Skip to main content
sharethis
 
 
17 ต.ค.53 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) กล่าวเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ณ หอประชุมม.ธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ"ว่า กระบวนการปฏิรูปมีมานานอยู่ในหัวใจของคนในสังคมเป็นเวลาหลายสิบปี การปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ในครอบครัวยังคิดถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบ พฤติกรรม
 
กลไกที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี มีคุณค่า มีความหมาย และชีวิตที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในส่วนรวม การจะไปสู่จุดนั้นมีหลายวิธี มีการสู้รบฆ่าฟัน หรือการทะเลาะกัน แต่วิถีทางที่คำนึงถึงคือ สันติ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีทั้งสำเร็จบ้างและไม่สำเร็จบ้าง สิ่งที่อยากเห็นจากการปฏิรูปคือ ความเปลี่ยนแปลง ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน วิธีคิดของเรา คือ การอยู่ร่วมกันได้ รักษาจารีตประเพณี ค่านิยมเก่าๆ ได้ และอยากเห็นสังคมสมดุล ทั้งในความคิด อุดมการณ์และสมดุลในผลประโยชน์ 
   
 " วันนี้คณะกรรมการปฏิรูปที่มีตนเป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ไม่ได้มาเพื่อชี้นำ หรือบอกให้ใครต้องทำตาม แต่มาเพื่อรับฟังและสัมผัสข้อมูล อยากฟังความคิดเห็น อยากฟังข้อเสริมของประชาชนกลุ่มต่างๆ สิ่งที่สำคัญสุดคือความเข้าใจ ไม่ใช่เข้าใจในสิ่งที่ตนเองรู้ แต่ต้องเข้าใจในสิ่งที่คนอื่นนึกคิด มีการแบ่งคณะทำงานนอกเหนือจากที่ภาครัฐทำ กระบวนการปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามามีส่วนร่วม อย่างจริงจังและสร้างสรรค์"
 
 
 
 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นายอานันท์ขึ้นกล่าวอยู่บนเวทีนั้น ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ 37 องค์กร ประมาณ 5-6 คน ได้แสดงท่าทางนอนตายบริเวณทางขึ้นของเวทีด้านหนึ่ง พร้อมกับชูใบปลิวมีข้อความว่า "ไม่ปรองดองกับฆาตกร ไม่ปฏิรูปบนซากศพ" แต่นายอานันท์ไม่มีท่าทีสนใจใดๆ โดยกล่าวเปิดการประชุมบนเวทีจนจบ จึงเดินลงเวทีโดยใช้บันไดอีกด้านหนึ่ง
 
 กลุ่มดังกล่าวยังออกแถลงการณ์เรื่อง "หยุดปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพวีรชน เพื่อระบอบอำมาตย์ หยุดอำนาจอำมาตย์นอกระบบ เสริมสร้างอำนาจประชาธิปไตย ปลดปล่อยนักโทษการเมือง คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน "โดยมีข้อเรียกร้อง 7 ข้อ คือ 1.รัฐต้องดำเนินการปล่อยนักโทษการเมืองโดยเร่งด่วน 2.รัฐต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นสื่อ หยุดข่มขู่คุกคามประชาชน คืนเสรีภาพให้สื่อ ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐได้ 3.รัฐต้องยุติการสร้างภาพลวงตาในการปฏิรูปประเทศไทย ต้องหยุดการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อระบอบอำมาตย์   4.การปฏิรูปประเทศไทยต้องให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมมิใช่ประชาชนเพียงบางส่วนอย่างที่กระทำอยู่ 5.การปฏิรูปประเทศไทยต้องดำเนินการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้กองทัพแทรกแซงทางการเมือง และกระทำการรัฐประหาร 6.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมกฎหมายต้องมีความเป็นธรรม และ 7.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องยุบสภาโดยเร่งด่วนเพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน
 
ในภาคบ่ายได้แบ่ง 5 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 การสร้างความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ทำกิน กลุ่มที่ 2 คืนการศึกษาแก่ประชาชน กลุ่มที่ 3 เสริมพลังและสร้างสวัสดิการแรงงานไทย กลุ่มที่ 4 อำนาจของชุมชนในการพัฒนา และกลุ่มที่ 5 คุณภาพชีวิตของคนในเมือง
 
นายประยงค์ ดอกลำไย ตัวแทนกลุ่มที่ 1 กล่าวถึงข้อสรุปเสนอว่า อยากเห็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและยั่งยืน มีแนวทางคือ ให้เกิดกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าตามขนาดการถือครอง กระบวนการใช้ที่หากทิ้งร้างต้องถูกเก็บเพิ่มในอัตราก้าวหน้าเท่าตัวทุก 2 ปี ต้องจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อจัดหาที่ทำกินให้คนจนและเกษตรกรรายย่อย ยกระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน ต้องออกกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน และอยากให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นระบบไต่สวนยึดเอกสารหลักฐานของประชาชนและประวัติศาสตร์เป็นตัวตั้ง ขอให้ร่วมรณรงค์ให้ยุติการคุกคามชาวบ้านที่ถือครองที่ดินซึ่งมีความขัดแย้งกับรัฐ ไม่อยากให้มีคดีใหม่เกิดขึ้น ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมที่ครอบครองที่ดินบรรพบุรุษ แต่ถูกนายทุนใช้เล่ห์ออกเอกสารสิทธิทับที่ของเขา 
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ตัวแทนกลุ่มที่ 2 กล่าวถึงข้อสรุป 3 ประเด็นคือ 1.รัฐต้องสนับสนุนการศึกษาทางเลือก เพื่อให้คนทุกกลุ่มยังเข้าถึงระบบการศึกษา หน่วยงานรัฐต้องให้ความสำคัญกับหลักสูตรวิถีชุมชนมากกว่านี้ 2. ปรับโครงสร้างเพื่อลดบทบาทกระทรวงศึกษาลง สนับสนุนการสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตมากขึ้น รวมถึงต้องปฏิรูปสื่อควบคู่ไปด้วย การปลุกจิตสำนึกผู้บริหารการศึกษา และ 3. หาช่องทางใหม่นำการศึกษาเข้าถึงบ้านและคนจำนวนมาก เช่นการเปิดการศึกษาออนไลน์ ให้คนเข้าถึงระดับอุดมศึกษามากขึ้น ลดบทบาทการสอบเข้าอุดมศึกษาให้น้อยลงเพื่อลดการแข่งขันไม่ให้รู้สึกว่ามีการแข่งขันกันมากเกินไป ส่งเสริมปลูกฝังระบบคุณธรรม ความเป็นพลเมืองที่ดี 
นายชาลี ลอยสูง ตัวแทนกลุ่มที่ 3 กล่าวสรุป 10 ประเด็นคือ 1.อำนาจการต่อรองของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงาน 2. เรื่องของค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยยึดหลักเกณฑ์ตามไออาร์โอ ซึ่งคำนวณแล้วตกวันละ 421 บาท หรือประมาณเดือนละ 12,000 บาท 3. การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม จัดตั้งมา 20 ปีแล้ว วันนี้มีเงินกองทุนกว่า 7 แสนล้านบาท อยากให้เป็นองค์กรอิสระบริหารงานด้วยความโปร่งใส 4. จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงของนักลงทุนข้ามชาติ ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 3.8 แสนสถานประกอบการ 5. ขอให้ออกกฎหมายรองรับแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานจากที่อยู่เดิม เพื่อให้การใช้สิทธิเลือกตั้งสะดวกขึ้น 6. แก้ไขพ.ร.บ.ความปลอดภัยและอาชีวะอนามัย เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย 7. ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะประเภทที่เป็นคุณแก่ประชาชน เช่น ปตท. ไปรษณีย์ 8. การจัดสวัสดิการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน 9. การดูแลแรงงานนอกระบบ หรือประเภทแรงงานรับไปทำที่บ้าน ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 8 ล้านคน 10. การให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ 
นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มที่ 4 กล่าวว่า มีข้อเสนอให้ยกเลิกแผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ไปก่อน เพราะยังมีความขัดแย้งในพื้นที่สูง รวมถึงยกเลิกแผนจีดีพี ซึ่งการกำหนดโรงไฟฟ้ามากมายเชื่อว่าเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม มากกว่าเพื่อประชาชน ก่อนที่รัฐจะตัดสินใจมีดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ต้องจัดเวทีสาธารณะก่อน ชุมชนและชาวบ้านต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรของตนเอง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้ แยกส่วนการจัดสรรและบริหารงบประมาณระหว่างท้องถิ่นกับส่วนกลาง ขอให้มีการผลักดันให้ความเป็นธรรมทางคดีกับชาวบ้าน 
นางจันทร์ กั้วพิจิตร ตัวแทนกลุ่มที่ 5 กล่าวว่ารัฐต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดินของรัฐที่ทิ้งร้างในเมืองไม่มีการเปิดเผย เพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเช่าหรือเข้าไปอยู่อาศัย โดยเฉพาะที่รถไฟ ให้แต่นายทุนเช่า ต้องมีการเปิดข้อมูลผังเมือง เพื่อให้ทราบแนวนโยบายแห่งรัฐในการจัดทำระบบสาธารณูปโภค เพราะวันนี้มีปัญหาการไล่ที่ชาวบ้านมาก ถามว่าถ้าไล่คนจนออกจากเมืองหมด ใครจะกวาดถนนหนทาง ใครจะเก็บขยะ รัฐต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ได้ด้วย บ้านเมืองถึงจะสมานฉันท์ 
 
เชียงใหม่ เชิญ ‘ ชาญวิทย์’ ปากฐกเวทีคู่ขนาน
 
วันเดียวกัน  นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย" เสียงที่ไม่ได้พูด/สิ่งที่พูดไม่ได้ ในการปฏิรูปประเทศไทย" ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ซึ่งจัดโดยกลุ่มจับตาเคลื่อนไหวประชาสังคมไทยและเครือข่าย ว่า ได้รับเชิญให้มาปาฐกถานำด้วยเหตุผลที่ว่าผู้สูงอายุคนอื่นไปปฏิรูปประเทศกันหมดแล้ว และเมื่อเห็นว่าเป็นเวทีคู่ขนานกับระดับชาติก็เลยคิดที่จะพูดปัญหาเรื่องสังคมการเมืองที่ผ่านมา โดยมีข้อสังเกตว่าคำว่าสองมาตรฐานกลายเป็นคำที่ใช้อยู่ตลอด และคำว่าไพร่ที่ไม่น่าติดตาม จนกระทั่งกลุ่มเสื้อแดงประท้วง และคำว่าไพร่น่าจะตกเวทีกลับถูกนำมาใช้ สินค้าที่มีคำว่าไพร่ขายดีมาก ซึ่งน่าแปลก แสดงถึงนัยยะอะไรหลายอย่างต่อการเมืองปัจจุบัน
 
นายชาญวิทย์ กล่าวว่า ระบอบให้หรือประชาธิปไตย รัฐ ประชาชาติ ลัทธิชาตินิยม ที่ลงหลักปักฐานมากว่า 200 ปีนี้ ได้กลายเป็นรูปแบบ หลักการ มาตรฐาน และสากล ของสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่รัฐ/ประเทศ สมัยใหม่ต้องเผชิญ ต้องรับ ต้องปรับและต้องปรุง และทำให้เป็นรูปธรรม ให้เข้ากับสภาพการณ์ของตน ไม่ว่ารัฐ/ประเทศนั้นจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ระบอบประธานาธิบดี ระบอบทหาร ระบอบอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นระบบพรรคเดียว หลายพรรค หรือระบบ ระบอบใดๆ ก็ตาม นี่เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ด้านนายอานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สังคมไทยเปลี่ยนแปลงแต่โครงสร้างอันเก่ายังไม่เปลี่ยนเกิดความครอบงำ 3 อย่างตามมาคือ 1.ความคิดที่เน้นความชาตินิยมแบบบ้าระห่ำ เช่น  บ้าเรื่องพรมแดน มีค่านิยมฆ่าแล้วไม่บาปเช่น สมัยทักษิณ ผู้คนเฉยๆ และดีใจที่ชาวมุสลิมถูกฆ่าตายที่ตากใบ กรือเซะ เป็นค่านิยมที่ไร้สติ 2. เชื่อว่าเมื่อมีปัญหาต้องใช้สถาบันเดิมแก้เช่น บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ซึ่งมันแก้ไม่ได้ เพราะโลกปัจจุบันไร้พรมแดนไปแล้ว 3.มองความขัดแย้งในเชิงลบและรุนแรง นำมาซึ่งการปิดปากไม่ให้ประชาชนพูด
 
หากคิดได้แค่นี้ก็ไม่ต้องไปปฏิรูปแล้ว การขัดแย้งต้องต่อสู้ทางความคิดให้มาก การเปลี่ยนแปลงต้องเคลื่อนไหวทางสังคม ความขัดแย้งต้องมองในเชิงลบและบวกคู่กันไป อย่ามองอะไรด้านเดียว การจะปฏิรูปต้องทำอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คนไทยเน้นฟรีแต่ไม่แฟร์ ต้องเปลี่ยนแปลงกลไกเชิงสถาบันต้องปรับดุลยภาพอำนาจใหม่ ลดการขูดรีดแรงงานไม่ให้เกิดความเสี่ยง ระบบกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันเป็นเชิงเดี่ยวซึ่งมีปัญหา ต้องใช้เชิงซ้อนหรือพหุนิยมทางการเมืองหลายฝ่ายต้องช่วยกัน เสริมอำนาจประชาชนเข้าไปช่วยเสริมและจัดการปัญหาประชาธิปไตย
 
กระบวนการต่อสู้จนถึงขณะนี้ยังพายเรืออยู่ในอ่าง เราต้องคิดเรื่องกระบวนการผลักดันประชาธิปไตยภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลง มีประชาธิปไตยแบบเดียวหรือเปล่าต้องคิด การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยปัจจุบันยังไม่มีเนื้อหาพอที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตย ต้องยกระดับ ต่อยอด ซึ่งไม่ง่ายภายใต้โลกาภิวัฒน์ เพราะไม่ว่าจะเหลือง แดง หรือใครก็บอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกันทั้งนั้น
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์
ที่มาภาพ: ที่มาภาพ:http://www.facebook.com/#!/photo.php?fbid=486904150361&set=a.486904140361.292319.748860361&pid=6970750&id=748860361
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net