Skip to main content
sharethis

คุณหญิงเป็ดขนของออกจาก สตง. แล้ว บ่ายนี้ ก่อนหน้าศาลปกครองมีคำสั่งชั่วคราวให้นายนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่า สตง. หลังนายพิศิษฐ์ ตัดสินใจร้องสอดในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการฯว่า ออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งรองผู้ว่าการฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มติชนออนไลน์ รายงานว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อบ่ายวันที่ 15 ตุลาคม 2553ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่ 184/2553 ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส)ให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการฯลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นซึ่งทำให้นายพิศิษฐ์ มีอำนาจในการรักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป

คดีดังกล่าวนายพิศิษฐ์ ในฐานะผู้ร้องสอดในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการฯว่า ออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งรองผู้ว่าการฯไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคุณหญิง จารุวรรณออกคำสั่งดังกล่าวภายหลังจากที่มีอายุครบ 65 ปีต้องพ้นจากตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา  ศาลเห็นว่า การออกคำสั่งดังกล่าวของคุณหญิงจารุวรรณน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนั้นคถุณหญิงจารุวรรณและผู้ร้องสอดได้ออกคำสั่งต่างๆออกมาหลายคำสั่งซึ่งจากการกระทำของคุณหญิงจารุวรรณและผู้ร้องสอดดังกล่าวย่อม สร้างความสับสนทั้งแก้ข้าราชการและลูกจ้างของ สตง.และทำให้หน่วยงานรับตรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความสับสนในอำนาจ หน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานใน สตง.ไปด้วย อันเป็นอุปสรรคทำให้ภาระหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายของแผ่นดินขาด ประสิทธิภาพเพราะข้าราชการ ใน สตง.ตลอกดจนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ทราบว่า จะต้องถือปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคนใด หาก ปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงต่อไปย่อมทำให้การตรวจสอบการมใช้จ่ายเงินของ แผ่นดินต้องเนิ่นช้าส่งผลกระทบหรือเกิดความเสียหายที่จะตามอีกนานับประการ อาจร้ายแรงมากยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง  อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าว ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานรัฐหรือแก่สาธารณแต่อย่างใด

จึงควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง สตง.เรื่องแต่งตั้งรองผู้ว่าการฯให้รักษาราชการแทน

เมื่อศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้ ร้องสอด(นายพิศิษฐ์)ย่อมมีอำนาจในการรักษาราชการแทนผู้ว่าการฯที่จะมีคำสั่ง ตามอำนาจในฐานะผู้รักาารากชารแทนที่จะมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีมาตลอดจนปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้เองโดยศาลไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งตามคำขอของผู้ร้องสอด จึงยกคำสั่งขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ร้องสอด

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่ง สตง.ของคุณหญิงจารุวรรณ ดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งๆที่ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันอังคารที่ 19 ตุลาคมนี้ เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้คุณหญิงจารุวรรณเข้าไปใช้อำนาจในการบริหารงาน สตง. ได้จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เพราะถ้าศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้คุณหญิงจารุวรรณแพ้คดี  คำพิพากษาจะมีผลบังคับหลังจาก 30 วันล่วงพ้นไปแล้วกรณีที่คุณหญิงจารุวรรณไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูง สุด

แต่ถ้าคุณหญิงจารุวรรณอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจะไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่การที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่ง สตง.ของคุณหญิงจารุวรรณ เป็นการชั่วคราว จะมีผลบังคับใช้ได้ทันที เว้นแต่คุณหญิงจารุวรรณอุทธรณ์คำสั่งและศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งกลับคำ สั่งของศาลปกครองกลาง

ด้านคุณหญิงจารุวรรณกล่าวว่า "ได้รับทราบคำสั่งของศาลแล้วค่ะ"

เมื่อถามว่า จะมีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อหรือไม่ นั้น คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวว่า "คงจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทนายความส่วนตัวจัดการ"

เมื่อถามย้ำว่า หลังจากนี้จะยังเข้าปฎิบัติหน้าที่ที่ สตง.ต่อไปหรือไม่ คุณหญิงจารุวรรณ อ้างว่า "ติดสายโทรศัพท์อื่นอยู่" แล้วรีบตัดสายโทรศัพท์ทิ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว สำนักงานศาลปกครองได้ส่งให้คู่กรณีในช่วงบ่ายซึ่งหลังจากที่นายพิศิษฐ์ได้ รับคำสั่งของศาล ได้รีบทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังทุกหน่วยงานใน สตง.และยังนำคำสั่งของศาลไปติดไว้ที่หน้าอาคารสำนักงานของ สตง.ด้วย

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ก่อนที่ศาลจะส่งคำสั่งดังกล่าวมาให้ตนทางโทรสารในช่วงบ่าย  คุณหญิงจารุวรรณพร้อมกับลูกๆได้เข้ามาขนของใช้ส่วนตัวออกจากออกทำงานเป็น จำนวนมากไม่น้อยกว่า 2 เที่ยว อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในห้องทำงานของคุณหญิง จารุวรรณว่า มีอะไรเสียหายหรือไม่

000

รายละเอียดในคำสั่งศาลปกครอง

ในคดีนี้ ผู้ร้องสอด(นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส) ยื่นคำร้องสอดลงวันที่ 23 กันยายน 2553 และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแก่ผู้ร้องสอด หรือกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของราชการเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุด การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงเป็นการที่ผู้ร้องสอดยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ตามข้อ 75 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ.2543 โดยมิได้มีการยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่องยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553

อย่างไรก็ตาม แม้จะมิได้มีคำขอดังกล่าวหากศาลเห็นว่า มีเหตุอันสมควรที่จะทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวได้ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองนั้นได้ตามข้อ 71 วรรคสอง ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 โดยศาลมีอำนาจสั่งทุกเลาการบังคับตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองได้ในกรณีที่ ศาลเห็นว่า กฎหรือ คำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความ เสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

ทั้งการทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่เป็นอุปสรรค แก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะตามข้อ 72 วรรคสาม ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี ปกครอง พ.ศ. 2543

จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ภายหลังจากมีอายุครบหกสิบห้าปี บริบูรณ์แล้ว ซึ่งมาตรา 34 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (2) มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์

ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นข้อหารือของสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดิน เรื่องการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า คุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดินที่มิใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระจึงยังต้องเป็นไปตาม ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 เช่น เมื่อตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติ...ย่อมทำให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งไป

ดังนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวข้างต้นและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาการออกคำ สั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลังที่ผู้ถูกฟ้องคดี(คุณหญิงจารุวรรณ)ออกคำสั่งสำนักงานการตรวจ เงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 และผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ตนยังต้องปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อนผู้ถูกฟ้องคดี ได้ออกคำสั่งต่างๆ ดังนี้

(1) ตามหนังสือ ตผ 0002/125 ลงวันที่ 14 กันยายน 2553 ยกเลิกคำสั่งของผู้ร้องสอดตามหนังสือ ที่ ตผ 0004/245 ลงวันที่ 13 กันยายน 2553

 (2) ตามหนังสือ ที่ ตผ 0002/1 - 2 ลงวันที่ 14 กันยายน 2553 แจ้งว่าคำสั่งของผู้ร้องสอด ที่ 202/2553 ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 ไม่มีผลตามกฎหมายเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไป แล้วตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 184/2553 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553

(3) ตามหนังสือ ที่ ตผ 0002/3 ลงวันที่ 17 กันยายน  2553 แจ้งว่าคำสั่งของผู้ร้องสอดตามหนังสือ ที่ ตผ 0004/245 ลงวันที่ 15 กันยายน 2553 ไม่มีผลใช้บังคับเพราะผู้ถูกฟ้องคดีได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการ ตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปแล้ว

(4) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 225/2553 ลงวันที่ 29 กันยายน 2553 ยกเลิกบรรดาคำสั่งทุกคำสั่งบันทึกข้อความต่างๆ ของผู้ร้องสอด

(5) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 226/2553 ลงวันที่ 29 กันยายน 2553 มอบหมายให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ส่วนผู้ร้องสอด(นายพิศิษฐ์)ได้ใช้อำนาจในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ออกคำสั่งต่างๆ ดังนี้

(1) ตามหนังสือ ที่ ตผ 0004/243 ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 ห้ามข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี

 (2) ตามหนังสือที่ ตผ 0004/245 ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 ให้สำนักงานบริหารงานกลางตรวจสอบและรับมอบสถานที่ พัสดุครุภัณฑ์ และยานพาหนะคืนจากผู้ถูกฟ้องคดี

(3) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 202/2553 ลงวันที่ 13 กันยายน 2553 มอบหมายให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

 (4) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 208/2553 ลงวันที่ 14 กันยายน 2553 ย้ายข้าราชการจำนวน 12 ราย

 (5) ตามหนังสือ ที่ ตผ 0004/255 ลงวันที่ 15 กันยายน 2553 ห้ามเผยแพร่ข้อมูลข้อความประชาสัมพันธ์ส่วนตนของผู้ถูกฟ้องคดีผ่านทางระบบ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและให้เรียกเครื่อง คอมพิวเตอร์แบบกระเป๋าหิ้วคืนจากผู้ถูกฟ้องคดี

(6) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ 223/2553 ลงวันที่ 27 กันยายน 2553 มอบหมายให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

(7) ตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 231/2553 ลงวันที่ 30 กันยายน 2553 เรื่อง ให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการประจำ

จากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอดดังกล่าวย่อมสร้างความสับสนทั้งแก่ข้าราชการและลูกจ้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และทำให้หน่วยงานรับตรวจงานรับตรวจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็น หน่วยงานภายนอกเกิดความสับสนในอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานการ ตรวจเงินแผ่นดินไปด้วย อันเป็นอุปสรรคทำให้ภาระ หน้าที่ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินขาดประสิทธิภาพเพราะข้าราชการ ในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตลอดจนหน่วยงานของรัฐที่ต้องเกี่ยวข้องกับการ ปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่ทราบว่าจะต้องถือปฏิบัติตามคำ สั่งของผู้บังคับบัญชาคนใด ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงต่อไปย่อม ทำให้การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินต้องเนิ่นช้าส่งผลกระทบหรือเกิด ความเสียหายที่จะตามมาอีกนานับประการอาจร้ายแรงจนยากแก่การแก้ไขเยียวยาใน ภายหลัง

อีกทั้งการทุเลาการบังคับตามคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะแต่อย่างใด จึง ควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ของผู้ถูกฟ้องคดี

ส่วนการที่ผู้ร้องสอดมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการ คุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแก่ผู้ร้องสอด หรือกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของราชการเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุด การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น

เห็นว่า เมื่อศาลได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 แล้ว



ผู้ร้องสอดย่อมมีอำนาจในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อแก้ไขปัญหา ต่างๆ ที่มีมาตลอดจนปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้เอง โดยศาลไม่จำต้องมีคำสั่งตามคำขอของผู้ร้องสอดจึงมีคำสั่งยกคำขอบรรเทาทุกข์ ชั่วคราวของผู้ร้องสอด

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามข้อ 71 และ 72 ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ศาลจึงมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 184/2553 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้รักษาราชการแทนผู้ว่า การตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 ของผู้ถูกฟ้องคดีไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

 

ที่มาจาก มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net