Skip to main content
sharethis

กกร.เสียงแตกตีกลับข้อเสนอเข้าร่วม กก.ไตรภาคี

1 พ.ย. 53 - นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี คงต้องพิจารณาว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานอย่างไร มีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงตรงไหน บ้าง ซึ่งการให้กกร.เข้าไปมีส่วนร่วมต้องเข้าไปเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง แต่ขณะนี้ก็เห็นว่าคณะกรรมการยังทำงานดี จึงไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม และเอกชนเองก็คงเข้าไปทำทุกอย่างไม่ได้

"คนที่ต้องการเข้าไปคงจะมีเหตุผล อาจจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่กกร.ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกเรื่องก็คงจะเป็นไปไม่ได้"นายดุสิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้กลับไปศึกษาข้อเสอนมาใหม่ โดยให้พิจารณาว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีมีความเหมาะสมและ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ เพราะหากเห็นว่าคณะกรรมการชุดเดิมมีจุดอ่อนอะไรค่อยเสนอมาแล้วจึงเข้าไป เสริม เพื่อให้การทำงานมีความเข้มแข็งขึ้นมากกว่า

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอ ของส.อ.ท. เพื่อให้กกร.หาแนวทางผลักดันให้ผู้แทนจากกร. ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการแรงงานของประเทศ

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้หารือถึง มาตรการเยียวยาผลกระทบหลังน้ำลด โดยให้แต่ละหน่วยงาน เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมธนาคารไทยไปสำรวจดูว่าในแต่ละจังหวัดมีปัญหาอะไรและต้องการให้ช่วย เหลืออะไรบ้าง โดยจะเริ่มต้นเงินช่วยเหลือด้วยวงเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ผ่านมาได้ทำไปแล้ว ต่อจากนี้ก็จะให้แต่ละจังหวัดไปสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นมาต้องการให้ช่วยเหลือ อะไรบ้างแล้วจัดลำดับความสำคัญมา คาดว่าน่าจะเห็นผลภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอเข้าที่ประชุม กกร.ครั้งหน้า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเพราะถ้าต้องรอรัฐบาลช่วยเหลือคงไม่ทันเพราะรัฐบาลเองก็ มีงานเยอะ แต่คงจะค่อยไปประสานในเรื่องของข้อมูลกันมากกว่า

ส่วนเรื่องการดูแลค่าจ้างของลูกจ้าง รายวันที่ให้มีการจ่ายค่าจ้างเต็ม 100%นั้น ไม่ได้มีการหารือกันในที่ประชุม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทที่จะต้องเข้าไปดูแล และคิดชื่อว่าคงไม่มีใครเอาเปรียบผู้ที่เดือดร้อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะเสนอรัฐบาล เรื่องภาษีสิ่งแวดล้อมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด ว่าก็ควรนำเงินภาษีที่เก็บได้ในแต่ละจังหวัดมาบริหารจัดการแก้ปัญหาใน จังหวัดนั้นๆไม่ใช่นำมาเฉลี่ยแล้วกระจายไปจังหวัดอื่น เพื่อมห้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ชขัดเจน และทั่วถึงพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างแท้จริง

(โพสต์ทูเดย์, 1-11-2553)

ขู่ลอยแพคนงาน 2 แสนราย รง.อ้างเจ๊งค่าบาท-จี้รัฐอัดยาแรง

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ของปี 2554 มีแนวโน้มที่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และรองเท้าไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนคน อาจถูกเลิกจ้าง เพราะผู้ประกอบการเริ่มประสบปัญหาขาดทุนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัทเริ่มปฏิเสธคำสั่งซื้อ(ออเดอร์) จากประเทศคู่ค้า เพราะปรับขึ้นราคาสินค้าในรูปแบบสกุลเงินสหรัฐไม่ได้

นอกจากนี้บริษัทหลายแห่ง โดยเฉพาะทุนข้ามชาติได้ทบทวนแผนขยายกำลังผลิตในไทย ซึ่งเกรงว่าจะกระทบต่อการจ้างงานของไทย โดยนักลงทุนรอความชัดเจนเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้าเงินบาทยังแข็งค่ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาคคงไม่มีรายใดกล้าผลิตสินค้า เพราะยิ่งผลิตเพื่อส่งออกมากก็ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น โดยวิกฤติค่าเงินครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องลดต้นทุนและกำลังผลิตลง รวมทั้งจำเป็นต้องปลดคนงานเพื่อประคองกิจการไว้สู้ใหม่ในอนาคต

"ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.) ได้ใช้เงินแทรกแซงค่าบาทไปมหาศาลแล้ว แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการตอนนี้ คือ ให้กระทรวงการคลังและ ธปท.เร่งประกาศใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้นในการสกัดค่าบาท เพราะถ้านำเงินไปแทรกแซงมากเกินไปก็อาจจะเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเหมือนปี 2540" นายสมมาต กล่าว

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ถ้าภาครัฐไม่มีมาตรการในการสกัดเงินทุนไหลเข้า และการแข็งขึ้นของค่าเงิน คาดว่าผู้ประกอบการสิ่งทอที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี 40% หรือราว 500 ราย ซึ่งมีการจ้างงานราว 2 แสนคนคงต้องปิดกิจการในไตรมาส 1 ของปี 2554 แน่นอน เพราะขณะนี้ต้องจำหน่ายสินค้าในราคาขาดทุนแล้ว แม้จะต่อรองขอขึ้นราคาสินค้าแล้ว แต่คู่ค้ายังปฏิเสธ และยังหันไปสั่งซื้อสินค้ากับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม นอกจากนี้ต้นทุนวัตถุดิบก็สูงขึ้น 5% ล้วนเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการส่งออกสิ่งทอ

"ปีนี้เรากำหนดราคาส่งออกที่ 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ปีหน้าต้องขายที่ 29 บาท เฉือนกำไร 5-10% ทิ้งไป เพื่อรักษาลูกค้าและตลาด ถ้าเงินบาทยังแข็งค่าอย่างนี้ปี 2554 มูลค่าส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะหายไป 8,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ลดลงแล้ว 1,000 ล้านบาท" นายวัลลภ กล่า

(แนวหน้า, 1-11-2553)

เชียงรายกวาดล้างต่างด้าว 193 คนที่แม่สาย

3 พ.ย. 53 - ที่ สภ. อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าฯ เชียงราย พร้อมด้วย พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.เชียงราย และกำลังเจ้าหน้าที่ ทหารชุดเฉพาะกิจกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ร่วมกันแถลงกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตรวจคนเข้าเมือง ในการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนช่วงของเทศกาลท่องเที่ยว โดยทางเจ้าหน้าที่ ได้รับการร้องเรียนว่า มีแรงงานต่างด้าว ชาวพม่า ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเข้ามาทำงาน ใน อ.แม่สาย เป็นจำนวนมาก ผลการกวาดล้างตามพื้นที่ต่างๆ สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวชาว พม่า ลาว ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองถึง 193 คน โดยส่วนใหญ่มี อายุ 15-45 ปี และไม่มีใบอนุญาตในการทำงาน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะมีการสอบปากคำและทำประวัติ จากนั้น จะทำการผลักดัน ตามขั้นตอนของทางเจ้าหน้าที่ต่อไป

(ไอเอ็นเอ็น, 3-11-2553)

โรงงานนรกคนงานขอลากิจไม่ยอมให้ใบลาแต่ให้เขียนใบลาออกแทน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ได้รับการเปิดเผยจากนางสาวสุรินทร์ พิมพา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อม ใหญ่ว่า คนงานหญิงแผนกเย็บผ้า บริษัทรัตนาภรณ์ ตั้งอยู่ย่านอ้อมใหญ่ ว่าเมื่อราวปลายเดือนกันยายนเคยถูกใบเตือนเนื่องจากลากิจไปรับลูกที่ภาคใต้ เพื่อที่จะไปส่งให้แม่ที่จังหวัดอุดรแต่ทางบริษัทไม่ยอมให้ใบลาแต่กลับให้ใบ เตือน ต่อมาเมื่อวันที่30ตุลาคมได้ไปขอใบลาเพื่อลาไปส่งลุกที่อุดรทางฝ่ายบุคคลไม่ ยอมให้ใบลาแถมขู่ว่าหากหยุดงานจะให้ออกจากงาน

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนผู้ร้องได้โทรไปแจ้งต่อฝ่ายบุคคลว่าจะเข้ามาทำงานในวันที่ 3 พฤศจิกายนแต่ทางฝ่ายบุคคลตอบกลับมาว่าให้มาเขียนใบลาออกแทนโดยอ้างว่าเป็น การโดนซ้ำใบเตือนถ้าไม่เขียนใบลาออกจะไม่โอนเงินค่าจ้างที่ทำค้างไว้ให้

ผู้ร้องยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทแห่งนี้ไม่ยอมให้ลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน สวัสดิการต่างๆ ก็ไม่มีแถมบังคับให้ทำงานล่วงเวลาถ้าภายใน 15 วันไม่ทำงานล่วงเวลา 3 วัน จะถูกออกใบเตือนหรือตัดไม่ให้ทำงานล่วงเวลาตลอด 1 งวด (15 วัน) การจ่ายเงิน

นางสาวสุรินทร์ พิมพาให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า นายจ้างไม่สามารถอ้างเหตุใดๆในการที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเมื่อ ลูกจ้างได้ทำงานไปแล้วส่วนกรณีที่ออกใบเตือนให้ลูกจ้างเหมือนจงใจกลั่นแกล้ง โดยไม่เห็นแก่ความจำเป็นของลูกจ้าง จึงแนะนำให้ลูกจ้างไปทำงานปกติอย่าเขียนใบลาออกเพราะจะเสียสิทธิหลายอย่าง ทั้งค่าชดเชยและประกันว่างงานถ้านายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าทำงานให้ไปร้อง ต่อสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐมและให้บันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันว่า นายจ้างได้เลิกจ้างแล้วจะได้เรียกร้องค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างและค่าบอกกล่าว ล่วงหน้า  ส่วนในกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายทางกลุ่มสหภาพแรงงานย่านฯจะแจ้งให้ สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

รายงานโดยมงคล ยางงาม ศูนย์แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ (voicelabour.org, 4-11-2553)

อดีตคนงานเรือประมงวอนผู้เกี่ยวข้องยุติอุทธรณ์หลังสู้คดีนาน 11 ปี

3 พ.ย. 53 - อดีตคนงานเรือประมง เรียกร้องกรมการจัดหางานยุติการอุทธรณ์ หลังศาลแพ่งมีคำสั่งจ่ายเงินชดเชยวันนี้ แกนนำคนงานเผยต่อสู้เรียกร้องนาน 11 ปี ชนะทุกศาล แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชย  วอนผู้เกี่ยวข้องเร่งหาทางช่วยเหลือ

อดีตคนงานที่เคยถูกหลอกไปทำงานเรือ ประมงในน่านน้ำสากล ตั้งแต่ปี 2542 กว่า 70 คน เดินทางมาเรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ยุติการอุทธรณ์คดี หลังศาลแพ่ง แผนกปกครอง มีคำพิพากษาวันนี้ ให้กรมการจัดหางาน จ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงาน คนละ 60,000 บาท

นายวิโรจน์ จิตรพรหม แกนนำอดีตคนงาน กล่าวว่า หลังคนงานกว่า 500 คน ถูกหลอกไปทำงานตั้งแต่ปี 2542 โดยเสียค่าใช้จ่ายคนละ 200,000 บาท แต่กลับถูกนำไปทิ้งที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี  คนงานได้ต่อสู้เรียกร้องมาตลอด ทั้งการฟ้องศาลแรงงาน และศาลปกครอง  ซึ่งทั้ง 2 ศาล มีคำสั่งให้คนงานชนะคดี โดยศาลแรงงานได้ให้ บริษัทจัดหางาน เชิดชัยไพบูลย์ จำกัด และบริษัท เอสพีเอ็น อุดร จำกัด จ่ายเงินค่าใช้จ่ายคืนให้คนงาน 204 คน ๆ ละ 200,000 บาท แต่บริษัท เหล่านี้ไม่มีเงิน จนต้องฟ้องยึดทรัพย์ เพื่อนำทรัพย์สินขายทอดตลาด  แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่เคยได้รับเงินชดเชย ขณะที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้กรมการจัด หางานจ่ายเงินชดเชยให้คนงาน เพราะผิดพลาดในการยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันบริษัท แต่กรมการจัดหางานได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดเมื่อเดือนเมษายนปี 2552

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ล่าสุด วันนี้ฟ้องศาลแพ่ง แผนกปกครอง มีคำสั่งให้กรมการจัดหางานจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงาน เฉพาะที่ผู้ฟ้องร้องรวม 70 คน ๆ ละ 60,000 บาท หลังสู้คดีแพ่งนาน 5 ปี จึงอยากเรียกร้องให้กรมการจัดหางาน ยุติการอุทธรณ์ และจ่ายเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้คนงานทันที เพราะตลอดกว่า 11 ปีที่ผ่านมา คนงานต้องประสบกับความทุกข์ยากแสนสาหัส หลายคนต้องเสียชีวิต บางคนครอบครัวแตกแยก ถูกยึดบ้าน และที่ดินทำกินที่นำไปจำนองนายทุน

ด้าน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจคนงาน แต่ตามระเบียบ กระทรวงการคลัง จะต้องของดูคำพิพากษาศาล และความเห็นจากอัยการอีกครั้ง เพราะหากยุติการอุทธรณ์ และจ่ายเงิน จะต้องมีการฟ้องร้องจากเจ้าหน้าที่ที่บกพร่อง เพื่อนำเงินมาคืนหลวง หากคดียังไม่ถึงที่สุดก็อาจถูกเจ้าหน้าที่ใช้เป็นข้ออ้างฟ้องร้องได้เช่นกัน

(สำนักข่าวไทย, 3-11-2553)

แรงงานพม่าเดินทางกลับไปเลือกตั้ง 7 พ.ย.นี้

แรงงานชาวพม่า ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนมากต่างทยอยเดินทางกลับบ้าน ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังจาก ได้ทำการพิสูจน์สัญชาติและลงชื่อสงวนสิทธิ์ เพื่อกลับไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งรัฐบาลพม่า ที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

ซึ่งจากการสอบถามชาวพม่าหลายคน ระบุว่า ชาวพม่า ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสิทธิ์และความสำคัญของการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นครั้งนี้แต่อย่างไร เนื่องจาก ขาดการประชาสัมพันธ์ แม้ก่อนหน้านี้ ทหารพม่า จะเข้าสำรวจชื่อ และจำนวนประชากรในแต่ละครอบครัว แต่ก็ไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงการเลือกตั้ง ทำให้เชื่อว่า การเลือกตั้งดังกล่าว ประชาชนอาจไปใช้สิทธิ์จำนวนไม่มากนัก เพราะยังสับสนว่า ใครมีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนได้บ้าง และบางส่วนก็ไม่กล้าไปใช้สิทธิ์ เพราะเกรงจะถูกจับ หรือ ตรวจสอบประวัติ โดยเฉพาะการออกจากพื้นที่มาทำงานในประเทศไทยเป็นเวลานาน

แต่อย่างไรก็ตาม ภายในพม่าเอง ก็ได้มีการเสริมกำลังทหาร เข้ามาประจำการ เพื่อดูแลความสงบในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีการบังคับ หรือ จำกัดสิทธิ์ของชาวพม่า ในด้านต่าง ๆ ยังสามารถใช้วิถีชีวิตประจำวันได้ ตามปกติ

(ไอเอ็นเอ็น, 5-11-2553)

ผู้นำแรงงานวอนนายจ้างช่วยเหลือคนงานประสบภัยน้ำท่วม

5 พ.ย. 53 - น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ ส่งผลผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากการขาดรายได้เนื่องจากโรง งานหลายแห่งต้องหยุดกิจการชั่วคราว ขณะที่บ้านพักของผู้ใช้แรงงานจำนวนมากถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย จึงขอร้องสถานประกอบการ และนายจ้าง ที่มีความพร้อมให้ช่วยเหลือคนงานในการจ่ายเงินค่าแรง หรือเงินชดเชยบางส่วน ในระหว่างที่สถานประกอบการหยุดกิจการ หรือคนงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้เนื่องจากน้ำท่วม แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ จะเปิดช่องให้สถานประกอบที่ประสบภัยพิบัติ ไม่ต้องจ่ายค่าแรง หรือเงินชดเชยก็ตาม  เพื่อให้คนงานสามารถผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ได้

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ให้ครอบ คลุมมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาผู้บริหาร สปส. เตรียมนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อปล่อยสินเชื่อกับผู้ประกันตนที่ต้องการจะซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับ ความเสียหายจากน้ำท่วมรายละไม่เกิน 50,000 บาท จึงเสนอให้มีการปล่อยสินเชื่อบุคคลให้กับผู้ประกันตนที่แม้จะบ้านเรือนไม่ ได้รับความเสียหาย แต่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้เพราะต้องหยุดงาน โดยให้กู้รายละไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตด้วย 

ด้าน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  เปิดเผยว่า ล่าสุดศูนย์ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วป้องกันแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน ได้รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสถานประกอบการประสบอุทกภัยแล้ว  1,891 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 145,241 คน โดยเป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆรวม  20 จังหวัด อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ลูกจ้างเดือดร้อนมากที่สุดจำนวน 53,592 คน สถานประกอบการประสบภัย 387 แห่ง รองลงมาคือ นครราชสีมา ลูกจ้างเดือดร้อน 42,165 คน สถานประกอบการประสบภัย 421 แห่ง และปทุมธานี ลูกจ้าง เดือดร้อน 24,264 คน สถานประกอบการ 276 แห่ง  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่ล่าสุดประสบกับอุทกภัยและวาตภัยอย่างหนัก ยังอยู่ในระหว่างการติดตามสถานการณ์

(สำนักข่าวไทย, 5-11-2553)

วุฒิสภาขยายเวลาลงมติวาระ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย

ในจันทร์ 8 พฤศจิกายน 2553 วุฒิสภาเตรียมพิจารณาเรื่องขอขยายเวลา ลงมติวาระ 2-3 ร่างพรบ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพ แวดล้อมในการทำงาน พ.ศ….ออกไปอีก จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา จะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม!
 
กว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2553 ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 10 สมัยสามัญนิติบัญญัติ ได้ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ…. และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับนี้ จำนวน 29 คน จากเริ่มต้นวันที่ 5, 12, 19, 26 ตุลาคม จนถึง 1 พฤศจิกายน 2553 บัดนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้จะมีการบรรจุวาระเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา อีก ครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 อย่างไรก็ตามเป็นที่แน่นอนแล้วว่าในวันดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภาจะยังไม่พิจารณาร่างพรบ.ฉบับนี้เพื่อลงมติในวาระ 2-3 ตามขั้นตอนทางนิติบัญญัติต่อไป แต่จะมีการเสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกจนถึงวันครบกำหนด คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุมสภานิติบัญญัติพอดี

แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะในหมวด 7 มาตรา 52 ยังคงระบุเหมือนเดิมตามร่างที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่า ให้มีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งนี้ให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทั้งนี้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ (ดูเอกสารหน้า 38)
 
ดูร่างพรบ.ฉบับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาได้ที่ http://voicelabour.org/wp-content/uploads/2010/11/safety_ACT_draft_senate.pdf
 
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ (ป่าน) ฝ่ายข้อมูลเชิงนโยบายและสื่อสารสังคม แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน และปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ ขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายสาธารณะระดับชาติ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  Email: prachachon_thai@hotmail.com และ policy.communicate@gmail.com 

(นักสื่อสารแรงงาน, 6-11-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net