Skip to main content
sharethis
 
โคราชวิกฤต น้ำท่วมถ.มิตรภาพ รางรถไฟเอ่อล้น 1.30 เมตร
 
17 ต.ค. ที่จังหวัดนครราชสีมา ตลอดทั้งวันนี้ ทุกโรงงานได้แจ้งให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวแล้ว  สำหรับน้ำที่ไหลบ่าลงมาท่วมเขตอุตสาหกรรมนวนครนั้น เป็นน้ำจากพื้นที่ อ.ปักธงชัย อ.สูงเนิน และอำเภอสีคิ้ว รวมถึงอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลลงมารวมกันตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. วานนี้ ( 16 ต.ค.53 )  เนื่องจากพื้นที่ตั้งโครงการฯ เป็นพื้นที่ลุ่มอีกทั้งโดยรอบพื้นที่ก็ถูกน้ำท่วมขังเช่นเดียวกันจึงทำให้การระบายน้ำทำได้ค่อนข้างลำบาก
 
เจ้าหน้าที่สถานีรถไฟนครราชสีมา  ได้ประสานไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ส่งรถโดยสารมาช่วยรับส่งผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีรถไฟนครราชสีมา ไปยังกรุงเทพฯ เนื่องจากขณะนี้รางรถไฟที่บริเวณสถานีรถไฟตำบลโคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา ไปจนถึงสถานีรถไฟ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางกว่า 1กม. ถูกปริมาณน้ำไหลบ่าท่วมสูงกว่า 1.30 เมตร ทำให้รถไฟต้องปิดให้บริการโดยทันที  และต้องนำรถโดยสารมาขน-ส่งผู้โดยสารแทน
 
ส่วนการเดินทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปยังกรุงเทพฯ นั้นขณะนี้ยังเป็นไปค่อนข้างลำบาก เนื่องจากถนนมิตรภาพ ซึ่งเป็นถนนสายหลัก ถูกกระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมตั้งแต่เขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา ไปจนถึงสุดเขตจังหวัดที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง ตลอดทั้งสาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แนะนำให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังกรุงเทพฯ ทาง ถ.มิตรภาพ ให้ใช้รถยนต์กระบะเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงช่องทางที่ถูกน้ำท่วมขัง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 1,000 นาย คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำเส้นทางตลอดทั้งสาย ส่วนรถยนต์ขนาดเล็กให้หลีกเลี่ยงเส้นทางมิตรภาพ ไปใช้เส้นทาง ถนนสาย 304 นครราชสีมา -กบินทร์บุรี เพื่อเดินทางแทน
 
ขณะที่เรือท้องแบนและอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆที่มีอยู่ทุกหน่วยงานของจังหวัดนครราชสีมา ก็ถูกระดมไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในหลายอำเภอที่กำลังประสบกับปัญหาอุทกภัยอย่างหนัก อาทิ อ.ปักธงชัย , อ.สูงเนิน , อ.โชคชัย , อ.เมือง , อ.ด่านขุนทด , และอ.พิมาย เป็นต้น ทำให้ในขณะนี้ไม่มีอุปกรณ์รวมถึงกำลังพลเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือทั่วทุกพื้นที่ได้ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่โครงการอุตสาหกรรมนวนคร ก็ได้เร่งทำการระบายน้ำที่ท่วมขังออกอย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดการณ์ว่าหากไม่ฝนตกหนักลงมาอีกสถานการณ์ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเย็นวันนี้
 
ในเขตเทศบาลเมืองปัก อ.ปักธงชัย นครราชสีมา ช่วงที่ระดับน้ำขึ้นสูงสุด ตามข้อมูลการแจ้งของ จนท.โครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ฯ ว่า ทุกพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองปัก ฯ ที่เป็นย่านชุมชน เป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจ ธนาคาร ตลาด และอาคารพาณิชย์ต่างๆ ระดับน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงที่ไหลเข้าท่วมได้เพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว ทำให้การสัญจรต้องใช้เรือแทนรถยนต์ขนาดใหญ่ หรือรถขับเคลื่อน 4 ล้อ บ้านเรือนของราษฎรถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ท่ามกลางการระดมกำลังของอาสาสมัครหน่วยกู้ภัย จนท.จาก อปท.ใกล้เคียง และทหารกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ต้องนำรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่ยอมออกจากบ้านเนื่องจากเกรงจะถูกโจรกรรมทรัพย์สินมีค่าภายในบ้าน แต่ในที่สุดก็ทนรับสภาพไม่ไหวจึงมีการร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง 
นอกจากนี้ อปท.ที่อยู่ใกล้เคียง ที่ตั้งอยู่ในเส้นทางระบายน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิง ถูกน้ำท่วมขังเกือบ 100% ขณะรายงานข่าวได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก สำหรับอุทกภัยครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี สำหรับเส้นทางสัญจรเข้าสู่ กทม. จนท.ได้เปิดเส้นทางหลวงหมายเลข 304 ราชสีมา -กบินทร์บุรี แทนถนนมิตรภาพที่อาจเกิดน้ำท่วมขังยานพาหนะไม่สามารถสัญจรได้ ทำให้เกิดจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก จนท.จึงให้กลับมาใช้เส้นทางถนนมิตรภาพตามเดิม หลังได้รับแจ้งว่าปริมาณน้ำท่วมขังได้มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 
 
ลพบุรีอพยพชาวบ้าน น้ำไหลหลากท่วม 4 อำเภอ

ที่จ.ลพบุรี สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด หลังมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายหมู่บ้านใน อ.โคกสำโรง อ.ชัยบาดาล อ.สระโบสถ์ และ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ตั้งแต่ช่วงเช้าเมื่อวานนี้ (16 ต.ค.) ส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เจ้าหน้าที่ต่างเร่งอพยพชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนหลายหลังคาเรือน เพื่อหนีน้ำอย่างโกลาหล ล่าสุด ปริมาณน้ำเริ่มคงที่ เนื่องจากฝนหยุดตกแล้ว ซึ่งบางจุดมีน้ำท่วมสูง 40 เซนติเมตร

ขณะที่บางจุด กระแสน้ำป่าท่วมสูงเกือบศีรษะ บางจุดท่วมมิดศีรษะ เนื่องจากจุดดังกล่าว เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ และอาสากู้ภัย นำเรือเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนออกมาได้แล้ว ประมาณ 15 คน ที่ประสานงานขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยขนทรัพย์สินภายในบ้านเรือน อพยพออกมาพักอาศัยที่องค์การบริหารส่วนตำบลบัวชุม
 
นายธานี มาลีหอม นายอำเภอโคกสำโรงลพบุรีกล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ท่วมทั้งหมด 13 ตำบลราษฎรเดือดร้อน 1,700 ครัวเรือน และที่สำคัญน้ำหลากเข้าท่วมในเขตตลาดเทศบาลตำบลโคกสำโรง ทำให้ราษฎรทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาลเดือดร้อนอย่างหนัก ยิ่งฝนตกตลอดต้องช่วยกันเฝ้าระวังเกรงว่าน้ำป่าจากเทือกเขาตะเภาจะหลากเข้าท่วมอีกระลอกหนึ่งทางเพราะที่เข้าท่วมอยู่น้ำป่ามาจากเทือกเขาหมูมันในเขตอำเภอสระโบสถ์ทาง อำเภอสั่งการให้ทาง กำนันผู้ใหญ่บ้านเฝ้าระวังและรายงานให้ทางอำเภอทราบทุกระยะ 
"ที่ตำบลถลุงเหล็ก ที่น้ำป่าหลากเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร 50 เซนติเมตร น้ำไหลมาจากเทือกเขาหมูมันไหลลงมาตามคลองสาลิกา ชาวบ้านต่างต้อนสัตว์เลี้ยงขึ้นที่ดอน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสัตว์ เช่น กระบือ โค สุกร และไก่ พร้อมกันนั้น นางปกฤษณา วรปัญญา แม่ค้าขายข้าวเหนียวมะม่วงชื่อดังของอำเภอโคกสำโรง ได้ทำอาหารกล่องแจกหลายร้อยกล่องแจกจ่ายให้กับบรรดาอาสาสมัคร และผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ด้วยเงินส่วนตัว" นายธานี กล่าว
 
ที่จ.นครสวรรค์  นายประสิทธ์ สุขกลาง นายสถานีรถไฟนครสวรรค์ เปิดเผยว่า เกิดสถานการณ์น้ำฝนไหลบ่าท่วมทางรถไฟระหว่างสถานีจันเสน – ช่องแค นครสวรรค์ ตั้งแต่เวลา 07.06 นาฬิกา เนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมทางรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 3 ช่วงเสาโทรเลข (ประมาณ 500 เมตร) ทำให้ผู้โดยสารตกค้างอยู่ที่สถานีรถไฟช่องแคและสถานีจันเสน หลายร้อยคน สำหรับผู้โดยสารที่มารถไฟเที่ยวล่องจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ให้หยุดขนถ่ายเข้ากรุงเทพฯที่สถานีนครสวรรค์ 535 คน
 
 
ลำปางฝนกระหน่ำทางขาด-ชาวแม่พริก 3 หมู่บ้านเดือดร้อน

ที่ จ. ลำปาง  ชาวบ้านในพื้นที่ 3 หมู่บ้านในตำบลแม่พริก อ.แม่พริก จ.ลำปาง ได้แก่ บ้านสันขี้เหล็ก บ้านแพะ และบ้านสันป่าสัก ต้องได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผ่าวิ่งชู้) ที่ระบายน้ำลงสู่ลำห้วยแม่พริก ของเมื่อคืนวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ถนนทางข้ามห้วยขาดยาวเกือบ 80 เมตร ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเลี่ยงไปใช้ถนนเส้นทางอื่นไกลกว่า 3 กม. เพื่อเดินทางไปจ่ายตลาด และข้ามไปมาหาสู่กัน
 
นายสุรพล บุรินทราพันธุ์ นายอำเภอแม่พริก เปิดเผยว่า ความเสียหายที่เกิดจากน้ำป่า เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทางการได้รายงานความเสียหายให้ทางจังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสะพานคอนกรีต และถนนที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน จนถึงขณะนี้เป็นระยะเวลาครบ 1 ปี แล้ว ซึ่งก็ได้งบประมาณสนับสนุนจากกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
 
ทั้งนี้ หมู่บ้านแห่งนี้เคยถูกน้ำป่าพัดสะพานคอนกรีตข้ามห้วยเสียหายเมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก โดยทางหน่วยงาน อบต.แม่พริก ได้ประสานขอความช่วยเหลือไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยระหว่างที่ต้องรองบประมาณช่วยเหลือทางหน่วยงาน อบต.ในพื้นที่ ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าไปก่อนโดยวางท่อคอนกรีต และทำถนนคันดินเพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรชั่วคราว สามารถข้ามห้วยไปมาหากันได้ ก่อนที่จะมาถูกกระแสน้ำพัดได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พริก-ผาปัง เจ้าของพื้นที่ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไข ซึ่งต้องรอให้น้ำในลำห้วยลดระดับลงสู่ปกติเสียก่อน
 
น้ำป่าเขาพนมดงรักทะลักท่วมหลาย อ.ศรีสะเกษ ชาวบ้านขนของหนีอุตลุต!
 
สถานการณ์น้ำจากเทือกเขาพนมดงรัก  เขตชายแดนไทย – กัมพูชา  เริ่มที่จะทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขต  อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ  บางส่วนแล้ว  คือ  ในช่วงบ้านสำโรงเกียรติ  ต.บักดอง  และบ้านห้วย  ต.สิ 
 
นางอรุณรัตน์ ปิ่นคำ หัวหน้าสถานีอนามัยสำโรงเกียรติ ต.บักดอง  อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า  น้ำปีนี้ไหลมาเร็วมาก  ทำให้ตนเก็บข้าวของเครื่องใช้  และอุปกรณ์ทางการแพทย์แทบจะไม่ทัน  เพราะน้ำได้ท่วมขังมาเป็นเวลา  2 วันแล้ว ซึ่งน้ำได้ไหลเข้าไปในห้องต่าง  ๆ  บ ริเวณชั้นล่างของสถานีอนามัย  และบริเวณโดยรอบทางเข้าสถานีน้ำก็ได้ไหลเข้าท่วม  ทำให้ชาวบ้านใน 6  หมู่บ้าน  ที่มาเข้ารับบริการ  ต้องลำบากในการเดินลุยน้ำเข้ามารับบริการ  ซึ่งในเบื้องต้นตนก็ได้ย้ายอุปกรณ์ไปยังห้องต่าง  ๆ  เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้ทันที
 
ทางด้าน  นางอำพร สัญญา อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ 7 ต.สิ  อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ  กล่าวว่า  ในปีนี้น้ำได้ไหลมาเร็วมาก  ซึ่งตนก็ได้ช่วยกันเก็บของขึ้นไปชั้นบนของบ้านแล้ว  และน้ำได้ไหลเข้าท่วมในตัวบ้านด้านล่างทั้งหมด  ส่วนหลานที่พึ่งคลอดมาได้ ประมาณ 2  สัปดาห์  ก็ให้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านลูกสะใภ้ก่อน  เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก
 
