ทำไมต้องให้ “สิทธิพิเศษ” กับคนจน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

    ผมถึงกับอึ้ง พูดไม่ออกบอกไม่ถูก เมื่อได้อ่านความเห็นหนึ่งต่อบทความของ ทวน จันทรุพันธุ์ เรื่อง “30 บาทรักษาทุกโรค : หมอไม่ชอบแต่คนจนชอบ” ในเวปไซต์ประชาไท และความเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับคนจนในบทความเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำของประชาชนไทยในการได้รับสิทธิในการดูแลสุขภาพ” ของแพทย์ระดับแกนนำสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนท่านหนึ่ง ในเวปไซด์ thaitrl.org

    ความเห็นของทั้งสอง อยู่ต่างกรรมต่างวาระ แต่ต่างก็มีทัศนะต่อคนจนที่ไม่ต่างกัน กล่าวคือ ทุกคนคือคน คนจนคือคน และทำไมคนจนต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการดูแลจากรัฐภายใต้กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    ท่านแรกตั้งข้อสังเกตุว่า “ความจน” เป็น “สิทธิพิเศษ” เป็นข้ออ้างให้คนอื่นทำงานเสียภาษีเพื่อมาปรนเปรอคนจนกระนั้นหรือ ? และได้ทิ้งท้ายว่าความไม่จนของท่านนั้นมาจากการทำงานหนัก !

    ท่านที่สองซึ่งเป็นแพทย์ มีน้ำเสียงทำนองว่าประชาชนระดับล่างของประเทศ 47 ล้านคนได้รับสิทธิพิเศษในการดูแลรักษาสุขภาพตามกฏหมายหลักประกันสุขภาพ ในขณะที่ข้าราชการซึ่งมีรายได้น้อยกว่าเอกชนจึงเป็นเหตุให้เสียประโยชน์ที่จะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย และคนที่เสียประโยชน์ในสิทธิการดูแลรักษาสุขภาพจากรัฐที่สุดคือกลุ่มลูกจ้างเอกชนที่อยู่ภายใต้กฏหมายประกันสังคม

    หากเราแยกพิจารณาเพียงสิทธิที่ประชาชน 47 ล้านคน ซี่งได้รับจากกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ก็อาจเข้าใจได้ว่าคนกลุ่มนี้ได้รับ “สิทธิพิเศษ” จากรัฐ ตามที่ท่านทั้งสองข้างต้นกล่าว

    แต่เราก็ไม่ควรลืมไปว่าคน 47 ล้านที่ว่านั้น เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นคนจน ซึ่งล้วนแต่ไม่มีใครอยากจะจนเพื่อจะมารับสิทธิพิเศษหลังจากการเจ็บไข้ได้ป่วย!

    ทำไมจึงมีคนจน มีคนไม่จน มีคนมั่งมีและคนร่ำรวย ?
    เจ้าของความเห็นท่านแรก บอกว่าที่เขาไม่จนเพราะเขาทำงานหนัก ซึ่งแม้มิใช่คำตอบตรง ๆ ก็พออนุมานได้ว่าที่คนจนนั้นเพราะขี้เกียจ ไม่ขยัน ทำงานไม่หนักพอ

    มันก็อาจจะใช่ที่ว่าความขยันและการทำงานหนักเป็นที่มาของความไม่จนกระทั่งความมั่งคั่งร่ำรวย  ดังเช่นเรื่องราวของชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาสร้างเนื้อสร้างตัวกระทั่งมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเศรษฐีและอภิมหาเศรษฐี

    แต่ในขณะเดียว ก็ใช่ว่าชาวบ้านไร่ชาวนาในชนบทส่วนใหญ่ที่ไม่ขยันและไม่ตรากตรำ แท้ที่จริงแล้วคนเหล่านี้ทำงานทั้งปีแทบไม่มีวันหยุดพักผ่อน หลังยังคงสู้ฟ้า หน้ายังคงสู้ดิน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขามั่งมีมั่งคั่งขึ้น กลับกลายเป็นว่ายิ่งจนลงไปเรื่อย ๆ สูญเสียทรัพย์สินทั้งที่ดินไร่นาวัวควาย กระทั่งลูกหลาน และมีจำนวนไม่น้อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนมีคำพูดทีเล่นทีจริงว่า ชาวนาชาวไร่ยิ่งทำมากขยันมากก็จะยิ่งจนลงและเป็นหนี้มากขึ้น

    การไม่ทำงานหนักและไม่ขยัน จึงเป็นความเข้าใจที่อาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงว่ามันคือสาเหตุแห่งความยากจน! โดยไม่ฉุกคิดและใส่ใจใยดีแม้แต่น้อยว่าความอยู่ดีมีสุขสบายกระทั่งความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนถูกดูดซับและขูดรีดเอาออกมาจากคนอื่น

    ใช่หรือไม่ว่าทรัพยากรที่ถูกนำมาปรนเปรอคนบนยอดปิรามิดนั้น ทำให้มีคนไม่น้อยย่ำแย่ ลำบากและยากจนลง และยิ่งคนเพียงหยิบมือบนยอดปิระมิดนั้นกอบโดยจนมั่งคั่งขึ้นมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากในฐานปิระมิดประสบกับความยากลำบากและแร้นแค้นเรื่อยลงไปเท่านั้น

    เกษตรกรชาวไร่ชาวนาถูกชักจูงครอบงำให้ทำการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มีข้าวปลาอาหารพืชผักผลไม้หล่อเลี้ยงประชากรในราคาถูก และการส่งออกเพื่อเป็นรายได้ให้ประเทศ ผลที่ได้รับปรากฏว่ายิ่งทำยิ่งจน บางรายหมดเนื้อหมดตัว สูญเสียที่ดินทำกิน เป็นหนี้เป็นสิน ฯลฯ

    ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยในหลายพื้นที่ต้องละทิ้งและสูญเสียพื้นที่ทำมาหากินจากพื้นที่และแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองและอุตสาหกรรม นอกจากนั้นยังถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการยังชีพ ยิ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ลง

    ชาวไร่ชาวนาและลูกหลานที่ผิดพลาดและล้มเหลวในกระบวนการผลิต รวมทั้งลูกหลานที่ได้รับการศึกษาในระบบเพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ต้องผันตัวเองเข้าไปเป็นแรงงานราคาถูกในโรงงาน ในสถานประกอบการ ในสถานบริการ ฯลฯ คุณภาพชีวิตมิได้ดีขึ้นกลับแย่ลงไปทุกขณะ

    ลูกหลานของพวกเขา ถูกผลักให้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เหยียดหยามรากเหง้าตนเอง เข้าถึงเพียงการศึกษาที่สร้างให้ออกมาเป็นเพียงแรงงานในสายพานการผลิต ฯลฯ

    “คนจน” และ “ความจน” จึงมีเหตุมาจากการถูกกระทำมิใช่เกิดจากการไม่ทำงานหนัก

    แท้ที่จริงนั้น บรรดาคนยากคนจนทั้งหลายล้วนคือผู้ที่แบกภาระความเจริญเติบโตและการดำรงอยู่ในนามของนโยบายการพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนมันช่วยทำให้คนจำนวนหนึ่งคงอยู่และสืบทอดสถานภาพทางชนชั้นของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง

    ไม่เพียงคนฐานล่างของประเทศที่ถูกทำให้จนเท่านั้น พวกเขายังถูกเบียดให้ห่างจากโอกาสในการไต่เต้าทางสังคมด้วย มีลูกหลานชาวบ้านชาวช่องระดับล่างสักกี่คนเชียวที่สามารถปีนบันไดไต่เต้าขึ้นไปได้

    ลูกหลานชาวบ้านเรียนในโรงเรียนในหมู่บ้านอย่างตามมีตามได้ ไม่ต้องหาคุณภาพการศึกษา ขณะที่ลูกหลานคนชั้นกลาง/คนเมือง มีโอกาสเรียนในโรงเรียนชั้นนำ มีครูที่ดี สื่อการเรียนที่ดี มีปัจจัยแวดล้อมเอื้ออำนวยทุกประการ  โอกาสการแข่งขันเพื่อเข้าไปมีที่นั่งในสถานศึกษาที่ดีที่มีจำกัดจึงเป็นของพวกเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่นั่งแทบไม่ตกไปถึงลูกหลานชาวบ้านลูกหลานตาสียายสา ดังที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวนิชย์ กล่าวในปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2553 ว่า การวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ (benefit incident) จากการใช้จ่ายในด้านการศึกษาของรัฐ โดยวิโรจน์ ณ ระนอง และสุเมธ องกิตติกุล (2553) พบว่า ประชาชนกลุ่มที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายด้านการศึกษาของรัฐในสัดส่วนร้อยละ 29.1 ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำที่สุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์ในสัดส่วนร้อยละ 12 

    ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา มีอาชีพการงานมั่นคง ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกคนชั้นกลางขึ้นไป มิใช่ลูกหลานชาวไร่ชาวนาในชนบท จริงอยู่อาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็มีน้อยเข้าขั้นหายาก ลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่มีโอกาสได้ร่ำได้เรียน บ้างก็จบอนุปริญญา บ้างจบปริญญา ปริญญาโทก็มี ถามคนเหล่านั้นไปถึงความคาดหวังของพ่อแม่หรือไม่ คำตอบคือส่วนใหญ่ไปไม่ถึง บางคนยังปั่นสามล้อขายไอศกรีม บางคนเป็นยาม เป็นลูกจ้างเอกชน เป็นลูกจ้างหน่วยงานราชการ เป็นครูอัตราจ้าง ฯลฯ

    ซึ่งในปาฐกถาคราวเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ที่มีรายได้น้อย มีโอกาสในการไต่เต้าทางสังคม ผ่านระบบการศึกษาระดับสูงไม่มากนัก ดังข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า หัวหน้าครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 มีอัตราการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรีขึ้นไป) เพียงร้อยละ 1.52 ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 20 มีอัตราการศึกษาในระดับดังกล่าวร้อยละ 16.2

    ย้อนกลับไปที่ความเห็นต่อสิทธิพิเศษของคนจนข้างต้น

    กฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นั้น เกิดขึ้นมาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนคนระดับล่างให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ง่ายและทั่วถึงขึ้น ไม่ควรตายด้วยเพียงเหตุเพียงเพราะไม่มีเงินรักษา และไม่ต้องถึงกับล้มละลายหมดเนื้อหมดตัวไปกับการรักษา

    อาจจะกล่าวหาได้ว่านี่เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งหาเสียงกับคนยากคนจน การเมืองก็คงจะได้ประโยชน์ในแง่ได้รับความนิยม แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันสามารถช่วยเหลือคนจนได้จริง และคนจนเขาก็พึงพอใจ และก็ยอมรับได้เช่นกันว่า นี่คือ “สิทธิพิเศษ” ของคนจนจริง ๆ

    แล้วทำไมล่ะ ทำไมรัฐจึงจะจัดสวัสดิการหรือสิทธิพิเศษให้กับคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ การตอบแทนการเสียสละของพวกเขาด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินอันเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณก้อนมหึมาให้เขาได้บรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนจากโรคภัย จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท