ข้อสังเกต: วิธีคิดเชิงซ้อนและการเคลื่อนไหวทางสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“วิธีคิดเชิงซ้อน” กลายเป็นวิธีคิด เป็นองค์ความรู้ ที่นำมาสู่การอธิบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญในแวดวงวิชาการและแวดวงการเคลื่อนไหวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้กับ “วิธีคิดเชิงเดี่ยว” ของรัฐซึ่งครอบงำสังคมไทยอยู่มาเป็นเวลานาน โดยมีอาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ “วิธีคิดเชิงซ้อน”

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่า “วิธีคิดเชิงซ้อน”นั้น สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์สังคมไทยในหลายด้านมิเพียงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น และที่ผ่านมาก็มีการปรับใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย ซึ่งมีผู้เขียนขอนำเสนอข้อสังเกตบางประการ ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ความสำคัญของความรู้วิชาการของ “วิธีคิดเชิงซ้อน” ที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิเชิงซ้อน” ในการจัดการทรัพยากรที่ดินนั้น โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียน ซึ่งมีข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบว่า กรณีการต่อสู้เรื่องที่ดิน การคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ช่วงปี พ.ศ.2535 ที่ภาคอีสาน และกรณีการคัดค้านการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ ปี พ.ศ.2537 ตลอดทั้งกรณีการยึดที่ดินที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่าไม่ใช้ประโยชน์ภาคเหนือ ปี พ.ศ.2542 นั้นมีวิธีคิดและการจัดการที่ดินที่แตกต่างกันของขบวนการต่อสู้ที่ดินทั้งสองภาค

กล่าวคือ ขบวนการต่อสู้คัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อโทรม (คจก.) ในพื้นที่ภาคอีสาน หรือรู้จักกันว่า เป็นนโยบาย “ไล่คนออกจากป่า” ได้เคลื่อนไหวต่อสู้ตั้งแต่ยุคสมัยเรืองอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐบาลนำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร และได้ยุติโครงการสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังเหตุการณ์ขับไล่อำนาจเผด็จการทหาร ทำให้มวลสมาชิกที่เคยร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการ คจก. กลับมาทำมาหากินตามปกติ และมีการสนับสนุนกิจกรรมต่างขององค์กรพัฒนาเอกชน เช่น ส่งเสริมเกษตรกรรมทางเลือก การจัดการป่าชุมชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การจัดที่ดินของกลุ่มมวลสมาชิกของขบวนการต่อสู้คัดค้านโครงการคจก.ภาคอีสานนั้น ยังคงเน้นรูปแบบ การจัดการที่ดินเชิงเดี่ยว คือการเรียกร้องให้รัฐมีการรับรองสิทธิ์ของชาวบ้านแบบกรรมสิทธิ์เอกชน หรือให้ความสำคัญกับสิทธิในการแสดงความเป็นเจ้าของมากกว่าสิทธิการใช้ หรือให้อำนาจการจัดการที่ดินแก่ปัจเจกชนเป็นหลักมากกว่าหลักการมีส่วนร่วมกำกับควบคุมของกลุ่มหรือชุมชน หรือให้อำนาจการตัดสินใจในการจัดการที่ดินอยู่ที่เจ้าของที่ดินอย่างเบ็ดเสร็จ เช่น สามารถขายที่ดินให้ใครก็ได้โดยไม่จำเป็นว่าเมื่อที่ดินหลุดมือไปแล้วจะมีผลกระทบต่อกลุ่มหรือชุมชนรอบข้างอย่างไร ผู้ซื้อที่ดินอาจจะใช้พื้นที่ดินนั้นสร้างบ่อขยะ ทำรีสอร์ตสร้างสนามกอฟล์ที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งในเวลาต่อมามีการสำรวจพบว่า ที่ดินของมวลสมาชิก(ส่วนใหญ่เป็นเกษตรรายย่อย) ที่เคยได้ร่วมต่อสู้คัดค้านโครงการ คจก. ได้ถูกเปลี่ยนมือไปยังนายทุนจำนวนไม่น้อย ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรกรรายย่อยต้องเผชิญกับปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ และการหนี้สินล้นพ้นตัว กล่าวอีกด้านหนึ่งได้ว่า การจัดการที่ดินรูปแบบนี้มีความเปาะบางที่นำสู่ความไม่มั่นคงในการถือครองที่ดินในที่สุด

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเรื่องที่ดินของภาคเหนือนั้น ได้รับอิทธิพลของความรู้ “วิธีคิดเชิงซ้อน” จึงทำให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนในระหว่างการมีปฏิบัติการณ์ปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน และได้ให้ความสำคัญกับ “การจัดการที่ดินเชิงซ้อน” มีรูปธรรมคือ “โฉนดที่ดินชุมชน”

การจัดการที่ดินเชิงซ้อนนั้น เน้นหลักการสิทธิการใช้ ไม่เน้นให้ปัจเจกชนเป็นเจ้าของที่ดินแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์เอกชน ใครไม่ใช้พื้นที่ผืนนั้นคนอื่นในกลุ่มสามารถใช้แรงงานเข้าทำประโยชน์ในที่ดินผืนนั้นได้ มีกฎระเบียบการจัดการที่ดินของกลุ่ม เช่น ห้ามขายที่ดินให้บุคคลภายนอก ชุมชนทำหน้าที่ควบคุมการจัดการที่ดิน ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้มีความมั่นคงในการถือครองที่ดินได้อย่างรอบด้านกว่าในเชิงเปรียบเทียบกับการจัดการที่ดินแบบเชิงเดี่ยว และนำสู่การพัฒนากลุ่มในด้านอื่นๆด้วย เช่น การทำเกษตรกรรมอินทรีย์ การสร้างตลาดทางเลือก การสร้างแบ่งแปลงเกษตรเป็นของส่วนรวม ฯลฯ

แต่ก็ไม่ลักษณะรวมหมู่สุดโด่งเหมือนเช่นแนวคิดซ้ายจัดสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ที่มีการบังคับเกณฑ์แรงงานให้ทำนารวม หรือแนวคิดของพอลพต ผู้นำเขมรแดง ที่มีการบังคับให้คนในเมือง ปัญญาชน ใช้แรงงานทำนารวม ที่มีแนวคิดว่าทุกอย่างต้องเป็นของส่วนรวม

ประเด็นที่สอง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทำงานพัฒนา ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล “แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน” ภายใต้คำขวัญ“คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ซึ่งแนวคิดนี้ขาดการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับบริบทความเป็นจริงที่สังคมชนบทนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ทำให้การเสนอทางออกต่อสังคมชนบท “แบบพึ่งตนเอง” หรือ “แบบพอเพียง” ลักษณะต้อง “ขูดรีดตนเอง”ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและความเป็นธรรมในสังคมไทย

ข้ออ่อนของข้อเสนอเหล่านี้คือการมองข้ามความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างสังคมชนบทกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งนอกจากจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมชนบทแล้ว ยังทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณะเท่าที่ควร

ที่สำคัญ ทุกปัญหาของคนจนในชุมชนท้องถิ่นล้วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมที่ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งมิเพียงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น รวมถึงการจัดการทรัพยากรทุกส่วนด้วย เช่น งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น และความบกพร่องทางโครงสร้างนั้นเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการกระจายรายได้ ช่องว่างทางชนชั้น ความไม่เสมอภาค ความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้านำ ”วิธีคิดเชิงซ้อน” มาทำความเข้าใจสภาพการดำรงอยู่ของภาคชนบท จะมองเห็นถึง พลวัตรของสังคมชนบท และการเชื่อมโยงระหว่าง “ชนบท” กับ “เมือง” ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน จะเห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาสังคมชนบทที่มีมากไปกว่าเรื่องการไร้สิทธิหรือการถูกละเมิดสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และทั้งยังจะมองเห็นถึงการซ้อนทับของอำนาจต่าง ๆ ผ่านผู้กระทำการที่มีทั้งคนในและคนนอก และทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ประเด็นหนึ่งที่น่าพิจารณาอย่างมากคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ในการจัดการแรงงาน ในปัจจุบันนี้ การจัดการแรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรมีความซับซ้อนอย่างมาก โดยมีภาคชนบทเป็นแหล่งแรงงานสำคัญ ขณะที่คนในชนบทเองรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยในทุกวันนี้ไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยการทำเกษตรหรือพึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติเพียงลำพังอีกต่อไป แต่มียุทธวิธีในการดำรงชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการทำงานรับจ้างทั้งในและนอกภาคการเกษตร

เมื่อพิจารณาในประเด็นแรงงาน จะเห็นแรงงานทั้งในและนอกภาคการเกษตรนั้นถูกเอารับเอาเปรียบอย่างมาก เช่น กรณีเกษตรกรรายย่อยที่ต้องรับจ้างบนที่ดินของตนเองภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาโดยไม่มีอำนาจใดๆในการจัดการการผลิตในที่ดินของตนเองเปรียบเสมือนแรงงานรับจ้าง กรณีคนงานรับจ้างทำงานผ่านระบบแบบเหมาช่วงด้วยรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ทำให้นายจ้างสามารถหลบเลี่ยงกฎหมายแรงงานที่ให้การคุ้มครองแรงงาน ถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้างและการจัดสวัสดิการ มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพเมื่อต้องเผชิญอยู่กับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย กรณีคนงานในโรงงานที่จำยอมแบบถูกบังคับให้ทำงานมากกว่าแปดชั่วโมงต่อหนึ่งวัน เนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้จึงต้องทำงานผ่านโดยระบบโอที

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเรานำ “วิธีคิดเชิงซ้อน” มาอธิบายเกี่ยวพันกับ”การมีส่วนร่วม” และ” การต่อรอง” ของคนงานในเมืองทั้งในรูปแบบสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการของคนงาน เราจะพบว่า การเคลื่อนไหวของคนงานเพื่อขอแบ่งปันกำไรจากนายจ้าง และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้นต่อคนงาน เช่น เรื่องค่าจ้าง เรื่องสุขภาพความปลอดภัย เพื่อเรื่องสวัสดิการคนงาน ฯลฯ และการต้องการมีส่วนร่วมในระบบการผลิตและระบบการจัดการ เช่น การกำหนดเวลาวันหยุดงาน การกำหนดแผนงานการผลิตฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง เท่ากับว่าคนงานไม่ยอมรับ “การจัดการเชิงเดี่ยว” ของนายจ้างด้วยเช่นกันที่มักเน้น อำนาจระบบสั่งการตามสายบังคับบัญชา กำหนดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตเพียงผู้เดียว

ประเด็นที่สาม ความสำเร็จระดับหนึ่งในการผลิตวาทกรรม “ป่าชุมชน” ซึ่งนับเป็นรูปธรรมหนึ่งของการที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ระบบ “สิทธิเชิงซ้อน” จนกระทั่งนักการเมือง พรรคการเมือง และระบบราชการต่างขานรับและเห็นพ้องกันว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายป่าชุมชน

ทว่ากฎหมายป่าชุมชนที่กำลังจะออกมาบังคับใช้นั้นกลับบิดเบือนสาระของป่าชุมชนอย่างสิ้นเชิง อำนาจในการจัดการป่ายังรวมศูนย์อยู่ที่ระบบราชการ และยังเน้นการกีดกันสิทธิของชาวบ้านในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งหมายความว่าวาทกรรมป่าชุมชนที่ถูกผลิตขึ้น รวมถึงวาทกรรมอื่น ๆ สามารถที่จะถูกรัฐบิดเบือน แปรเปลี่ยนเจตนารมณ์และความหมายไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ตลอดเวลา

คำถามชวนสงสัยของผู้เขียนก็คือว่า เพียงการผลิตวาทกรรมในการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปฏิบัติทางวาทกรรมเป็นจริงมีรูปธรรมและกฎหมายรองรับได้ เมื่ออำนาจในการออกกฎหมายยังถูกครอบงำจากรัฐและทุนอยู่ตลอดกาล ท่ามกลางที่พลังภาคประชาชนไม่มีอำนาจกดดันได้อย่างเข้มข้น และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับภาคประชาชนยังมีช่องว่างห่างเหินอย่างที่เป็นอยู่ โดยรัฐมีความลำเอียงเคียงข้างราชการและกลุ่มทุนมากกว่า ดังนั้นการมีอำนาจรัฐที่ฟังเสียงประชาชน มีจุดยืนเคียงข้างประชาชนอาจจะสำคัญไม่น้อยในการผลักดันมิให้วาทกรรมภาคประชาชนผันแปรไป

ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองเปรียบเทียบกับรัฐที่มิใช่อำนาจทุนหรือระบบราชการครองอำนาจนำ เช่น ประเทศเวเนซูเอล่า ที่มีประธานาธิบดีฮูโก เชเวซ ผู้ประกาศสร้างประเทศสู่แผนสังคมนิยมใหม่ นั้น จะเห็นได้ว่าการผลักดันนโยบายที่สำคัญสำหรับคนยากจนสามารถเกิดขึ้นได้จริง และมิเพียงเป็นวาทกรรมเท่านั้นแต่มีผลในทางปฏิบัติที่เป็นจริงด้วย

รัฐเวเนซูเอล่านั้น มีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าด้วยสิทธิของชุมชน และในทางปฏิบัติสิทธิชุมชนนี้เกิดรูปธรรม ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมการจัดการที่ดินโยชุมชนอย่างจริงจัง สนับสนุนให้คนไร้ที่ดินรวมกลุ่มกัน มีส่วนร่วมในการปฏิรูปที่ดินโดยรัฐมีหน้าที่ส่งเสริม

ใช่หรือไม่ว่า? บทบาทหลักของรัฐ จุดยืนที่รัฐเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อคนจน ย่อมสำคัญในการผลักดันวาทกรรมที่ก้าวหน้า ให้ปรากฏเป็นจริงในทางปฏิบัติด้วยเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย หลักสำคัญของ “วิธีคิดเชิงซ้อน” มิใช่เพียงการนำมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่เป็นหลักที่ควรจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรประชาชนและขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมด้วยเช่นกัน

หัวใจสำคัญของวิธีคิดเชิงซ้อน คือการมีส่วนร่วมของคนหลายฝ่าย ซึ่งองค์กรและการเคลื่อนไหวที่มีพลังและเข้มแข็งนั้นจะต้องมีแกนนำรวมหมู่ มวลสมาชิกมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน มีการจัดความสัมพันธ์ในองค์กรเคลื่อนไหวอย่างเสมอภาคระหว่างผู้ปฏิบัติงาน แกนนำ กับสมาชิก มีกฎกติกา ระเบียบร่วมกัน มีการระดมความคิดเห็นอย่างเสมอหน้ามิใช่เป็นเพียงเรื่องของผู้นำไม่กี่คน ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม หรือมีประชาธิปไตยภายในองค์กร มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กร รูปธรรมเช่น ขบวนการชาวนาไร้ที่ดินแบบ MST ประเทศบราซิล เป็นขบวนการยึดที่ดินของคนไร้ที่ดิน และมีจัดการที่ดิน และจัดการองค์กรแบบเชิงซ้อน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีวิธีคิดเชิงเดี่ยว การเคลื่อนไหวเชิงเดี่ยวจะเน้นระบบสั่งการ นำเดี่ยว ไม่มีผู้นำรวมหมู่ ให้ความสำคัญกับกระบวนการล็อบบี้ ซึ่งจะทำให้องค์กรไม่เข้มแข็งในอนาคตเนื่องจากสมาชิกไม่มีส่วนร่วม กลายเป็นเรื่องของผู้นำ เป็นเรื่องของเอ็นจีโอ หรือกลายพันธุ์เป็นองค์แบบราชการ นั่นเอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียน ได้นำเสนอถึงข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ “วิธีคิดเชิงซ้อน” ที่มีการนำมาอธิบาย หรือปรับใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคมในแวดวงขององค์กรพัฒนาเอกชนและการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน การหยิบฉวยใช้ที่อาจจะหลายหลากเข้าใจแตกต่างกันไป ภายใต้การตีความหมาย “วิธีคิดเชิงซ้อน” ของผู้เขียนเอง เพื่อเปิดประเด็นถกเถียงในแวดงวงต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท