Skip to main content
sharethis
 
9 พ.ย.53 เจนีวา / กรุงเทพฯ– คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี ออกใบแถลงข่าวระบุว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเจ้าภาพการประชุม รัฐภาคี อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปรายระหว่างวันที่ 9 ถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยมีจุดประสงค์ในการประชุมครั้งนี้คือ เพื่อต้องการให้รัฐภาคีที่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาก้าวสู่ภาคปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ
 
ประเทศลาวเป็นตัวอย่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากระเบิดลูกปรายที่ชัดเจนที่สุด มาดาม คริสติน เบียร์ลี (Christine Beerli) รองประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross / ICRC) กล่าวว่า "ประเทศลาวเป็นตัวอย่างที่น่าสลดใจยิ่ง ถึงวันนี้ระเบิดลูกปรายที่ใช้ใน 40 ปีที่ผ่านมายังทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องเสียชีวิต หรือพิการ อย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการเกษตร และการพัฒนาประเทศ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีก "
 
วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือการแบ่งสรรและกำหนดแผนการดำเนินงาน ระหว่างรัฐภาคีในอนุสัญญา หน่วยงานสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และผู้รอดชีวิตจากระเบิดลูกปราย รวมถึงการร่วมมือในการสังเกตการณ์ และประยุกต์ใช้แผนการเหล่านี้
 
"บทบาทของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ณ ตอนนี้คือจะต้องทำอย่างไรให้ชุมชน ผู้รอดชีวิต และ ผู้ประสบภัย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยการลดความเสี่ยงที่ชาวบ้านได้รับอันตราย การกวาดล้างพื้นที่ที่แฝงไว้ด้วยระเบิดลูกปราย การรักษาพยาบาล และการบำบัดฟื้นฟู ทางสังคมและจิตใจ รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ" มาดาม เบียร์ลี กล่าวเพิ่ม
 
ตามสถิติรัฐบาลลาวนั้น ประเทศลาวมีระเบิดลูกปรายถึง 80 ล้านลูกที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และโดยเฉลี่ยทุกปีระเบิดลูกปรายนี้ได้คร่าชีวิต ชาวบ้านกว่า 300 คน
 
"อนุสัญญานี้ประสบความสำเร็จในการประนามระเบิดลูกปรายว่าเป็นสิ่งที่สังคมโลกยอมรับไม่ได้ และระเบิดลูกปรายเป็นล้านๆลูกจะถูกทำลาย ถือเป็นชัยชนะที่สำคัญอันหนึ่งที่จะสามารถป้องกันไม่ให้มีผู้เคราะห์ร้ายเพิ่มมากขึ้น แต่กระนั้นการฟื้นฟูชีวิตของเหยื่อระเบิด และผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องมีการวางแผนและการระดมความร่วมมือระดับชาติที่จำเป็นในการกวาดล้างพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและชุมชนของพวกเขา" นาย ปีเตอร์ เฮอร์บี้ (Peter Herby) หัวหน้าแผนก "Arms Unit" ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ อธิบาย
 
มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลก ได้ลงนาม ที่จะเลิกใช้อาวุธเหล่านี้ และในหลายกรณีได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย ก่อนที่จะมีการทำสัตยาบันและปฏิญญาอนุสัญญานี้นั้น ทั่วโลกไม่มีวี่แววว่าจะหยุดผลิตและใช้ระเบิดลูกปราย มิหนำซ้ำอาวุธร้ายแรงเหล่านี้กลับเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขีดจำกัด จึงนับเป็นก้าวแรกที่ดีที่อนุสัญญาได้รับการตอบรับจากประเทศส่วนใหญ่
 
อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปรายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และ ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 108 ประเทศได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาแล้ว ขณะที่ 43* ประเทศได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญานี้ ผลก็คือระเบิดลูกปรายเป็นล้าน ได้ถูกทำลายไป คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หวังว่าผลจากการประชุม ระหว่างรัฐภาคีครั้งนี้จะนำไปสู่การทำลาย และเลิกใช้ระเบิดลูกปรายมากขึ้นในอนาคต
 
* แอลเบเนีย แอนติกาและบาร์บูดา ออสเตรีย เบลเยียม บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี เคปเวิร์ด คอโมโรส โครเอเชีย เดนมาร์ก เอกวาดอร์ ฟิจิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอร์แลนด์ นครรัฐวาติกัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เลโซโท ลักเซมเบิร์ก สาธารณรัฐมาซิโดเนีย มาลาวี มาลี มอลตา เม็กซิโก มอลโดวา โมนาโก มอนเตเนโกร นิวซีแลนด์ นิคารากัว ไนเจอร์ นอร์เวย์ ซามัว ซานมารีโน เซเชลส์ เซียร์ราลีโอน สโลวีเนีย สเปน ตูนีเซีย อุรุกวัย สหราชอาณาจักร และแซมเบีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net