สำหรับร้านขายไก้ย่างข้างทางบริเวณบ้านห้วย ต.สิ  อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ  ก็ยังได้มีการนำไก่มาย่าง  เพื่อจำหน่ายให้กับชาวบ้านที่ผ่านไปมา  ถึงแม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มไหลเข้าท่วมภายในบริเวณของร้านแล้วก็ตาม

ด้าน อ.กันทรลักษ์  เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ ช่วยอพยพชาวบ้าน ในชุมชนราษฎรพัฒนา หมู่ 5 เทศบาลเมืองกันทรลักษ์   ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับห้วยขยุง ไปอยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรักได้ล้นลำห้วยเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมพื้นที่บริเวณอาคารหอประชุมอำเภอไว้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว และอยู่ระหว่างประสานขอรถมาช่วยขนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงให้กับผู้ประสบภัย

ขณะที่  บ้านธาตุ บ้านธาตุทอง บ้านโกแดง บ้านละลม บ้านพรหมทอง  ต.ละลม  อ.ภูสิงห์  จ.ศรีสะเกษ  ก็ได้ประสบภาวะน้ำท่วมเช่นเดียวกัน  ซึ่งขณะนี้ข้าวที่กำลังออกรวง  ยังจมอยู่ใต้น้ำบาดาลร่วม  2,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ส่วนมากแล้วจะปลูกข้าวหอมมะลิ  105  พืชเศรษฐกิจ  สำหรับการอุปโภค  บริโภคและนำไปขาย  เพื่อสร้างรายได้แก่ครอบครัว  ชุมชน โดยชาวบ้านยังห่วงมากว่า  หากน้ำยังไม่ลดลงภายใน 2 - 3 วันนี้  ข้าวในนายิ่งจะสูญเสียมากกว่าเดิมเป็น 10 เท่า

ฝนตกหนัก น้ำป่าเขาใหญ่ทะลักระลอก2  หลายอำเภอยังจม
 
ที่จ.ปราจีนบุรี   เมื่อเวลา 21.30 น.วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา  นายวิโรจน์  ใจตรง กำนันต.บุพราหมณ์  อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี  กล่าวว่า จากการที่น้ำป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก ได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน -ถนนเข้าหมู่บ้านรวม จำนวน  8 หมู่บ้านที่ติดริมคลองยาง ต.บุพราหมณ์  อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี คือ   หมู่ 1  หมู่ 2 หมู่ 3  หมู่5  หมู่6  หมู่ 7 หมู่ 8 และหมู่  10   ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย1.50 เมตร     กลางดึกวันที่ 15 ต.ค. นั้น  หลังจากช่วงกลางวันระดับน้ำได้ลดลงเนื่องจากเป็นน้ำป่า    แต่ในช่วงนี้ระดับน้ำกลับเพิ่มสูงขึ้น    เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องน้ำได้ท่วมเป็นระลอก 2 และกำลังเพิ่มระดับต่อเนื่อง
 
“ฝากพื้นที่ลุ่มในการติดตามสถานการณ์น้ำเพิ่มสูงซึ่งได้ประกาศเสียงตามสายแจ้งเตือนภัยแล้ว       โดยเฉพาะหมู่10 ต.บุพราหมณ์  อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี  ที่ต่ำสุดคาดน้ำจะท่วมเท่าสถานการณ์น้ำเอ่อท่วมเมื่อคืน  ระดับเกือบ 2เมตรโดยขณะนี้ระดับกำลังสูงเพิ่มขึ้น โดยในปากทางเข้า-ออกได้นำเรือท้องแบน 1 ลำพร้อมเจ้าหน้าที่ อพปร.เฝ้าระวังรับส่งประชาชนที่เลิกงานไว้แล้วพร้อมขึงราวเชือกเพื่อเกาะข้ามถนนป้องกันกระแสน้ำพัดพาระยะทางเกือบ 200เมตร”  นายวิโรจน์กล่าว 
 
ด้านนายพนธ์    ดีเลิศ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบุพราหม์ หมู่ 10 (ส.อบต.) ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า  ได้ช่วยเหลือชาวบ้านเบื้องต้นขณะนี้โดยจะแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้งและน้ำดื่มสะอาดให้ในวันที่ 17 ต.ค.  เป็นการเบื้องต้นต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม ที่บริเวณชุมชนตลาดเก่า อ.กบินทร์บุรี จนถึงขณะนี้ ระดับน้ำยังท่วมสูงกว่า 1 เมตร และยังมีทีท่าเพิ่มสูงขึ้น ชาวบ้านต้องจัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำ และทรัพย์สินที่ย้ายมาไว้บนที่สูง ส่วนที่อำเภอนาดี ระดับน้ำเริ่มทรงตัว
 
ขณะที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ   เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ ได้ช่วยกันอพยพชาวบ้าน ในชุมชนราษฎรพัฒนา หมู่ 5 ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับห้วยขยุง ไปอยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรักได้ล้นลำห้วยเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งเบื้องต้นได้เตรียมพื้นที่บริเวณอาคารหอประชุมอำเภอไว้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราว และอยู่ระหว่างประสานขอรถมาช่วยขนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงให้กับผู้ประสบภัย
 
ป่าสักเอ่อท่วมอยุธยา3เมตรดมช่วยคน-หมา

นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา นายชโลม โปลิตานนท์ นายกเทศมนตรีตำบลท่าเรือ ได้ระดมหน่วยกู้ภัยเอกชน และหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาล ช่วยประชาชนในตลาดอำเภอท่าเรือ ถูกน้ำท่วมตั้งแต่  04.30 น. ระดับน้ำป่าสักเอ่อสูงท่วมถนนหน้าที่ทำการเทศบาลและอำเภอ ล้นเข้าไปจากริมแม่น้ำระยะทางเกือบ 100 เมตร ท่วมตัวตลาดร้านค้า เสียหายกว่า 200 หลังคาเรือน หน่วยปภ.ะหน่วยกู้ภัยต้องช่วยกันขนสิ่งของเครื่องใช้ออกจากบ้านไปไว้ถนน
ขณะที่หลายบ้านขนของออกไปอยู่บ้านญาติที่นอกเมือง และช่วยสุนัขจรจัดจำนวนกว่า 20 ตัวติดอยู่ใต้ถุนอาคารและบ้านเรือนริมแม่น้ำ โดยน้ำมีความลึก 2.50 – 3.00 เมตร ต้องใช้เรือขนสุนัขอย่างทุลักทุเล ส่วนประชาชนที่บ้านถูกน้ำท่วม ต้องลอยคอนำสิ่งของออกจากบ้านกันอลหม่าน 
นายวิทิต เปิดเผยว่าระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนเตรียมตัวป้องกันไม่ทัน ทั้งนี้เนื่องจากทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้มีการระบายน้ำมากกว่า 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำท่วม ตลาดภายใน 8 ช.ม. ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งให้ประชาชนริมแม่น้ำได้ขนข้าวของขึ้นที่สูง โดยคาดว่าน้ำจะสูงขึ้นอีก 1-1.50 ม.ในวันสองวันนี้ แล้วจะลดลง 
ด้านนายชโลม เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยขนของ ส่วนการป้องกันนั้นไม่สามารถที่จะป้องกันได้ เนื่องจากน้ำมีปริมาณมาก โดยเขื่อนพระราม 6 ระบายน้ำมากกว่า 800 ลบ.ม.เช่นกัน ตนได้เตรียมทำสะพานไม้เชื่อมในจุดสำคัญหากถูกน้ำท่วม ในพื้นที่ 
ทางด้านเขื่อนพระรามหก ซึ่งเป็นเขื่อนเก่าแก่แห่งแรกของประเทศไทย ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้มีการเปิดประตูระบายน้ำทั้งหมด 6 บานในระดับที่สูงที่สุด เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณสูงกว่า 10 เมตร ทำให้ปริมาณน้ำไหลสู้ท้ายเขื่อนมาก ขณะเดียวกัน จนท.ก็ประสบปัญหาเนื่องจากระหว่างที่น้ำไหลมา ปรากฏว่ามีต้นไม้สักขนาดความสูงไม่น้อยกว่าต้นละ 10 เมตร จำนวนนับร้อยต้นลอยมากับน้ำแล้วกระแทกเข้ากับบานประตูระบายน้ำของเขื่อนพระรามหกทำให้มีต้นไม้ไปปิดช่องทางน้ำสองประตู จนท.ชลประทานต้องช่วยกันนำไม้ขึ้นมา และปรากฏว่าเมื่อนำหมายขึ้นมาพบว่าส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ซึ่งมีลักษณะของการตัดและมีตราประทับป่าไม้ด้วย โดยมีรถบรรทุกมาขนไปโดยไม่ทราบว่าขนไปที่ใด
 
 
ที่มา : เว็บไซต์มติชน, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net