แอมเนสตี้ฯ ชี้รัฐบาลพม่ากีดกันเสรีภาพประชาชนทำให้ประสิทธิผลจากการเลือกตั้งน้อยลง

การกีดกันเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและรวมตัวอย่างสงบของรัฐบาลพม่าทำให้ประสิทธิผลจากการจัดเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของประเทศในรอบ 20 ปีลดน้อยลง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันนี้ 

ทางการพม่าได้ออกกฎหมายและคำสั่งใหม่หลายฉบับก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน เพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูดและวิจารณ์รัฐบาล ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองคว่ำบาตรการเลือกตั้ง และปราบปรามไม่ให้มีเสียงเรียกร้องจากคนในประเทศเพื่อให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองประมาณ 2,200 คนในประเทศ

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสที่พม่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังตามวิถีทางของตนเอง และโลกกำลังเฝ้ารอดูอยู่” Salil Shetty เลขาธิการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลกลับกีดกันสิทธิที่จำเป็นเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งอย่างจริงจังได้”

ตั้งแต่เดือนมีนาคมในปีนี้ รัฐบาลได้ออกกฎหมายเลือกตั้งที่จำกัดและกดขี่สิทธิ ทั้งยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุมและรวมตัวอย่างสงบ การละเมิดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่:

• เมื่อวันที่ 14 กันยายน คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศจำกัดการเผยแพร่คำปราศรัยทางสื่อของรัฐอย่างเข้มงวด รวมทั้งคำสั่งที่มีเนื้อหาอย่างคลุมเครือ ซึ่งเท่ากับห้ามไม่ให้วิจารณ์รัฐบาล หรือห้ามการพูดถึงปัญหาของประเทศใด ๆ โดยเฉพาะปัญหาของชนกลุ่มชาติพันธุ์

• เมื่อวันที่ 18 กันยายน รัฐบาลเตือนดอว์อองซานซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอ ซึ่งเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งปี 2533 ระบุว่าจะมีโทษหากยุยงให้มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง  

• เมื่อวันที่ 27 กันยายน ทางการได้สั่งลงโทษพระอศิน ออกขันทา พระภิกษุชาวมอญให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 15 ปีในข้อหามีใบปลิวเรียกร้องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าไว้ในครอบครอง 

• ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ทางการได้จับกุมนักศึกษา 11 คน โดยยังมีอย่างน้อยอีกเก้าคนซึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ในข้อหาแจกแผ่นปลิวยุยงไม่ให้คนไปลงคะแนนเสียง

“การที่ยังคงมีการคุมขังนักโทษการเมืองกว่า 2,200 คน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ใส่ใจต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งครั้งนี้” Salil Shetty กล่าว “นโยบาย ‘หนทางสู่ประชาธิปไตย’ และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายดังกล่าว ดูเหมือนจะนำไปสู่การปราบปรามทางการเมืองต่อไปเท่านั้น” 

รัฐบาลพม่าอ้างว่าไม่ได้ควบคุมตัวนักโทษการเมืองแต่อย่างใด แม้ว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2533 ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานซึ่งวิจารณ์รัฐบาลอย่างหนักก็ตาม

ดอว์อองซานซูจีและพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งชนะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2533 ต้องถูกกักบริเวณเกือบ 15 จาก 21 ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลพม่ายังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพื้นที่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งการใช้กำลังทหารโจมตีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีเป้าหมายเป็นพลเรือน ในปี 2551 แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าการโจมตีเช่นนี้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติจัดตั้งคณะกรรมการไต่สวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงในพม่า

“สถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศและภูมิภาค ถึงเวลาที่องค์การสหประชาชาติ รวมทั้งประชาคมอาเซียนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของพม่า ต้องบอกว่าพอกันที” Salil Shetty กล่าว “การเลือกตั้งแบบจอมปลอมเช่นนี้ ซึ่งมีลักษณะสนับสนุนรัฐบาลทหารของพม่า ควรกระตุ้นให้แม้กระทั่งจีนและอินเดียหันมายืนหยัดเคียงข้างประชาชนในประเทศแทน”

การเลือกตั้งกำลังมีขึ้นในท่ามกลางการปราบปรามทางการเมืองและความรุนแรงอย่างเป็นระบบ ซึ่งยังดำเนินต่อไปแม้ภายหลังกลุ่มผู้ประท้วงหลายหมื่นคนที่นำโดยพระภิกษุจะเดินขบวนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2550 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง ทางการได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงอย่างสันติทั่วประเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน (อันที่จริงน่าจะมากกว่า 100 คน) และอีกจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ โดยมีประชาชนอย่างน้อย 74 คนหายตัวไป และมีการควบคุมตัวบุคคลหลายพันคน

“การปฏิเสธว่าไม่มีนักโทษการเมืองและการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงในระดับสากล ไม่ได้ทำให้ความผิดเหล่านี้สูญหายไปได้” Salil Shetty กล่าว “การปล่อยตัวนักโทษการเมืองและการนำตัวผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้มารับผิดเท่านั้น จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ท้าทายเหล่านี้ของรัฐบาล แค่จัดการเลือกตั้งยังไม่พอ” 

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้อาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านของพม่าในเอเชีย เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนความจริงขึ้นมาในพม่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท