบบเก่า แต่พอชนชั้นนายทุนสถาปนาตนเองเป็นชนชั้นปกครอง และระบบทุนนิยมครอบงำโลกได้ กระแสคิดหลักของนายทุนก็เปลี่ยนไปเป็นการปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของเขา คือเขากลายเป็นคนอนุรักษ์นิยมนั้นเอง

ในปัจจุบัน แนวคิดเสรีนิยมกลายเป็นแนวที่ต่อต้านการใช้รัฐ เพื่อสร้างสวัสดิการและความเป็นธรรมสำหรับส่วนรวม ซึ่งเป็นกระแสหลักในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เสรีนิยมที่รื้อฟื้นขึ้นมานี้เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดาที่มาจากการเน้นผลประโยชน์ส่วนรวม “เสรีนิยมใหม่” หรือ Neo-liberalism คือลัทธิของคนที่เน้นการค้าเสรี การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ ในทศวรรษ 1980 (ยุค Thatcher กับ Reagan) พวกนี้นอกจากจะเน้นความ “ศักดิ์สิทธิ์ของกลไกตลาด” และความ “จำเป็น” ที่จะลดบทบาทรัฐแล้ว เขาพร้อมจะรับแนวคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” แล้วยังอ้างว่าการลดบทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้มี “ประชาธิปไตย” มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของคนทำงานซึ่งต้องการให้รัฐปกป้องความเสมอภาคในสังคม

พวกเสรีนิยมใหม่ มักจะวิจารณ์สวัสดิการรัฐว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน

ทุกวันนี้พรรคการเมือง “เสรีนิยม” ในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และส่วนอื่นของยุโรป เป็นแค่พรรคอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งของนายทุนเท่านั้น กรณีพรรคประชาธิปัตย์ในไทยก็ไม่ต่างออกไป และพรรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “สากลเสรีนิยม” อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย ใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์ และนักวิชาการรัฐศาสตร์เสรีนิยมในไทย ที่อ้างนักคิดเสรีนิยมต่างๆ เพื่ออธิบายประชาธิปไตย ก็หันไปต้อนรับรัฐประหาร 19 กันยา นี่คือสาเหตุที่ผมเรียกพวกนี้ว่า “เสรีนิยมรถถัง”

ประเด็นถกเถียงระหว่างพวกเสรีนิยมกับพวกสังคมนิยมในเรื่องประชาธิปไตยตะวันตกคือ สิทธิเสรีภาพของปัจเจก และระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก จะถูกพัฒนาผ่านการปล่อยวางให้กลไกตลาดดำเนินไปโดยไร้อุปสรรค์ หรือจะถูกพัฒนาผ่านการใช้รัฐในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของพลเมือง

ในไทย ทั้งรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลอำมาตย์อนุรักษ์นิยมของ คมช. กับประชาธิปัตย์ ชื่นชมในนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรี การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถ้าศึกษารัฐธรรมนูญปี 2550 จะเห็นว่าอำมาตย์ส่งเสริมทั้งกลไกตลาดเสรี แบบเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ กับเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กัน และมีการเน้นว่าทั้งสองไปด้วยกันได้และไม่ขัดแย้งกัน เราเข้าใจได้เพราะทั้งสองปฏิเสธการใช้รัฐเพื่อการกระจายรายได้และสร้างสวัสดิการ

ไทยรักไทย ต่างจากอำมาตย์อนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ ตรงที่มีการใช้เศรษฐกิจคู่ขนาน คือใช้เสรีนิยมกลไกตลาดในระดับชาติกับโลกาภิวัตน์ และงบประมาณรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าในระดับหมู่บ้านตามแนวเคนส์ (Keynesian) ไทยรักไทย ต่างจากพวกนั้นอีกในเรื่องการพัฒนาสวัสดิการ และการเชื่อมโยงเรื่องนี้กับชัยชนะในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

สรุปแล้วความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ไม่ใช่ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้เสรีนิยม กับกลุ่มชนชั้นนำที่อยากปิดประเทศและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคก่อนโลกาภิวัตน์แต่อย่างใด แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างอำมาตย์อนุรักษ์นิยมที่ต้องการปกครองประชาชน โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ กับนักการเมืองนายทุนที่ทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับพลเมืองส่วนใหญ่ผ่านการพัฒนาสังคม

พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นทั้งพรรคเสรีนิยม และพรรคอนุรักษ์นิยมได้ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทยเป็นพวกที่สนับสนุนอำมาตย์กับเผด็จการ

แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็น “นิยามทางวิชาการ” เพราะถ้าคุณใบตองแห้งและคนอื่นจะเรียกตัวเองด้วยภาษาชาวบ้านว่าเป็น “เสรีนิยม” ในความหมายที่ชื่นชมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกตัวเองแบบนั้น และผมก็จะสนับสนุนความรักในเสรีภาพของเขาเต็มที่

ส่วนผมจะขอเรียกตัวเองว่าเป็น “เสื้อแดงสังคมนิยม” ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ผ่านการทำลายเผด็จการของอำมาตย์ และเผด็จการทางเศรษฐกิจของทุนนิยมกลไกตลาดเสรี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net