เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย : เสียงที่ไม่ได้พูดในการปฏิรูปประเทศไทย

 

การอภิปรายหัวข้อ “เสียงที่ไม่ได้พูดในการปฏิรูปประเทศไทย” ในช่วงสุดท้ายของงานเวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย “เสียงที่ไม่ได้พูด สิ่งที่พูดไม่ได้” ในการปฏิรูปประเทศไทย จัดโดยภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มจับตาขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมไทย (Thai Social Movement watch) มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สำนักข่าวประชาธรรม และประชาไท ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา
 
การอภิปราย นำเสนอข้อเรียกร้องหรือความต้องการของกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาล และคณะกรรมการปฏิรูปไม่ค่อยรับฟัง ไม่ค่อยได้ยิน และไม่ค่อยให้พูด โดยมีนายจอม เพชรประดับ ผู้ที่เคยถูกปลดออกจากสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเพราะไม่ยอมเชิญแขกตามใบสั่ง และลาออกจากผู้ดำเนินรายการวิทยุ อสมท.เพราะเปิดพื้นที่ให้อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร พูดในรายการ สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยอ้างเพื่อให้ข่าวสมดุล ปัจจุบันเป็นพิธีกรรายการสนทนาเชิงลึก “Intelligence” สถานีโทรทัศน์ Voice TV ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
 
ร่วมพูดคุยโดย นายสมศักดิ์ คุ้ยเขี่ย กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.) นายอนุชา มีทรัพย์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ คำ ผกา นักเขียน นางสุดารัตน์ พรหมแก้ว คณะกรรมการวิทยุฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ นายสว่าง วงศ์วิลาศ ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยภาคเหนือ และตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ
 
 
จอมเริ่มดำเนินรายการด้วยการตั้งคำถามว่า เราอยู่ในสังคมไทยที่ปกติอยู่หรือเปล่า มันมีความอึดอัด และอัดอั้นพอสมควร ภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ภาคใต้ สงครามหรือไม่สงคราม มันกำลังเดินไปคล้ายๆ กัน เกิดอุดมการณ์แยกดินแดน นำไปสู่การลอบสังหาร และการวางระเบิด อย่างต่อเนื่อง
 
สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความสูญเสีย กลายเป็นบาดแผล เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ก็เช่นกัน การเมืองเป็นปัญหา เกิดอุดมการณ์การเมืองอันหนึ่งที่คิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้รับการปกป้องดูแลในฐานะที่เป็นคนไทย ด้วยกัน สิ่งที่น่ากลัว คือถ้าเป็นขบวนการน่ากลัวไปอีกแบบ แต่ถ้าเป็นคนธรรมดาที่เต็มไปด้วยความแค้นลุกขึ้นมาทำอะไร จะเป็นอย่างไร
 
ถ้ามองเรื่องการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูปของอาจารย์ประเวศ กับนายอานันท์ นั้นก็เป็นอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตคือ มันจะครอบคลุมคนทุกกลุ่มหรือไม่ จะทำอะไรได้หรือไม่ ครอบคลุมทุกปัญหาหรือไม่ จึงทำให้เห็นว่ามีคำถามว่าทิศทางการปรองดองจะไปอย่างไร
 
 
ขอโทษ/รับผิด/ยุติธรรม ปรองดองปฏิรูปจึงเกิด
 
จอม : เริ่มจากคุณสุดารัตน์อยากให้พูดถึงประเด็นที่ คณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้พูดหรือไม่ได้ยินในการปฏิรูปประเทศออกมาว่ามีความเห็นอย่างไร
 
สุดารัตน์ : ตนเป็นครู และดีเจวิทยุชุมชน ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เสียงที่พูดไม่ได้ คือ สิ่งที่พูดไม่ได้ เราพยายามเป็นสะพานเชื่อมและเป็นที่ระบายให้กับเสียงที่พูดไม่ได้ วิทยุทีทำกระจายเสียง 8 อำเภอ 2 จังหวัด ทั้งเชียงรายและเชียงใหม่ เสียงที่โทรเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นเสียงที่เข้าต้องการพูดแต่ดีเจพูดไม่ได้ มันอัดแน่นสำหรับคนที่เป็นดีเจ 
 
เราไปอยู่ที่ผ่านฟ้า ราชประสงค์ตลอด สิ่งที่ชาวบ้านคุยตลอด ก็พูดออกอากาศไม่ได้ เราโฟนอินจากราชประสงค์ไปออกอากาศที่วิทยุฝาง แม่อาย ไชยปราการ เราถูกทหารจับไปที่ค่ายกาวิละ แล้วนำสิ่งที่เราพูดอัดเสียงมาให้เราฟัง แต่เราถามว่าสิ่งที่เราพูดผิดกฎหมายข้อไหน ปรากฏว่าไม่ผิดเขาก็ปล่อยเรา
 
เสียงกระจายไปแล้ว เอาให้มวลชนเรารับฟัง เขาจะคิดกันเอง อย่าดูถูกชาวบ้าน เขารักประชาธิปไตยและมีความต้องการมากๆ ในการแสดงความเห็น
 
จอม : ชาวบ้านมีความเห็นอย่างไรในการปฏิรูป
 
สุดารัตน์ : ในฝางมีข้าราชครู ข้าราชการบำนาญและคนหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ชาติจะขาดสถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่ได้ แต่ทุกสถาบันต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญที่ชาวบ้านต้องการคือ รัฐธรรมนูญ 40 
 
จอม : แล้วมีสิ่งไหนบ้างที่ชาวบ้านเห็นว่ายังไม่ได้ถูกพูดถึงในการปฏิรูปประเทศไทย
 
สุดารัตน์ : เขาต้องการสิทธิของเขา ที่เขาใช้ได้กลับคืนมา เขาต้องการรัฐธรรมนูญ 40 คืนมา เขาบ่นว่าไปราชประสงค์เพื่อทวงสิ่งเหล่านี้ เราไม่ได้อะไรกลับมา มีแต่หีบศพ กลับมาบ้านบางคนไม่ดูวิทยุ ดูทีวี เข้าป่า เพราะผิดหวังมาก ความเคียดแค้นไม่รู้จะระบายกลับใครได้ รัฐบาลกับเขาจะไม่เจอกันแล้วชาตินี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกสะท้อนในการปฏิรูป
 
จอม : การช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐพยายามหยิบยื่นมาให้ ช่วยบรรเทาเบาบางความแค้นได้มากไหม
 
สุดารัตน์ : ไม่เลยค่ะ รัฐส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ของเรา ไปสอบสวน เข้าไปสอบถามแกนนำของเรา ว่าไปชุมนุมเพื่ออะไร ไปเพื่อเงินใช่ไหม และใครนำไป แล้วจะไปอีกไหม แล้วเอาเงินมาให้แต่ละคน คนละ 1,000 บาท แล้วบอกว่าถ้าใครชักจูงไปอย่าไป นี่เป็นการช่วยเหลือของรัฐและไปในรูปแบบของทหาร รัฐจัดสรรให้เรา มันชอกช้ำและเจ็บปวดมาก 
 
จอม : ความเจ็บปวดของคนเสื้อแดงตอนนี้ เป็นไปได้ไหม จะกลายเป็นความแค้นที่นำไปสู่การล้างแค้น
 
สุดารัตน์ : เชียงใหม่เป็นเมืองบุญ การล้างแค้นไม่มี เรากลับบ้านของตัวเอง ทำให้บ้านเราแข็งแรง ให้ดีที่สุด แต่ละคนไม่คิดเข้าไปเมืองหลวง จะพัฒนาบ้านชุมชนของตนเองเพื่อยืนด้วยขาตัวเอง ชาวบ้านเชื่อว่ากรรมใดที่ทำจะคืนสนอง
 
จอม : แต่เราไม่สามารถปฏิเสธรัฐบาลส่วนกลางได้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร
 
สุดารัตน์ : เวลาจะเป็นเครื่องตัดสินใจ เพราะตอนนี้คนเสื้อแดงเจ็บปวดมาก ใครเป็นผู้สั่งฆ่า ก็เป็นผู้รับกรรม เพราะเราเป็นเพียงชาวบ้าน ไม่มีกำลังอาวุธที่จะต่อสู้กับรัฐได้
 
จอม : เรามองอย่างไรเกี่ยวกับการซ่องสุมอาวุธ
 
สุดารัตน์ : รัฐบาลพยายามผูกเรื่องนี้ขึ้นมา เอาแพะชนแกะและโยนให้เสื้อแดง
 
จอม : เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ให้ความแค้น ความไม่พอใจมันผ่อนคลายอย่างไร ใครต้องทำ และต้องทำอย่างไร
 
สุดารัตน์ : รัฐบาลอภิสิทธิต้องขอโทษประชาชน จึงจะมีคำว่า ปรองดอง ตามมา ใครผิดก็ว่าไปตามนั้น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ มันจึงจะเกิดสันติสุข
 
 
การเมืองเร่งด่วนกว่าปากท้อง
 
จอม : มาที่ตัวแทน กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือบ้าง มีความเห็นอย่างไรและอยากเพิ่มเติมอะไรบ้าง
 
สมศักดิ์ : เรามาคุยกันหลายครั้ง ความจริงมักจะถูกพูดครึ่งเดียว ความจริงแล้วบางอย่างมากคุยไม่ได้ ในส่วนของกลุ่ม นกน. รัฐบาลต้องหยุดปฏิรูปประเทศไทยบนกองศพ แล้วต้องมาดูเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ต้องมองย้อนไปถึงต้นตอปัญหา ซึ่งคิดว่าอยู่ที่รัฐประการ 19 ก.ย.ทหารทำอะไรไว้หลายอย่าง ทำให้เรื่องมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน มันสะท้อนให้เห็นว่าการปฏิรูปคงจะไม่สามารถที่จะทำได้ 
 
สิ่งที่เราเห็นคือหลังการรัฐประหาร มีการร่างรัฐธรรมนูญ 50 แทน 40 และยังไปยึดอำนาจรัฐบาลที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมา ชาวบ้านไม่พอใจ อยากเปลี่ยนรัฐบาลและเลือกตั้งกันใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านไปชุมนุมเรียกร้องยังไม่ได้ แล้วจะมาปฏิรูป มันเป็นไปไม่ได้ เมื่อดูที่มาที่ไปของคณะกรรมการปฏิรูป ใครก็ไม่กล้าออกมาคัดค้าน นักวิชาการหลายคนกลัวว่าจะกระทบตัวเอง และก็เป็นปัญหามาก
 
จอม : ครือข่ายหมอประเวศก็มีเครือข่ายเยอะ ถ้าเริ่มจากตรงนั้น จะได้หรือไม่
 
สมศักดิ์ : กลุ่มเราเคยเคลื่อนไหวมานานแล้วเรื่อง ดิน น้ำป่า หนี้สิน พี่น้องชนเผ่า เหล้าพื้นบ้าน มีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมอย่างเอ็นจีโอ แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกผูกไว้กับแหล่งทุน คนที่เข้าไปร่วมก็เป็นลักษณะระบบอุปถัมภ์
 
จอม : ถ้าลืมราชประสงค์ และคกก.ปฏิรูปเริ่มด้วยการแก้ปัญหาปากท้องได้หรือไม่
 
สมศักดิ์ : ตรงนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะหลายเขตทหารเข้าไป กอ.รมน.เข้าไปติดต่อกับผู้นำท้องถิ่น เอาเงินกองทุนไปแจก เป็นการเอาใจชาวบ้าน มันยังเป็นไปไม่ได้ ตอนนี้เรื่องปากท้องเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาใหญ่คือปัญหาทางการเมืองที่กำหนดวิถีเรา
 
จอม : ปัญหาปากท้องกับการเมือง อะไรเร่งด่วนกว่ากัน
 
สมศักดิ์: มองว่าการปฏิรูป ปรองดอง เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครสั่งฆ่าประชาชน ใครต้องรับผิดชอบใครอยู่เบื้องหลัง เรื่องศพของคนเสื้อแดงต้องมีการจัดการก่อน ถึงจะทำอะไรได้
 
จอม : คณะกรรมการชุด คนิต จะคลี่คลายความขัดแย้งหรือลดความแค้นของคนเสื้อแดงลงได้หรือไม่
 
สมศักดิ์ : การตั้งคณะกรรมการยังเป็นปัญหาอยู่ ทุกส่วนยังสงสัยว่าคกก.ชุดนี้มีความเป็นธรรมเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน ก็เหมือนทหารอเมริกาเข้าไปทำลายอิรัก แล้วเอาคณะกรรมการยูเอ็นมาแล้วบอกว่าจะจัดการให้ มันฟังไม่ขึ้น
 
จอม : การทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ต้องทำอย่างไร
 
สมศักดิ : ต้องปล่อยนักโทษการเมืองอออกมาก่อน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และปิดกั้นสื่อ หยุดการสร้างภาพ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กระจายความเป็นคนให้เท่ากัน
 
จอม : ตอนนี้ทำไมจึงคิดว่าไม่ได้รับความเป็นคนเท่ากับคนอื่น 
 
สมศักดิ์ : กรณีสองมาตรฐานเห็นชัด อย่างกรณีเขาสอยดาว จนพี่น้องเครือข่ายที่อยู่บนดอยรู้สึกว่าตนเองไม่อยากได้บัตรประชาชนแล้ว อยากได้ใบที่เป็นสัตว์อนุรักษ์ดีกว่า เพราะรัฐคงดูแลได้ดีกว่า นอกจากนี้เราอยากให้มีการปฏิรูปกองทัพ คือไม่ให้มีการแทรกแซงการเมือง เพราะประเทศเรามีรัฐประหารมาตลอด
 
 
ข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศของกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย
 
จอม : เราลองมาฟังเสียงผู้ใช้แรงงานดูบ้าง ว่ามีสิ่งไหนบ้างที่ยังไม่ถูกพูดถึงในการปฏิรูปประเทศไทย
 
อนุชา : ข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศไทยของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน คือ ผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องมีหนึ่งสิทธิ หนึ่งสียง ควรเพิ่มการเลือกตั้งในเขตพื้นที่แรงงาน เพราะว่า เวลาที่มีปัญหาในพื้นที่ เช่น ปัญหาโดนข่มขืน ปัญหาการทำงาน ก็ไม่มีการคุ้มครองจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต.รวมถึงไม่สามารถเสนอความเห็นใดๆได้ ดังนั้นถ้ามีการเลือกตั้งในพื้นที่แรงงานของตนเองได้ จะแก้ปัญหาได้
 
กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่เปิดโอกาสให้เราตั้งสหภาพ แต่เราไม่มีสหภาพ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า ใครที่เคลื่อนไหวก็ถูกเลิกจ้าง การแก้ไขกม.แรงงานคกกปฏิรูปไม่เคยพูดถึง ซึ่งมันมีปัญหาเพราะพบว่าแรงานที่มีอำนาจ ก็จะเก็บตัวไว้ไม่ให้คนอื่นมาเทียบ ทำให้ปัญหาบางปัญหาของแรงงานไม่ถูกพูดถึงเพราะผู้นำแรงงานที่มีอำนาจกลัวอำนาจสั่นคลอน 
 
แรงงานส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเสนอประเด็นปัญหา เพราะถ้าหยุดงานก็จะมีปัญหากับค่าจ้าง เช่น ถ้าลาเกิน 3 วันใน 6 เดือนก็จะไม่ได้ทำโอที 3 เดือน ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ต้องพึ่งโอที ฉะนั้นห้ามป่วย ห้ามตาย เพราะจะลำบากมาก เป็นต้น
 
