สุรพศ ทวีศักดิ์ : กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1. พุทธศาสนามอง “กษัตริย์” ในมิติของชนชั้นทางสังคมอย่างไร?

 

เท่าที่ผมอ่านพบในพระไตรปิฎก (ที่ไม่พบไม่รู้) ความคิดของพุทธศาสนาเกี่ยวกับกษัตริย์ที่ชัดเจนเลย ปรากฏในอัคคัญสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ 11) เนื้อหาสำคัญเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์โต้แย้งความคิดแบบ “เทวสิทธิ์” ของพราหมณ์ที่สอนว่า พระพรหมสร้างโลก สร้างมนุษย์ แล้วก็แบ่งสถานะของมนุษย์ออกเป็น 4 ชนชั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
 
กษัตริย์เป็นชนชั้นปกครอง พราหมณ์เป็นชนชั้นปัญญาชน ผู้นำทางศาสนา แพศย์คือสามัญชนทั่วไป ศูทรคือพวกทาส กรรมกร สถานะทางชนชั้นดังกล่าวนี้นอกจากถูกกำหนดตายตัวโดยชาติกำเนิด (คือต้องได้มาโดยการเกิดเท่านั้น) แล้ว ยังมีความหมายที่สำคัญคือเป็นสถานะทางชนชั้นที่กำหนดความสูง-ต่ำทางศีลธรรมของมนุษย์ด้วย ซึ่งหมายความว่า คนมีความเป็นคนไม่เท่ากันเพราะมีชาติกำเนิดที่ต่างกัน
 
พระพุทธองค์ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงเสนอว่า คนไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่างไร แต่มีความเป็นคนเท่ากันตามกฎธรรมชาติ คือ “กฎแห่งกรรม” ในความหมายที่ว่าทุกคนคือผู้เลือกการกระทำ และต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ถ้าคุณทำความดีคุณก็เป็นคนดี ถ้าคุณทำชั่วคุณก็เป็นคนชั่ว ไม่ว่าคุณจะมีชาติกำเนิดอย่างไรก็ตาม

 
2. “ความเป็นคนที่เท่ากัน” มีอยู่จริงหรือ?
 
พุทธศาสนามองความจริงสองความหมาย คือความจริงที่มนุษย์สร้างขึ้น กับความจริงที่เป็นข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ สถานะทางชนชั้นเป็นความจริงที่มนุษย์สร้างหรือสมมติกันขึ้น ส่วนมนุษย์จริงๆ หรือมนุษย์ที่เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งในระบบของธรรมชาตินั้นไม่ได้มีสถานะสูง-ต่ำที่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ หรือถูกเลือกปฏิบัติต่างกันภายใต้กฎแห่งกรรม คือจะเป็นมนุษย์คนไหนก็ตามถ้ากระทำสิ่งเดียวกันจากเจตนาหรือคุณภาพจิตแบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน
 
ประเด็นคือ ตามวิธีคิดของพุทธศาสนาสิ่งที่มนุษย์สมมติหรือสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบจริยธรรมหรืออะไรก็ตามที่ควรจะยอมรับว่าถูกต้อง หรือควรยึดถือปฏิบัติก็ต่อเมือมันตอบสนองต่อความเป็นมนุษย์จริงๆ ตามกฎธรรมชาติ พุทธศาสนาแยกธรรมเป็นสองส่วนคือ “สัจธรรม” กับ "จริยธรรม” สัจธรรมคือข้อเท็จจริงตามกฎธรรมชาติ จริยธรรมคือระบบคุณค่าหรือแนวทางของชีวิตและสังคมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรม
 
เช่น พุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งคุณค่าของคนตามระบบชนชั้น เพราะเห็นว่าเป็นระบบที่ขัดต่อสัจธรรมหรือความจริงตามกฎธรรมชาติที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” ฉะนั้น ระบบคุณค่าหรือระบบจริยธรรมที่เป็นทางบรรลุสัจธรรมที่ว่า “คนเท่าเทียมกัน” คือ ระบบจริยธรรมที่ส่งเสริมให้แต่ละคนเป็นผู้กำหนดคุณค่าของตนเอง ไม่ใช่ให้ระบบชนชั้นหรือระบบอื่นใดเป็นตัวกำหนด

 
3. แต่ละคนกำหนดคุณค่าของตนเองอย่างไร?
 
ด้วยการเลือกกระทำอย่างอิสระ ที่จริงพุทธศาสนาคิดคล้ายกับคานท์นะที่ว่า มนุษย์มีอิสระที่จะเลือกกระทำตามเหตุผลหรืออารมณ์ ถ้าเลือกทำตามเหตุผลการกระทำของเขาก็เป็นการกระทำที่ดี พุทธศาสนาก็มองว่าถ้าเราทำตามการชี้นำของกิเลส การกระทำของเราก็ไม่มีค่าเป็นการกระทำที่ดี ถ้าทำตามการชี้นำของปัญญา การกระทำของเราก็มีค่าเป็นการกระทำที่ดี
 
ประเด็นสำคัญคือ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือก ฉะนั้น ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้พุทธศาสนาคิดคล้ายกับซาร์ตร์ที่ว่า “เสรีภาพต้องมาคู่กับความรับผิดชอบ” ฉะนั้น ระบบจริยธรรม ระบบคุณค่าหรือระบบสังคมการเมืองใดๆ ก็ตามที่เอื้อต่อความเป็นมนุษย์ หรือเป็นระบบซึ่งไม่ลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ระบบนั้นจะต้องปกป้องความเท่าเทียมในความเป็นคน และการมีเสรีภาพของมนุษย์
 
ระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ ขัดแย้งกับสัจธรรมที่ว่า “มนุษย์เท่าเทียมกัน และมนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกและรับผิดชอบ” พุทธศาสนาจึงปฏิเสธ เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าคนเราไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดอย่าไร มีสถานะทางสังคมแบบไหน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเสมอ เป็นเรื่องไร้เหตุผลที่ใครก็ตามจะอ้างความสูงส่งทางชนชั้นเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ชั่วของตนเอง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า กษัตริย์ทำชั่วก็เป็นกษัตริย์ที่ชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็เป็นพราหมณ์ที่ชั่ว แพศย์ ศูทร ทำชั่วก็ชั่วเช่นกัน

 
4. พุทธศาสนาถือว่ากษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” หรือ “เทวดาบนแผ่นดิน” มิใช่หรือ?
 
เท่าที่ผมรู้เวลาพุทธศาสนาพูดถึงเทวดา สาระสำคัญจริงๆ หมายถึงผู้มีคุณธรรมที่เรียกว่า “หิริ โอตตัปปะ” ใครก็ได้ที่มีคุณธรรมนี้ คือมีความละอายที่จะทำชั่ว รังเกียจที่จะทำชั่วก็ถือว่าเป็นเทวดาได้ ส่วนการเจาะจงว่า กษัตริย์คือ “สมมติเทพ” นั้น ผมเข้าใจว่า (อาจผิดก็ได้) น่าจะเป็นการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อรับรองสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครองในสมัยราชาธิปไตย ไม่น่าจะใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ
 
เหตุผลก็อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นที่ถือว่าคนดี-เลว โดยชาติกำเนิด นี่คือหลักสำคัญ ฉะนั้น ความคิดความเชื่ออะไรก็ตามที่แม้จะอ้างว่าเป็นคำสอนของพุทธศาสนาแต่ถ้าขัดแย้งกับหลักสำคัญดังกล่าว เราย่อมสันนิษฐานได้ว่าไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ

 
5. แล้วที่พุทธศาสนาสอน “ทศพิธราชธรรม” หมายถึงว่า พระราชาต้องมีสถานะความเป็นคนเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไปไหม?
 
ที่พระราชามีสถานะเหนือว่าคนทั่วไป เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นโดย “ระบบราชาธิปไตย” ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยคำสอนเรื่องทศพิธราชธรรม ที่จริงทศพิธราชธรรม คือคุณธรรมของราชา หรือผู้ปกครอง (พระพุทธองค์สอนคุณธรรมนี้ในยุคราชาธิปไตย ศัพท์ “ราช” จึงตกทอดมา) สาระสำคัญของคุณธรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่การเชิดชูความเหนือกว่ามนุษย์ของราชา แต่เป็นข้อเรียกร้องต่อคนที่เป็นราชาหรือผู้ปกครองว่า ความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองขึ้นอยู่กับการมีคุณธรรม 10 ข้อ หรือทศพิธราชธรรม
 
ที่จริงทศพิธราชธรรมเป็นข้อเรียกร้องที่เข้มงวดมาก ยากจะปฏิบัติได้สมบูรณ์ เช่น ราชาต้องเสียสละ ซื่อตรง ถ่อมตัว เที่ยงธรรม ไม่โกรธ ฯลฯ จึงมีความชอบธรรมในการปกครอง หรือสมควรได้รับการยอมรับจากประชาชน ทศพิธราชธรรมไม่ได้มีความหมายใดๆ ว่าเป็นพระราชาต้องสูงส่งกว่าสามัญมนุษย์ แตะต้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ทศพิศราชธรรมคือคุณธรรมของผู้ที่รับใช้เพื่อนมนุษย์

 
6. แนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ล่ะ คือแนวคิดประชาธิปไตยในมุมมองของพุทธศาสนาใช่ไหม?
 
ปัญญาชนพุทธบางคนมองเช่นนั้นนะ แต่ผมคิดว่า ถ้าแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึงแนวคิดทางการเมืองที่ว่า ประชาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์ให้เป็นประมุขของประเทศ โดยมีคณะรัฐบาลปกครองประเทศ แล้วกำหนดว่ากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ประชาชนวิจารณ์ตรวจสอบรัฐบาลได้ แต่ทำเช่นนั้นกับกษัตริย์ไม่ได้ ผมว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องไม่มีอำนาจใดๆ ที่มีความชอบธรรมที่จะอยู่พ้นไปจากการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ
 
ในวัฒนธรรมพุทธจริงๆ ก็ไม่มีใครอยู่เหนือการตรวจสอบ แม้แต่ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว เช่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบของสังฆะ หรือชุมชนชาวพุทธ และตามหลักกาลามสูตรพุทธศาสนาก็ให้เสรีภาพอย่างเต็มที่แก่ปัจเจกบุคคลในการแสวงหาความจริง และการตัดสินทางศีลธรรม ซึ่งแนวคิดเรื่อง “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ขัดแย้งโดยตรงต่อหลักกาลามสูตร! ผมจึงค่อนข้างแน่ใจว่าแนวคิดนี้ถูกดัดแปลงมาอย่างบิดเบือนจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอัคคัญญสูตรที่กล่าวแล้วตั้งแต่แรก

 
7. พุทธศาสนามองเรื่อง “คนดี” กับ “หลักการ” อย่างไร?
 
พุทธศาสนาถือว่าคนดีคือคนที่ทำตามหลักการ ไม่ปรากฏว่าพุทธศาสนาสนับสนุนการอ้าง “ความเป็นคนดี” เพื่อละเมิดหรือล้มหลักการ พระพุทธองค์ตรัสว่า คนเราไม่ควรมีชีวิตอยู่อย่างปราศจากที่พึ่ง ทุกคนควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง แม้แต่พระองค์เองก็เคารพธรรมซึ่งหมายถึงเคารพหลักการที่ถูกต้อง ก่อนสิ้นชีวิตพระพุทธองค์ก็ไม่แต่งตั้งตัวบุคคลให้เป็นศาสดาแทน แต่ให้หลักการ คือ “พระธรรมวินัย” เป็นศาสดาของชาวพุทธ
 
แต่บ้านเรามันแปลกที่มีการอ้าง “ความเป็นคนดี” เหนือ “หลักการ” มันจึงมีรัฐประหารโดย “คนดีมีคุณธรรม” มีม็อบของคนดีมีคุณธรรมออกมาเรียกร้องให้ทหารล้มหลักการเพื่อ “ขจัดคนชั่ว” มันจึงวุ่นวายไม่จบ!
 

ถ้าเราเข้าใจพุทธศาสนาจริง ทั้งคนดีคนชั่วต้องอยู่ภายใต้หลักการ ถูกให้คุณให้โทษ หรือถูกจัดการไปตามหลักการที่เที่ยงธรรมเสมอกัน การอ้างความเป็นคนดีเพื่อล้มหลักการ หรือแม้แต่เพื่อทำลายคนชั่วย่อมเป็นเรื่องไร้เหตุผล (คือถ้าจะล้มหลักการใดๆ ต้องล้มด้วยหลักการใหม่ที่ดีกว่า) เป็น “อัตตาธิปไตย” หรือเป็นการยก “ตัวกู” เหนือทุกสิ่ง ซึ่งพุทธศาสนามองว่า เป็นการกระทำด้วยความ “ทรามปัญญา” (ทุปปัญญา) แท้ๆ เลย!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท