เสรีภาพของสื่อตกต่ำ เพราะสื่อไม่ปกป้องเสรีภาพของประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าเป็นความจริงว่า ประวัติศาสตร์วีรกรรมทหารไทยสมัยใหม่ คือประวัติศาสตร์การทำสงครามกับประชาชน ความจริงที่คู่กันคือ วีรกรรมของสื่อคือการกระพือข่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการสังหารประชาชน เช่น ภาพแขวนคอบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ในเหตุการณ์ปราบนักศึกษา 6 ตุลา 19 การประโคมข่าวขบวนการล้มเจ้า ขบวนการผู้ก่อการร้าย และเชียร์ให้ทหารใช้มาตรการรุนแรงปราบคนเสื้อแดงของสื่อในเครือ ผู้จัดการ ในเหตุการณ์ เมษา-พฤษภา 53

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 53 ที่ผ่านมา สมาคมผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) จัดอันดับทำเนียบเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2553 ระบุว่า เสรีภาพประเทศไทยตกต่ำลง โดยร่วง 23 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 153 จากการที่มีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกสังหารและอีก 15 รายได้รับบาดเจ็บจากการทำข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมเสื้อแดงในกรุงเทพฯ (ประชาไท,20/10/53)

แน่นอนว่า เสรีภาพของสื่อตกต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้โครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีต ใช้ พรก.ฉุกเฉินไล่ปิดสื่อที่เสนอความเห็นต่างทางการเมือง โดยอ้างว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกเร้าความรุนแรง แต่ไม่ปิดสื่อที่มีความเห็นสอดคล้องหรือสนับสนุนฝ่ายตน ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกเร้าความรุนแรงยิ่งกว่า

แต่อำนาจ ฉ้อฉลเสรีภาพ (หมายถึงให้เสรีภาพเกินร้อยเปอร์เซ็นแก่สื่อฝ่ายตัวเองและสื่อที่ตัวเองคุม แต่ไล่ปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม) ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ย่อมไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำลายเสรีภาพของสื่อ

จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำลายเสรีภาพของสื่อคือ สื่อไม่ได้ปกป้องเสรีภาพของประชาชน การเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกระแสหลัก หรือทีวี หนังสือพิมพ์ สะท้อนว่าสื่อพวกนี้อยู่กับความกลัว

เป็นไปได้อย่างไรที่ภาพเจ้าหน้าที่รัฐเข่นฆ่าคนเสื้อแดงจะมีเฉพาะภาพจากช่างภาพของสื่อต่างชาติ ขณะที่ภาพจากสื่อไทยมีเฉพาะภาพทหารถูกเสื้อแดงรุมทำร้ายที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก!

ความเห็นของผู้สื่อข่าว (ไทย) ในภาคสนามที่มาออกราบการทีวีก็มักสะท้อนการทำหน้าที่ของตนเองที่ถูกกดดันโดยผู้ชุมชุม แทบไม่มีความเห็นที่เป็นด้านลบต่อแนวทางการปราบผู้ชุมนุมของรัฐบาล หรือการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

สรุปแล้วสื่อไทยอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงตลอด แต่สื่อไทยไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมเห็นภาพชัดได้ สะท้อนได้เฉพาะ ศอฉ.แถลงว่าอย่างไร สื่อนอกนำเสนอภาพอะไร แกนนำเสื้อแดง และผู้นำรัฐบาลโต้ตอบกันไปมาอย่างไร นอกนั้นก็เสนอความเห็นของ นักวิชาการดารา หรือคนมีชื่อเสียงทั้งหลายว่าคนพวกนั้นพูดอะไร ฯลฯ

ยิ่งได้ฟังข้อเสนอจากคนทำสื่อเองว่า การปฏิรูปสื่อควรให้สื่อตรวจสอบกันเอง ผมยิ่งอยากจะอ๊วก เพราะ 4-5 ปีมานี้ ผมยังไม่เห็นสื่อไหนตรวจสอบสื่ออย่าง ASTV ผู้จัดการ แม้แต่สื่อคุณภาพอย่างมติชนเอง ก็โดนสนธิและสมุนบริวารเล่นงานมาตลอด จนกระทั่งประกาศบนเวทีพันธมิตรว่า ใครซื้อหนังสือพิมพ์มติชนแสดงว่าไม่เอาสถาบัน แต่มติชนก็ยังหงอมาตลอด (เพิ่งมาตื่นในช่วงหลัง เช่น บุญเลิศ ช้างใหญ่ เขียนเชียร์พันธมิตรมาตลอด เพิ่ง กลับตัว ได้ภายหลัง)

และจนป่านนี้ยังไม่มีสื่อไหนตรวจสอบสื่อด้วยกันอย่างจริงจังในเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งคือการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง !

เรื่องที่ซีเรียสอย่างยิ่ง กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนอย่างยิ่ง ง่ายต่อการฆ่าประชาชนอย่างยิ่ง เช่น การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมือง การใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง สื่อไม่ยอมตรวจสอบการกระทำเช่นนี้ ไม่เคยเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายหมิ่นฯ ไม่วิพากษ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า รัฐบาล 91 ศพ หมดความชอบธรรม ไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่ใช้ภาษีของประชาชนเสมือนเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกให้มาทำงานในนามประชาชน แต่ที่จริงมาทำงานรองรับความชอบธรรมของรัฐบาลมือเปื้อนเลือด ฯลฯ

ตัวอย่างบางตอนที่ว่ามานี้คือสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า สื่อไทยไม่ได้รักเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพประชาชน ต่อสู้เพียงเพื่อประคับประคองเอาตัวรอด มีสื่อทีวีช่องไหน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนบ้างที่พยายามเสนอความจริงให้สังคมรับรู้ว่ามวลชนเสื้อแดงที่ออกมาเสี่ยงตายเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้ง เรียกร้องประชาธิปไตยหรืออำนาจตัดสินใจของประชาชน เขาเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือของทักษิณ อย่างไร

โดยเสนอให้เห็นรูปธรรมของกระบวนการตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน กระบวนการคิด การรวมกลุ่ม การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขา คือเสนออย่างเป็นระบบ วิเคราะห์เจาะลึก ให้เวลาแก่ความคิดของชาวบ้านใกล้เคียงกับที่ให้เวลาแก่พวก นักวิชาการดารา หน้าเก่าๆ ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์ซ้ำๆ ซากๆ!

เราไม่เห็นสื่อกระแสหลักทำหน้าที่อย่างที่ว่านี้ ที่จริงสื่อสรุปเองด้วยซ้ำว่าชาวบ้านที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่ มนุษย์ที่มีเสรีภาพ เพราะสื่อมองว่าพวกเขาถูกหลอกมา ถูกจ้างมา ถ้า บังเอิญ (ต้องเรียกว่า บังเอิญ เพราะสื่อไม่เสาะแสวงหา) ได้ฟังชาวบ้านบางคนพูดเหมือนกับว่ามีอุดมการณ์ สื่อก็อาจจะมองว่าชาวบ้านถูกล้างสมองโดยแกนนำเสื้อแดง

เพราะสื่อนำเสนอภาพชาวบ้านด้วยสมมติฐานเช่นนี้ (ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานของสื่อเสื้อเหลือง นักวิชาการเสื้อเหลือง ฝ่ายรัฐบาล) ภาพของชาวบ้านจึงไม่ใช่เสรีชน ไม่ใช่คนที่สามารถจะต่อสู้และตายเพื่ออุดมการณ์ได้ ความตายของชาวบ้านจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สื่อจำเป็นต้องประสานเสียงประณามว่า รัฐบาล 91 ศพ หมดความชอบธรรม!”

ฉะนั้น เสรีภาพของสื่อไทยที่ตกต่ำลง สาเหตุหลักๆ เลย เพราะสื่อไทยไม่เคย สะเทือนใจ อย่างแท้จริงกับการที่ประชาชนถูกทำลายเสรีภาพ ถูกทำลายชีวิต มองชาวบ้านเป็นเพียง มนุษย์เครื่องมือ

ไม่ตระตระหนักรู้ถึงการตื่นตัวทางการเมืองของชาวบ้าน ไร้จิตสำนึกในการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำกำกับของอำนาจเผด็จการจารีต สภาพ พิการทางจิตวิญญาณ เช่นนี้นี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เสรีภาพของสื่อตกต่ำลง

อย่ามัวไปโทษอำนาจรัฐที่แทรกแซงสื่อ ปิดกั้นสื่อ เพราะต่อให้มีการใช้อำนาจเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพ

แต่วันนี้ชาวบ้านยอมตายเพื่อเรียกร้องเสรีภาพ สื่อกลับทำตัวเป็นหางเครื่องรัฐบาล 91 ศพ ร้องเพลงเชียร์ปรองดอง ปฏิรูปประเทศให้เดินหน้าต่อไปภายใต้โครงสร้างการปกครองที่มีปัญหาอยู่เช่นเดิม!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท