ฝ่ายหนุน-ต้านแร่โปแตซอุดรฯ เกิดปะทะกัน

เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมเหมืองแร่ฯ และฝ่ายสนับสนุน พยายามเข้ามาปักหมุดกำหนดพื้นที่โครงการ

เวลา 14.30 น. วันนี้ (31 ต.ค.) เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน  กับชาวบ้านผู้สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี  ประมาณจำนวน 200 คน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ปักหมุด รังวัด เพื่อกำหนดขอบเขตโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี  ในเขต ต.หนองไผ่ ต.โนนสูง อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด และ ต.นาม่วง  อ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี

การกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการพยายามที่จะเข้ามาปัดหมุดรังวัดเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ซึ่งพยายามจะดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวหาว่า ในวันนี้ กพร. และบริษัทได้มีการว่าจ้างชาวบ้านจำนวน 200 คน ให้มาเป็นกันชนต่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ที่มาร่วมกันตรึงพื้นที่แต่ละจุดที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด

โดยการกระทบกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองกลุ่มนั้น เกิดขึ้นสามครั้งในบริเวณที่จะมีการปักหมุดรังวัดในพื้นที่ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ ได้ร้องตะโกน ส่งเสียงยั่วยุชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มาเป็นกันชนขัดขวางการปักหมุดรังวัด โดยให้เหตุผลในการขัดขวางว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่ไม่ชอบธรรมและชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่เพียงแค่อำนายความสะดวกให้กับการปักหมุดรังวัดในแต่ละจุดเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวว่า  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะยังคงยืนหยัดขัดขวางการรังวัดปักหมุดให้ถึงที่สุด  และจะไม่ยินยอมให้ใครมาแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นที่ตนเองและกลุ่มร่วมกันหวงแหนไว้ให้กับลูกหลาน

ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  กล่าวถึงการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านทั้งสองฝ่ายว่า การดำเนินการปักหมุดรังวัดขาดความชอบธรรม  และได้แสดงความกังวลใจต่อความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 “การปักหมุดรังวัดในครั้งนี้นั้นได้ขาดความชอบธรรมไปแล้ว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม และ กพร. ไม่ได้ลงมาชี้แจงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนว่า พื้นที่ๆ จะทำการปักหมุดรังวัดอยู่ในจุดไหนบ้าง  และผมมีความห่วงใยต่อการที่บริษัทใช้เงินขนคนมา  เพื่อที่จะเป็นกันชน และสร้างสถานการณ์ให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝ่าย  ถ้าหากสถานการณ์มันลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้มันก็จะยากต่อการควบคุม  โดยเฉพาะความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น  เมื่อเหตุการณ์มาถึงขนาดนี้ผมจึงอยากตั้งคำถามต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มว่าวางตัวเหมาะสมหรือไม่ และส่วนราชการน่าจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มากกว่านี้ และสุดท้ายถ้าเหตุการปะทะกันจนถึงขั้นรุนแรงและมีคนบาดเจ็บถึงขั้นล้มตายใครจะเป็นผู้รับชอบต่อเหตุการรืที่เกิดขึ้น”  สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงเย็น เมื่อ กพร. และชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ  ได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงปักหลักร่วมกันในการเฝ้าระวังพื้นที่ตามจุดต่างๆ กันอย่างหนาแน่น  และจัดเวรยามในในช่วงกลางคืน  และมีการนัดหมายกันให้มาอย่างพร้อมเพรียงในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553  เวลา 06.00  น.  สำหรับการตรึงพื้นที่ป้องกันการเข้ามาปักหมุดรังวัดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท