Skip to main content
sharethis

 

สื่อมวลชนร่วมเสวนานักสื่อสารแรงงาน ถกแนวทางการทำงานระหว่างแรงงานกับสื่อมวลชนเพื่อยกประเด็นแรงงานสู่สาธารณะ หวังลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยเห็นว่าปัจจุบันมีช่องทางมากขึ้นจากสื่อทางเลือกและสื่อเฉพาะต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน หรือสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต แต่เห็นว่ายังไม่ควรทิ้งสื่อกระแสหลักทั้งหนังสือพิมพ์และทีวีที่ยังมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่อย่างน้อยอีก 10 ปี แต่แรงงานต้องสร้างข่าวและช่องทางเองตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ต้องข้ามให้พ้นความซ้ำซากทั้งในด้านการนำเสนอประเด็นเนื้อหาและตัวบุคคลเป็นข่าว

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. จัดงานเสวนาเรื่อง “พลังสื่อ กับ การเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มีสื่อมวลชนจากต่างแขนง 4 คนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้กับนักสื่อสารแรงงานและผู้นำแรงงานทั้งในและนอกระบบจำนวนกว่า 50 คน

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า ทุกวันนี้สื่อมีความสำคัญและมีรูปแบบต่างๆ มากมาย พื้นที่ข่าวสามารถชี้ขาดชัยชนะได้ ในส่วนของแรงงานต้องทำงานสื่อสารกับทั้งสมาชิกและสังคม ทั้งในรูปแบบของเอกสารต่างๆ และการสัมภาษณ์พูดคุย ซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือ และความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน การใช้สื่อและการเข้าถึงสื่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เรียนรู้จากสื่อมวลชนอาชีพโดยตรง

นางสาวมัทนา โกสุมภ์ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. กล่าวเปิดงานว่า
การสื่อสารมีพลังมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่การสื่อสารไม่ใช่เรื่องง่าย แม้มีข้อมูลแล้วก็ยังอาจสื่อสารไม่ได้ และเห็นว่าทุกวันนี้แรงงานมีช่องทางเลือกในการสื่อสารมากขึ้น ตัวอย่างจากนักสื่อสารแรงงานกลุ่มอยุธยาที่ฝึกแล้วสามารถเขียนข่าวขึ้นเว็บไซต์ http://voicelabour.org/ ได้ทันที ซึ่งวันนี้ก็จะได้พูดคุยกันว่าจะทำงานกับสื่ออย่างไรให้สื่อสนใจประเด็นแรงงาน และนำไปเป็นข่าวสื่อสารต่อสังคม

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน กล่าวเริ่มดำเนินรายการว่า ประเด็นความเหลื่อมล้ำถูกหยิบยกมาพูดคุยกันหลายเวทีในปัจจุบัน แต่เรื่องราวของแรงงาน 37-38 ล้านคนไม่ค่อยปรากฎในสื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ ต่างกับเรื่องคนไม่กี่คนในแวดวงบันเทิง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า ทำไมประเด็นแรงงานไม่ค่อยมีในสื่อ ทำอย่างไรพื้นที่สื่อจะเปิดมากขึ้น ทั้งนี้มองว่า การสร้างความเข้าใจระหว่างสื่อกับแรงงานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน

นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวถึงสื่อหลักกับสื่อทางเลือกว่าไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน ยุคหนึ่งหนังสือพิมพ์เคยเป็นสื่อทางเลือก แต่เมื่อคนอ่านมากขึ้นก็ชี้นำสังคมได้ กลายเป็นสื่อกระแสหลัก ซึ่งวัดจากจำนวนคนอ่านมากกว่าจะเป็นเรื่องรายได้หรือจุดประสงค์ของกิจการ สื่อกระแสหลักจะเล่นข่าวใหญ่เรียกเรตติ้ง ส่วนสื่อทางเลือกจะเน้นจุดประสงค์ขององค์กรมากกว่า เช่น ประชาไทจะเสนอข่าวที่ไม่เป็นข่าว แต่มีความสำคัญ จึงทำข่าวแรงงานที่ไม่ค่อยมีคนอ่าน โดยเห็นว่าเกิดจากปัญหา 2 ส่วน คือ หนึ่ง ด้านเทคนิค คือประเด็นซ้ำซาก เช่นความทุกข์ยาก เดินขบวนเรียกร้อง ซึ่งต้องอาศัยฝีมือประสบการณ์ของนักข่าวที่ต้องเจาะหาแง่มุมอื่นมาปั้นประเด็นนำเสนอ และ สอง ด้านโครงสร้างคือ หนังสือพิมพ์เดินเข้าสู่ธุรกิจ โฆษณาเป็นสิ่งสำคัญมากกว่ายอดพิมพ์ที่ยิ่งมากยิ่งขาดทุน โฆษณาและสื่อคือทุนซึ่งกดขี่แรงงาน จึงไม่มีข่าวแรงงาน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา สื่อกระแสหลักถูกท้าทายจากสื่อทางเลือก เช่นวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นมากมาย และอินเทอร์เน็ต พฤติกรรมของการบริโภคสื่อเปลี่ยนไป คนเบื่อสื่อกระแสหลักหันไปหาสื่อเฉพาะ แต่สื่อเฉพาะก็ยังไม่มีบทบาทชี้นำสังคมได้

สำหรับฝ่ายแรงงานควรเลิกโทษว่าสื่อไม่ทำข่าวแรงงานได้แล้ว ในยุคสื่อออนไลน์ที่ไม่เพียงมีช่องทาง แต่สามารถเขียนข่าวได้เองเพียง 4-5 บรรทัดก็เป็นข่าวได้ แม้นักวิชาการเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องในเรื่องความน่าเชื่อถือก็ตาม แต่สื่อหลักทุกวันนี้ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือเช่นกัน ดังนั้นแรงงานก็ควรเขียนข่าวเองได้แล้ว คนทำงานก็มีสิทธิในการพูดและสื่อสาร เป็นหน้าที่ของคนทุกอาชีพ การพูด การสื่อสารเป็นเรื่องของชีวิต

นางสาวศุภรา จันทร์ชิดฟ้า นักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เห็นว่าเครื่องกรองข่าว ได้แก่ หนึ่ง โฆษณา หนังสือพิมพ์อยู่ได้ด้วยโฆษณา เช่น บางกอกโพสต์หน้าละ 2.5 แสนบาท ไทยรัฐ 4.8 แสนบาท สอง ความสัมพันธ์ของเจ้าของสื่อ กับใคร ต้องการอะไร ซึ่งนักข่าวจะถูกใบสั่งว่าข่าวไหนทำได้ไม่ได้ บางข่าวเขียนแล้วถูกโยนทิ้งด้วยข้ออ้างต่างๆ เช่นเป็นวิชาการมากเกินไป ซึ่งความจริงเป็นเพราะไปกระทบกับความสัมพันธ์ ของเจ้าของสื่อหรือบรรณาธิการกับผู้สนับสนุน สาม ความสัมพันธ์ของนักข่าว กับนักการเมืองหรือนักธุรกิจ ถ้ารับของแจก กินฟรี จะเขียนข่าวด่าไม่ได้ แต่ถ้าสนิทกับนักการเมืองอาจได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน สี่ ถูกโทรด่า ถอนโฆษณา ทำให้ข่าวอาจไม่ได้ลงแม้นักข่าวจะหาข้อมูล มีการวิเคราะห์วิจัยครบถ้วน ห้า คนอ่าน ไม่แสดงความเห็นต่อข่าวแม้นำเสนออย่างไม่ถูกต้อง หรืออย่างแรงงานเพิกเฉยต่อข่าวตัวเองแต่สนใจข่าวดาราท้องมากกว่า

ในส่วนของข่าวแรงงาน เจ้าของสื่อมักไม่สนใจเรื่องแรงงาน เว้นแต่นักข่าวจะใช้บารมีเข้าไปต่อรอง ซึ่งปัญหาแรงงานมักเป็นเรื่องเร่งด่วน มีวิธีเขียนนำเสนอต่างจากสารคดี แต่ก็เหมาะกับทุกวันนี้ที่ทุกอย่างเร่งด่วนไปหมด แรงงานจึงต้องช่วยเหลือนักข่าวในการหาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน อาจใช้เวลามากหน่อย แม้ว่าทำให้ข่าวขาดความสดไป แต่สามารถนำไปเขียนเป็นบทความอันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว

นายชัยภัทร ธรรมวงษา นักข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ให้ความเห็นว่า แรงงานยังคงต้องให้ความสำคัญกับสื่อกระแสหลักเพราะยังมีพลังเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เมื่อแรงงานมีปัญหาและเป็นข่าว ภาครัฐจึงจะให้ความสนใจรีบแก้ปัญหา ทั้งที่กระทรวงแรงงานตั้งมากว่า 10 ปีแล้ว เปลี่ยนรัฐมนตรีมาหลายคนก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของแรงงานให้ไปในทิศทางที่ดีได้

ในส่วนของนักข่าวกระทรวงแรงงานก็มีไม่มาก จะใช้วิธีเช็คข่าวจากผู้ประสานงานหรือผู้นำแรงงาน นักวิชาการ ซึ่งก็มีเรื่องเกิดขึ้นทุกวัน นักข่าวก็จะประชุมกันว่าจะหยิบประเด็นอะไรขึ้นมาเล่น ซึ่งต้องดูทิศทางข่าว แต่ก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้หมดรอ “ปล่อยของ” ในวันที่เหมาะสมหรือวันที่ข่าวไม่ค่อยมี แต่จะให้เล่นข่าวแรงงานเป็นข่าวหน้า 1 คงยาก เพราะบรรณาธิการมีอำนาจเลือกข่าว มักให้เหตุผลว่าเป็นข่าวซ้ำๆ หรือข่าวเต็มแล้ว จึงเห็นว่าแม้สื่อกระแสหลักยังจำเป็น แต่แรงงานก็ควรมีช่องทางของตัวเอง อย่างเว็บไซต์ voicelabour.org ก็ควรระดมช่วยกันทำ เขียนสั้นๆ 4-5 บรรทัด มีเครือข่ายเสนอข่าวพร้อมๆ กันก็จะเกิดพลังในการสื่อสารได้

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวแสดงความรู้สึกต่อสื่อว่า เท่าที่ฟังเสียงสะท้อนของฝ่ายแรงงานก็ค่อนข้างพอใจเพราะหลายสื่อให้พื้นที่มาก แม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายแรงงานไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกับสื่อให้เกิดความสนใจทำข่าวแรงงานมากนัก เห็นว่าทุกวันนี้ ทุนกับรัฐแนบแน่นกับสื่อจนเป็นธุรกิจแล้ว ข่าวแรงงานจะถูกกรองไม่ให้นำเสนอกระทบธุรกิจหรือภาครัฐ ข่าวที่เด่นมากจึงจะเบียดขึ้นได้ ซึ่งก็มีทีวีหลายช่องรวมทั้งเคเบิลทีวี และหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ให้ความสำคัญกับข่าวแรงงานแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมสื่อทั้งหมดและปริมาณโดยรวมก็ยังไม่มากนัก

ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่าแรงงานต้องหันมามองตัวเองด้วย ในเรื่องประเด็นที่สื่อเห็นว่าซ้ำๆ ข้อมูลเก่า และต้องคำนึงถึงจุดยืนด้วยเช่น ถ้าอิงการเมืองมากก็จะถูกตั้งคำถาม แล้วก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากสื่อมวลชนด้วย

นายชัชวาล สมเพชร ประธานสหภาพแรงงานไทยคูน เล่าให้ฟังว่า คนงานและสมาชิกของสหภาพแรงงานไทยคูนถูกนายจ้างเอาเปรียบจึงรวมตัวกันต่อสู้ตามสิทธิ มีสื่อหนังสื่อพิมพ์และทีวีหลายช่องไปช่วยทำข่าว ทำให้เป็นตัวเร่งกระบวนการของภาครัฐ วันไหนเป็นข่าวก็จะได้รับความสนใจแก้ปัญหาเร็ว แต่ทุกวันนี้ปัญหาของคนงานไทยคูนก็ยังไม่จบ ยังมีการเลิกจ้าง มีการบีบให้สมาชิกสหภาพแรงงานลาออก รวมทั้งมีคดีค้างอยู่อีกหลายคดี ซึ่งคงต้องใช้สื่อเป็นช่องทางในการช่วยต่อสู้

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเสนอข่าวแรงงานนอกระบบว่า ที่ผ่านมามักเป็นเรื่องสวัสดิการมากกว่าเสนอวิถีชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ อาจเป็นเพราะมีการเรียกร้องมากในสิ่งที่แรงงานนอกระบบยังขาดอยู่ ทั้งนี้ มีความเห็นว่าสื่อทางเลือกกับสื่อกระแสหลักจะเติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เหมือนกับแรงงานนอกระบบก็สามารถเกาะกระแสแรงงานในระบบในการสื่อสารได้เช่นกัน ทั้งนี้แรงงานต้องแสดงความเป็นตัวตนให้ชัด หาข้อมูลจากเจ้าของประเด็นมานำเสนอ มีการเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยกัน หางบประมาณ และแกนนำต้องแบ่งความรับผิดชอบเรื่องหลักเรื่องรองในการเสนอข่าว

นางสาวนันทพร เตชะประเสริฐสกุล คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนส่วนส่งเสริมและพัฒนาเครือข่าย ให้ความเห็นว่า แม้จะเกิดสื่อใหม่ สื่อทางเลือกมาก แต่สื่อกระแสหลักจะยังอยู่ไปอีกอย่างน้อย 10 ปี เพราะสื่อใหม่ยังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ แรงงานจึงต้องรักษาฐานสื่อกระแสหลักไว้ก่อน แต่ต้องปรับตัวตามสังคมและเทคโนโลยี

ส่วนปัญหาแรงงานไม่เป็นข่าวนอกจากการถูกกรองแล้ว ยังมีเรื่องของทัศนคติทั้งจากสังคม และบรรณาธิการ รวมทั้งจากการหล่อหลอมนักข่าวจากสถาบันการศึกษา โดยทัศนคติที่กดทับสังคมมานานอย่างเช่น ไม่เดินขบวนไม่เป็นข่าว ซึ่งเห็นว่าแรงงานต้องสำรวจตัวเอง ว่าจะพูดในสิ่งที่อยากพูด หรือพูดในสิ่งที่สังคมจะฟัง ต้องทำให้เห็นว่าปัญหาของแรงงานกระทบต่อสังคมและวันหนึ่งอาจเกิดปัญหาเดียวกันขึ้นกับใครก็ได้ รวมถึงต้องสร้างโอกาส ทั้งนี้กระแสเปิดเสรีสื่อช่วงปี 2535 เป็นตัวจุดประกาย ทำให้ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา สิทธิของภาคประชาชนในด้านการสื่อสารเปิดโอกาสให้สามารถมีสื่อเองได้ เช่น วิทยุ เว็บไซต์ สื่อออนไลน์ แต่เป็นเรื่องใหม่ที่แรงงานยังไม่คุ้นเคย

เธอมองว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่สื่อทางเลือกเท่านั้น แม้แต่สื่อกระแสหลักก็ยังพยายามจะทำให้เป็นสื่อสาธารณะ จึงอยู่ที่ว่าแรงงานจะก้าวเข้าไปหาและทำงานกับสื่ออย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวโดยอาจเริ่มจากสำรวจช่องทางสื่อสารของแรงงาน ประสานเครือข่ายเพื่อใช้ประโยชน์ก่อน และต้องรักษาพื้นที่สื่อกระแสหลักเอาไว้โดยต้องทำอย่างต่อเนื่อง คำนึงถึงความน่าสนใจของรูปแบบ ความถูกต้องของเนื้อหาซึ่งต้องมาเป็นลำดับหนึ่ง เพราะจะก่อผลกระทบวงกว้างและมีผลต่อความน่าเชื่อถือ

นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ นักจัดรายการวิทยุ กล่าวว่า เขาเคยมีส่วนเข้าไปอบรมวิทยุชุมชนหลายพื้นที่ พบว่าเกิดพลังที่คนพื้นที่รู้สึกว่า เป็นอำนาจที่ตัวเองได้สื่อได้ปลดปล่อยออกมา เขามองว่า ความคิด สะท้อนการทำข่าวของนักข่าว ซึ่งสถาบันการศึกษาก็ช่วยไม่ได้หากนักศึกษามีภูมิหลังเป็นคุณหนูที่ไม่ค่อยได้สัมผัสรับรู้ความทุกข์ยากของผู้คนในสังคม

ปัญหาใหญ่อีกอย่างอยู่ที่ตัวแรงงานเองที่ปกติถูกบังคับจากนายจ้างทำให้มีวินัยทำงานตรงเวลา แต่เวลาจะทำเรื่องสื่อกลับกลายเป็นมือสมัครเล่น แรงงานอยู่กับฐานปัญหา การทำสื่อต้องมีการประเมินขั้นตอนการเคลื่อนไหวให้เหมาะสมว่าสาธารณะคิดอย่างไร เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยในบางระดับ รูปแบบที่เหมาะกับแรงงาน กำหนดจังหวะของข้อมูลเนื้อหา ทำเอกสารที่ดูแล้วมีชีวิตชีวา มีเสน่ห์

ทั้งนี้ เขาทิ้งท้ายว่า การทำไม่ทำสื่อไม่เกี่ยวกับระดับการศึกษา โดยอาจเริ่มใช้โอกาสจากสื่อของคนอื่นก่อนแล้วค่อยขยับมาสร้างมาใช้สื่อของตัวเอง

ด้านนายศักดินา กล่าวสรุปเนื้อหาการเสวนาทั้งหมดว่า ขบวนการแรงงานทำงานมายาวนาน แต่มีช่องทางผ่านสื่ออย่างจำกัด แต่โลกวันนี้มีทางเลือกในการสื่อสารมากขึ้น สื่อทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทมาก แต่ก็คงยังทิ้งสื่อกระแสหลักไม่ได้ แรงงานต้องมีวินัยเป็นมืออาชีพในการทำสื่อมากกว่านี้ ต้องทบทวนพื้นที่ของแรงงานที่มีอยู่ในสื่อทั้งกระแสหลัก สื่อทางเลือก และสื่อของขบวนการแรงงานเอง ตรวจสอบว่าเราใช้ประโยชน์เข้าไปยึดครองพื้นที่สื่อได้เพียงใด กำหนดทิศทางของข่าวได้เพียงใด ทั้งนี้หากเมื่อมองจากมุมที่คนงานจำนวนมหศาลอยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภคสื่อ จึงควรจะมีอำนาจกำหนดสื่อได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net