ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ไทยร่วงกราวกองอยู่ท้ายตาราง

RSF จัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกปี 2553 ระบุประเทศคอมมิวนิสต์เอเชียยังอยู่รั้งท้าย ส่วนไทยร่วงมาท้ายตาราง (153) จากที่มีนักข่าวบาดเจ็บ-เสียชีวิตจากการทำข่าวชุมนุมเสื้อแดง

19 ต.ค. 53 - สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) จัดอันดับทำเนียบเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2553 โดยระบุว่า ประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ ในเอเชียยังอยู่ท้ายตาราง เช่น เกาหลีเหนือ (อันดับที่ 177), จีน (อันดับที่ 171), เวียตนาม (อันดับที่ 165), ลาว (อันดับที่ 168) เป็นกลุ่มที่อยู่ภายใน 15 อันดับท้ายตารางของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อปี 2553

RSF ระบุว่าการปกครองแบบเบ็ดเสร็จของเกาหลีเหนือยังไม่พัฒนาขึ้น ในทางกลับกันการวางแนวทางเพื่อปูทางให้ทายาทของคิมจองอิลขึ้นสู่อำนาจยิ่งทำให้เกิดการปราบปรามรุนแรงขึ้น ส่วนจีนนั้นแม้จะมีพัฒนาการด้านสื่อและอินเตอร์เน็ตแต่ก็ยังคงอยู่ในอันดับต่ำเนื่องจากยังมีการเซนเซอร์และปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในแถบทิเบตและซินเกียง ในลาว มีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่สามารถควบคุมสื่อได้ทั้งหมด ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเวียตนามก็ทำให้เสรีภาพสื่อแย่จนอยู่ในอันดับต่ำกว่ามาตรฐาน
ด้านประเทศไทยเองก็อยู่ท้ายตารางไม่ห่างกันนัก โดยร่วง 23 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 153 จากการที่มีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกสังหารและอีก 15 รายได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในกรุงเทพฯ

ขณะที่อินเดียเองก็ตกอันดับมาอยู่ในที่ 122 จากกรณีเหตุรุนแรงในแคชมียร์ ฟิลิปปินส์เองก็ตกมา 34 อันดับจากกรณีที่มีการสังหารหมู่นักข่าวในเขตมินดาเนา แม้จะมีฆาตกรบางรายที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ฟิลิปปินส์ยังเต็มไปด้วยอาชญากรรมที่ไม่ได้รับการ ลงโทษ ส่วนอินโดนีเชีย (อันดับที่ 117) แม้จะมีการเติบโตด้านสื่อ แต่ก็มีกรณีที่นักข่าว 2 ราย ถูกสังหาร และอีกหลายรายได้รับการขู่ฆ่า จากการทำข่าวสิ่งแวดล้อม ส่วน มาเลเซีย (อันดับที่ 141), สิงคโปร์ (อันดับที่ 136), ติมอร์ตะวันออก (อันดับที่ 93) ต่างตกอันดับกันในปีนี้ สรุปได้ว่าการปิดกั้นสื่อยังคงไม่ดีขึ้นในประเทศอาเซียน แม้จะมีการนำกฏบัตรสิทธิมนุษยชนมาใช้ก็ตาม

ในอัฟกานิสถาน (อันดับที่ 147) และปากีสถาน (อันดับที่ 151) กลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ในอันดับต่ำจากการที่มีระเบิดพลีชีพ การลักพาตัว ทำให้การทำงานเป็นนักข่าวเป็นอันตรายมากขึ้น และรัฐก็ยังทำการจับกุมนักข่าวสืบสวนสอบสวน ที่บางครั้งก็ดูใกล้เคียงกับการลักพาตัว

ขณะที่กลุ่มประเทศที่ได้ลำดับสูงในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น (อันดับที่ 11), ฮ่องกง (อันดับที่ 34) ส่วนไต้หวันและเกาหลีใต้ได้อันดับดีขึ้นหลังการจับกุมและใช้ความรุนแรงกับนักข่าวลดลงและแม้จะยังมีปัญหาความไม่เป็นอิสระของบรรณาธิการข่าวจากสื่อรัฐก็ตาม

มีประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่ได้อันดับดีขึ้นมากอย่างมองโกเลีย (อันดับที่ 76) มัลดีฟ (อันดับที่ 52) ผู้มีอำนาจให้ความเคารพต่อเสรีภาพสื่อจากการที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่โจมตีสื่อในมัลดีฟ

RSF กล่าวว่าทำเนียบนี้จัดโดยอาศัยหลักการด้านการคุกคามเสรีภาพสื่อ ประเทศในเอเชียได้รับอันดับล่าง ๆ อีกปีหนึ่ง แม้ในบางประเทศรัฐจะเปิดเสรีภาพแต่ก็มีการคุกคามสื่อจากกลุ่มที่ม่ใช่รัฐบาล สื่อที่อยู่ภายใต้ประเทศที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จมักจะถูกเซนเซอร์หรือไม่ก็เซนเซอร์ตัวเอง ขณะเดียวกันการที่นักวิชาการจีน หลิว เสี่ยวโป ผู้ถูกทางการจีนสั่งจำคุก 11 ปี ทำการต่อสู้จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ก็ถือเป็นนิมิตใหม่ที่นำความหวังมาให้กับประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท