Skip to main content
sharethis

ลูกจ้างอยุธยาหวั่นนายจ้างอ้างกระแส "บาทแข็ง" ฉวยโอกาสตัดโบนัส

17 ต.ค. 53 - หลังจากนายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา เปิดเผยการประเมินถึงผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งตัวว่าจะทำให้รายได้ของผู้ ประกอบลดลงกว่า 10% ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถจ่ายโบนัสหรือปรับค่าจ้างประจำปีในปลายปีนี้ได้ วันนี้ (17 ต.ค.53) นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ได้เรียกประชุมสภาสาขาอยุธยาที่มีกว่า 20 สหภาพแรงงาน เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยนายมนัส เปิดเผยว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานหลายแห่งได้สอบถามข้อมูลกับนายจ้าง ผู้ประกอบการ ทำให้เชื่อว่าผลกระทบเงินบาทแข็งนั้นมีบ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักมากถึงกับที่จะตัดโบนัสหรือไม่ปรับขึ้นเงินเดือนตามที่ตกลง กับสหภาพแรงงาน
 
นาย มนัสแสดงความกังวลด้วยว่า กระแสดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อันจะเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลให้นายจ้างโหมกระแสฉวยโอกาสนี้ไม่ทำตามข้อตกลง ดังนั้นในวันที่ 20 ต.ค.นี้ สหภาพแรงงานในเครือข่ายจะร่วมกันยื่นหนังสือต่อนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นการถ่วงดุลกับทางสภาอุตสาหกรรม จ.อยุธยา
 
ด้าน นายบรรจง บุญชื่น ประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิคอมเพรสเซอร์และประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงาน แห่งประเทศไทย สาขาพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าสหภาพแรงงานต่างๆ ได้พูดคุยกับทั้งนายจ้าง ฝ่ายบุคคล รวมถึงชมรมการบริหารงานบุคคลโดยต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่มีผลกระทบอะไรกับโบนัส อีกทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งตัวที่ผ่านมายังไม่ชัดเจนว่าค่าเงินบาทจะ แข็งตัวยาวนานเท่าไร ทั้งนี้การให้โบนัสควรคำนึงถึงผลประกอบการภาพรวมรายปี มากกว่าที่จะหยิบยกสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งชั่วระยะเวลาสั้นๆ
 
นอก จากนี้ นายบรรจง ให้ข้อมูลว่า สถานประกอบการในอยุธยากว่าร้อยละ 50 ไม่ได้เป็นการส่งผลผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดโลก แต่เป็นการส่งผลผลิตให้กับบริษัทแม่ในญี่ปุ่น จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า
 
นาย อุดม ไกรยราช ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาและใกล้เคียง แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่นายจ้างจะหยิบยกค่าเงินบาทแข็งเป็นข้ออ้างใน การไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีกับสหภาพแรงงาน และระบุว่า ผู้ประกอบการในอยุธยาไม่ได้เป็นกิจการส่งออกต่างประเทศทั้งหมด บ้างมีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงไม่ได้รับผลกระทบดังที่มีการกล่าวอ้าง
 
"พอ มีการประโคมข่าวเศรษฐกิจพัง นายจ้างก็จะฉวยโอกาส" นายอุดมกล่าวและยกตัวอย่างช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2540 ว่าเกือบทุกบริษัทในอยุธยาได้อ้างปัญหาเศรษฐกิจ ฉวยโอกาสลดเงินเดือนและสวัสดิการ รวมถึงการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน

(ประชาไท, 18-10-2553)

สมัชชาสหภาพแรงงาน จี้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ช่วยผลักดันลมปากนายกฯ ขึ้นค่าแรง 250 บาท

17 ต.ค.53 - ที่หอนประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโดย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) สมัชชาสหภาพแรงงานได้ยื่นหนังสือกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ เรียกร้องให้ผลักดันการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 250 บาทตามที่นายกฯเคยพูดไว้ และเตรียมไปยื่นหนังสือดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกในวันที่ 18 ต.ค.
 
(ประชาไท, 18-10-2553)

แรงงานไทยในลิเบียกลับบ้านรับค่าจ้างคืนแล้ว

18 ต.ค. 53 - ที่กระทรวงแรงงาน มีการจัดพิธีมอบเงินค่าจ้างให้กับแรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศลิเบีย ที่มีบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนาจำกัด เป็นผู้จัดส่งแรงงานจำนวน 32 คน โดยมี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานในการมอบเงิน โดยนายสุพจน์ พงษ์สุพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวก่อนการมอบเงินว่ามีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียในส่วนของ บริษัทเงินและทองฯจำนวน 198  คน

ขณะนี้ทางบริษัทและนายจ้างที่ประเทศ ลิเบียได้จ่ายเงินให้กับแรงงานแล้ว 40 คนและในวันที่ 18 ต.ค.อีกจำนวน  32  คน ทั้งนี้เงินค่าจ้างทางบริษัทเงินและทองพัฒนาฯได้รับเงินจากนายจ้างให้มาจ่าย ให้กับแรงงานไทยแล้วจำนวน 1.87 ล้านบาท ส่วนที่เหลือกรมการจัดหางานจะติดต่อกับบริษัทเพื่อให้แรงงานมารับค่าแรงคืน ทั้งนี้แรงงานที่อยู่ประเทศได้ทยอยเดินทางยังประเทศครบทุกคนแล้ว

ขณะที่ นพ.สมเกียรติ กล่าวว่าทางกระทรวงแรงงานได้ มีการร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ บริษัท เงินและทองพัฒนาฯเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาแรงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง ทั้งนี้อยากฝากข้อให้กับแรงงานไทย ที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศต้องดูสัญญาและเงื่อนไขต่างๆให้ละเอียดถี่ ถ้วน และตรวจสอบประเพณีวัฒนธรรมการทำงานของประเทศนั้นว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งความเป็นอยู่และแนวทางการทำงานของนายจ้าง ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้  และสิ่งสำคัญแรงงานต้อง เดินทางไปอย่างถูกต้องและถูกกำหมาย หรือผ่านบริษัทจัดหางานที่ไดรับรองตามมาตรฐาน อย่าหลบหนีเข้า ประเทศเพื่อไปทำงาน เนื่องจาก หากเกิดอะไรจะทำให้การแก้ปัญหายากขึ้น

ด้านนายเสกสรร สุวรรณสาร กรรมการบริษัทเงินและทองพัฒนา จำกัด  กล่าวว่า ความเป็นอยู่ของแรงงานที่บริษัทได้จัดส่งไปอาจไม่ดีถึง 100 % เต็มเนื่องจากยังมีแรงงานจากประเทศอื่นๆที่ทำงานร่วมกับแรงงานไทย อาทิ บังคลาเทศ ซึ่งอาจทำให้อาหารการกินมีความหลากหลาย ส่วนเรื่องการเดินทางไปทำงานซึ่งมีข่าวว่าคนงานต้องเดินเท้าไปงาน 7-8 กิโลเมตรนั้นก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งข้อเท็จจริง ใช้ระยะทางเพียง 500- 600 เมตรเท่านั้น

นอกจากนี้หากเดินเท้าวัน ละ 7-8 กิโลเมตรท่ามกลางทะเลทรายคนงานคงจะเสียชีวิตไปตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนงานบางกลุ่มที่ไม่พอใจในการทำงานของบริษัทฯซึ่ง ถือเป็นส่วนน้อย เพราะยังมีคนงานกว่า 90 % ที่ยังต้องการทำงานในประเทศลิเบียต่อ แต่เมื่อเกิดปัญหาจึงต้องนำแรงงานไทยกลับมาทั้งหมด ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่มีแรงงานไทย ที่บริษัทจัดส่งไปเสียชีวิตที่ประเทศลิเบียแม้แต่คนเดียว อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากการพูดคุยระหว่าง ครอบครัวของคนที่ได้สอบถึงความเป็นอยู่  ซึ่งอาจมีบางส่วนพูดเงินจริงไปบ้าง ดังนั้นอยากให้กรมการจัดหางานช่วยแก้ปัญหา

นายจักพรรณ สุวรรณสร กรรมการบริษัทฯ กล่าวว่าตลาดแรงงานไทยในประเทศลิเบียในหนึ่งปีจะมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานกว่า 26,000 คน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบทำให้ทางการลิเบียเกิดความไม่พอใจไม่รับ แรงงานไทยเข้าไปทำงาน ซึ่งอาจทำให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศลิเบียในขณะนี้ต้องเกิดปัญหา  ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้  ส่วนเรื่องค่าแรงของแรงงานตนยืนยันว่าแรงงานจะ ได้ครบหมดทุกคน อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างหากมีเหตุการณ์ต้องหยุดชะงักลงเงินเดือนอาจได้ช้าลง ไปบ้าง โดยได้พยายามติดตามปัญหาและนำเงินค่าจ้างที่แรงงานสมควรจะได้กลับมาทั้งหมด  โดยทางบริษัท ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่าใด

ส่วนนายพรชัย ยุวพรหม อายุ 48 ปี ชาวบ้าน จ.ศรีสะเกษ  หนึ่งในแรงงานไทย ที่บริษัทเงินและทองพัฒนาฯส่งไปทำงานที่ประเทศลิเบีย กล่าวว่าเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศลิเบียได้ 10 กว่าวันแล้วการที่มารับเงินค่าจ้างในวันนี้รู้สึกดีใจมาก จำนวน 42,000 บาท ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายในครอบครัว และขอยืนยันว่าในช่วงเวลาที่ได้ทำงานในประเทศลิเบียไม่ได้มีปัญหาตามเป็น ข่าว มีเพียงแต่ปัญหาไม่ได้ค่าจ้างตรงเวลา ซึ่งในสัญญาแม้จะระบุว่าสามารถจ่ายเงินเดือนล่าช้า 2-3 เดือนต่อครั้ง ทางแรงงานก็ สามารถรอได้ เพราะในสัญญาได้ระบุไว้ชัดเจน ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ก็ไม่มีปัญหาหรือลำบากแต่อย่างใด ทั้งนี้ในเดือนพฤศจิกายนตนจะเดินทางไปทำงานที่ปะเทศลิเบีย โดยผ่านบริษัทเงินและทองพัฒนาฯอีก ตนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไรอีก เพราะทางบริษัทได้ติดตามดูความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดไม่ได้ละเลยตามที่เป็น ข่าว

(คม ชัด ลึก, 18-10-2553)

นายจ้างแม่สอดอ้าแขนรับแรงงานพม่าหลังถูกเลิกจ้างจากขอนแก่น

18 ต.ค. 53 -  รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ประมาณ 1,000 คน ได้เริ่มสลายตัวไปยังสถานประกอบการต่างๆ ใน อ.แม่สอด หลังจากที่ถูกลอยแพไล่ออกจากงานมาจากจังหวัดขอนแก่น และถูกส่งมาแม่สอด และทั้งหมดได้ชุมนุมรวมตัวกันที่บริเวณศูนย์การค้าแม่เมยซิตี้ เชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า บ้านริมเมย หมู่ 2 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด
      
ทั้งนี้ เนื่องจากมีนายจ้างผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอแม่สอดรับเข้าทำงานเพื่อช่วย เหลือ และเป็นช่วงเดียวกับทางสถานประกอบการใน อ.แม่สอด กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงาน จากการถูกแย่งแรงงานในช่วงพิสูจน์สัญชาติ ไปทำงานพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ก็มีแรงงานบางส่วน เดินทางกลับไปพม่าตามท่าขนส่งสินค้าในช่วงที่พม่าปิดพรมแดน
      
รายงานข่าวแจ้งว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่ากลุ่มนี้มีอยู่หลายคนถูกยึดเอกสารที่แสดงการ พิสูจน์สัญชาติ หนังสืออนุญาตให้ทำงาน หนังสือผ่านแดน ฯลฯ โดยถูกนำไปสวมใช้กับแรงงานที่ไม่มีหนังสือเดินทาง
      
หลายคนให้ข้อมูลว่า ในช่วงทำงานที่ จ.ขอนแก่น ได้ถูกกดขี่ ทุบตี และถูกโกงค่าแรง แต่ไม่กล้าไปแจ้งความต่อตำรวจเพราะเกรงกลัวอิทธิพลของนายจ้างในพื้นที่ที่ สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

(ผู้จัดการ, 18-10-2553)

อดีตคนงานไทรอัมพ์โวยมูลนิธิ ส.ส. ส่อฮุบจักรบริจาค

18 ต.ค. 53 - น.ส.จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงานไทรอัมพ์ นำอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ กว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านทางนายพงศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษารัฐมนตรี เพื่อทวงถามจักรเย็บผ้าที่มีผู้บริจาคให้คนงาน 400 ตัว ไปประกอบอาชีพแลกกับการยุติการชุมนุม แต่กลับได้รับเพียง 250 ตัว

น.ส.จิตรากล่าวว่า ล่าสุด บริษัทส่งมอบจักรให้เพิ่มอีก 150 ตัว แต่ถูกนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 ซึ่งขณะนั้นมีนายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรี จากการทวงถามครั้งล่าสุด นายชีวะเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรี แจ้งว่า จักรดังกล่าวถูกส่งมอบให้มูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง เป็นแบบนี้ได้อย่างไร เพราะขณะนี้คนงานไทรอัมพ์ยังไม่มีอาชีพ

นายพงศักดิ์กล่าวยอมรับว่า จักร 250 ตัว มีสภาพพร้อมใช้งาน ส่วนจักรที่เหลือเป็นสิทธิของมูลนิธิในการบริหารจัดการ เพราะเป็นผู้รับมอบและออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมประมาณ 1 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า จักร 150 ตัว ถูกขนไปยังมูลนิธิแห่งหนึ่ง ใน จ.พิจิตร และแจกจ่ายกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 3-4 แห่ง สมาคมแม่บ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 ตัว ส่วนที่เหลือยังคงถูกเก็บไว้ในมูลนิธิ

(มติชน, 18-10-2553)

ไพฑูรย์ปัดฮุบจักรคนงานไทรอัมพ์เข้ามูลนิธิ

19 ต.ค. 53 - นายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.แรงงาน ในฐานะประธานมูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง กล่าวถึงกรณีที่อดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นในยี่ห้อไทรอัมพ์ ทวงถามจักรเย็บผ้าที่มีผู้บริจาคให้กับคนงาน แต่กลับพบว่าจักรเย็บผ้าดังกล่าวถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่มูลนิธิไพฑูรย์  แก้วทอง ว่า ขอยืนยันมูลนิธิไม่ได้ฮุบหรือเก็บจักรเย็บผ้าเอาไว้แต่อย่างใด โดยจักรจำนวน 400 ตัว ทางนายจ้างได้บริจาคให้กับทางกระทรวงแรงงาน เพราะนายจ้างไม่อยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้มอบผ่านทางกระทรวงแรงงาน แต่กระทรวงรับมอบไม่ได้ เนื่องจากหากมอบให้จักรจะต้องนำไปขึ้นบัญชีพัสดุ เป็นสิ่งของของทางราชการ ทางมูลนิธิจึงต้องรับมอบและเป็นผู้จัดการ

นายไพฑูรย์กล่าวอีกว่า หลังจากที่ได้รับมอบจักร ทางมูลนิธิก็ได้นำจักรไปซ่อมแซม เนื่องจากจักรส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ในการใช้งานโดยทางมูลนิธิได้ ออกค่าใช้จ่ายไปกว่า 1 แสนบาท จากนั้นเมื่อซ่อมแซมเสร็จทางมูลนิธิก็ได้นำไปแจกจ่ายให้กับคนงานจำนวน 250 ตัว ตามที่ได้คนงานได้ลงชื่อขอรับจักรเอาไว้

ส่วนที่มีข่าวว่าจักรที่เหลืออีก 150 ตัว ได้มอบให้กับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดต่างๆ นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้มอบจักรให้กับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดสุโขทัย ลำพูน และพระนครศรีอยุธยาจริง เนื่องจากว่าจักรดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพิจิตร ซึ่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการจัดเก็บ อีกทั้งยังมีการขอมาผ่านทางนายธวัช สุรินทร์คำ ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน และ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทางมูลนิธิก็ได้จัดส่งไปตามคำขอ ซึ่งเป็นจักรเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น   

ทางมูลนิธิทำอย่างโปร่งใส มีการรับมอบของเป็นลายอักษร ยืนยันว่าคนงานได้รับจักรตามที่ได้ตกลงกันเอาไว้ ซึ่งคนงานที่ได้รับจำนวน 250 คน นั้นมีตัวตน โดยได้มาลงชื่อไว้ ส่วนคนงานที่ยังไม่ได้รับจักร ถ้ามีคนงานกลุ่มใหม่และเห็นว่ามีตัวตนอยู่จริง ทางมูลนิธิจะดำเนินการมอบจักรให้เลยนายไพฑูรย์กล่าว

(เดลินิวส์, 19-10-2553)

ครม.อนุมัติข้อตกลง ส่งแรงงานไทยไปอิสราเอล แบบรัฐต่อรัฐ ยกเลิกใช้ บ.จัดหางาน

19 ต.ค. 53 - นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมอนุมัติตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอพิจารณาข้อตกลงร่วมระหว่างประเทศไทยและประเทศอิสราเอล ในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน โดยหลังจากนี้การส่งแรงงานระหว่าง 2 ประเทศ จะเป็นการส่งผ่านระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือ G2G ซึ่งจะแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานไทย ที่จะเดินทางทำงานที่ประเทศอิสราเอล ที่จากเดิมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทน 193,000 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยการทำสัญญาดังกล่าวจะลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงานไทยเหลือเพียงประมาณ 27,000 บาท พร้อมกันนี้คณะรัฐมนตรี อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้ยกเว้นภาษีเบี้ยประกันแบบบำนาญจากวงเงิน 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มหลักประกันคุณภาพชีวิต และกระตุ้นยอดขายการประกันชีวิตแบบเบี้ยบำนาญและลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการ ดูแลผู้สูงอายุ

พร้อมกันนี้ เสนอให้ตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉิน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ตั้งศูนย์ที่ประเทศไทย และเริ่มต้นสำรองเข้า 15,000 ตัน โดยขออนุมัติงบจัดตั้งและดำเนินการ 29,500 ดอลล่าร์สหรัฐ ระยะเวลา 5 ปี

(เดลินิวส์, 19-10-2553)

ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างประสบภัยน้ำท่วมกว่า 70000 คน

19 ต.ค. 53 - นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งให้สำรวจและหามาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า สถานประกอบการที่เดือดร้อนหนักใน 6 จังหวัด คือ จ.นครราชสีมา มีสถานประกอบการได้รับความเสียหาย 300 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 36,300 คน จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 30,000 คน จ.ชัยนาท มีสถานประกอบการเสียหาย 3 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 70 คน จ.ลพบุรี ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 463 คน จ.สระบุรี มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 4 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 178 คน และ จ.นครสวรรค์ มีสถานประกอบการเสียหาย 1 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 220 คน จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่สถานประกอบการและลูกจ้าง เช่น อาหาร ยารักษาโรค ที่พักอาศัย ทั้งนี้ ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเร่งประสานมายังกระทรวงมหาดไทยและกระทรวง สาธารณสุขได้ทันที

นายสุธรรม กล่าวว่า ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ดังนี้ 1. ขอความร่วมมือนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา หรือเป็นความผิดตามข้อบังคับของการทำงาน 2. ขอให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ ให้ร่วมมือกับนายจ้างเพื่อซ่อมแซมระบบไฟฟ้า เครื่องจักร 3. ให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ ร่วมมือกับนายจ้างดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการกับลูกจ้าง 4. ขอให้ที่ปรึกษาแรงงานหญิงในสถานประกอบการ อาทิ เครือข่ายแรงงาน อาสาสมัครแรงงาน ติดตามข้อมูลข่าวสารจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป และ 5. ขอให้สหภาพแรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง สภาองค์การนายจ้างและผู้ประกอบการ ปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น อ.ปักธงชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี อย่างเร่งด่วน และได้เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เพื่อรองรับตอนน้ำลด

(สำนักข่าวไทย, 19-10-2553)

กมธ.แรงงานฯเตรียมบินลิเบีย บุกพิสูจน์ถูกร้องทอดทิ้งคนงาน

ที่รัฐสภา วันที่ 20 ต.ค. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดย ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน ได้มีการพิจารณากรณีแรงงานไทยในลิเบียยื่นหนังสือร้อนเรียนได้รับความเดือด ร้อนจากการไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ผ่านบริษัทจัดหางานเงินและทอง พัฒนา จำกัด ที่ส่งไปทำงานกับ บริษัทนายจ้าง ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE โดยแรงงานร้องเรียนว่านายจ้างผิดสัญญาไม่จ่ายเงินค่าจ้างตรงเวลา รวมทั้งไม่จ่ายค่าล่วงเวลา และมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ทั้งนี้ ร.ต.สุเมธยืนยันจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย โดยขอฟังข้อมูลจากทั้งผู้ร้องเรียนและบริษัทนายจ้างก่อน

ขณะที่ น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งเพื่อให้ความเป็นธรรมทางกรมการกลศุลพร้อมด้วยกระทรวงแรงงานจะเดินทางไป ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ลิเบีย

ด้านนายจักรพันธุ์ สุวรรณสาร กรรมการบริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ยืนยันบริษัทดำเนินงานภายใต้กฎระเบียบของกระทรวงแรงงานอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้หากตนไม่ทำสัญญาที่ระบุไว้บริษัทตนคงไม่อยู่ไม่ได้ ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าให้แรงงานไทยเดินเท้าไปทำงาน 6-8 กิโลเมตรนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าแรงงานเดินเท้าไกลขนาดนั้นคงไม่มีเวลาทำงาน พร้อมยืนยันที่พักอาศัยเป็นไปตามมาตรฐานทางการลิเบีย ไม่ได้ลำบากตามที่มีร้องเรียน ส่วนการเก็บค่าจัดส่งแรงงานก็เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ส่วนเรื่องค่าล่วงเวลาได้มีการแจ้งให้แรงงานทราบตั้งต้นแล้วว่าไม่การันตี ว่าจะได้ค่าล่วงเวลาทุกวัน โดยเป็นไปตามที่บริษัทประเทศลิเบียกำหนด

นายนัจมุดดีน อูมา ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยภายหลังฟังคำชี้แจงแล้วว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทางกมธ.แรงงานจะทำหนังสือไปยังสถานเอกอัครราชทูตกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย เพื่อขอข้อมูลอีกครั้ง และจะรอผลการเดินไปทางไปเยือนลิเบียของกระทรวงแรงงานในช่วงเดือนพฤศจิกายน ก่อน ขณะที่ กมธ.แรงงานก็จะเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อยุติปัญหาและจะ เป็นผลดีต่อการส่งแรงงานไทยไปประเทศลิเบีย  ขณะเดียวกันได้ขอให้กรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงาน ดำเนินการเข้มงวดกับบริษัทจัดหางานที่กระทำผิดข้อตกลง เพราะเท่าที่ทราบประเทศลิเบียยังมีความต้องการแรงงานไทยอีกมาก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ

(แนวหน้า, 20-10-2553)

แรงงานประมงไทยกลับบ้านเกิด หลังศาลมาเลย์ให้ปรับคนละแสนบาท

20 ต.ค.53 - คนไทยในพื้นที่ จ.สตูล 9 คน จากเรือบุหงานาวา 2 ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยมารีทาม รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ปล่อยตัวกลับประเทศไทย หลังศาลตัดสินได้ปล่อยตัวกลับบ้าน ในข้อหานำสิ่งของออกจากประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย และปรับคนละ100,000 บาท ขณะที่ญาติ พี่น้องมารอเฝ้ารับแสดงอาการดีใจจนน้ำตาไหล
      
สำหรับกรณีที่คนไทยถูกจับที่ประเทศมาเลเซียจำนวน 20 คน และเรือผู้โดยสาร 2 ลำที่ชื่อ เรือบุหงานาวา 2 ที่ถูกจับ 9 คน และเรือตะเพียนทองที่มีคนไทยถูกจับ 11 คน จากหน่วยมารีทาม รัฐเปอร์ลิสประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 6 ต.ค ผ่านมา และ วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยนำไปกุมขังที่โรงพักเมืองกาง่า รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ได้ปล่อยตัวแค่ 9 คนยังคงเหลือเพียง 11 คนที่ศาลยังไม่ตัดสินของเรือตะเพียนทอง
      
นายยะหย๊า หมีนโฉ๊ะ อายุ 39 ปี บ้านเลขที่ 35 ม.10 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล คนไทยที่ถูกจับ กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้กลับบ้าน และเห็นหน้าครอบครัว ส่วนที่ถูกจับที่มาเลเซียนั้น เจ้าหน้าที่จับกุมโดยใช้โซ่ล่ามที่เท้า ระหว่างนั้นได้รอให้ทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือแต่ไม่มีจนศาลตัดสินจึงเสีย ค่าปรับ และได้กลับบ้านในที่สุด
      
ส่วนนางรอหรีย๊ะ ดาละมาน อายุ 59 ปี กล่าวว่า ดีใจมากเมื่อเห็นสามีกลับมาบ้าน โดยสภาพที่อิดโรย เหมือนคนไม่มีแรง แต่ถือว่ายังโชคดีที่ไม่เป็นอะไรมากและตนถือว่าทางมาเลเซียทำเกินไปที่กัก ขังและใช้โซ่ลามคนไทยทั้งหมด และอยากให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่ช่วยเหลือตรงนี้คนไทยที่ประสบปัญหาเช่นนี้
      
ด้านทางศาลประเทศมาเลเซีย จะมีการตัดสินคนไทยอีก 11 คนที่เหลือในข้อหานำสิ่งของออกจากประเทศมาเลเซียโดยไม่ผ่านภาษีที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย และปรับคนละ100,000 บาท ซึ่งทางเรือตะเพียนทองได้มีการยื่นอุทธรณ์ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ต.ค นี้

(หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ, 20-10-2553)

สภาฯผ่าน กม.กันนายหน้ากินหัวคิวแรงงาน

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็น ชอบร่างพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนงานในวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 309 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 8 พร้อมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.เป็นรายมาตรา  โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดเกี่ยวกับการใช้ชื่อทางธุรกิจการ การจัดตั้งสำนักงานทะเบียนจัดหางานกลาง สำนักงานทะเบียนจัดหางานจังหวัดและสำนักงานจัดหาคนงาน และกำหนดให้การจัดหางานต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ใน 3 ประเภทคือ ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำในประเทศ  ใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ
           
นอกจากนี้ยังกำหนดชัดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานทำใน ประเทศ เรียกหรือรับค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างรับคนหา งานเข้าทำงานแล้ว  ในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา  ผู้รับใบอนุญาตไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวและต้องจัดการให้คนหางานเดิน ทางกลับ  หากผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนจัดการให้คนหางานเดินทางกลับโดยใช้จ่ายเงินจากหลักประกันที่ ผู้รับใบอนุญาตได้วางไว้
     
การจัดหางานให้คนหางานไปทำงานต่างประเทศ กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ตามที่กฎกระทรวงกำหนด จะรับสมัครหรือประกาศรับสมัครคนหางานล่วงหน้าได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจาก นายทะเบียน  กำหนดแนวทางปฏิบัติและการดำเนินการให้แก่ผู้รับใบอนุญาตในเรื่องการจัดส่งคน งานไปต่างประเทศ และการจัดให้นายจ้างในต่างประเทศส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไป ทำงานในต่างประเทศ  กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องช่วยเหลือคนหางานที่ไม่ได้ทำงานตามที่กำหนดไว้ใน สัญญา  กำหนด สิทธิเรียกร้องของคนหางานในกรณีที่ได้ทำงานแล้วแต่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าหรือได้ ตำแหน่งงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
           
รวมถึงกำหนดเรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตดำเนินการทดสอบฝีมือคนหา งานอย่างชัดเจน  พร้อมกำหนดให้มีกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานในต่างประเทศที่เป็นค่าใช้จ่าย ให้คนหางานที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศและเดินทางกลับ  นอกจากนี้ยังเพิ่มบทลงโทษกับผู้ใดที่โฆษณาการจัดหางานที่ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบต้องระวางโทษจำคักไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  และกำหนดบทลงโทษแก่บริษัทที่เรียกรับเงินจากคนงานต้องระวางโทษจำกัดไม่เกิน หนึ่งปี และปรับห้าเท่าของค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเกินหรือเรียกล่วงหน้า หรือสามเท่าของเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่รับประกันค่าบริการ
          
นอกจากนี้ มีการกำหนดบทลงโทษไว้ใน มาตรา 95 าผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่จัดการให้คนหางานเดินทางกลับต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา 102 กำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่จัดหางานให้คนงานไปต่างประเทศโดยมิได้รับอนุญาตต้อง ระวางโทษจำคักตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มาตรา 107 ผู้ใดแสดงตนเป็นตัวแทนจัดหางานอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามมี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 109 ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน ส่งไปฝึกงานในต่างประเทศหรือจัดหางานต่างด้าวได้ โดยหลอกลวงเอาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอก ต้องระวางโทษจำคักตั้งแต่สามปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(โพสต์ทูเดย์, 20-10-2553)

แรงงานไทยไปอิสราเอลต้องยื่นเรื่องผ่าน IOM ลดค่าใช้จ่ายต่อหัว กว่าครึ่ง

21 ต.ค. 53 - แรงงานไทยไปอิสราเอลเตรียมใช้เงื่อนไขใหม่ ต้องผ่านทางองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน แทนการผ่านนายหน้า ค่าใช้จ่ายในการไปทำงานลดลงจาก 180,000 บาทเหลือกว่า 60,000 บาท ทำให้แรงงานมีเงินเหลือมากขึ้น

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามคำพิพากษาศาลสูงประเทศอิสราเอล กำหนดให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ประเทสอิสราเอลนั้นจะต้องผ่านทาง IOM (International Organization for Immigration)  หรือองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นการลงนามร่วมมือกันระหว่างรัฐต่อรัฐ โดย การร่วมมือกันดังกล่าว ทำให้จากนี้ไปแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล จะต้องยื่นเรื่องผ่าน IOM เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหานายหน้าแล้ว ยังช่วยให้ แรงงานมีรายได้ จากที่เคยต้องไปเสียนา มาเสียเมียนั้น ก็จะมีรายได้เหลือเพราะความร่วมมือดังกล่าว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการไปทำงานในอิสสราเอลจากที่ต้องจ่ายรายละประมาณ 180,000 บาท เหลือเพียง 65,000 บาทเท่านั้น

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานเกษตรกรรม ในการทำงานแต่ละครั้งใช้เวลา 1-2 ปี สำหรับแรงงานชุดต่อไป ที่ใช้เงื่อนไขการยื่นเรื่องผ่าน IOM คาดว่าจะดำเนินการได้เร็วๆ นี้

(สำนักข่าวไทย, 21-10-2553)

ส.อ.ท.ต้องการแรงงานเพิ่มเกือบ 2.5 แสนคน

21 ต.ค. 53 - นายสมพงษ์   นครศรี    รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยถึงการสำรวจความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมหลัก 6 อุตสาหกรรกรรม  ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์   อุตสาหกรรมยานยนต์  อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   อุตสาหการเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะ  และเครื่องจักรกลการเกษตร ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (2554-2558)  พบว่าต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 2.48 แสนคนคิดเป็น 19.2%  จากการจ้างงานรวมปี 2553  จำนวน 1.29 ล้านคน 

โดยความต้องการแรงงานแยกตามประเภท อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องการแรงงานเพิ่ม 1.18 แสนคน  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4.8 หมื่นคน  อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 2.8 หมื่นคน  อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลโลหะ การเกษตรและแม่พิมพ์ จำนวน 5.4 หมื่นคน

ทั้งนี้พบว่ามีความต้องการแรงงงานใน ระดับปวช.และปวส.ในสาขาช่างกลโรงงานมากที่สุด จำนวน 4.98 หมื่นคน คิดเป็น 55.57%    รองลงมาคือสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  จำนวน 1.78 หมื่นคน และ ช่างยนต์ จำนวน 1.03 หมื่นคน   ในขณะที่ความต้องการแรงงานในระดับปริญญาตรีมีจำนวน 2.75 หมื่นคน  มีความต้องการในสาขาวิศวกรรมศาสตร์มากที่สุด 80% โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ  เครื่องกล   ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์  ยานยนต์ และแมคคาทรอนิกส์  ส่วนความต้องการแรงงานในสาขาอื่นเช่น บัญชี  การเงิน กฏหมาย งานธุรการ มีความต้องการเพียง 20%

อย่างไรก็ตามการจ้างงานของ6กลุ่ม อุตสาหกรรม มีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)  ค่อนข้างมาก โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่ระบุว่าปี 2552  จีดีพีมีมูลค่ารวม 9.05  ล้านล้านบาท   เป็นสัดส่วนที่มาจากสินค้า 6 กลุ่มอุตสาหกรรม 20%  หรือ 6.16 แสนล้านบาท  ของจีดีพี แยกเป็นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์  3.21 แสนล้านบาท   อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 1.69 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ  จำนวน 1.25 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ส.อ.ท.ยังมีการคาดการณ์แรง งานภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว 10 ปี (2553-2563 ) เพิ่มเติม ซึ่งพบว่า  มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 3.6 แสนคน  โดยแรงงานในระดับปวช.และปวส.ยังเป็นแรงงานที่มีความต้องการมากที่สุด ในสาขาช่างกลโรงงาน

นายสมพงษ์  กล่าวว่า ทางส.อ.ท.พยายามส่งสัญญาณไปยังภาครัฐ  ภาคการศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกเรียน เพื่อให้ทราบทิศทางความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรม  และนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ภาคอุตสาหกรรมมี กำลังคนใช้อย่างเพียงพอ ตรงสาขา ต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 21-10-2553)

ก.แรงงาน เตรียมจ้างงานเร่งด่วนหลังน้ำลด ให้ค่าแรง 150-180 ต่อวัน

21 ต.ค. 53 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงาน จัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมให้มีรายได้ หลังน้ำลด โดยให้ค่าแรง 150-180 บาท/คน/วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดประเมินความเดือดร้อนและ พิจารณาโครงการว่าจะใช้งบประมาณเท่าใดและจ้างงานอะไรบ้าง


ทั้งนี้ การจ้างงานจะมีระยะเวลาประมาณ 30-45วัน รวมทั้งมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดฝึกอบรมอาชีพและประสานกรมการจัดหา งานจัดหาตำแหน่งงานให้กับผู้ประสบภัยที่ไม่มีงานทำหรือผู้ที่ไร่นาเสียหาย ให้มีรายได้ไปก่อน  โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานรายงานตัวเลขแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก อุทกภัยเข้ามาแล้ว 7.2 หมื่นคน


การทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนอาจ จะเป็นการสร้างถนน ขุดลอกคูคลอง ซ่อมแซมที่สาธารณะทำให้เงินส่งไปถึงมือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงแต่ เรื่องจำนวนงบประมาณและพื้นที่ในการจ้างต้องรอให้สำนักงานแรงงานจังหวัดเสนอ โครงการเข้ามาก่อนนายเฉลิมชัยกล่าว


ขณะที่กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์ รับบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนผู้ประสบภัย โดยสามารถบริจาคได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงาน หรือ ผ่านบัญชีชื่อแรงงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยธนาคารกรุงไทย สาขากระทรวงแรงงานเลขที่บัญชี 383-0-11134-7

(แนวหน้า, 22-10-2553)

ทีดีอาร์ไอหวั่น 30 ปีประกันสังคมล้ม

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวในงานวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทยประจำปี53 ในหัวข้ออภิปรายเรื่อง "สวัสดิการสังคมไทยในทศวรรษที่สองของศตวรรษที่ 21" ว่า กรณีกลุ่มสหภาพแรงงานประเทศฝรั่งเศสประท้วงรัฐบาลที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 62 ปี เนื่องจากรัฐบาลต้องการลดภาระงบประมาณนั้น ในส่วนของไทยกำหนดอายุเกษียณที่ 55 ปี ขณะที่คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น ดังนั้นการสร้างระบบบำนาญชราภาพต้องคิดให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิด ปัญหา และต้องคำนึงถึงภาระที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย


ทั้งนี้ สวัสดิการไทยที่ดีมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า และนโยบายการศึกษาฟรี 15 ปี แต่ยังไม่มีสวัสดิการชราภาพ อีกทั้งแรงงานนอกระบบที่มีถึง 26 ล้านคน ก็ยังไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญรองรับ ทั้งที่เป็นสิ่งที่แรงงานส่วนใหญ่ต้องการ ในส่วนของกองทุนประกันสังคมในอีก 30 ปีอาจจะล้มละลาย หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการประกันการชราภาพที่เป็นการสมทบระหว่างลูกจ้าง นายจ้างและรัฐ โดยคำนวณการจ่ายเงินบำนาญที่ยึดหลักผลประโยชน์ไม่ได้ยึดหลักการสมทบ ซึ่งคำนวณจาก 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย จึงเป็นภาระที่รัฐต้องสมทบมากขึ้น อาจเกิดปัญหาล้มละลายได้ หากไม่มีการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง ขณะที่ร่างพ.ร.บ.เงินออมแห่งชาติยังมีจุดอ่อน โดยเฉพาะการนำมาเป็นเครื่องมือหาเสียง แต่ไม่คิดถึงภาระหนี้ในระยะยาว โดยหลักสวัสดิการต้องมี 3 เสาหลัก คือ 1.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยรัฐช่วยเหลือทุกคน 2.ระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการสมทบระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง และ 3.การออมโดยสมัครใจ นอกจากนี้ต้องเพิ่มอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และสร้างระบบสวัสดิการโดยยึดประโยชน์ของแรงงานอีกด้วย


(ข่าวสด, 22-10-2553)

โรงงานวิ่งวุ่นเลื่อนส่งสินค้า คนงานสำลักน้ำท่วม

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเริ่มทำหนังสือถึงลูกค้าที่รับออเดอร์ (คำสั่งซื้อ) ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขอเลื่อนกำหนดส่งสินค้าหลังจากโรงงานในหลายพื้นที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก ได้ปิดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ เบื้องต้นลูกค้าส่วนมากเข้าใจเพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ผลิตแต่ภัยธรรมชาติ เป็นเหตุสุดวิสัย


ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังมั่นใจว่าโรงงานยังไม่ได้รับความเสียหายมากนักผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมยังรับมือสถานการณ์ได้เพราะเครื่องจักรในโรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ รับความเสียหายมากนัก แต่หากฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2 สัปดาห์ เชื่อว่าโรงงานในต่างจังหวัดหลายแห่งจะได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าที่สูง แน่นอน


ล่าสุดโรงงานที่ถูกน้ำท่วมต่าง ส่งเจ้าหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าสู่โรงงาน พร้อมทั้งป้องกันหรือขนย้ายวัตถุดิบและสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปไม่ให้ได้รับ ความเสียหายอย่างสุดชีวิต "การส่งสินค้า ให้ทันตามกำหนดถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการทำสัญญาซื้อขาย เพราะหากส่งไม่ทันจะทำให้เครดิตเสีย ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้ารายอื่นหรืออาจเปลี่ยนผู้ผลิตประเทศอื่นได้ ดังนั้น โรงงานต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมจำเป็นต้องส่งหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบก่อน โดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในภาคกลางและภาคอีสานที่ตอนนี้ทำได้เพียงดูแล สต๊อกสินค้า, วัตถุดิบและเครื่องจักร หากได้รับความเสียหายจะรุนแรงมากกว่าค่าเงินบาทแข็งตัวเสียอีก"


นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรายงานความเสียหาย ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล่าสุดได้รับรายงานว่าในหลายอำเภอ ของจังหวัดนครราชสีมา มีโรงงานอุตสาหกรรมปิดหลายแห่ง รวมทั้งรถที่รับส่งพนักงานยังไม่สามารถเข้าในพื้นที่ได้ ซึ่งในวันที่ 26 ต.ค.นี้ จะเรียกประชุมอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อสรุปความเสียหายที่ชัดเจนและหาแนวทาง ช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้งซึ่งอาจพิจารณาในด้านภาษีหรือค่า ธรรมเนียมช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ


ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา วานนี้ (22 ต.ค.) นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รักษาการปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังการประชุมวิกฤติอุทกภัยกับการท่องเที่ยวและกีฬาไทย ว่า ได้เรียกหน่วยงานในสังกัดและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาสรุปสถานการณ์อุทกภัย พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบ อุทกภัย โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้รับความเสียหายจากการเสีย โอกาสทางการตลาดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท แต่หากรวมความเสียหายจากนี้ไปอีกสัปดาห์คาดจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ไม่รวมความเสียหายของสถานที่


นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้การท่องเที่ยวไทยเสียโอกาสในการทำรายได้ไปมาก เพราะเดือน ต.ค.เป็นช่วงปิดภาคการศึกษา โดยปกติจะมีคนไทยเที่ยวไทยคึกคักแต่เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมจึงส่งผลให้การ ท่องเที่ยวของคนไทยเที่ยวในประเทศสะดุดลงและยังเป็นห่วงว่าผลกระทบนี้จะลาก ยาวไปถึงช่วงเทศกาลลอยกระทงในเดือน พ.ย.ด้วย ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กระทบนัก "ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายจากโรงแรมที่เป็นสมาชิก แต่ยอมรับว่าคง ได้รับผลกระทบบ้างจากการที่ลูกค้ายกเลิกการจองห้องพักซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ตลาดคนไทยเที่ยวไทย"


นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท. มีแผนจะฟื้นฟูสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักเหมือนเดิมภายหลัง จากที่น้ำลดแล้ว โดยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดได้ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อการท่อง เที่ยวทั่วประเทศด้วย "จากที่ปกติในช่วงนี้จะมีคนไทยเที่ยวในประเทศมาก เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม และมีวันหยุดยาว แต่เมื่อมีเหตุการณ์ น้ำท่วมก็ทำให้ บรรยากาศการท่องเที่ยวเสียไป เพราะคนหวาดวิตกกับสถานการณ์น้ำท่วม"


นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการ ททท. เปิด เผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ ททท. ยาวนานกว่า 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยได้เตรียมแผนรองรับสำหรับภาคท่องเที่ยวไว้ 2 ด้าน คือ จะเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำ ท่วม พื้นที่ที่น้ำท่วม แต่น้ำลดแล้วสามารถเข้าไปเที่ยวได้ เช่น อำเภอวังน้ำเขียว และเตรียมแผนการตลาดสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมภาย หลังน้ำลด เน้นที่จังหวัดนครราชสีมา ที่มีผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก โดยหากน้ำลดแล้วจะนำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เขาใหญ่ ที่สามารถท่องเที่ยวได้ ช่วงสุดสัปดาห์ไปประชาสัมพันธ์ให้ตลาดต่างประเทศรับทราบด้วย

(ไทยรัฐ, 23-10-2553)

กมธ.บุกลิเบียพิสูจน์ความจริงนายจ้างเบี้ยวเงินแรงงานไทย

กรณีความเดือดร้อนของแรงงานไทยใน ลิเบียได้รับการเยียวยาไปบ้างแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ถือว่ายังดีกว่าไม่ได้ อะไรเลย โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่บริษัทจัดหางานเงินและทองพัฒนาจำกัดส่งไปทำงานกับ บริษัทนายจ้าง ARSEL BENA WA TASEED JOINT VEN TURE เกือบ 200 ชีวิต ได้เดินทางกลับประเทศไทยและบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ ยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าหัวคิวคืนบางส่วน จำนวนกว่า 100 คน เหลืออีก 53 คน ไม่ยอมรับเศษ เงินแค่ 8,000-12,000 บาท เพราะน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับค่าหัวคิวหลักแสน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ต.ค.53 นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมาธิการต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ, เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เข้าร่วมเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาแรงงานลิเบียร้องเรียนว่าบริษัทนายจ้างราย ของบริษัท รันฮิลล์(RANHILL) จำนวน 1,400 คน ได้รับความยากลำบาก นายจ้างจ่ายเงินเดือนไม่ตรงและไม่ครบตามสัญญา ความเป็นอยู่แร้นแค้นต้องการเดินทางกลับประเทศ

นายสถาพร กล่าวว่า ทางบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ ก็แก้ข้อกล่าวหาทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาก็ว่ากันไปไม่มีอะไร แต่เหตุใดจึงมีแรงงานเดือดร้อนล่าชื่อกันได้มากถึง 500 กว่าคน ทำเรื่องร้องเรียนมาได้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายว่าแรงงานในต่างปรแทศจำนวนมากจะ ล่าชื่อได้เช่นนี้ ดังนั้น ความเดือดร้อนน่าจะมีจริงๆ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการการแรงงาน จึงมีข้อสรุป 3 ข้อคือ 1.เราต้องดูแลความเดือดร้อนของแรงงานทุกๆ คน 2.กรรมาธิการจะจัดส่งคณะตัวแทนเดินทางไปลิเบีย เพื่อพิสูจน์ความจริงว่าแรงงานมีปัญหาตามที่ร้องเรียนหรือไม่ซึ่งขณะนี้ยัง ไม่กำหนดวันและเวลาที่แน่นอนรวมทั้งจะส่งใครไปเรายังมอบหมายกันอยู่และ 3.ต้องติดตามปัญหาแรงงานลิเบียให้ละเอียดและเชิงลึก

"โอเคเลย ไม่มีปัญหาอะไร บริษัทจัดหางานทำผิดก็ว่ากันไปตามผิดตามกฎหมายกำหนดถ้าถูกก็ว่ากันไปตามถูก ตามข้อเท็จจริงที่กรรมาธิการการแรงงานจะดำเนินการ โดยในแรงงานกลุ่มบริษัทนายจ้างARSEL ที่ได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับประเทศแล้วติดตามร้องเรียนความเดือด ร้อนจนได้รับเงินเดือดค้างจ่าย เงินค่าหัวคิวบางส่วนกว่า 100 คน ดังนั้น แรงงานกลุ่มบริษัทนายจ้าง RANHILL ก็ต้องดำเนินเการเช่นกันคือใครอยากกลับก็ต้องให้เดินทางกลับ โดยต้องได้รับเงินค้างจ่าย และค่าหัวคิวคืนจนครบ" ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวอย่างเอาจริงเอาจัง

(สยามรัฐ, 23-10-2553)

เมียเหยื่อแรงงานลิเบียซึ้งใจ กมธ.บินไปช่วยแรงงานไทย

หลังจากแรงงานไทยในประเทศลิเบียที่ บริษัท จัดหางานเงินและทอง พัฒนาจำกัด ส่งไปในกลุ่มที่ทำงานก่อสร้างกับนายจ้างบริษัท รันฮิลล์ (RANHILL) กว่า 500 คน ล่าชื่อร้องทุกข์ต่อคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่านายจ้างผิดสัญญาจ่ายเงินเดือนไม่ครบและไม่ตรงตามกำหนด ไม่มีค่าล่วงเวลาและเสียค่าหัวคิวรายละ 1 แสนกว่าบาท จึงได้รับความเดือดร้อนและต้องการกลับประเทศไทยโดย นายสถาพร มณีรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงานเปิดเผยว่ากรรมาธิการมีมติที่จะส่งคณะทำงาน เฉพาะกิจไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงไซต์งานที่ประเทศลิเบียและจะช่วยเหลือให้คน งานที่อยากกลับได้เดินทางกลับ พร้อมเดินเรื่องทวงเงินเดือนค่าจ้างคืนและหากบริษัทจัดหางานผิดก็จะถูกลงโทษ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ต.ค.53 นางอรัญญา มาตรไชย อายุ 44 ปี ชาว ต.หนองเล่า อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งกำลังล้มป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะที่สอง ภรรยาของนายอนัน มาตรไชย แรงงานไทยที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้าง รันฮิลล์ เปิดเผยว่า ขอขอบพระคุณนายสถาพรและคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ละเลยความเดือดร้อนของแรงงานในกลุ่มที่ไปตกระกำลำบากทำ งานกับบริษัทรันฮิลล์ ซึ่งหากท่านเดินทางไปลิเบีย เพื่อช่วยพวกเขาให้ได้เดินทางกลับก็จะดียิ่ง โดยเฉพาะครอบครัวของตนเวลานี้ลำบากมากเงินที่บริษัทโอนให้ก็ไม่ตรงเวลาและ ไม่ครบตามสัญญา ขณะที่ป่วยเป็นมะเร็งก็ใกล้จะตายอยู่แล้วต้องเลี้ยงลูกน้อยอีก 2 คน คืออายุ 11 และ 6 ขวบ ที่คอยหากับข้าวกับปลาดูแลตน เพื่อนบ้านก็สงสารแวะเวียนมาดูบ้าง เวลานี้ลำบากและเหนื่อยมาก

"ตามที่ท่านสถาพรให้ข่าวเอาไว้ดี มากๆอยากให้ไปลิเบียโดยด่วน ขอความสงสารเห็นใจ สาธุ ช่วยด้วยเถอะให้สามีได้เดินทางกลับมา แม้ว่าจะยังไม่ครบสัญญาแต่ก็ขอความเห็นใจให้เป็นกรณีพิเศษ เพราะมีความเดือดร้อนจำเป็น ส่วน ส.ส.อุบลฯ ท่านก็รับปากจะช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับและไม่ต้องเสียค่าเครื่องบินเอง ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง" นางอรัญญา กล่าวอย่างน่าเวทนาและว่า สามีโทรศัพท์ติดต่อมาทางบ้าน บอกว่าไม่รู้ได้กลับมาเมื่อไร บริษัทไม่มีคำตอบที่แน่นอน เงินเดือนก็เห็นบอกว่าถูกหักไว้เพื่อเป็นเงินค่าเครื่องบิน ใจอยากกลับมาเพราะอยู่โน้นทำงานก็ได้เงินเดือนแค่ 1.6 หมื่นบาท แต่ตอนก่อนไปบอกว่าจะได้ 3 หมื่นบาท ค่าล่วงเวลาและอื่นๆ อีกต่างหาก แต่พอไปได้ไม่พอใช้อยู่เมืองไทยก็พอจะได้เท่าๆกัน ก็ขอกลับเมืองไทยดีกว่า ที่สำคัญเป็นห่วงลูกน้อยและภรรยา ขอความสงสารให้ได้รับเงินค่าหัวคิวคืนบ้างตามแต่จะสงสารเพราะเสียค่าหัวคิว ไปถึง 1.4 แสนบาท

ด้าน นางระเวง คงเนียม อายุ 38 ปีชาว ต.คันโซง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ภรรยาของ นายบุญเริ่ม คงเนียม อีกหนึ่งแรงงานไทยที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้างรันฮิลล์แล้วเงินเดือนไม่ได้ รับตรงและเต็มตามสัญญาต้องการเดินทางกลับประเทศไทย กล่าวแสดงความเห็นกรณีคณะกรรมาธิการการแรงงานมีมติจะเดินทางไปลิเบียและช่วย เหลือแรงงานไทย ว่า มติกรรมาธิการออกมาเช่นนี้ก็ดี ขอขอบพระคุณเอาไว้ล่วงหน้าและอยากฝากให้ไปเร็วๆ เถอะ เวลานี้ครอบครัวแรงงานกลุ่มนี้ลำบากมาก ตนรับจ้างขุดมันสำปะหลังได้เงินกินไปวันๆ ตอนนี้น้ำท่วมก็ไม่มีรายได้ รอเงินที่บริษัทนายจ้างตั้งแต่เดือนก.ย.ตอนนี้ยังไม่ได้รับ เขาบอกว่าโอนเข้าบัญชีแล้วแต่ก็ไม่เห็นได้ เดือนไหนได้ก็ไม่เต็มถูกหักโน้นนี่ ไม่เหมือนก่อนที่จะเดินทางไป

"ดิฉันก็โทรศัพท์ไปให้กำลังใจ นางอรัญญา มาตรไชย เหมือนกัน เพราะสามีเราไปทำงานลิเบียไซต์เดียวกัน แต่ไม่ค่อยเจอกันเพราะคนงานเยอะเป็นพันๆ คน วันก่อนเสียงของนางอรัญญาดูแย่มาก คงไม่ค่อยมีกำลังใจ แต่พอมีข่าวออกไปทางหนังสือพิมพ์ช่วยเสนอข่าวให้ได้รับความสงสารเผื่อมีใคร ช่วยบ้างเขาก้รู้สึกมีกำลังใจ น้ำเสียงวันต่อมาก็ดูแจ่มขึ้น" นางระเวง กล่าวและว่า เห็นข่าวคนงาน 198 คน ที่ไปทำงานกับบริษัท ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ได้รับเงินเดือนค่าจ้างค้างจ่าย และค่าหัวคิวคืน บางส่วนก็อยากให้คนงานกลุ่มของสามีตนได้รับบ้างเหมือนกัน

(สยามรัฐ, 24-10-2553)

โยนกฤษฎีกาชี้ไตรภาคีประกันสังคม

23 ต.ค. 53 - นายเฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายพนัสไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย เตรียมยื่นฟ้องกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานเนื่องจากไม่ดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีของคณะ กรรมการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 84 (7) ระบุให้การเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีต้องมาจากการเลือกตั้งแต่กฎหมายไม่ได้ บอกว่าเป็นการเลือกตั้งโดยตรงหรือทางอ้อม ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายของกพร. พิจารณาแล้ว รัฐธรรมนูญระบุเพียงว่าต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกคณะกรรมการ ไตรภาคี แต่การเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณประมาณ 2 ล้านบาท โดยให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา จึงเป็นปัญหาให้คณะกรรมการไตรภาคีของกระทรวงแรงงานหลายคณะ ยังไม่มีการเลือกตั้งเพราะขาดงบประมาณ

"เรื่องนี้คงต้องมาพิจารณาว่า ถ้าสามารถเลือกตั้งโดยผ่านตัวแทนได้ ก็จะเกิดความสะดวกและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อให้เกิดความสบายใจ ผมได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ถ้าต้องมีการเลือกตั้งทางอ้อมโดยระบบตัวแทน จะทำได้หรือไม่ ถ้าชี้ว่าไม่ผิด ก็จะได้เป็นบรรทัดฐานให้กับการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีทุกชุด และไม่ต้องเสียงบประมาณ 2 ล้านบาท"นายเฉลิมชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ก็ใช้ระบบการเลือกตั้งผ่านสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นระบบตัวแทนคล้ายกับการเลือกตั้งคณะกรรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาตรงกันข้ามว่าผิดระเบียบ การเลือกตั้งบอร์ด สปส.ก็ต้องผิดระเบียบด้วยเช่นกัน

(เดลินิวส์, 24-10-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net