Skip to main content
sharethis

3 พ.ย. 53 - รัฐบาลไทยจะต้องฝ่าสภาวการณ์ชะงักงันของปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ด้วยการผลักดันการแก้ปัญหาด้วยการเมืองอย่างจริงจัง ด้วยการชำระปัญหาความอยุติธรรมในอดีต พูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและแสวงหารูปแบบการปกครองแบบใหม่

สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย เป็นรายงานชิ้นล่าสุดของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปที่วิเคราะห์ถึงปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ในช่วงปีที่สองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะที่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลใน กรุงเทพฯ ในช่วงต้น ปี ๒๕๕๓ ได้สะกดความสนใจของผู้คน ความรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงดำเนินต่อไป มันเป็นปัญหาที่อยู่ชายขอบของความสนใจสาธารณะซึ่งยังคงไม่ได้รับการแก้ไข มีผู้คนเสียชีวิตไปกว่า ๔,๔๐๐ คนแล้วในความขัดแย้งนี้ซึ่งปะทุขึ้นเมื่อกว่าหกปีที่แล้ว

“ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตระหนักว่าการแก้ปัญหาด้วยการเมืองนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการยุติความขัดแย้ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามคำพูดที่กล่าวไว้ได้”, รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทย ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป กล่าว “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์เป็นสิ่งที่จำเป็น ควรจะมีการยอมรับว่าการผนวกกลืนเอาคนมลายูมุสลิมเข้ากับวัฒนธรรมของสังคมใหญ่นั้นล้มเหลว การยอมรับถึงอัตลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและเชื้อชาติของพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญต่อการแก้ปัญหาภาคใต้”

รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำตามสิ่งที่เคยประกาศไว้ว่าจะพิจารณายกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้กลับถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อปราบปรามผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าในการนำเอาผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในขณะที่การซ้อมทรมานและการละเมิดอื่นๆ ต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ตอกย้ำถึงปัญหาการละเว้นลงโทษผู้กระทำผิดและหนุนเสริมคำอธิบายของขบวนกาเรื่องการปกครองอันอยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีส่วนผลักดันให้คนเข้าสู่ขบวนการอีกด้วย

การปฏิรูปการบริหารการปกครองโดยเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการกับปัญหาของตนเองจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างพื้นที่ให้คนมลายูมุสลิมนำเอาความอึดอัดคับข้องใจและผลักดันความต้องการของพวกเขาอย่างสันติ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ได้อย่างเปิดเผยขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบที่เป็นไปได้ของการกระจายอำนาจภายใต้กรอบความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย

รัฐบาลจะต้องพยายามอย่างจริงจังที่จะพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและมีความพร้อมที่จะยินยอมตามข้อเสนอบางอย่าง ที่ผ่านมา การประกาศหยุดปฏิบัติการรุนแรงแบบฝ่ายเดียวในพื้นที่จำกัดของกลุ่มก่อความไม่สงบสองกลุ่มกลับได้รับการยอมรับด้วยท่าทีเพิกเฉยจากรัฐบาล

รัฐบาลควรจะดำเนินตามนโยบายที่วางไว้ในการลดจำนวนทหาร โดยใช้กำลังตำรวจและอาสาสมัครในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแทนในบางส่วน ในขณะที่กองทัพคาดหวังว่านโยบายตามมาตรา 21 ที่คล้ายกับการนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะมีการบังคับใช้ในเร็ววันนี้จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้ก่อความไม่สงบมามอบตัวได้ กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกลับเกรงว่ามันอาจจะนำไปสู่การบังคับให้สารภาพ อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ตราบใดที่บริบททางสังคมการเมืองที่เป็นปัญหายังคงไม่ได้รับการแก้ไข

นับเป็นความจริงที่โชคร้ายว่าหากการเมืองในกรุงเทพฯ ยังคงไร้เสถียรภาพ ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ก็จะยังคงถูกเพิกเฉยโดยรัฐบาลซึ่งวุ่นวายกับการจัดการปัญหาของตนเองเพื่อความอยู่รอด

“แม้ว่าจะมีเรื่องอื่นๆ มาดึงความสนใจ ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลก็ควรจะครุ่นคิดว่าจะตอบสนองต่อท่าทีของขบวนการอย่างไร” จิม เดลลา-จิอาโคม่า ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าว  “ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักว่าไม่สามารถที่เอาชนะกันได้ด้วยการทหาร การแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้จะต้องแก้ด้วย การพูดคุยและประนีประนอม ซึ่งหมายถึงว่าฝ่ายขบวนการเองก็จำเป็นต้องมีข้อเสนอทางการเมืองที่เป็นเอกภาพด้วย”

 

 

สภาวการณ์ชะงักงันในภาคใต้ของไทย

I. บทนำ

ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศกำลังอยู่ในสภาวการณ์ชะงักงัน แม้ว่าปฏิบัติการทางการทหารอาจจะมีส่วนที่ทำให้ระดับของความรุนแรงลดลงบ้าง แต่รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแทบจะไม่ได้จัดการกับเงื่อนไขทางการเมืองที่ผลักให้เกิดขบวนการต่อต้านรัฐไทยขึ้น การประกาศหยุดปฏิบัติการความรุนแรงในพื้นที่จำกัดแบบฝ่ายเดียว (a limited unilateral suspension of hostilities)โดยกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้รับการตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาล กฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอย่างกว้างขวางก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม ยังคงไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมกับผู้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยก็ยังคงดำเนินต่อไป ในขณะที่การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2553 ได้ดึงดูดความสนใจของสาธารณชนไป จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในภาคใต้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การก่อความไม่สงบปะทุขึ้นเมื่อกว่าหกปีที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ได้กลายเป็นประเด็นชายขอบของการเมืองไทยและยังอาจแก้ไขได้ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็น รัฐบาลจะต้องตระหนักว่าความพยายามที่จะผนวกกลืนคนมลายูมุสลิมนั้นล้มเหลวและควรจะยอมรับว่าพวกเขามีอัตลักษณ์เฉพาะทางศาสนาและชาติพันธุ์ การพูดคุยกับกลุ่มก่อความไม่สงบและการปฏิรูปการบริหารราชการในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะเป็นสององค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้วยการเมือง

ระดับความรุนแรงในภาคใต้นั้นค่อนข้างคงที่ในช่วงสามปีที่ผ่านมา กองกำลังทหารกว่า 30,000 นายยังคงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการก่อความรุนแรงในการโจมตีกองกำลังทหารตำรวจ ครู พระ คนพุทธ รวมถึงคนมุสลิมที่ถูกมองว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาล หลังจากปี 2551 ที่ความรุนแรงลดระดับลงอย่างสำคัญ จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงก็คงอยู่ที่ประมาณ 1,000 เหตุต่อปี โดยในสิบเดือนแรกของปี 2553 มีผู้เสียชีวิต 368 คน ปฏิบัติการทางการทหารเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถที่จะหยุดความรุนแรงได้

ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ตระหนักว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้จะต้องแก้ด้วยการเมือง แต่คำพูดนั้นยังมิได้ปรากฎเป็นการกระทำที่ชัดเจนนัก รัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2548 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น รัฐบาลกลับใช้กฎหมายพิเศษที่มีความรุนแรงฉบับนี้ในการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลจังหวัดอื่นๆ รัฐบาลได้ปฏิเสธโอกาสในการเปิดเวทีพูดคุยกับขบวนการโดยเพิกเฉยต่อการที่ขบวนการก่อความไม่สงบสองกลุ่มได้ประกาศหยุดปฏิบัติการความรุนแรงในบางพื้นที่ แม้ว่าจะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบบริหารราชการในภาคใต้มากขึ้นกว่ารัฐบาลก่อนๆ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้พยายามอย่างจริงจังในการแสวงหารูปแบบการปกครองใหม่ที่เป็นไปได้ในกรอบของความเป็นรัฐเดี่ยว

รัฐบาลเตรียมการที่จะใช้ “ปฏิบัติการทางการเมือง” (political offensive) ใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับการนิรโทษกรรม โดยคาดหวังว่ามาตรการนี้จะสามารถดึงให้ผู้ที่อยู่ในขบวนการมามอบตัวและทำให้ขบวนการอ่อนแอลง มาตรการนี้อนุญาตให้ทางการสามารถระงับการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลด้วย โดยผู้นั้นจะต้องเข้ารับการ “อบรบ” เป็นเวลาสูงสุดหกเดือน คงต้องรอดูกันต่อไปว่ามาตรการนี้จะได้ผลหรือไม่ นักสิทธิมนุษยชนยังคงกังขาและเกรงว่าผู้ที่มามอบตัวจะถูกบังคับให้สารภาพผิดต่อความผิดที่ตนไม่ได้ก่อ พวกเขาเรียกการอบรมนี้ว่าเป็น “การควบคุมตัวด้วยคำสั่งของฝ่ายบริหาร” (administrative detention) อย่างไรก็ดี มาตรการนี้เพียงอย่างเดียวไม่อาจที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตราบใดที่บริบททางสังคมการเมืองที่เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่ายังคงไม่ได้รับการแก้ไข

การซ้อมทรมานและการละเมิดในลักษณะอื่นๆ กับผู้ถูกควบคุมตัวยังคงเกิดขึ้น ในขณะที่การเรียกร้องความยุติธรรมต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมายังคงไม่ได้รับเสียงตอบรับ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องอดีตทหารพรานซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยคดีการสังหารโหดในมัสยิดอัลฟุรกอนในปี 2552 กรณีแบบนี้ได้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าคนกระทำผิดไม่ต้องถูกลงโทษ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับคำอธิบายของขบวนการว่าการปกครองของรัฐไทยนั้นอยุติธรรมและเป็นการผลักให้คนเข้าสู่ขบวนการและจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐไทยมากขึ้น

จนกว่าที่เสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลไทยจะกลับคืนมา ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้ก็จะยังคงเป็นประเด็นชายขอบในวาระของรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อท่าทีในอนาคตของขบวนการและวางพื้นฐานทางการเมืองสำหรับข้อตกลงจากการเจรจาที่อาจจะเกิดขึ้น ในพื้นที่อื่นๆ ที่เผชิญกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน การเจรจาเป็นส่วนประกอบสำคัญของแนวทางที่นำไปสู่การยุติความขัดแย้งและไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐบาลไทยรู้สึกหวาดกลัวมาโดยตลอด

ในขณะที่โอกาสที่แต่ละฝ่ายจะได้รับชัยชนะทางการทหารเป็นไปได้ยาก ขบวนการเองก็ควรที่จะพิจารณายุทธศาสตร์ทางการเมืองใหม่ ตัวแทนของขบวนการควรจะมีข้อเสนอทางการเมืองอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรง พวกเขาควรที่จะเตรียมพร้อมในการเสนอข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเมื่อโอกาสในการพูดคุยมาถึง

รายงานฉบับนี้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์การก่อความไม่สงบในภาคใต้ในช่วงปีที่สองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาวิจัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม 2553 ซึ่งได้มีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ในภาคใต้ด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net