Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมี รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คุณบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษา ดิฉันสมบุญ สีคำดอกแค คุณลิขิต ศรีลาพล คุณจะเด็จ เชาน์วิไล คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพย์จากมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้เข้าร่วมประชุม เครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเชีย ((ANROAV ANNUAL CONFERENCE –ANROAV) ประจำปีครั้งนี้ที่เมืองบันดุงประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 16-21 ตุลาคม 2553 โดยมี 13 ประเทศในทวีปเอเชีย

ปีนี้มีคนมาร่วมประชุมมากกว่าทุกปีเพราะมีประเทศทางยุโรปมาร่วมประชุมด้วย เช่น ประเทศแคนนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย อิหร่าน ภายในงานได้มีการประชาสัมพันธ์งานด้วยป้ายในงานขนาดใหญ่และเสื้อรณรงค์ ว่าด้วยเรื่องของสถิติคนงานทั่วโลกที่เสียชีวิตและประสบอันตรายจากการทำงาน ที่มีการประสบอันตรายจากการทำงานและเสียชีวิตทั่วโลก 1,100,000 คนต่อปี 30,000 คนต่อวัน 125 ต่อชั่วโมง และ 2 คนทุกหนึ่งนาที

"ในฐานะตัวแทนประเทศไทยดิฉันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในประเทศไทยกับประเทศต่างๆ และดิฉันได้กล่าวในพิธีการเปิดงานร่วมกับตัวแทนจากประเทศจีนอินโดนีเซียว่า

"กรณีของโศกนาฎกรรมไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ทำให้คนงานวัยหนุ่มสาว ต้องเสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เป็นเพราะความบกพร่องปล่อยปละละเลย เรื่องสุขภาพความปลอดภัย และไม่ใส่ใจของสถานประกอบการณ์ ทำให้เป็นข่าวสลดไปทั่วโลก

หลังจากนั้น นักวิชาการแรงงาน NGO และกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานได้รวมตัวกันก่อตั้งองค์กร ANROAV ขึ้นที่ในประเทศไทย หรือ เรียกชื่อว่าเครือข่ายผู้ประสบภัยจากการทำงานในทวีปเอเชียขึ้นมา ซึ่งขณะนั้นมี 13 ประเทศที่รวมตัวกัน และได้ร่วมกันทำการรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานมาตลอดทุกปีเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนป่วยและรณรงค์ป้องกันในระดับภูมิภาค ตัวอย่าง กลุ่มผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายในประเทศไทย ก็ได้รวมตัวกันต่อสู้คดีกับนายจ้างมาตลอด เช่นกัน จึงอยากจะบอกเพื่อนพี่น้องทุกประเทศวันนี้ว่าผลของการต่อสู้คดีที่ยาวนานที่สุดถึง 15 ปีของผู้ป่วยปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย กำลังจะมีคำตัดสินพิพากษาคดีในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เวลาบ่ายโมง ที่ศาลแรงงานกลาง ซึ่งอยากจะบอกว่าการชดเชยตามกฎหมาย ของกองทุนเงินทดแทนนั้นไม่เพียงพอต่อการเยียวยารักษาและการดำรงชีวิตของคนป่วย ที่ต้องพิการสูญเสียทั้งสุขภาพกายและสภาพจิตใจ และโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ อย่างปกติ

"การประชุมแอลโรปในแต่ละปี เป็นการประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในสถานที่ทำงานของแต่ละประเทศ และจะมีการร่วมวางแผนการทำงานร่วมกันว่าจะทำงานรณรงค์ร่วมกันต่อไปอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนงานทั้งหลายในแต่ละประเทศดิฉันจึงหวังว่าทุกท่านคงจะมีความสุขกับการประชุมในครั้งนี้และได้ผลสมกับความคาดหมายไว้ทุกคน"

ในการประชุมครั้งนี้ได้ร่วมกันสรุปคำประกาศร่วมกัน ณ เมืองบันดุง ว่าคนงานต้องการความปลอดภัย ต้องการความเป็นธรรม สถานการณ์ของโลกมีปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัย วิกฤตสุขภาพความปลอดภัยครั้งนี้ มีปัญหาสุขภาพความปลอดภัย มีการตัดความปลอดภัยออกไป เพื่อประหยัดต้นทุน คนงานส่วนใหญ่ที่ป่วยต้องถูกเลิกจ้าง ถูกไล่ออก ต้องทนทำงานในที่ที่ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความมั่นคง มีซับคอนแทร็ค ซึ่งกฎหมายไม่ได้คุ้มครอง และคนงานส่วนใหญ่จะออกไปทำงานอยู่นอกระบบ คนส่วนใหญ่ทำงานในบ้าน ทำให้มีผลกระทบต่อครอบครัว ต่อลูกน้อย ไม่มีสิทธิอะไรต่างๆ นโยบายของรัฐยังไม่มีการตอบสนอง ILO [1] มีกฎหมายที่ดี แต่กฎหมายไม่ถูกบังคับใช้ การประชุมกัน พวกเราพยายามทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคเอเชีย สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียคือปัญหาความไม่ปลอดภัย คนงานรวมกลุ่มกันไม่ได้ มีคนที่ไม่ค่อยรู้ข้อมูลสถานการณ์เรื่องโรค ที่เกิดจากการทำงาน รัฐบาลก็ตอบไม่ได้ ไม่บังคับใช้กฎหมาย เวลาคนงานไปร้องเรียนก็ โอเค แต่ไม่ทำอะไร ไม่แก้ไขปัญหาจริงจัง บางทีก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ ไม่มีเงิน สถานการณ์รัฐมีปัญหาคอรัปชั่นไม่โปร่งใส ทำงานเชื่องช้า คนงานอยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำ รัฐพยายามพูดถึงการค้าเสรีที่มีแต่ผลกระทบโดยตรงต่อคนงาน มีบางประเทศพยายามทำมาตรฐานแรงงาน SO ต่างๆออกมามากมาย แต่แท้จริงแล้วเขาพยายาม รณรงค์เพื่อผลประโยชน์ทางผลผลิตมากกว่า ความปลอดภัยอย่างแท้จริง ฝ่ายรัฐและนายจ้างพยายามเอาเงินไปทุ่มเรื่องมาตรฐาน แต่ไม่สนใจการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน และไม่จ่ายเงินค่าชดเชยแก่คนงานกลุ่มต่างๆ รัฐบาลเอาเงินลงทุนไปซื้อธนาคาร แต่เวลาช่วยคนงานบอกไม่มีงบ

พวกเราต้องการให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา 155 [2]  ซึ่งเวลาคนงานเจ็บป่วย จะต้องได้รับการคุ้มครอง โดยเฉพาะเรื่องของการเจ็บป่วยของคนงานด้วยสารเคมี คนงานต้องได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจัง โดยไม่แบ่งชาติ เชื้อ เผ่าพันธุ์ รวมถึงแรงงานเด็ก และควรให้กลุ่มคนป่วยจากการทำงาน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพความปลอดภัยให้เกิดขึ้น เราพัฒนาความสมานฉันท์ในหมู่ผู้ใช้แรงงานทำงานร่วมกันและต้องมีโรงงานที่สะอาดปลอดภัย การพัฒนาประชาธิปไตย การทำงานร่วมกันของภาคประชาชนในเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน นำมาสู่การเมืองภาคประชาชน

อ้างอิง
1 องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
2 อนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net