200 นักศึกษาใต้รำลึกตากใบ ‘ตะโกนบอกฟ้า’ - ยื่นจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ขยะ

สหพันธ์ฯนักศึกษาใต้ 200 คน รำลึก 6 ปีตากใบ “ตะโกนบอกฟ้า” เรียกร้องความเป็นธรรม เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วประชดส่งจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ถังขยะ เพราะยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแต่ไม่มีความคืบหน้า

วันที่ 25 ต.ค. 2553 เวลา 15.00 น. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ประมาณ 200 คนได้รวมตัวกันที่วงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เพื่อร่วมรำลึก 6 ปี เหตุการณ์ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตในเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว 85 ศพ และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ 6 ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

งานรำลึก 6 ปีตากใบเป็นการทำกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ นำโดยนายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) กิจกรรมในงานรำลึก 6 ปีตากใบ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. หลังจากการรวมตัวกันละหมาดฮายัตในตึกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ของนักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 คน ก็เริ่มทยอยกันเดินมายังวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัย

กิจกรรมแรก “ปิดหู ปิดตา” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปิดหู และปิดตาชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้สามารถฟัง พูด และมองในสิ่งที่เป็นความจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง กิจกรรมนี้ใช้นักศึกษาประมาณ 30 คน ยืนรอบวงเวียน และใช้ผ้าปิด พร้อมกับยกป้ายที่มีข้อความต่างๆ เช่น “ 6 ปีกับความทรงจำ 6 ปีกับการรำลึก อีกกี่ครั้งกับน้ำตา” “ฉันเห็นคนตายที่ตากใบ” “แด่วีรชนคนตากใบ” “ความทรงจำที่มิอาจลืม กับแผล...ที่ปวดร้าว” เป็นการส่งสัญญาแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งในผู้นำระดับประเทศและระดับนานาชาติ

“ตะโกนให้ถึงฟ้า” เป็นกิจกรรมที่สอง เป็นการตะโกนที่ต้องการบอกให้ทราบ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการใดแล้ว ในการที่จะให้ส่งเสียงให้แก่คนระดับผู้นำได้รับทราบถึงความลำบาก ผลกระทบที่ได้รับจากความอยุติธรรม โดยใช้นักศึกษาประมาณ 10 คน ในการร้องตะโกนด้วยเสียงที่ดัง เสียงตะโกนดังขึ้น อย่าง “วีรชนของฉันหายไปไหน ฉันจะไม่ลืมวีรชนของฉัน”

“ตู้ไปรษณีย์ขยะ” กิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงหนังสือร้องเรียน จดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอต่างๆ ที่ทางชาวบ้าน องค์กรหรือหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน และนิสิตนักศึกษา ได้ยื่นให้แก่รัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่าน ไม่มีความเคลื่อนไหวใดเลยที่คืบหน้าและสามารถช่วยเหลือคนในพื้นที่ด้านความยุติธรรมได้ หนังสือต่างๆ ที่ได้ส่งไปแล้ว ถูกโยนทิ้งลงไปในถังขยะ และยิ่งนานวันขยะก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในกิจกรรมนี้มีการทำจดหมายขนาดใหญ่จำนวน 10 แผ่น จ่าหน้าซองส่งถึงผู้มีอำนาจในสังคมไทยและนานาชาติ อย่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครอบครัวผู้เสียหาย ประชาชนชาวอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา กระทรวงยุติธรรม จุฬาราชมนตรี คณะรัฐมนตรี องค์การประชุมมุสลิมโลก (OIC) และสหประชาชาติ

กิจกรรมต่อมาสามเหลี่ยม echo เป็นการยืนเรียงกัน 3 แถว เป็นรูปสามเหลี่ยม มีคนนำที่เป็นคนอ่านบทกวี แล้วคนที่อยู่ในแถวจะกล่าวตามคนนำกวี เสียงที่ออกเป็นเสียงสะท้อนสามชั้น แสดงให้เห็นถึงการพูดซ้ำๆ ถึงเรื่องเดิมๆ ที่พูดมาแล้ว 6 ปี แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องสักที และเป็นการสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของระบบยุติธรรมไทย

กิจกรรมสุดท้ายอ่านบทกวี พร้อมกับปล่อยลูกโป่ง หรือการส่งจดหมายถึงฟ้า หลังจากที่มีการตะโกนให้ถึงฟ้าแล้ว ไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ การนำลูกโป่งจำนวน 200 ใบ พร้อมกับเขียนข้อความแล้วปล่อยขึ้นสู่ฟ้า เป็นการส่งสัญญาให้ถึงฟ้าว่า ตอนนี้ประชาชนคนในพื้นที่มีความอัดอั้นตันใจในเรื่องใด

ส่วนองค์กรด้านทางสิทธิมนุษยชน อย่างมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์ 6 ปีตากใบ: ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหนังสือแถลงการณ์ดังกล่าวทางมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

1. ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความยุติธรรมโดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 257(4)

3. รัฐบาลต้องมีมาตรการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

4. สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกกรณี และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิดสิทธิฯในเหตุการณ์ตากใบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท