Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทวิจารณ์ชิ้นนี้ผมเขียนขึ้นจากกระทู้ที่เคยอภิปรายไว้ที่ ห้องสนทนา “เสวนากับดอนเวียง”[1]กระดานสนทนา “ใจดี” เว็บไซต์ใจดีฮับ[2] ซึ่งเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่น่าสนใจมาก

เสือเพลินกรง เป็นนิยายขนาด 734 หน้า เขียนด้วยภาษาเล่าเรื่องที่เจนจัด ชวนติดตาม อ่านได้เพลินโดยไม่สะดุด มีบางช่วงบางตอนที่อืดไปสักนิด เพราะตัวละครพูดเรื่อยเปื่อยมากไป แต่โดยรวมแล้วเป็นนิยายที่อ่านได้สนุกทีเดียว
 
เสือเพลินกรงเปิดโปงตีแผ่เรื่องราวยอกย้อนในวงการโฆษณาได้อย่างคมคายและวิพากษ์สื่อได้อย่างเผ็ดร้อน ซึ่งนำไปสู่การชี้ให้เห็นโลกที่โสมมของผู้ใหญ่ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนที่คบหากันมาตั้งแต่วัยเรียน ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่บริสุทธิ์ มีแต่ความจริงใจให้กัน ราวกับเป็นด้านตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อตัวละครหลักเล่าถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเพื่อนร่วมงาน ตนเองกับการงาน หรือตนเองกับสังคม ก็เล่าผ่านมุมมองที่กลิ้งกลอกยอกย้อน เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว แต่ทว่าเมื่อหันมาเล่าเรื่องราวของเพื่อน ๆ มุมมองก็กลับกลายเป็นความซื่อใส สนุกสนาน และมีแต่ความจริงใจ นี่คือสองภาพตัดที่ดำเนินไปตลอดนิยาย ซึ่งผู้เขียนก็สามารถใช้น้ำเสียงเล่าเรื่องที่ทำให้ทั้งสองมุมมองดังกล่าวผสมผสานกันอย่างกลมกลืน
 

นวนิยายเรื่องนี้ปิดประกาศไว้ที่หน้าปกว่า “นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด” หลังจากที่ผมได้วิจารณ์ในกระทู้ที่กล่าวถึงข้างต้น ต่อมา ผาด กสิกรณ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ให้สัมภาษณ์[3] ขยายความหมายของข้อความดังกล่าวว่า

ก็หมายความว่าอย่างนั้นละครับ ชีวิตของเราทุกวันนี้มันถูกฝานออกขายเหมือนชิ้นแฮม ทุกชีวิตมีวันเวลา จำกัด แต่ละวันที่เราฝานชีวิตออกขายนั้น เราขายในราคาเท่าไร ขายให้ใคร เพื่อประโยชน์อะไร เราทุกคนกำลังขายตัวเพื่อเอาตัวรอด ขายชีวิตเพื่อเอาชีวิตรอด 

          เสือเพลินกรงไม่ใช่นวนิยายเพื่อชีวิตนะ อย่าตีความผิด แต่มันเป็น ‘นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด’            

          ผม-คุณ-เรา กำลังขายตัวกันอยู่

 
ก่อนหน้าที่จะได้รับทราบการขยายความข้อความดังกล่าวจากผู้เขียน ผมมีความเห็นต่อข้อความดังกล่าวดังนี้
 
เข้า ใจว่าผู้เขียนคงตีความคำว่า “เพื่อชีวิต” ไว้ทำนองว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์ สะท้อนสังคม อย่างที่เข้าใจกันดาดาษในวงการเพลงเพื่อชีวิต ส่วนคำว่า “ที่ติดบาร์โค้ด” นั้นก็อาจจะหมายถึงแนวความคิดเพื่อชีวิตดังกล่าวในยุคสมัยที่ทุกสิ่ง ทุกอย่างตกเป็นสินค้าไม่เว้นแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่กล่าวมานี้เป็นความเข้าใจทั่ว ๆ ไป ซึ่งมองไม่เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะก็คือ การวิพากษ์หรือเปิดโปงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น
 
จากการอธิบายของผาด กสิกรณ์ ทำให้เห็นว่าคำว่า ‘นวนิยายเพื่อชีวิตที่ติดบาร์โค้ด’ สามารถ “อ่าน” แยกได้ 2 ลักษณะคือ
 
นวนิยายเพื่อชีวิต  ที่ติดบาร์โค้ด และ นวนิยายเพื่อ  ชีวิตที่ติดบาร์โค้ด
 
ซึ่งจะส่งให้เกิดความหมายที่แตกต่างกันดังที่ผมในฐานะผู้อ่าน และผาดในฐานะผู้เขียนตีความแตกต่างกัน
 
ตามความเห็นของผม เป็นไปได้ยากที่ผู้เขียนจะเขียนข้อความดังกล่าว โดยไม่ทราบถึงนัยของคำว่า “เพื่อชีวิต” ที่มีอยู่แล้วในฐานะของชื่อเรียกวรรณกรรมประเภทหนึ่ง หากผู้เขียนรู้อยู่ก่อนจะเขียนข้อความดังกล่าว นัยของคำว่า “เพื่อชีวิต” นี้ ย่อมดำรงอยู่ในขณะที่ผู้เขียนเขียนข้อความนี้ ไม่ว่าผู้เขียนจะรู้ตัวหรือไม่ จะจงใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนย่อมมีสิทธิ์จะยืนยันการให้น้ำหนักตามที่ได้อธิบายมา ขณะที่ผมในฐานะผู้อ่านและผู้วิจารณ์ก็สามารถสงวนสิทธิที่จะใช้กรอบ “เพื่อชีวิต” ในการวิจารณ์นิยายเล่มนี้ โดยใช้เกณฑ์ที่เป็นสาระสำคัญของ “เพื่อชีวิต” นั่นก็คือประเด็นการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์ ทั้งนี้ จำเป็นต้องอธิบายก่อนว่า การใช้กรอบเพื่อชีวิตในการวิจารณ์งานที่อาจจะใช่หรือไม่ใช่เพื่อชีวิตนี้ หาได้เป็นความปรารถนาที่จะกีดกันหรือละเลย “รสชาติ” ในการอ่านแบบอื่น ๆ หรือวิธีการตีความแบบอื่น ๆ รวมทั้งแบบที่ผู้เขียนปรารถนาที่จะให้ผู้อ่านรับ แต่เป็นการยืนยัน “อำนาจของการอ่าน” ในกรอบที่ผู้อ่านพึงใจ โดยในกรณีของผมก็คือ กรอบ “เพื่อชีวิต” ซึ่งสาระสำคัญที่แท้จริงของมันได้ถูกละเลยมาเป็นเวลาร่วม 30 ปี
 
1. เสือในกรง
โลกในนวนิยายเรื่องเสือเพลินกรงนั้นเป็นโลกของคนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป เป็นโลกที่ห่างไกลและไม่ตระหนักถึงการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น ชีวิตวนเวียนอยู่กับออฟฟิศโอ่อ่า คอนโดหรูหรา และเมืองในต่างประเทศ แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างน่าจะเป็นประสบการณ์จริงของผู้เขียน เพราะสามารถเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวา แต่ในนิยายเรื่องนี้ผู้เขียนก็ได้ใช้ตัวเรื่องและตัวละครวิพากษ์สังคม รวมถึงการเมืองปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิกฤติที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่การอ่านตัวบทอย่างตรงตัวเช่นนี้ ก็ไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของการเมืองได้ และมองไม่เห็นประเด็นการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม
 

ผู้เขียนมีความเจนจัดในการเล่าเรื่อง ทำได้ชวนติดตามอย่างยิ่ง คำพูดที่ เวียง วชิร ะกล่าวว่า “แม่นยำในจังหวะจะโคนที่เต็มไปด้วยแรงเร้า” หากนับเฉพาะการเล่าเรื่องแล้ว ผมค่อนข้างเห็นด้วย แต่มีบางช่วงตอนคำพูดของตัวละครทำให้จังหวะเสีย หรืออืดไปบ้าง แต่ไม่มาก โดยรวมแล้วคำจำกัดความสั้น ๆ ที่กล่าวมาก็ต้องถือว่าจริงทีเดียว ส่วนที่แหลมคมที่สุดในนิยายเรื่องนี้คือประเด็นในเรื่องสื่อ นิยายเรื่องนี้สามารถวิพากษ์สื่อและโฆษณาได้อย่างเผ็ดร้อนอย่างที่ไม่เคย ปรากฏในนิยายไทยเรื่องอื่นมาก่อน แน่นอน ผมคิดว่าประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนนั้นมีส่วนอย่างยิ่ง

แต่ทว่านิยายเรื่องนี้กลับมีจุดน่าสังเกตในความเห็นของผมประการหนึ่ง ก็คือการเสนอภาพตัดที่ “เลวสุดขั้ว” ของวงการโฆษณาและสื่อ รวมไปถึงสังคมโดยรวม กับ “ดีสุดขั้ว” เมื่อฉายภาพความสัมพันธ์กับเพื่อนที่คบหากันมาแต่วัยเรียน มุมมองที่ผู้เขียนใช้ในการเล่าถึงเรื่องทั้งสองด้านดังกล่าวแทบจะเป็นคนละมุมมอง เป็นขาวกับดำ แต่แม้จะต่างกันจนเป็นขาวกับดำขนาดนั้น แต่ผู้เขียนก็สามารถตะล่อม กลบเกลื่อนรอยตัดดังกล่าวได้ด้วยทักษะในการเล่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้เขียนมีทักษะในเรื่องดังกล่าวที่สูงทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องจังหวะจะโคน หากผู้อ่านถูกการเล่าเรื่องชักจูงจนจมไปกับเรื่องราวแล้ว ก็ยากที่จะมองเห็นความจขัดแย้งดังกล่าว

มุมมองที่ผู้เขียนใช้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน การงาน สังคมในที่ทำงาน ความสัมพันธ์กับลูกค้า กระทั่งสังคมการสื่อสารโดยรวม จนมาถึงเรื่องการเมือง เป็นมุมมองที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง กลับกลอก มากเล่ห์ร้อยเหลี่ยม ใส่หน้ากากเข้าหากัน ขณะเดียวกัน มุมมองที่ผู้เขียนใช้เล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับเพื่อนนั้น กลับเต็มไปด้วยความใสซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ สนุกสนาน และชวนฝัน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาพอันอัปลักษณ์ของแวดวงโฆษณาและการสื่อสาร รวมถึงการเมือง กับภาพอันปลอดโปร่ง อบอุ่น และปลอดภัยเมื่ออยู่กับเพื่อนฝูง ซึ่งทั้งสองภาพนี้เป็นสิ่งที่เกินจริง และหนุนให้เกิดวาทกรรมที่มีอำนาจเหนือความรู้สึกของผู้อ่าน ให้เมื่อเผชิญหน้ากับความซับซ้อนของปัญหาสังคมหรือการเมืองก็จะเบือนหนี และรู้สึกว่าเป็นความอัปลักษณ์ และหันมาคาดหวังกับภาพของมิตรภาพระหว่างเพื่อนไว้อย่างสวยหรูเช่นในนิยาย

 
2. กรงที่มองไม่เห็น
สำหรับ คนที่ผ่านชีวิตมาย่อมรู้ดีว่าภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริง ที่ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวัยเด็กนั้นดูใสซื่อบริสุทธิ์เมื่อหวนระลึก ถึงก็เป็นเพราะว่าในเวลานั้นมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องในความสัมพันธ์ น้อยมาก หรือแทบไม่มี ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนจะซับซ้อนหรือเรียบง่ายนั้น ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ระหว่างกันที่ความสัมพันธ์นั้นวางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางวัตถุเงินทองที่เป็นรูปธรรม หรือผลประโยชน์ทางใจที่เป็นนามธรรมต่าง ๆ เช่น ความคิดเห็นที่สอดพ้องต้องกัน เกียรติยศและความนับถือที่ต่างหวังจากกัน หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนั้นเป็นสิ่งที่สามารถซับซ้อนได้ และก็สามารถมีด้านมืดได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นความใสซื่อไปตลอด ไม่ว่าเพื่อนสองคนนั้นจะคบกันมายาวนานขนาดไหน วรรณกรรมที่เปิดโปงให้เห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือแม้ แต่ระหว่างพ่อกับลูกก็มีอยู่ เช่น พี่น้องคารามาซอฟ แม้แต่ในเรื่อง พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ ก็แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนไว้ได้ซับซ้อนและมีน้ำหนักกว่าเรื่องเสือเพลินกรง
 
ส่วน ในเรื่องโฆษณา การสื่อสารในสังคม และการเมืองนั้น เป็นเรื่องของผลประโยชน์และอำนาจโดยตรง การจะมองหรือเปรียบคุณค่าความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสิ่งจริงแท้ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนในวัยเด็กนั้น จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว คำว่า “ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร” ในการเมืองนั้น สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของข้อ ตกลง อุดมการณ์ และผลประโยชน์ ที่สอดพ้องต้องกัน มากกว่าความต้องการเป็นเพื่อนเล่นกันเฉย ๆ อย่างวัยเด็ก ดังนั้น ความสัมพันธ์ของบุคคลในวงการเหล่านั้น ย่อมต้องแปรผันไปตามสิ่งดังกล่าว การเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นข้อตกลงที่คนจำนวนมากต้องใช้เพื่อการอยู่ร่วมกัน เราจึงไม่สามารถมองให้การเมืองเป็นเรื่องเดียวกับเพื่อนไปได้ ไม่สามารถเอาคุณค่าของเพื่อนไปแทนที่เรื่องการเมืองได้ นอกเสียจากเราจะสามารถออกแบบระบอบขึ้นใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการเวลาพิสูจน์มายาวนาน เพราะแม้แต่ระบอบประชาธิปไตยที่เราคิดว่ามีกันมาแล้วถึง 70 กว่าปี แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เรามีมาตลอดกลับไม่เคยใช่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย

ในส่วนของการวิพากษ์สื่อนั้นผู้เขียนทำไว้ได้อย่างแหลมคม และมีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ข้อนี้ขอแสดงความยกย่องชื่นชมในฐานะที่เป็นผู้สังเกตการณ์สื่อ แต่หลายอย่างที่คาบเกี่ยวไปถึงเรื่องการเมืองนั้น บางอย่างผมคิดว่าเกินจริง และออกจะเป็นมุมมองที่หวือหวาสำเร็จรูปมากไปสักนิด แต่ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การพรอพเพอร์กานดาในประเทศไทยที่เก่าแก่ แนบเนียน และทรงอานุภาพที่สุดในสังคมไทยนั้น หาใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือนักการเมืองไม่ ยังมีวาทกรรมที่เป็นวาทกรรมหลักของประเทศไทย คือสิ่งที่ทรงพลังและมีอำนาจเหนือผู้คนมากที่สุด แต่เสือเพลินกรงไม่เอ่ยถึงเลยแม้แต่น้อย

หากเราเพียง “อ่านเฉพาะสิ่งที่เขียนในนิยายเรื่องนี้” กรงที่เห็นในเสือเพลินกรงก็จะเป็นกรงที่คนมองเห็นได้ไม่ยาก แต่ “กรงที่มองไม่เห็น” ซึ่งเป็นกรงจริงนั่นต่างหาก ไม่ถูกแตะต้องหรือสั่นสะเทือนเลย และการวิพากษ์ “สื่อ” ในนิยายเรื่องนี้ ก็กลายเป็นการละเลยสิ่งสำคัญที่สุดอันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศไทยที่ถูกสื่อออกมาตลอด
 
กระนั้นเมื่อนำลักษณะทวิภาวะของสองมุมมองที่ดำรงอยู่ในนิยายเรื่องนี้ มาเป็นกรอบในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน นิยายเรื่องนี้กลับสะท้อนความจริงได้อย่างถึงราก เพราะแท้ที่จริงแล้ว มุมมองที่ขัดแย้งของตัวละครหลักที่มีต่อชีวิตและสังคม โดยเฉพาะลักษณะ “พาฝัน” แบบปัจเจกนิยม เชิดชูความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับเพื่อนว่าเป็นสิ่ง “จริงแท้” มีแต่ความบริสุทธิ์ ไร้เล่ห์เหลี่ยมและปราศจากด้านมืดที่ซับซ้อน ขณะเดียวกันก็มองความสัมพันธ์กับสังคม สื่อ และการเมือง ว่าล้วนเป็นสิ่ง “จอมปลอม” และน่ารังเกียจ นั้น คือเครื่องมือชั้นดีในการมองปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหมู่คนชั้นกลางและคนชั้นนำจำนวนมากในสังคมไทย ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดในช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
 
3. สิ่งที่อยู่นอกกรง
ความขัดแย้งอันรุนแรงในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปีที่ผ่านมานี้ ลักษณะสำคัญประการหนึ่งก็คือ มีการใช้กฎหมายในหมวดที่เป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาร้องทุกข์กล่าวโทษกันเป็นจำนวนมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีความจำนวนมากเหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วมีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง
 
อย่างไรก็ตาม เฉพาะในบทความชิ้นนี้ ผมอยากจะชี้ให้เห็นความย้อนแย้งกันระหว่างพฤติกรรม 2 ลักษณะที่เกิดขึ้น
 
พฤติกรรมแรก คือ ขบวนการเชิดชูวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างเข้มข้น จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ “แตะต้องไม่ได้เป็นอันขาด” ในความรู้สึกของผู้คน พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปลุกระดมกระแสที่เป็นการกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ภายใต้คำที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขบวนการล้มเจ้า”   พฤติกรรมนี้ยังมีลักษณะเกินเลยไปสู่การ “กล่าวอ้าง” สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อสนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายของตนและพวก[4]
 
พฤติกรรมที่สอง คือ ขบวนการเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ซึ่งในอีกความหมายหนึ่งก็คือ เรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้อำนาจและมีความรับผิดชอบทางการเมือง (political accountability)[5] พฤติกรรมดังกล่าวนี้ปรากฏขึ้นหลายครั้งหลายคราในลักษณะของ ขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ, ขบวนการเรียกร้องนายกฯ พระราชทาน, ขบวนการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน หรือแม้แต่ ขบวนการถวายฎีกา ของคนเสื้อแดง ก็กล่าวว่าจัดอยู่ในลักษณะของพฤติกรรมนี้
 
ความขัดแย้งระหว่างพฤติกรรมที่หนึ่ง และพฤติกรรมที่สองก็คือ ข้อเรียกร้องทั้ง 2 ลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีหลักการสมดุลความรับผิดชอบทางการเมือง หรือการควบคุมทางการเมือง (political accountability) หมายความว่า ถ้าคุณเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องลงมายุ่งเกี่ยว ตัดสินใจ และมีความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น ก็จะเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้ ตามหลักการ The King can do no wrong[6] เพราะเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องลงมาตัดสินใจทางการเมือง ก็เท่ากับว่าได้เข้ามาถืออำนาจ และใช้อำนาจ ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็ทำให้ต้องมีความรับผิดชอบตามมาด้วย ความรับผิดชอบนี้ก็คือ จะต้องให้มีการอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่ามีความถูกต้องเหมาะสมอย่างไร และมีกลไกที่เป็นมาตรการในการควบคุมการใช้อำนาจดังกล่าว ดังนั้น กรณีนี้ก็จะไม่อยู่ในหลักการ The King can do no wrong แต่ถ้าเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่พ้นไปจากความรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตยนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาใช้อำนาจ และทำการตัดสินใจทางการเมือง เพราะหากทั้ง 2 สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันเมื่อใด เราก็ไม่อาจเรียกระบอบการปกครองดังกล่าวว่าระบอบประชาธิปไตยได้อีกต่อไป
 
วาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้รับการปลูกฝังให้อยู่ในจิตสำนึกของคนไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี บางทีอางถึงครึ่งศตวรรษ หรือเกือบชั่วอายุของคน ๆ หนึ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวข้องกับวาทกรรมนี้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เคยเป็นหัวข้อถกเถียงในสังคมวงกว้าง หรือสื่อสาธารณะอย่างเป็นระบบเพื่อค้นหาคำตอบว่า วาทกรรมดังกล่าวได้ขับเคลื่อนสังคมไทยไปในทิศทางใด และส่งผลอย่างไร กระทั่งในวิกฤตการเมืองรอบปัจจุบัน ที่เราจะเห็นการขับเคลื่อนของวาทกรรมดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และอาจจะมีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมาหลายครั้ง การปลูกฝังสำนึกเกี่ยวกับวาทกรรมนี้ในแบบเรียนก็ดี การตีความกฎหมายมาตรา 112 อย่างเข้มงวด เช่น การตัดสินให้การไม่ยืนถวายพระพรเมื่อมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เป็นความผิดก็ดี หรือแม้แต่การถ่ายทอดพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์ และรายการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการถวายพระเกียรติให้กับองค์พระมหากษัตริย์ เป็นการแสดงความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตรยิ์ตามปรกติวิสัยของประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ได้เคยมีการอภิปรายกันหรือไม่ ถึงข้อเสียของกิจกรรม ซึ่งอาจจะเป็นการฝังหัวผู้คนให้คลั่งวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างรุนแรง จนขาดการใช้สติและเหตุผล แม้กระทั่งเมื่อได้เกิดพฤติกรรมหลายพฤติกรรม ทั้งการแสดงออกโดยการกระทำและการแสดงออกโดยวาจา ที่เกิดขึ้นระหว่างวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ให้เห็นแนวโน้มที่อันตราย ซึ่งอาจถูกขับเคลื่อนโดยวาทกรรมดังกล่าว สังคมนี้ยังไม่ควรอภิปรายกันถึงผลดีผลเสีย หรือตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับท่าทีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผิดไปจากการแสดงความเคารพโดยปรกติทั่วไปอีกหรือ
 
เมื่อผมอ่านนิยายเรื่องเสือเพลินกรง ซึ่งเปิดโปงให้เห็นการโฆษณาชวนเชื่อในสังคมและการเมือง โดยนักการเมืองก็ดี โดยสื่อและองค์กรเอกชนก็ดี สิ่งที่ผมประหวัดคิดถึงเป็นอันดับแรกก็คือ วาทกรรมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังที่กล่าวมา ซึ่งเป็นสำนึกที่ถูกปลูกฝังกันมาช้านานในสังคมไทย และดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งปรกติของสังคมไทย แต่ในระยะหลัง คือช่วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา กลับมีลักษณะที่น่ากลัว และคล้ายว่าจะขับเคลื่อนผลักดันผู้คนไปสู่ความรุนแรง และนี่คือสิ่งที่แม้นิยายเรื่องนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่มันก็ช่วยให้ผม “อ่าน” ได้อย่างน่าประหลาด
 
4. อ่านในสิ่งที่ไม่ได้เขียน 
แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ  จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน ไม่วิจารณ์ เราก็กลัวเหมือนกัน ถ้าบอกไม่วิจารณ์แปลว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี รู้ได้อย่างไร ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น บางคนอยู่ในหัวสมองว่า พระเจ้าอยู่หัวพูดชอบกล พูดประหลาด ๆ ถ้า ขอเปิดเผยว่า วิจารณ์ตัวเองได้ ว่าบางทีก็อาจจะผิด แต่ให้รู้ว่าผิด ถ้าเขาบอกว่าวิจารณ์พระเจ้าอยู่หัวว่าผิด งั้นขอทราบว่าผิดตรงไหน ถ้าไม่ทราบ เดือดร้อน
       
ฉะนั้นก็ ที่ บอกว่า การวิจารณ์ เรียกว่าละเมิด พระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูก ถูกประชาชน บอมบ์ คือเป็นเรื่องของขอให้รู้ว่าเขาวิจารณ์อย่างไร ถ้าเขาวิจารณ์ถูก ก็ไม่ว่า แต่ถ้าเขาวิจารณ์ผิดไม่ดี แต่เมื่อบอก ไม่ให้วิจารณ์ ไม่ให้ละเมิด ละเมิดไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญว่าอย่างนั้น ก็ลงท้ายก็เลย พระมหากษัตริย์ก็เลยลำบาก แย่ อยู่ในฐานะลำบาก เพราะแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ให้วิจารณ์ ก็หมายความว่า พระเจ้าอยู่หัวนี่ก็ต้องวิจารณ์ ต้องละเมิด แล้วไม่ให้ละเมิด พระเจ้าอยู่หัวเสีย พระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไม่ดี ซึ่งถ้าคนไทยด้วยกัน ก็หนึ่งไม่กล้า สองไม่เอ็นดูพระเจ้าอยู่หัว ไม่อยากละเมิด แต่มีฝ่ายชาวต่างประเทศ มีบ่อย ๆ ละเมิด พระเจ้าอยู่หัว ละเมิด THE KING แล้วเขาก็หัวเราะเยาะว่า THE KING ของไทยแลนด์ THE KING  ของยู พวกคนไทยทั้งหลายนี่ เป็นคนแย่ ละเมิดไม่ได้ ในที่สุดถ้าละเมิดไม่ได้ ก็เป็นคนเสีย เป็นคนที่เสีย
[7]
 
ในบริบทการเมืองร่วมสมัย การอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง ไปพร้อม ๆ กับการอ่าน “สิ่งที่นิยายเรื่องนี้ไม่ได้เขียน” นั้น กล่าวได้ว่าสร้างความเพลิดเพลินและรื่นรมย์ในการอ่านอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทำให้เห็นมุมมองที่แหลมคมในการวิพากษ์เหตุการณ์การเมืองร่วมสมัย ซึ่งนิยายเรื่องนี้ได้อำนวยให้เกิดขึ้น
 
ก่อนจะกล่าวถึงในส่วนนี้ ผมขออธิบายการตีความพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ยกมาข้างต้น เสียก่อน
 
ตรงส่วนที่ผมเน้นตัวดำไว้ ซึ่งทรงตรัสว่า
 
...ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัวถ้าใครจะวิจารณ์ ว่าทำไม่ดีตรงนั้น ๆ  จะได้รู้...
...ถ้าเขาบอกว่า ไม่ให้วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น...
...ฉะนั้นก็ ที่ บอกว่า การวิจารณ์ เรียกว่าละเมิด พระมหากษัตริย์ ละเมิด ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูก ถูกประชาชน บอมบ์...
 
ผมเห็นว่าพระราชดำรัสของในหลวงในส่วนที่ยกมานี้ มีความสำคัญและทรงคุณค่าอย่างเหลือประมาณ เพราะเป็นการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “การมีทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” กับ “การกระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามกฎหมาย” (เช่น ดูหมิ่น, อาฆาตมาดร้าย ฯลฯ)
 
ในหลวงทรงตรัสว่า “ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน” ต่อมาก็ทรงตรัสว่า “ไม่วิจารณ์พระเจ้าอยู่หัว เพราะพระเจ้าอยู่หัวดีมาก ไม่ใช่อย่างนั้น...” และต่อมาก็ทรงตรัสอีกว่า “ให้ละเมิดได้ แต่ถ้าเขาละเมิดผิด เขาก็ถูกประชาชนบอมบ์”
 
ผมคิดว่า พระราชดำรัสนี้ระบุชัดเจนว่าทรงปรารถนาให้มีวัฒนธรรมการวิจารณ์ และทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ คือทรงมีความเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น เป็นคนละเรื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะเดียว แม้ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ๆ อาจจะไม่ถูกต้อง ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่ดี (ให้ละเมิดได้) ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายที่จะเข้ามาแทรกแซงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องที่ประชาชนจะวิพากษ์กันเอง (เขาก็ถูกประชาชนบอมบ์)
 
หากเราทำความเข้าใจพระราชดำรัสนี้อย่างสร้างสรรค์ ก็จะเห็นว่า ท่าทีที่ถูกที่ควรที่ในหลวงทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรก็คือ ประชาชนควรมีทัศนวิพากษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่การวิพากษ์วิจารณ์นั้น จะผิดถูกอย่างไร ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมการวิจารณ์ ที่ประชาชนผู้ร่วมวิจารณ์และร่วมอภิปราย จะถกเถียงโต้แย้งกันเองด้วยเหตุด้วยผล เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ถูกที่ควร
 
ในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา ผลลัพธ์จากพฤติกรรมขัดแย้งกัน 2 อย่างดังที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น ได้ก่อให้เกิดท่าทีที่ไม่สร้างสรรค์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ใน 2 ลักษณะเช่นกัน กล่าวคือ ลักษณะหนึ่ง เทิดทูนเคารพรักจนกระทั่งแตะต้องไม่ได้ หากใครแตะต้องหรือวิพากษ์วิจารณ์ ก็จะต้องโกรธคลั่ง และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อคนผู้นั้น  กับอีกท่าทีหนึ่งคือในทางตรงกันข้าม ซึ่งแน่นอนว่าเป็นท่าทีที่ไม่สามารถแสดงออกโดยเปิดเผย และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
 
ปรากฏการณ์เช่นนี้เองซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่มุมมองของตัวละครหลักในเรื่องเสือเพลินกรง ได้สำแดงออกมา คือสองมุมมองที่ขัดแย้งกันและแสดงออกในลักษณะพาฝันดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ท่าทีของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีลักษณะ “พาฝัน” เช่นเดียวกับท่าทีของตัวละครหลักในเรื่องเสือเพลินกรง คือ เมื่อมองไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะมีแต่ความรักความเทิดทูนสุดขั้ว และปราศจากซึ่งทัศนวิพากษ์โดยสิ้นเชิง แต่ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยัง “การเมือง” หรือ “นักการเมือง” หรือ “กิจกรรมทางการเมือง” ก็เห็นแต่ความมากเล่ห์ร้อยเหลี่ยม ความกลับกลอกยอกย้อน โดยไม่เข้าใจว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของนักการเมือง และกิจกรรมทางการเมืองนั้น ยืนอยู่บนผลประโยชน์ ทั้งของส่วนรวมและส่วนตัว และสามารถแปรผันไปตามความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และผลประโยชน์ แต่ทั้งที่มอง “การเมือง” ด้วยความชิงชังเช่นนั้น คนไทยกลุ่มที่มีสายตาพาฝันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ก็กลับเป็นฝ่ายเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาถืออำนาจ และรับผิดชอบต่อเรื่องทางการเมือง
 
ความบิดเบี้ยวดังที่กล่าวมานี้ แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจาก “กรง” ที่มองไม่เห็น ซึ่งกักขังคนไทยส่วนใหญ่เอาไว้ และไม่สามารถหาหนทางออกไปจากวิกฤตความขัดแย้งอันรุนแรงและต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็น “การกดขี่ขูดรีดทางชนชั้น” ของผู้ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยวาทกรรมดังกล่าว คนเหล่านี้ชอบที่จะกล่าวอ้างตนประหนึ่งว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คนเหล่านี้มักนิยามตัวเองว่าเป็น “ลูก” ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และแย่งกันเสนอตัวขึ้นเป็น “ลูกที่รักพ่อที่สุด” ใช้ข้ออ้างดังกล่าวไปพร้อมกับผูกขาดการถือครองวาทกรรม ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยกตัวเองว่า “รักชาติ” มากกว่าใครอื่น ขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงความรักอย่างวิปริต เอาความเทิดทูนมาขูดรีดและกดขี่การแสดงออกทางการเมืองของผู้อื่น กดเหยียด และละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่พร้อมที่จะมองความขัดแย้งทางการเมืองตามปรากฏการณ์ที่เป็นจริง ไม่พร้อมจะหาทางออกด้วยเหตุด้วยผล แต่กลับเรียกร้องการนองเลือด ลักษณะพาฝันโรแมนติกที่โหดเหี้ยมดังกล่าวนี้ แท้ที่จริงแล้วคือความวิกลจริตและคลั่งบ้า กล่าวอ้างการสละชีพเพื่อพระมหากษัตริย์ต่อคนร่วมแผ่นดิน ไม่ยอมรับการมีส่วนในอำนาจทางการเมืองของเพื่อนร่วมชาติ
 
ใช่หรือไม่ว่า วาทกรรมชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ได้ก่ออารมณ์ความรู้สึกโรแมนติกพาฝันให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อย และพร้อมกันนั้น ก็อาศัยอารมณ์ดังกล่าวขับเคลื่อนคนเหล่านั้นไปสู่ความคลั่ง ในขณะเดียวกัน เบื้องหลังความวิกลจริตดังกล่าวนี้ ก็แฝงฝังไว้ด้วยผลประโยชน์ของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งวางท่าทีจงรักภักดีเพื่อบดบังจุดยืนแห่งผลประโยชน์ ปรารถนาที่จะรักษาสถานะอันได้เปรียบของตนในทางการเมือง เพื่อกดขี่ขูดรีดเพื่อนมนุษย์ต่อไป แม้เมื่อเหตุการณ์รุนแรงได้เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา แม้เมื่อมีการสูญเสียชีวิต ก็หาได้รู้สึกรู้สาอันใดไม่ ยังคงพอใจกับการสถาปนาตัวเองให้เป็น “ชนชั้นลูกคนโปรด” ยินดีที่จะหวงแหนสถานะความเป็นผู้กดขี่ของตนต่อไป โดยกล่าวอ้างการกระทำเช่นนั้นว่าคือ “การเป็นลูกที่รักพ่อที่สุด”
 
 
 


[1] ดูการอภิปรายได้ที่ http://www.jaideehub.net/forum/viewtopic.php?f=14&t=345
[2] http://www.jaideehub.net/bookshop/index.php
[3] ดู “บทสนทนาว่าด้วยชีวิตและวรรณกรรม กับผาด กสิกรณ์” , OCTOBER 8, openbooks: 2553. หน้า 427
[4] ดูรายงานข่าวที่ผมยกมาในบทความ “รำลึก 7 ตุลา และจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย เรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองของไทย” - http://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31400
[5] ดู หยุด แสงอุทัย, “อำนาจและความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย” - http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94_%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2
และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลรำลึกย้อนหลัง-ประสบการณ์ในอดีต deja vu จากประเวศ วะสี ถึง ประมวล รุจนเสรี - http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9542.html
[6] ดู ปิยบุตร แสงกนกกุล, “หยุด แสงอุทัย กับหลัก The King can do no wrong”, openbooks: 2552. หรือ http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17092
[7] พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548, ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 6 ธันวาคม 2548 -  http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9480000166941
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net