การปรองดองนั้นทำไม่ได้ เพราะเรายังได้ความจริง ใครถูก ใครผิด ในการตาย 91 ศพและบาดเจ็บเกือบ 2,000 
 
อีกเรื่องคือเรื่องศาล ในความคิดของผมคือ การพิพากษาของศาลเอาผู้พิพากษาเป็นใหญ่จะไม่ฟังใครก็ได้ เช่นกรณีศาลแรงงานมีตัวแทนของรัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ตัวแทนลูกจ้างไม่ได้กำหนดคุณสมบัติชัดเจน ที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกเป็นระดับใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าศาลนี้ยังไม่ยุติธรรมพอ เพราะพอเป็นคดี ผมก็โดนตลอด คือถูกเลิกจ้างด้วยข้อหาเดิมๆ 
 
อีกข้อหนึ่ง คือ การปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างของชุมชน โดยให้คนงานเลือกตั้งในพื้นที่ทำงานของตนเอง ถ้าทำได้ คนงานจะช่วยชุมชนได้เยอะเลย
 
 
คำถามของ นศ.ต่อการปฏิรูป
 
จอม : มาฟังจากตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาบ้างว่า คิดเห็นอย่างไร มีอะไรบ้างที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป
 
ตัวแทน นศ.: สิ่งที่ นศ.พูด พบว่ามีอยู่ 2 ประเด็น อยากพูดแต่ไม่มีเวที และพวกที่ไม่มีอะไรจะพูด ไม่สนใจอะไรเลย เป็นเพราะอะไร 
 
สังคมไทยแตกต่างจากชาติอื่น ให้ความสำคัญกับชาติตัวเอง ว่ามีความเป็นไทย อยากให้นิยามความเป็นไทยว่าคืออะไร ถ้าไม่เป็นไทยจะแตกต่างออกไปจากนี้อย่างไร อนุรักษ์นิยมหรือคือความเป็นไทย แค่นั้นหรือ 
 
การปฏิรูปนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ถามว่าคุณจะเดินไปข้างหน้า หรืออยู่กับที่ เป็นการปฏิรูปแบบอนุรักษ์นิยมที่คนบ้างกลุ่มเข้าใจหรือไม่อย่างไร
 
ในส่วนของกองทัพนั้น ควรจะมีการปฏิรูป เพราะยังเป็นอนุรักษ์นิยม กองทัพไม่เคยให้ความสนใจเจ้าของกองทัพที่แท้จริง จุดยืนคือ ต้องเป็นของประชาชน พิทักษ์ประชาชน กองทัพคุมซึ่งความมั่นคงของใครไม่รู้ ใครจะตอบให้ผมได้บ้าง กองทัพอ้างความมั่นคงของชาติ ทำให้ต้องคิดต่อว่า ชาติคืออะไร
 
สังคมนี้เป็นสังคมสมมติ ว่าต้องทำแบบโน้น แบบนี้ มันเป็นการมองปัญหาจากชนชั้นข้างบนปกครองคนข้างล่าง การปฏิรูปต้องมองปัญหาในระนาบเดียวกัน จะเห็นปัญหาที่กว้างและชัดกว่า ไม่ใช่จากคนที่อยู่สูงซึ่งมองเห็นคนด้านล่างไม่ชัด ตนต้องการปฏิรูปไปข้างหน้าไม่ใช่การย้อนกกลับ หรือปฏิรูปเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันกลุ่มคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
 
สุดท้ายหลักการของการปฏิรูปในมุมมองของนักศึกษาอย่างตนมีสองส่วนคือ ประชาชนกับรัฐ คำถามคือควรจะให้ประโยชน์กับใคร ประชาชนเสียภาษีให้รัฐ เป็นเจ้าของรัฐ ควรจะมีสิทธิกำหนดรัฐไม่ใช่ให้รัฐมากำหนดประชาชน 
 
