น้ำท่วมประเทศไทย: ต้องเยียวยาทั้งกายและใจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

อุทกภัยในประเทศไทยปีนี้หนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ได้ประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 50,0000 ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2.4 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1.5 แสนราย นาข้าวได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็น 1.7 ล้านไร่ ด้านปศุสัตว์และด้านประมงได้รับผลกระทบ 1 แสนราย ซึ่งเมื่อนับรวมกับความเสียหายจากอุทกภัยนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา พบว่าพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเกือบ 4 ล้านไร่ รวมเกษตรกรได้รับความเดือนร้อน 2.9 แสนรายลดลงถึง 6.5% บีบให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. รายงานผลกระทบจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบนภาคกลาง ภาคตะวันออก และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2553 ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 39 จังหวัด โดยคลี่คลายสถานการณ์แล้ว 20 จังหวัดเหลืออีก 19 จังหวัดรวมความเสียหาย 545,447 ครัว และพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 6,300,000 ไร่

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ที่เกิดจากอิทธิพลพายุดีเปรสชั่น บริเวณอ่าวไทยตอนล่างเคลื่อนตัวผ่านประชาชนยังคงประสบอุทกภัยทั้ง สิ้น 11 จังหวัด  ได้รับความเดือดร้อน 200,000 กว่าครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 30 ราย และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยังคงแจ้งเตือนให้ประชาชนติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์จากกรมอุตุนิยม วิทยาอย่างต่อเนื่อง ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายน

เรือประมงขนาดกลางและขนาดใหญ่กว่า 3,000 ลำ ของ จ.ปัตตานี จอดเทียบท่าภายในอ่าวปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังจากได้รับการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า จะมีพายุดีเปรสชั่นในอ่าวไทย ซึ่งหลังจากพายุสงบลง ในที่ (6 พ.ย.) เริ่มมีเรือออกหาปลาแล้ว แต่ทุกลำยังคงติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งการต้องจอดเทียบท่าเกือบ 1 สัปดาห์เต็ม ทำให้เรือประมงต้องขาดรายได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่นายกสมาคมการประมง แจ้งว่า เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 ลำ และเกือบ 90 ลำ ไม่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้

หลายชุมชนตามชายฝั่งไม่ใช่โดนอุทกภัยแต่โดนวาตภัยทำให้บ้านเสียหายทั้งหมู่บ้าน จึงไม่มีที่อยู่อาศัย บางบ้านดินถล่มทับบ้านอย่างหมู่บ้านหัวเขา จังหวัดสงขลาทำให้ลูกสองคนพร้อมแม่เสียชีวิตต่อหน้าต่อตาผู้นำครอบครัวที่รอดอย่างทุลักทุเล

ด้านเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเลภาคใต้ แจ้งว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลปัตตานีได้รับความเสียหายจากดีเปรสชั่นครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินและเครื่องมือประกอบอาชีพ ที่คาดว่า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเบื้องต้นต้องการให้ภาครัฐเร่งสร้างความมั่นใจและให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถนการณ์น้ำและอากาศในพื้น

หลายพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ถึงแม้ราคายางจะมีค่ากิโลกรัมละร้อยกว่าบาทเช่นนางอมีเนาะ มะลีชาวบ้านอาซ่อง  อำเภอรามัน จังหวัดยะลากล่าวว่านางไม่ได้กรีดยางกว่ากว่าสัปดาห์แล้ว

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยจากการประสบภัยอุทกภัยทั้งสิ้นมากว่า 200,000 ราย

ในขณะเดียวกัน ช่วงน้ำท่วมทำให้ ประชาชนเครียดเพราะทรัพย์สินเสียหาย บ้านพัง ไม่เพียงชาวบ้านเครียด เจ้าหน้าที่บางคนก็เครียดตามถึงขนาดร้องไห้

หลายพื้นที่ชาวบ้านติดน้ำท่วมกลางหมู่บ้าน  น้ำสูงมาก จนต้องอาศัยบนหลังคาบ้านรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย ทำให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครหลายพื้นที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านโดยไม่คิดชีวิต

หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลากล่าวคือเมื่อกลางดึกของวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายวัชรัตน์ บุญฤทธิ์ ปลัดอำเภอจะนะ ได้เดินทาง โดยเรือพร้อมกับ อาสาสมัคร และทหาร และชาวบ้านนำทาง รวม 4 คน ไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักในหมู่บ้าน ป่าชิง หมู่ 3ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ  จังหวัดสงขลาได้ถูกระแสน้ำที่แรงมาก พัดจนเรือที่โดยสารเกิดล่ม และปลัดอำเภอ กับชาวบ้านที่นำทางไป สูญหายไป 2 คน ส่วนทหาร และอาสาสมัคร รอดชีวิตมาได้ ซึ่งทั้งคืนและทั้งวันได้ส่งเจ้าหน้าที่ ไปค้นหาตามต้นไม้และบริเวณใกล้เคียง ก็ไม่ยังไม่เจอ

จนวันที่ 3 พฤศจิกายน ก็ได้พบร่างอันไร้วิญญาณของว่าที่ร้อยตรีวัชรัตน์ บุญฤทธิ์ โดยศพอยู่ห่างจากบริเวณที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ธงชาติไทยคลุมศพของปลัดอำเภอจะนะ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของนางพรรณี บุญฤทธิ์ ภรรยาและญาติ ๆ ที่มาเฝ้ารอการค้นหา  รวมถึงชาวอำเภอจะนะหลายร้อยคน ที่มาร่วมค้นหา และเป็นกำลังใจให้กับครอบครัว โดยศพของปลัดอำเภอจะนะ นั้นประกอบพิธีรดน้ำศพที่อำเภอจะนะ จากนั้นมีการสวดพระอภิธรรมที่อำเภอจะนะ 2 วัน ก่อนจะนำกลับบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดใน จ.สุราษฎร์ธานี

นางพรรณี บุญฤทธิ์ มารดาของว่าที่ร้อยตรีวัชรัตน์ หรือ ปลัดเอ กล่าวด้วยน้ำตานองนาว่า บุตรชายเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน พอสอบผ่านและได้รับการบรรจุเป็นปลัดฯ ก็ขอย้ายลงในพื้นที่สีแดง  เพราะบุตรชายต้องการดูแลสารทุกข์สุขดิบ ตลอดจนความปลอดภัยของชาวบ้าน ตนเคยห้ามแต่เขาก็ไม่ฟัง บอกเพียงแต่ว่าสงสารชาวบ้านที่ต้องอยู่อย่างหวาดผวา “ลูกชายป้าเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน เวลาเห็นชาวบ้านเดือดร้อน เขาจะไปช่วยเหลือทันทีไม่มีรีรอ โดยช่วงปี 2554 เขามีโครงการจะแต่งงาน ป้าไม่คิดว่าจะต้องสูญเสียลูกชายไปจากเหตุการณ์ครั้งนี้”

จากบทเรียนอุทกภัย วาตภัยครั้งนี้ ถึงแม้ประชาชนชาวไทยจะได้รับผลทบอย่างถ้วนหน้าทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่คนไทยทุกภาคส่วนยังคงหลั่งไหลช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติอย่างไม่ขาดสาย  ขอเป็นกำลังใจแด่ทุกคนจงอดทนและต่อสู้ต่อไปโดยเฉพาะครอบครัววีรบุรุษปลัดวัชรัตน์ บุญฤทธิ์  ซึ่งสละชีพในหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับรัฐ การช่วยเหลือบางครั้งอาจจะไม่สามารถยึดระเบียบที่เป็นตัวหนังสือของราชการอย่างเดียวแต่ราชการควรประสานกับชุมชนต่างๆ ให้การดำเนินการช่วยเหลือเข้าถึงและครอบคลุมชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงโดยให้ชุมชนรับรอง

ส่วนกรณีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายรัฐหรือองค์เอกชนที่มีความสามารถควรจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวอย่างเร่งด่วน

ที่สำคัญต้องปฏิรูประบบเตือนภัยในพื้นที่อย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมเพราะจะช่วยลดความเสียหายได้มากกว่านี้

นอกจากความสามัคคีของคนในชาติในการส่งความช่วยเหลือต่อผู้สูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นเงิน วัสดุและสิ่งของนับล้านๆ บาทซึ่งหลั่งไหลสู่ผู้ประสบภัยอย่างไม่ขาดสายแล้วอย่าลืมการเยียวยาจิตใจต่อผู้สูญเสียซึ่งเงิน วัสดุและสิ่งของนับล้านๆ บาทอาจช่วยไม่ได้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
หลายๆ คนอาจจะคิดสั้นฆ่าตัวตายตามญาติพี่น้องที่เสียชีวิต ดังนั้นนอกจากกรมสุขภาพจิตได้ไปดำเนินการบ้างแล้วน่าจะมีหน่วยงานศาสนาทุกศาสนา หรือใช้แนวคิดด้านศาสนามาบูรณาการฟื้นฟูจิตใจและแก้ปัญหาโดยมีหน่วยงานของรัฐสนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และยานพาหนะ เพราะศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และศาสนาเป็นที่มาของระบบคุณค่าทางสังคม

เช่นหลักคำสอนของศาสนาอิสลามว่า ด้วยความอดทนต่อภัยพิบัติดังที่ท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดได้เคยปลอบขวัญผู้ได้รับภัยพิบัติว่า "พระเจ้าได้ตรัสว่าเมื่อข้าได้ทดสอบผู้ศรัทธาต่อข้าในเรื่องใดแล้ว เขาผู้นั้นมีความอดทนโดยเขายอมรับไม่ได้ร้องทุกข์ในความปวดร้าว ซึ่งไม่พึงพอใจต่อข้า แน่นอนข้าได้ปลดปล่อยเขาให้พ้นจากเฉลยของข้า"

ท่านยังได้กล่าวอีกว่า "พระเจ้าจะเปลี่ยนเลือดใหม่ให้ดีกว่าเก่า"

เอกองค์อัลลอฮ์ได้โองการไว้ ความว่า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเคียงข้างผู้อดทน

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัด กล่าวไว้ความว่า  "หากผู้ใดอดทนต่อภัยพิบัติที่ได้ประสบและยังสรรเสริญภักดีต่อพระเจ้าเพิ่มขึ้น แน่นอนเขาผู้นั้นเมื่อตื่นขึ้นมาจะสะอาดปราศจากบาปที่เคยทำความผิด และพระเจ้าจะประทานรางวัลที่มีค่ายิ่งแก่เขาผู้นั้น" (วัจนะศาสดาโดยสรุปบันทึกโดยอิมามอัลหะกีม อะห์มัดและอบูยะอ์ลา)

และประมาณวันที่ ๑๘ พฤศจิกายนนี้  เป็นวันตรุษอีดิลอัฎฮามุสลิมที่มีความสามารถจะไปทำฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ส่วนผู้ไม่มีความสามารถจะประกอบศาสนกิจที่บ้านและเชือดสัตว์พลีทานแก่คนยากจน ซึ่งปีนี้น่าจะนำเนื้อดังกล่าวมอบแด่ผู้ประสบอุทกภัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท