Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในประเทศที่เจริญแล้ว การคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดโรงเรียน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ดำเนินงานด้านนี้ต้องศึกษา อย่างต่ำสุดก็ระดับปริญญาตรี และเห็นสำคัญจนมีหลักสูตรปริญญาเอก จนสูงกว่าปริญญาเอกด้วยซ้ำ มีแต่ประเทศป่าเถื่อนเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ส่งหนังสืออะไรก็ได้ไปบริจาคตามโรงเรียน โดยไม่มีระเบียบหรือระบบวิธีคัดเลือก กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน และขณะนี้ รัฐบาลของไทยพยายามให้ประเทศของตนติดอยู่ในรายการชาติป่าเถื่อนอันดับหนึ่ง
 
------------------------------------------------------------------------------------------------
 
รัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี หลงเชื่อไปว่า การเปิดโอกาสให้คนในชาติบริจาคหนังสืออย่างเสรีโดยวิธีหักภาษีเงินได้ประจำปีเป็นสิ่งล่อนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ คือ
 
“เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการอ่าน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต โดยจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการซื้อหนังสือบริจาคให้แก่สถาบันการศึกษาของราชการและเอกชนเพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างทั่วถึง มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดหาหนังสือเข้าสู่หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น”
 
ช่างเป็นความหวังที่น่าอับอายขายหน้าประชาชาวโลกทั้งหลายเสียเหลือเกิน
 
เพราะเมื่อเป็นรัฐบาล และมีนโยบายจะให้คนของตนอ่านหนังสือ รัฐบาลต้องรับเป็นภาระและจำต้องหาหนังสือมาให้จงได้ ไม่ใช่ปัดความรับผิดชอบให้ประชาชนด้วยวิธีมักง่าย คือขอรับบริจาค เช่นเดียวกับการบริจาคอื่นๆ จนสังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งการบริจาค และมีผู้ปรารถนาดีทำมาหากินจากการบริจาคจนเต็มบ้านเต็มเมือง จนกระทั่งประชนพลเมืองจำนวนไม่น้อยมีชีวิตอยู่ด้วยแนวคิดรอการบริจาค
 
กรณีนี้ รัฐบาลก็กำลังหากินกับวัฒนธรรมการบริจาคอย่างมักง่ายจนลืมไปว่า “ระบบหนังสือและการอ่าน” เป็นเรื่องสำคัญชนิดคอขาดบาดตายที่ไม่มีรัฐบาลประเทศไหนในโลกปล่อยให้ตกอยู่ในมือของ “ใครก็ไม่รู้” เพียงสักแต่ว่ามีเงินก็บริจาคหนังสือให้โรงเรียนทั่วประเทศได้ จะยัดไส้อะไรอย่างไรหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือการค้าในรูปแบบเลวทรามอันจะส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชนของชาติเพียงไหนก็ไม่สนใจ
 
รัฐบาลควรจะต้องรู้และจำเป็นต้องรู้ว่า หนังสือ เป็นสิ่งที่จะรับบริจาคกันมั่วๆ ไม่ได้ 
 
เพราะหากหนังสือในห้องสมุดเอนเอียงไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือซ่อนเร้นครอบงำด้วยข้อมูลผิดพลาดอันจะส่งผลเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมอาจหมายถึงความมั่นคงของประเทศชาติจะง่อนแง่นไปได้ทันที และยากจะแก้ไข เพราะหนังสือแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตจิตใจและความเชื่อความนึกคิดของผู้ฅนได้รวดเร็ว แนบแน่นที่สุด
 
อย่าลืมว่า หนังสือไม่ใช่ปลากระป๋อง หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และไม่ใช่ ไข่เค็ม ที่จะบริจาคกันในยามอุทกภัย ซึ่งหากเป็นปลากระป๋องหมดอายุ หรือบะหมี่เสื่อมสภาพ หรือไข่เค็มเน่า ผู้บริโภคก็เพียงท้องเสีย แต่หนังสือเสียๆ เนื้อหาเน่าๆ จะทำร้ายและทำลายเด็กและเยาวชนของชาติได้ตลอดกาล แล้วหากประเทศชาติเต็มไปด้วยเด็กและเยาวชนเน่าๆ เสียๆ เล่า ความฉิบหายจะเกิดขึ้นเพียงไหน
 
รัฐบาลต้องคิดให้ไกล ให้ยาว ไม่ใช่คิดมักง่ายเพียงตื้นๆ เหมือนคนขอทานข้างถนนที่มีนโยบายแบมือขอไปวันๆ หากจะเปลี่ยนนโยบายบ้างก็เพียงเปลี่ยนถิ่นเปลี่ยนที่ เปลี่ยนรูปแบบการขอหรือภาชนะที่ใช้ขอเท่านั้น แต่วิธีคิดก็เหมือนเดิม คือ รับบริจาค
 
นอกจากความไร้เดียงสาเรื่องการบริหารระบบหนังสือและการเรียนรู้ของชาติแล้ว คณะรัฐมนตรียังแสดงให้เห็นความอ่อนด้อยในการพิจารณาเรื่องสำคัญของชาติด้วยพร้อมๆ กัน ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า
 
“อย่างไรก็ตาม ครม.เห็นว่าเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ไม่มีผลกระทบมากพอที่จะทำให้คนไทยอ่านหนังสือและซื้อหนังสือราคาถูกมากยิ่งขึ้น” รัฐมนตรีว่าการศธ.กล่าวอีกว่า ตนได้เสนอในที่ประชุมครม.ว่า “หากกระทรวงการคลังพิจารณาเรื่องการลดหย่อนภาษีกระดาษและปรับเปลี่ยนฐานภาษี---โดยคิดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๐ จะมีผลโดยตรงที่จะทำให้ราคาหนังสือลดลงได้ ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะสามารถซื้อหนังสือราคาถูก ตลอดจนยังทำให้มีการซื้อและบริจาคหนังสือมากขึ้นด้วย”
 
คำถามแรกคือ เมื่อรู้ว่าไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ หรืออาจได้ไม่คุ้มเสีย แล้วจะดึงดันทำไปทำไม
 
คำถามที่สอง ตรรกะที่ว่า เมื่อหนังสือราคาถูกลงจะมีคนซื้อหนังสือเพิ่มขึ้นนั้น เป็นวิธีคิดที่ได้ข้อมูลจากงานลดราคาหนังสือแห่งชาติและระดับชาติ ที่คนแห่กันไปซื้อหนังสือลดราคา แต่ไม่ได้มองจากข้อเท็จจริงที่ว่า
 
ระบบหนังสือของชาติไม่ใช่การซื้อหนังสือเป็นหลัก แต่ต้องเน้นการบริการหนังสือสาธารณะ หรือก็คือการที่คนทั้งประเทศมีโอกาสและมีสิทธิ์อ่านหนังสือตามความต้องการได้ทัดเทียมกัน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดการ แต่ไม่ใช่เพียงแค่คิดว่าให้หนังสือราคาถูกเพื่อคนจะซื้อกันมากๆ หรือให้คนซื้อหนังสือบริจาคมากๆ นั่นเป็นวิธีคิดของพ่อค้าขายสินค้า ไม่ใช่แนวคิดระบบหนังสือของชาติ
 
“ระบบหนังสือ” และ “บริการหนังสือสาธารณะ” หรือ “ระบบหนังสือสาธารณะ” คืออะไร รัฐบาลรู้จักหรือไม่ 
 
ถ้ารัฐบาลซึ่งประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีตั้งหลายสิบคน ออกจะงุนงงและมืดแปดด้านเรื่องระบบหนังสือและการอ่านของชาติ กระทั่งไม่เคยคิดไม่เคยรู้เลยว่า ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากแนวคิดนี้มีอะไรบ้าง ก็ขอให้ลองพิจารณาสิ่งต่อไปนี้
 
๑. เด็กจะถูกนักการเมืองครอบงำด้วยหนังสือบริจาคที่ดำเนินการอย่างแยบยลและซับซ้อน โดยเฉพาะนักการเมืองที่ฉกฉวยโอกาสจากช่องโหว่ของกฎหมายนี้ เพื่อหาเสียงผ่านเด็กโดยไม่ต้องเสียเงิน รัฐบาลจะแก้ปัญหาใหญ่โตนี้อย่างไร หรือนักการเมืองในคณะรัฐบาลเองก็ชอบที่จะฉกฉวยโอกาสนี้ ไม่สนใจไยดีว่าภาระหนักจะตกแก่เด็กอย่างไร หรือเด็กจะต้องเผชิญอันตรายจากหนังสือบริจาคที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นพิษเป็นภัยต่อวัยเด็กอย่างไร เพียงเห็นว่าเป็นช่องทางในการหาเสียงก็พอแล้ว
 
๒. บริษัทธุรกิจจะครอบงำเด็กเพื่อขายหนังสือหรือสินค้าของตน โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีช่องทางหรือเส้นสนกลในอยู่กับคนของนักการเมืองหรือคนของรัฐบาลและข้าราชการบางกลุ่ม
 
๓. ปัญหาการบริหารและจัดการหนังสือบริจาคที่อาจจะมีปริมาณมากจนล้นในบางแห่ง
 
๔. ปัญหาการแยกประเภทหนังสือที่ไม่เหมาะแก่วัยของนักเรียนในโรงเรียนที่ได้รับบริจาค
 
 
ยังมีข้ออื่นๆ อีกมากมายจนคนธรรมดาๆ อ่านแล้วต้องกระอักเลือด
แต่ แน่นอน รัฐบาลย่อมไม่รู้สึกรู้สา
ไม่เป็นไร เอาไว้ร่างเสร็จ บรรณาธิการกรุณาแก้ แล้วส่งให้หนังสือพิมพ์
 
(ฉบับร่าง) มูฮมัด 
๐๔.๔๒ น. อังคาร ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ Makut Onrudee ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจจึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่อีกครั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net