 
ปฏิรูปตัวเองก่อนปฏิรูปประเทศ
 
จอม : เสียงของนักศึกษาจะดังไปถึง คณะกรรมการปฏิรูปหรือไม่ก็ต้องตามดู ขอมาที่ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตย ภาคเหนือ
 
สว่าง : ภูมิหลังตนเป็นลูกชาวนา ติดตามการบ้านการเมืองมาตลอด มีคำถามว่าทำไมชีวิตต้องวนเวียนกับการต่อสู้ประชาธิปไตย หลัง 6 ต.ค.ยังต้องต่อสู้ และประชาชนถูกฆ่า
 
พูดถึงการปฏิรูปมีกระแสมานาน ใครที่อยากได้อำนาจก็จะปฏิรูป เมื่อมีความขัดแย้งก็จะปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปมีความรู้ความสามารถ แต่จะปฏิรูปต้องดูเนื้อหาสาระ แต่ละกลุ่ม แต่ละองค์กรต้องปฏิรูปตัวเองก่อน แม้แต่คณะกรรมการฯอย่างท่านอานันท์และหมอประเวศ ก็ต้องปฏิรูปความคิดด้วย รัฐประหารแต่ละครั้งไม่เคยต่อต้านเลย แต่ละคนถ้าเกิดเหตุการณ์บ้านเมือง รัฐบาลที่มาจากประชาชน ถูกโค่นล้มไปควรทำหน้าที่พยุงขึ้นมา 
 
การปฏิรูปต้องปฏิรูปศาลให้มีความเป็นธรรม ปฏิรูปกฎหมายให้มีหลักนิติรัฐ นิติธรรมสังคมจึงจะเกิดการปรองดองได้ 
 
ปฏิรูปทหาร ทหารต้องมีแนวคิดรับใช้ประชาชน ยอมรับความคิดเห็นของคนแต่ละกลุ่ม ต้องรับฟังเสียงคนส่วนใหญ่จึงจะเป็นทหารประชาธิปไตย
 
การปรองดองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นถือว่าหมดความชอบธรรม เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง การร่วมมือกันนั้นต้องดูเนื้อหา ไม่ใช่การสร้างภาพ กฎหมายต้องมีมาตรฐานเดียว ไม่ใช่สองมาตรฐาน แดงทำ เหลืองทำก็ต้องผิดเหมือนกัน 
 
เมื่อจะแก้ไขปัญหา คือให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อยังมติของเสียงส่วนใหญ่ เป็นแนวทางแก้ไข ชาวบ้านรู้ปัญหา แม้สถานการณ์ราชประสงค์จะจบลงอย่างไร ประชาชนอาจจะท้อแท้ แต่ผมคิดว่าทางเนื้อหา ประชาชนไม่แพ้ ก้าวไปสู่ขั้นหนึ่งรู้ไปถึงต้นตอของโครงสร้างจริงๆ แนวทางแก้ไขคือ ทุกคนต้องพูดความจริง ใช้เสียงของประชาชนไปล้อมรัฐโดยไม่ใช้ความรุนแรง ผมเคยเข้าป่าจับปืนมาแล้วตอนนั้นมีการจัดตั้งที่ดีมาก แต่ก็สูญเสียมากและไม่ได้ผล ซึ่งย่อมสะท้อนว่าความรุนแรงใช้ไม่ได้ผล
 
การต่อสู้ครั้งนี้ เห็นมวลชนเยอะ ผมอยากให้กระแสพวกเราล้อมรัฐ อย่าเอาตัวรอดเหมือนในอดีต และขอฝากถึงรัฐบาลจงใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลไทยใช้ภาษีประชาชนไปเข่นฆ่าประชาชน
 
 
--- จากนั้นเป็นการอภิปรายของคำผกาซึ่งอ่านได้ ที่ เวทีคู่ขนานปฏิรูปประเทศไทย: คำ ผกา วิพากษ์ คกก.ปฏิรูป ---
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท