Skip to main content
sharethis

มอง "ชายรักชาย" ในละคร หนัง เพลง โฆษณา พบหลากหลายมากขึ้น แต่ยังผลิตซ้ำภาพเดิมๆ เช่น เป็นกะเทยต้องตลก มีรักชั่วคราว เจ้าอารมณ์ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ได้ก้าวข้ามเพศวิถีกระแสหลัก

 

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง “ตีตราตีตรวนตัวตนเกย์: การสร้างภาพเพศวิถีชายรักชายในสื่อไทย” ปี 2552 – 2553 โดยการเสวนาครั้งนี้ได้ตีแผ่ภาพลักษณ์ของเกย์ในสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ

อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า เขาศึกษาการสื่อความหมายเพศวิถีของชายรักชายผ่านละครโทรทัศน์ร่วมกับนิสิตใน คณะฯ พบว่า ชายรักชายในละครมี 2 ลักษณะ คือ ตัวตลก ไม่ก็เป็นเพื่อนนางเอก หรือเพื่อนตัวร้าย โดยในการศึกษามีการเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของชายรักชายในทีวีช่องต่างๆ ตั้งแต่ปี 2552 – 2553 ดังนี้

“ละครช่อง 3 ตัวละครชายรักชายจะเป็นตัวหลักดำเนินเรื่อง และชีวิตมีผลต่อสถานการณ์ของตัวละครอื่นๆ เราจะเห็นเรื่องราวของความรัก การหลบซ่อนและการปิดบัง มีความรักที่ปิดบังซ่อนเร้น ซึ่งเรื่องดีคือพยายามนำเสนอภาพบวกมากขึ้น แต่กะเทยยังคงเป็นตัวตลก และเป็นชนชั้นล่าง เช่น ละครเรื่อง “เลื่อมพรายลายรัก” หรือ “พระจันทร์สีรุ้ง” ที่มีเกย์ในบทแม่ แต่ลูกไม่ยอมรับ”

ส่วนละครช่อง 5 นั้น ในปี 2552 ชายรักชายเป็นตัวละครหลัก ขณะที่ละครซิทคอมมีตัวละครเป็นกะเทยแต่งหญิง ส่วนปี 2553 ก็ยังคงเน้นกะเทยแต่งหญิงอยู่ เช่น เรื่อง “พรุ่งนี้ก็รักเธอ”

“แต่ภาพลักษณ์ของเกย์นั้น ไม่ต้องปิดซ่อนเท่าละครช่อง 3” อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศบอก

อลงกรณ์ บอกอีกว่า ละครช่อง 7 ในปี 2552 ส่วนใหญ่ภาพลักษณ์ของชายรักชายจะเป็นบทคนรับใช้ เป็นชนชั้นล่าง เช่น เป็นลูกน้องของตัวหลัก ส่วนบทกะเทยก็แสดงออกเกินจริงมาก โดยตัวละครนี้มีไว้เพื่อเรียกเสียงหัวเราะมากกว่า

“ละครช่อง 9 จะมีชายรักชายเป็นตัวประกอบ เป็นคนดี แต่มีอาชีพไม่กี่ประเภท เช่น คนรับใช้ หรืออยู่ในวงการบันเทิง ความสวยความงาม ส่วนกะเทยมักเล่นบทตัวตลก แต่เกย์ที่เป็นชนชั้นกลาง – สูง ต้องปิดบังเพศสภาพ ทำให้ผู้ชมรู้สึกสงสาร เห็นใจ”

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า ภาพลักษณ์ของชายรักชายที่ปรากฏนั้น จะเป็นภาพลักษณ์เดิมๆ ที่คุ้นชิน คือ แต่งตัวเก่ง ขี้โวยวาย มักพูดจาประชดประชัน จีบผู้ชายก่อน เข้าถึงเนื้อถึงตัว รักเพื่อนพ้อง มีความตลกขบขัน ส่วนภาพลักษณ์ใหม่ ยังไม่ค่อยมีให้เห็นนัก คือ ผู้ชายทั่วไป ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เป็นคนมีเหตุผลแต่ก็อารมณ์ร้ายบางครั้ง มนุษยสัมพันธ์ดี อ่อนไหวคล้ายผู้หญิง ขณะที่คู่เกย์อีกคนจะเข้มแข็งกว่า

“บทบาทที่ปรากฏในเรื่อง ส่วนมากจะเป็นคนดี และการกระทำของคู่เกย์ส่งผลกระทบต่อคู่ของตัวเองและครอบครัวของคนทั้งคู่ เท่านั้น ส่วนตัวประกอบที่เป็นบทตลก จะคอยช่วยเหลือพระเอก หรือนางเอก และไม่มีอาชีพชั้นสูง”

อลงกรณ์ พูดถึง การแสดงออกถึงความรักของชายรักชายในละครมี 4 แบบ คือ 1.รักกัน แต่ไม่แสดงความรักประเจิดประเจ้อ 2.รักกันและแสดงความรักอย่างเปิดเผย 3.บทบาทเกย์ กะเทยที่แสดงออกว่ารักอีกฝ่ายอย่างเปิดเผย และ 4.บทบาทเกย์ที่แอบรักผู้ชายอีกคน แต่ไม่สามารถแสดงออก ซึ่งบทบาทส่วนใหญ่นี้จะไม่กระทบต่อการดำเนินเรื่อง

ผลการศึกษายังพบอีกว่า จากความรักข้างต้นนี่เอง ทำให้มีทั้งรักสมหวัง แม้จะถูกกีดกัน โดยมีแม่สนับสนุนและเข้าใจ แต่พ่อจะขัดขวาง และต่อต้านความรักแบบนี้ หรือก็ไม่สมหวัง แต่ยังมีความสุขต่อไป รวมทั้งรักไม่สมหวัง และพบกับความทุกข์ หรือตัวละครชายรักชายเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ และเพศวิถีของตัวเอง ที่จากรักผู้ชายมาเป็นรักผู้หญิงแทน

“มันทำให้เราเห็นมายาคติว่า ผู้ชายมีหน้าที่ต้องแต่งงานมีครอบครัวกับผู้หญิงที่ดี ขณะที่การเป็นเกย์ กะเทยยังต้องปกปิด เพราะกลัวสังคมไม่ยอมรับ แล้วเกย์ หรือกะเทยระดับล่างมักแสดงออกแบบผู้หญิงเกินจริง ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นของเกย์และกะเทยในสังคม ผ่านเครื่องแต่งกาย สิ่งของที่ใช้ ท่าทาง และลักษณะการพูด” อลงกรณ์อธิบาย

เขาอธิบายเพิ่มว่า บริบทภายนอกของการนำเสนอตัวละครชายรักชายในละครไทยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ของผู้จัดละครที่ต้องการนำเสนอความรักที่หลากหลาย หรือเพื่อให้เข้าใจจิตใจของเพศทางเลือกมากขึ้น แต่ก็มีที่ใช้นักแสดงมาเป็นจุดขาย แบบเอานักแสดงชายแท้มาพลิกบทบาท ซึ่งถือเป็นบทท้าทายความสามารถ

ขณะที่ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิหนังไทย กล่าวว่า ในส่วนของภาพยนตร์นั้น แบ่งการนำเสนอภาพลักษณ์ของชายรักชายได้ดังนี้

ภาพยนตร์ตลก ที่สร้างสถานการณ์ให้ตลกขบขัน เช่น เรื่อง “ผีตุ๋มติ๋ม” มีสมาชิกในทีมฟุตบอล เป็นชายรักชาย ก็สร้างสถานการณ์จากความตลกของตัวละครที่เป็นชายรักชาย โดยไม่แสดงความสามารถของตัวละคร เช่น เผลอป้องกันลูกเตะเข้าประตูได้ เพราะเป็นเรื่องบังเอิญ

“หนังเอามายาคติของสังคมมาขยายให้มากกว่าเดิม เช่น ชายรักชายแต่งตัวเก่ง ก็ให้ตัวละครแต่งตัวเวอร์ แบบไม่มีใครบนโลกนี้จะทำได้ เช่น ทากันแดดซะขาววอกเหมือนโบกปูน” สัณห์ชัยบอกและว่า ชายรักชายที่มีหน้าตา “ไม่สมบูรณ์แบบ” ก็มักจะเป็นตัวตลก เพื่อสร้างเสียงหัวเราะ รวมทั้งตอกย้ำว่าชายรักชายด้อยกว่าคนทั่วไป หรือผู้ชายในสังคม

นักวิจารณ์หนัง เล่าว่า ส่วนภาพยนตร์รัก ก็มีไว้เพื่อเทิดทูนความรักแท้ เช่น เรื่อง “จ๊ะเอ๋โกยแล้วจ้า” ที่มีโครงเรื่องเหมือนนางนาก ที่นักแสดง “ปอย ตรีชฎา” รอคอยการกลับมาของแฟน ซึ่งความรักของตัวละครที่สาวและสวย จะได้รับความเห็นใจจากสังคมไทย หรืออย่างเรื่อง “สตรีเหล็ก” ที่โก้-กกกร เบญจาธิกุล เล่น ก็จะได้ความรักกลับไป

“ส่วนตัวละครที่อัปลักษณ์ ความรักก็จะถูกทำให้ตลกขบขัน มีการเน้นย้ำมายาคติว่า นางเอกต้องสาวต้องสวย สาวคืออายุน้อย และสวยคือเหมือนผู้หญิง ถึงจะได้ทุกอย่าง และความรักของชายรักชายมักไม่สมหวัง แต่แม้ไม่สมหวังก็จะเป็นรักที่อมตะ แม้จะตายไป” สัณห์ชัยเล่า

ด้านภาพยนตร์นัวร์ คือภาพยนตร์ที่มีลักษณะการสืบสวนคดี ให้เห็นบรรยากาศของอาชญากรรม พยายามนำเสนอให้เห็นความเหลวแหลกของความเสื่อมทรามของคนในสังคม เช่น เรื่อง “เฉือน” ที่พยายามบอกว่าการเป็นเกย์ เกิดจากศีลธรรมที่เน่าเฟะหย่อนหยาน มีการตีตราว่าตัวเอกเป็นตัวประหลาด ชายรักชายเกิดจากสังคมที่เสื่อมทราม โดยคงไว้ว่าตัวละครชายเป็นคนดี คงไว้ซึ่งสังคมที่ดีงาม

“หากต้องการผลักให้มายาคติหายไป ต้องศึกษาว่ามายาคตินี้เกิดมาได้อย่างไร เช่น การล้อเลียนเรื่องการแต่งตัว ความปากจัด คือเราพยายามนำเสนอว่าฉันยอมรับเพศทางเลือก ฉัน Openแต่แฝงมายาคติล้อเลียนเป็นอย่างมาก” นักวิจารณ์หนังสรุป

อรรถสิทธิ์ เหมือนมาตย์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจการตลาด นิตยสาร Positioning ให้ความเห็นว่า ในสื่อโฆษณาปี 2552 ตัวละครที่เป็นเกย์จะมีอยู่น้อย เช่น โฆษณา “Oriental princess” ที่มีภาพเกย์แบบกลางๆ คือ ไม่สนับสนุนและไม่ต่อต้าน แต่โฆษณากาแฟลดน้ำหนัก “เนเจอร์กิฟ” ยังคงตอกย้ำภาพเกย์แบบเดิมๆ คือ เป็นกะเทยที่เน้นความตลกขบขัน

“โฆษณาที่เป็นสิ่งพิมพ์ของเกย์มักจะมีการเปลือยอก ใส่เสื้อกล้าม กางเกงใน แต่มักจะลดทอนความแรงของภาพด้วยการนำผู้หญิงมาใส่ไว้ในภาพด้วย” ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจการตลาดกล่าวและว่า การคาดหวังให้สื่อไทยมีภาพเกย์ในโฆษณานั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น เจ้าของสินค้ารับได้หรือไม่ เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพลักษณ์ของชายรักชายยังมีในสื่อเพลงด้วย อย่างที่ ศรุพงษ์ สุดประเสริฐ คอลัมนิสต์ คอลัมน์ Soho หนังสือพิมพ์ The Nationและฝ่ายมิวสิค บริษัทลักษ์เรดิโอจำกัด มองเพศวิถีชายรักชายผ่านงานดนตรีและมิวสิควิดีโอว่า ในปี 2552 กะเทยถูกลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยภาพที่ออกมาคือเป็นกะเทยเลี้ยงผู้ชาย เช่น เพลง “กะเทยประท้วง” ของปอยฝ้าย มาลัยพร เพลง “เจ็บมากๆ” ของ ดัง พันกร ที่มิวสิควิดีโอแสดงความสัมพันธ์ที่ไม่จีรังยั่งยืน มีการแสดงภาพตลกขบขันของเกย์ ทำให้ดูไม่เป็นมนุษย์ มีการตีตราบาปให้กับเกย์ เลสเบี้ยน เช่น เมื่อจับมือกัน พอมีคนมองก็ต้องรีบปล่อย

เขาเล่าต่อไปว่า ในปี 2553 มีวง Wonder gay ซึ่งภาพที่ออกมาจะตรงกันข้ามกับภาพที่สื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของเกย์ เช่น เรียนเก่ง มีความสามารถ แต่โดยทั่วๆ ไปยังมีการใช้กรอบการมองคนด้วยวิถีของรักต่างเพศค่อนข้างมาก

“ภาพของเกย์ในเพลงจะมีอยู่ 2 เทรนด์คือ ถ้าเป็นสาวก็จะมากรัก เจ้าอารมณ์ หรือไม่อย่างนั้นก็เป็นเกย์แอบ คือ แอบซ่อนความเป็นเกย์”

อย่างไรก็ตาม ศรุพงษ์ บอกว่า มีการพูดถึงเกย์มากขึ้นในมิวสิควิดีโอ แต่สุดท้ายแล้วคนที่รักเพศเดียวกัน มักเป็นคนผิด เป็นคนชายขอบ ส่วนคนรักต่างเพศ จะเป็นคนมีอำนาจหรือมักถูกเสมอ ทั้งที่ชายรักชาย ก็มีชีวิตจิตใจ เป็นคนเช่นกัน

“ใครกันแน่ที่ทำให้เกย์เป็นคนผิด?” ศรุพงษ์ตั้งคำถาม

ด้าน ปณิธี สุขสมบูรณ์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า จะเห็นว่าสื่อกับชายรักชายมีความหลากหลายมากขึ้น แต่สื่อเองยังผลิตซ้ำภาพเดิมๆ ของชายรักชาย เช่น เป็นกะเทยต้องตลก มีรักแค่ชั่วคราว เจ้าอารมณ์ และมีการสร้างมายาคติของเพศวิถีกระแสหลัก เช่น หากเป็นทอม – ดี้ ก็ต้องมีคนหนึ่งที่ต้องเข้าพวกความสัมพันธ์ของคู่ตรงข้าม (ชาย – หญิง)

“การแปะป้ายอาชีพให้กับคนสามารถทำได้ แต่ในเรื่องเพศ ทำไมต้องเอาป้ายไปแปะว่าเขาเป็นพวกไหน ทำไมไม่มองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง” ปณิธีกล่าวและว่า นอกจากนี้ภาพในสื่อก็ยังไม่นำเสนอภาพชายรักชายที่เป็นครอบครัว นำเสนอแต่ภาพของครอบครัวที่ต้องเป็นคู่ตรงข้ามชาย – หญิง ในขณะที่ชีวิตจริงมันมีอยู่ แต่ไม่ถูกนำเสนอ

อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ กล่าวว่า สังคมไทยในปัจจุบัน ยังไม่ได้ก้าวข้ามเพศวิถีกระแสหลัก เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปลูกฝังมานานจนเชื่อว่าเป็นแบบนั้น หรือในการผลิตสื่อ แม้จะพยายามก้าวข้ามเรื่องเพศกระแสหลัก แต่ยังไม่พ้นมายาคติที่มี

ศรุพงษ์ ทิ้งท้ายในวงเสวนาครั้งนี้ว่า ขึ้นอยู่กับสังคมว่ายอมรับเกย์ได้มากแค่ไหน ถ้าสังคมยอมรับได้ภาพของชายรักชายก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น

“ถ้าสังคมยอมรับได้ ภาพของชายรักชายก็จะเหมือนชายหญิงในสังคม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net