Skip to main content
sharethis

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หรือชื่อออนไลน์ "bact" เจ้าของบล็อก http://bact.blogspot.com ในด้านหนึ่งเขาเป็นนักพัฒนาระบบจากบริษัทโอเพ่นดรีม (http://opendream.co.th) ขณะเดียวกันก็เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ตในเวลาเดียวกัน

อาทิตย์สนใจเรื่องการทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้สะดวกที่สุด ก่อนหน้านี้เคยร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์เสรีหลายตัว เช่น ปลาดาวออฟฟิศ/OpenOffice.org และ Mozilla Firefox เคยดูแลวิกิพีเดียไทยอยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงเคยเป็นพิธีกรร่วมใน duocore.tv รายการทีวีออนไลน์ว่าด้วยเรื่องไอทีด้วย

การเล่าเรื่องของคนธรรมดา กับปัญหาโครงเรื่องที่ถูกขโมย

ประเด็นหลักๆ ที่อาทิตย์สนใจเกี่ยวกับบทบาทของนิวมีเดีย ก็คือเครือขายสังคมออนไลน์ ซึ่งเขาเห็นว่า นี่คือพื้นที่ที่สร้างอำนาจการสื่อสารให้กับมนุษย์ธรรมดา และยังเป็นช่องทางให้คนธรรมดาๆ ได้สร้างเนื้อหาข่าวสารด้วยตัวเอง ไม่ขึ้นกับสื่อหลักแต่เพียงด้านเดียว

“ผมคิดเรื่องการที่คนทั่วไปสามารถสื่อสารได้ เวลาที่เราพูดถึง Media literacy คือการไม่ได้รับสารอย่างเดียว แต่คือการที่คนทั่วไปสามารถทำสื่อได้เองด้วย เมื่อก่อนอาจจะมีการสะท้อนความเห็น เช่น ส่งจดหมายหรือเอสเอ็มเอสไปยังรายการโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ แต่จากความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เราจะสังเกตได้ว่ามีคลิปเยอะมาก ซึ่งเมื่อก่อนก็อาจจะมีบ้างแต่ช่องทางในการนำเสนอไม่เยอะ แต่ตอนนี้เยอะขึ้น คนเอาไปแปะในเฟซบุ๊ก ทีวีก็ได้เอาไปใช้”

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ กล่าวว่า การทำสื่อด้วยตัวเองได้ก็ไม่ได้นำมาซึ่งความเท่าทันสื่อเสมอไป และการพูดเรื่องการรู้เท่าทันแต่เพียงด้านของผู้รับสื่อ แต่ในความจริงแล้ว ในฐานะผู้ผลิตสื่อ ที่กำลังฮิตกันในนามนักข่าวพลเมือง ก็ต้องการความรู้เท่าทันในฐานะคนผลิตเช่นกัน

“อย่างคนเสื้อแดง ช่วงเมษา-พฤษภา ถ่ายคลิปเยอะมาก ถ่ายไว้เยอะไปหมด ขึ้นเฟซบุ๊ก ขึ้นยูทูปว์ แต่ ศอฉ. เลือกมาห้าคลิป แล้วอธิบายแบบ ศอฉ. คนที่ดูส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดูคลิปต้นฉบับซึ่งอาจจะมีเป็นร้อยๆ คลิป แต่ศอฉ. ก็เลือกมาแค่ห้าอันเพื่อมาแก้ต่าง”

อาทิตย์อธิบายต่อไปว่า ปัญหาที่ทำให้เกิดการ “บิดเบือน” หรือการ “ใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด” จากคลิปต้นฉบับของบรรดานักข่าวพลเมืองเสื้อแดงทั้งหลายนั้น เป็นเพราะคลิปต่างๆ ที่ถูกอัพโหลดขาดโครงเรื่อง ขาดคำอธิบาย ซึ่งคือหัวใจสำคัญของการสื่อสารให้ได้ประสิทธิภาพ

“การพูดว่าคนทำสื่อเองได้มันอาจจะยังเป็นเรื่องระดับย่อย คือการอัดเสียง ถ่ายรูปได้ แต่คนที่แต่งเรื่องมีใครบ้าง เช่น ศอฉ. มีคนแต่งเรื่องให้ แต่คนทั่วไปไม่มีงบประมาณ ไม่มีคนทำ เหมือน ศอฉ.เป็นผู้กำกับ เขียนบท ไม่ต้องลงทุนถ่ายเอง ฉะนั้นการพูดว่าทำสื่อเองก็ได้ง่ายจัง บางทีก็อันตราย เราคิดว่าภาพคลิปหลายๆ อันของเสื้อแดงเป็นการจับเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่สามารถใส่เรื่องของตัวเองลงไปได้ พอเป็นภาพลอยๆ ก็ถูกเอาไปใส่ในเรื่องอะไรก็ได้ ฉะนั้นถ้ามีเรื่องมารองรับอย่างแข็งแรงพอก็จะไม่ถูกภาพนั้นเอาไปใช้นอกจุดประสงค์”

“โครงเรื่อง” คือประเด็นปัญหาใหญ่ในสายตาของอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “สื่อภาคพลเมือง” ออนไลน์ทั้งหลายพึงต้องตระหนักว่านอกเหนือจากการมีเทคโนโลยี มีเครื่องมือใหม่ มีอุปกรณ์ทำบล็อก อัดเสียง ถ่ายภาพ

ความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่

แม้อาทิตย์จะชี้จุดอ่อนของการใช้สื่อใหม่ ในแง่ของการนำเสนออย่างไม่มีโครงสร้างของเรื่องราวทั้งหมด แต่อาทิตย์ไม่กังวลนักกับข้อวิตกเรื่องความน่าเชื่อถือของสื่อใหม่ โดยกล่าวว่าสื่อใหม่ก็มีเงื่อนไขที่ต้องยอมรับในข้อจำกัด นั่นคือสื่อชนิดนี้ตอบสนองต่อเวลาจริง มากกว่าเรื่องความถูกต้องครบถ้วน

“เราคิดว่ามันใช้ได้ คือถ้าเราคิดในกรอบเวลา ห้านาทีนั้น หรือหนึ่งนาทีนั้นมันอัพเดทที่สุด มันก็น่าจะพอใช้ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปครึ่งชม. ครึ่งวัน ก็มีข้อมูลอันใหม่ขึ้นมา มันตอบในแง่เรียลไทม์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่ทวิตเตอร์ก็ได้ เรื่องนี้ก็มีในสื่อหลัก เช่น เบรกกิงนิวส์ แต่ถ้าคุณจะให้ถูกต้องแบบสารคดี ก็เป็นคนละเรื่องแล้ว เหมือนกรณีสึนามิ การรายงานข่าวครั้งแรกอาจจะบอกว่ามีคนตายที่อินโดนีเซีย 4,000 คน แต่อีกห้านาทีต่อมา ข่าวรายงานว่าตายเป็นหมื่น จะบอกว่าอันแรกผิดพลาดหรือ ก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นข้อมูลที่ยังไม่ครบ”

ข้อเสนอของเขาก็คือ การเปลี่ยนมุมมองและลักษณะนิสัยในการติดตามข่าวจากสื่อออนไลน์เสียใหม่ว่า คือการอัพเดทข้อมูลเป็นระยะๆ และไม่ได้จบในตัวเอง

“ข่าวคือเหตุการณ์ และบางอย่างกำลังดำรงอยู่ มันไม่ได้จบในตัวเอง ถ้าเรารู้ธรรมชาติของมันแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ได้จบในตัวเอง เราก็อย่าไปรับรู้มันเป็นท่อนๆ ต้องดูลำดับพัฒนาการของเรื่อง อย่าไปมองมันแบบชิ้นที่จบในตัว การไปเรียกร้องเรื่องความน่าเชื่อถือของมันก็เป็นคนละเรื่อง อาจจะไม่แฟร์ เหมือนเราบอกว่าคอมพิวเตอร์อันนี้เป็นเขียงที่ดีด้วยหรือเปล่า...ก็พอใช้หั่นได้ แต่มันไม่ใช่เรื่อง มันอาจจะผิดตั้งแต่คำถามแล้ว”

อย่ามั่นใจเกินไป

แม้อาทิตย์จะมองสื่อใหม่ในแง่ที่เปิดใจให้กับข้อจำกัดและพยายามทำความเข้าใจ แต่เมื่อเราถามว่า อะไรที่น่าเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับสื่อใหม่ซึ่งหลายๆ คนกำลังเห็นว่าเป็นอำนาจในการสื่อสารที่หลุดมาถึงมือคนธรรมดาๆ เขาตอบว่า

“สื่อใหม่ให้ความมั่นใจกับคนมากเกินไป ทุกคนอาจจะคิดว่านี่คือยุคอินเทอร์เน็ตแล้ว ปิดกั้นเราไม่ได้แล้ว ประชาชนต้องชนะแน่ๆ เราได้ถือความจริงส่วนหนึ่งไว้ในมือแล้ว สุดท้าย...ศอฉ. ก็เอาไปตัดต่ออีกอยู่ดี ถ้าคิดว่าได้ดาบวิเศษอันหนึ่งมา แล้ววิ่งเข้าไปกองทัพ ก็อาจจะตายออกมา อาจจะถูกเอาไปบิดเบือนโดยสื่อหลักหรือผู้มีอำนาจได้”

สื่อใหม่อนุญาตให้คนสะสมต้นทุนทางสังคมได้ง่ายขึ้น

“ด้วยเครื่องมือเดียวกัน คนที่ต้นทุนทางสังคมต่างกันก็สามารถใช้มันอย่างมีพลังต่างกัน ที่ผ่านมาก็ใช่ ทักษิณทวิตอะไรนักข่าวก็เอาไปเล่นแน่ๆ แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง ด้วยศักยภาพของนิวมีเดียมันอนุญาตให้คนสะสมต้นทุนทางสังคมตัวเองได้ง่ายขึ้น นิวมีเดียให้ความหวังในแง่ที่ว่ามันอนุญาตให้คุณสะสมทุนทางสังคมของคุณได้”

อาทิตย์กล่าวถึงแง่บวกที่สื่อใหม่สร้างพลังในการสื่อสารอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในทางกลับกันก็ยอมรับว่า ถึงกระนั้น เมื่อเทียบต้นทุนทางสังคมกับพลังการสื่อสารอย่างจริงๆ จังๆ แล้ว ก็จะพบว่า คนที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่แล้วมีโอกาสมากกว่า-เป็นเงื่อนไขความได้เปรียบที่ใช้ได้กับทุกๆ อย่างในโลก

“อย่างของไทย บล็อกอย่าง http://biolawcom.de/หรือ http://www.fringer.org/ เป็นคนธรรมดาเหรอ ไม่ใช่หรอก เขามีทุนทางสังคมอย่างอื่นอยู่ ซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านต้นทุนเหล่านั้นมาสู่นิวมีเดียได้ แต่อย่างน้อยออนไลน์ก็เปิดได้กว้างกว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะมีวิธีขยันเขียนคอลัมน์ไปลงหนังสือพิมพ์เหรอ มันก็ทำได้ แต่พื้นที่ก็จำกัดมากกว่า”

คนชายขอบและกับดักของพื้นที่

เมื่อนิวมีเดียเปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาได้สะสมต้นทุนทางสังคมแล้ว สำหรับคนที่โอกาสน้อยกว่าธรรมดาทั้งหลายล่ะ อาทิตย์มองว่าอย่างไร

“ผมคิดว่ามีการเปิดพื้นที่แบบแปลกๆ แน่นอน นิวมีเดียเปิดให้ทุกคนโดยธรรมชาติตัวสื่อเองไม่ได้ปิดกั้นอะไร ปรากฏว่าทุนทางสังคมของคนเหล่านี้คือการที่เขาเป็นคนชายขอบ ฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เขาเข้ามาสู่แวดวงสื่อได้ ก็คือการบอกว่าเขาเป็นคนชายขอบ แต่ก็กลายเป็นว่าสุดท้ายคนเหล่านี้ไม่สามารถพูดประเด็นอื่นได้ เช่น คนตาบอดก็พูดแต่เรื่องคนตาบอด และถ้าบอกว่าเป็นเด็กและเยาวชน ก็จะต้องเป็นเด็กและเยาวชนต่อไปแม้จะอายุ 31 แล้ว ก็ต้องเป็นคนรุ่นใหม่ต่อไป เป็นผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิงตลอดไป”

อาทิตย์ตั้งข้อสังเกต พร้อมยกตัวอย่างที่เขาเพิ่งประสบพบเจอหมาดๆ จากการไป Internet Governance Forum ที่ประเทศลิธัวเนีย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“มีกลุ่มที่เป็นเยาวชนจากเอเชีย ส่วนใหญ่มาจากฮ่องกง อีกกลุ่มมาจากฝั่งยุโรป ฟินแลนด์ ไอส์แลนด์ สวีเดน เยอรมนี กลุ่มเยาวชนจากฮ่องกงก็จะพรีเซนส์ตัวเองเป็นเยาวชน จะต้องเปิดพื้นที่ให้เยาวชน แต่ไม่รู้ว่าเยาวชนจะพูดประเด็นอะไร ขณะที่เยาวชนจากเยอรมนีเขาจะพูดเลยว่าเขาต้องการพูดเรื่องอะไร มันต่างกันไง กลับไปที่คำถามเดิม ไม่ว่าสื่อไหนก็ตาม เช่น รายการสำหรับเด็ก ให้เด็กพูดว่าตัวเองเป็นเด็ก หรือการให้เขาได้พูดเรื่องตัวเอง มันไม่เหมือนกัน และสิ่งที่เราพบคือผู้ใหญ่เองก็เล่นการเมืองกับเด็ก ให้เด็กเป็นพร็อกซี เป็นร่างทรงของประเด็นนั้นๆ อย่างเดียวกันกับคนชายขอบ”

อย่างไรก็ตาม อาทิตย์บอกว่าข้อสังเกตของเขาในเรื่องนี้ แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ขึ้นกับนิวมีเดียอย่างเดียว แต่มันเกิดกับสื่อหลักแต่ดั้งแต่เดิมด้วย

“เด็กบางคนออกมาพูดเรื่องอะไรบางอย่างอาจะถูกมองว่าแก่นแก้ว ถ้านิวมีเดียจะมีพลังสำหรับคนเหล่านี้ คือถ้าสังคมคาดหวังว่าคุณต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สื่อกระแสหลักเขามีพื้นที่จำกัด นิวมีเดียอาจจะช่วยคุณในแง่ที่ว่าถ้าคุณอยากเสนอสิ่งที่สังคมไม่ได้คาดหวังคุณก็ทำได้นะ แต่คนจะดูหรือไม่ดูก็อีกเรื่อง”

สำหรับหลายๆ คน สิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่เขาพอใจเท่านั้น

อาทิตย์ไม่ได้เชื่อว่าการหลั่งไหลของข้อมูลที่มากขึ้น ผ่านช่องทางเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นจะเป็นการแลกเปลี่ยนหรือเปิดให้เกิดถกเถียงกันเชิงลึกได้ ในทางกลับกัน เขาคิดว่า โลกออฟไลน์ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการเลือกสรรข้อมูลข่าวสารในการนำเสนอ

สำหรับเขาซึ่งนิยามตัวเองเป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายทางสังคมในโลกออฟไลน์หล่อหลอมมาจากสถาบันการศึกษา ทำให้เพื่อนๆ ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเขาเต็มไปด้วยเพื่อนที่หลากหลาย และนั่นเป็นสิ่งที่พึงระวังในการแสดงความเห็น

“จากประสบการณ์ของผม ผมก็มีรสนิยมในการเลือกข่าวของผม แม้ว่าข่าวจะเกือบเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์บนหน้าวอลล์เฟซบุ๊กของผมจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสื้อแดง ซึ่งเพื่อนในเครือข่ายของผมที่ไม่สนับสนุนเสื้อแดงก็คงมีอาจจะไม่แอคทีฟ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คนที่ลบชื่อเพื่อนออกจากลิสต์ ข่าวของเพื่อนที่ถูกลบออกไปจะไม่โชว์ให้เห็นแล้ว ซึ่งมันก็เป็นไปแล้วสำหรับหลายๆ คน สิ่งที่เขาเห็นในเฟซบุ๊กก็เป็นสิ่งที่เขาพอใจเท่านั้น แต่สำหรับผมมันยังไม่เกิด ผมได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนซึ่งเจอปัญหาเดียวกัน คือเรียนโรงเรียนชนขั้นกลาง อยู่ในแวดวงไอที ก็มีปัญหาประมาณเดียวกัน คือมีกลุ่มเพื่อนที่มีทัศนคติทางการเมืองที่หลากหลาย บางครั้งเขาก็เลือกที่จะไม่โพสต์ความเห็นเพราะเกรงใจเพื่อน การนำเสนอก็ถูกกรอง ไม่ว่าจะกรองเพื่อโพสต์หรือไม่โพสต์ แต่บางทีถ้าอยากจะโพสต์มากๆ ก็จะไปยืมปากชาวบ้าน ไปโคว้ทมา ว่าคนนั้นคนนี้กล่าวว่าอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นเพื่อนรับได้ แม้จะเป็นคำเดียวกันพูด การรับได้มันต่างกัน ซึ่งก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้คนหันมาอ่าน ก็อาจจะไม่ตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นวิธีที่เราเล่นกับมัน เป็นการสร้างบทสนทนาแบบแนบเนียนและคัดกรองแล้ว”

ถึงจะต้องกลั่นกรอง หรือพูดง่ายๆ ว่ามีการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลเรื่องความสัมพันธ์ต่อเครือข่ายออฟไลน์ แต่อาทิตย์มองว่า นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดของเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะในโลกออฟไลน์นั้น ทุกคนล้วนต้องกลั่นกรองและเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลต่างๆ กันอยู่แล้ว

“สุดท้ายแล้วหน้าตาของเฟซบุ๊กเป็นยังไงขึ้นกับเพื่อนที่เราแอด ซึ่งมันก็สะท้อนตัวตนเราบางแบบ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ทำไปทำมาเฟซบุ๊กมันไม่ได้มีอะไรพิเศษเลยไง ซึ่งในโลกจริงก็เป็นอย่างนี้มีการคัดกรองเรื่องบางเรื่องพูดได้เรื่อง บางเรื่องพูดไม่ได้ แต่โอเคสิ่งที่เฟซบุ๊กต่างไปก็คือ บางครั้งเราสามารถรู้ได้ว่า คนบางคนสนใจในเรื่องเดียวกัน ก็สามารถเชื่อมโยงได้ กึ่งๆ สาธารณะกึ่งส่วนตัว เป็นการอยู่ในวงจรเพื่อน แต่ทำให้เกิดการผสมปนเปกันมากขึ้น เชื่อมโยงกันมากขึ้น”

อาทิตย์ย้ำว่า เมื่อพูดถึงเครือข่ายออนไลน์แล้ว ไม่สามารถแยกขาดจากเครือข่ายออฟไลน์ได้อย่างเด็ดขาด เพราะแท้จริงแล้ว เครือข่ายออนไลน์ก็พึ่งพิงปัจจัยของโลกออฟไลน์ ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงแค่ “เพื่อน” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นในการสนทนาด้วย ที่ต้องหยิบยกมาจากสื่อกระแสหลักนั่นเอง

“ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองเราไม่สามารถพูดถึงเฟซบุ๊กที่แยกออกมาจากสื่อกระแสหลักได้หรอก เพราะสิ่งที่เอามาคุยกันในเฟซบุ๊กก็มาจากสื่อกระแสหลัก คือเราอาจจะพูดจากประสบการณ์จริงจากตาตัวเราเอง แต่อีกส่วนก็มาจากสื่อ หรือหากย้อนกลับไปที่ทวิตเตอร์กจะพบว่าช่วงที่ผ่านมา ประมาณสองทุ่มหรือห้าทุ่ม ก็จะมีแต่เรื่องที่บอกว่ากำลังดูวนิดา ดูเกมโชว์อยู่ แม้จะโต้ตอบกับทีวีไม่ได้แต่คุยกับคนอื่นที่ดูทีวีช่องเดียวกันได้ ซึ่งเมื่อก่อนมันทำไม่ได้ แต่บทสนทนาเหล่านี้อยู่ด้วยตัวทวิตเตอร์เองไหม ไม่ได้ มันต้องมีทีวี ซึ่งเป็นสื่อชักจูงบให้เกิดการสนทนาได้ และอีกส่วนคือ เราพูดตรงๆ ไม่ได้ต้องใช้บทความหรือคลิปเป็นตัวสื่อสาร”

อาทิตย์บอกว่าทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ประชากรออนไลน์ทั้งหลายต้องการนั่นคือ การพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ทันที ไม่ต้องผ่านระบบที่ยุ่งยาก เช่น ไม่ต้องล็อกอินเพื่อจะเข้าไปโพสต์ตามเว็บบอร์ด ตัวอย่างที่เขาเห็นชัดเจนก็คือ กรณีการรายงานสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงทั้งที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

อิสระกลายเป็นข้อจำกัด!?

อีกประเด็นที่อาทิตย์เห็นว่าเป็นจุดต่างของเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็คือ การไม่จำกัดประเด็นในการถกเถียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่างจากการใช้งานเว็บบอร์ด “ทวิตเตอร์มันไม่มีเจ้าของ คุณอาจจะเป็นคนจุดประเด็น แต่มันฟรีกว่า อย่างเว็บบอร์ดพันทิปจะมีการแตกประเด็น ในกรณีที่คนคุยเยอะๆ แล้วอยากลงรายละเอียดในเรื่องที่ถกเถียง ซึ่งก็อาจจะดูเป็นหลักเป็นฐาน แต่ทวิตเตอร์มันจะฟุ้งไป อาจจะมีอิสระ แต่สุดท้ายไม่รู้จบตรงไหน ซึ่งมันก็เป็นข้อจำกัด แต่ก็เพราะมันอาจจะไม่ได้ถูกออกแบบมาแบบนั้น มันอาจจะเป็นวาบความคิด แต่หากอยากทำอะไรให้เป็นจริงเป็นจัง ก็ต้องไปเขียนที่อื่นแล้วค่อยลิงก์กลับมา อย่างเฟซบุ๊กก็มีโน้ต มีสเตตัสธรรมดา คือตอนที่อยากขยายความคิดก็ใช้โน้ต ก่อนหน้านี้อาจจะมีบล็อก ก็ขยายความคิด แต่บางครั้งเราแว๊บคิดขึ้นมา จะเขียนบล็อกก็ดูอย่างไรอยู่”

 ความง่ายก็มีโทษ

สำหรับอาทิตย์ ทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นั้น นอกเหนือจากรายงานข่าวสถานการณ์อย่างทันท่วงทีแล้ว ในอีกด้านก็เป็นเวทีนำเสนอความคิดที่ยังไม่ตกผลึก ซึ่งเขาเรียกมันว่า เป็นการ “ทด” เอาไว้ก่อน

“มันเป็นการรายงานสิ่งที่เราคิดอยู่ แม้จะไม่เสร็จ ได้ทดเอาไว้ นั่นคือประโยชน์ของมัน แต่โทษของมันคือ คนบางคนอาจจะไม่รู้ว่านี่คือการทดของเรา แล้วเอาไปใช้ บางทีก็เป็นโทษกับตัวคนที่นำไปใช้ หรือเป็นโทษกับคนที่ทวีตเอง”

เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่คนใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ทั้งผู้ใช้และผู้อ่านไม่ควรหลงลืมไป ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาในเรื่องการของปักใจเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ไม่ผ่านการคัดกรองได้

“แต่ปัญหาคือเราไม่สามารถป้องกันให้คนอื่นคิด และมันก็เป็นปัญหาของทุกสื่ออยู่แล้วนะ”

มารยาทออนไลน์ จำเป็นไหม

แม้ว่าอาทิตย์จะเป็นกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ซึ่งผ่านมาก็มีการรณรงค์เรื่องของมารยาทหรือกฎกติกาออนไลน์ แต่ความเห็นส่วนตัวของเขาคือ ไม่มีความจำเป็น

“ผมไม่เชื่อว่าพื้นที่ออนไลน์มันเหมือนกันทั้งหมด เมื่อเราพูดถึงจริยธรรมหรือมารยาท เราก็ต้องคิดเรื่องกาลเทศะ มีเวลามีสถานที่ ดังนั้น เมื่อออนไลน์มันไม่เหมือนกันหมด มันก็ต้องมีมารยาทที่ต่างๆ กันไป เราโดยส่วนตัวเราก็ไม่เห็นด้วย เรารู้สึกว่ามันอันตรายเหมือนกันที่จะกำหนดมารยาทอะไรขึ้นมาเพราะมารยาทของสถานที่หนึ่งมันเอาไปใช้กับสถานที่หนึ่งไม่ได้ แล้วในอินเทอร์เน็ตมีสถานที่อีกไม่รู้ตั้งกี่ที่ และมีของใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วมันจะมีหรือมารยาทที่ใช้ได้เหมือนกันหมด”

อาทิตย์กล่าวว่า แม้แต่กรณีที่มักถูกหยิบยกเป็นตัวอย่าง เช่น Hate Speech หรือการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง สำหรับเขาก็ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว

“เรื่องนาซี เยอรมนีห้ามพูด ไทยไม่ได้ห้ามพูดนะ และการพูดแบบนาซีกับพูดเรื่องนาซีก็ไม่เหมือนกัน และผมเชื่อว่าพูดถึงนาซีได้ แต่ถ้าพูดแบบนาซีมันก็เป็นเรื่องกฎหมายอื่นแล้ว ผมคิดว่าเราไม่ควรไปป้องกันไม่ให้คนพูด ก็น่าจะให้เขาพูดไปก่อน แต่ว่าคนพูดต้องรู้แล้วนะว่ามีกฎหมายเรื่องนี้อยู่แล้วเขาต้องรับผลตามกฎหมายนั้น”  

โดยคำอธิบายแบบนี้ อาทิตย์บอกว่าเขายอมรับกฎหมาย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ แต่เขาจะไม่ยอมรับระบบป้องกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณไปตั้งฟิลเตอร์ นั่นเป็นเรื่องที่ยกเว้นมากๆ ซึ่งเราไม่คิดว่าเราควรต้องคิดเรื่องยกเว้นนั้นมากเสียจนกระทั่งการเอาเรื่องว่าเดี๋ยวจะเกิดนั่นนี่มาเป็นเหตุผลใช้ทั่วๆ ไป เพราะไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะบอกว่า ถ้าเดินออกจากบ้านแล้วอาจจะมีสะเก็ดดาวหางตกใส่หัว ฉะนั้นประชาชนทุกคนต้องใส่หมวกกันน็อก คือเราคิดว่า หากคิดจากจุดที่เป็นข้อยกเว้นมากๆ มันอันตราย มันทำให้สิทธิเสรีภาพในการทำเรื่องอื่นๆ ถูกวางกรอบไปหมดเลย เพราะทุกอย่างมีข้อยกเว้นได้”

แต่แม้อาทิตย์จะเปิดใจให้กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก แต่เมื่อพูดถึงมาตรา 14 ที่กำหนดขอบเขตเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้ว อาทิตย์บอกว่า นี่คือการเอาเรื่องที่เป็นข้อยกเว้นมากๆ ไปกำหนดป้องกันเอาไว้ก่อน

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันนะเรื่องข้อยกเว้นมากๆ กับการกลัวไปเอง มันอยู่ด้วยกันคือความคิดไปเองมันก็จะสร้างข้อยกเว้นซึ่งมันมาด้วยกัน ในกรณีมาตรา 14 เรื่องความมั่นคง ในแง่กฎหมายก็อาจจะพูดได้ว่าต้องคงภาษานี้ไว้ แต่ว่าเวลาเราพูดถึงกฎหมายมันก็คงไม่ใช่แค่ตัวกฎหมาย แต่มันคือระบบกฎหมาย ตัวบทน่าจะแฟร์ที่เขียนแบบนี้ แต่ก็ต้องอยู่บนความเข้าใจร่วมกันนะว่าระบบการใช้ของเรา ระบบยุติธรรมของเราโอเค แต่ถ้าพูดถึงตอนนี้เราคิดว่าหลายคนพูดได้ว่าตัวบทไม่โอเค

“เรื่องที่บอกว่าความมั่นคงของชาติถ้าตีความแบบไม่ให้งี่เง่าก็คงไม่เป็นปัญหา แต่คำมันกว้าง และแปลว่ามันเป็นอะไรก็ได้ แล้วถ้าเราคิดบนพื้นฐานที่กลัวไปทุกอย่าง แตะต้องธงชาติก็ไม่ได้ เดี๋ยวคนจะกระด้างกระเดื่อง มันก็จะเป็นปัญหา เราคิดว่าตัวบทแบบนี้อยู่ในประเทศที่คนพารานอยด์ (ประสาท) น้อยกว่านี้ หรือระบบยุติธรรมดีกว่านี้ ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าตัวบทแบบนี้มาอยู่บนระบบยุติธรรมปัจจุบันนี้และความคิดที่คนละเอียดอ่อนต่อประเด็นความมั่นคง ในบริบทที่มีประชาชนอยากให้ปิดเฟซบุ๊ก นี่ไม่ใช่แค่รัฐ แต่คนในสังคมพารานอยด์ กฎหมายนี้จึงไม่โอเค สุดท้ายเป็นแบบนี้แล้วจะทำอย่างไร จะแก้ที่สังคมก็ยาก แก้ที่ระบบยุติธรรมก็ยาก หลายคนจึงบอกว่าแก้กฎหมายก็ง่ายดี”

กฎหมายแบบนี้ ถ้าอยู่ในประเทศที่คนพารานอยด์น้อยกว่านี้ก็ไม่เป็นปัญหา

“มันก็เป็นปัญหาอยู่แล้วแหละ คือตอนเราโตมา ตอนเราเด็กๆ เราก็ไม่รู้ว่าคำไหนสำหรับใช้ตอนนี้ คำนี้สำหรับพระใช้ คำนี้สำหรับราชาศัพท์ มันก็ต้องเรียนรู้ คนจำนวนมากก็เพิ่งมาใช้อินเทอร์เน็ต มันเป็นปัญหา แต่เราไม่คิดว่าการที่ให้รัฐเข้ามาควบคุมมันไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา มันสามารถค่อยๆ เรียนรู้กันไป ถ้ามันเกิดความเสียหายขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่...ตอนเด็กๆ เราถูกน้ำร้อนลวก เราก็จะระวังไปเอง ถ้าถามว่าพฤติกรรมคนใช้อินเทอร์เน็ตมีปัญหาไหม ผมคิดทุกที่มีปัญหา แต่ไม่ได้แปลว่ารัฐจะเข้าไปจัดการได้ทุกที่ โอเค จะบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นแค่สื่อเหมือนทีวีไม่กี่ช่อง แล้วจะมีกรรมการเช่นศาลเกี่ยวกับสื่อ อย่างในประเทศเดนมาร์ก คือมีคนฟ้องเข้าไปก่อน แต่รัฐก็ไม่ได้เข้ามาจัดการนะ เขาใช้กระบวนการอื่น นี่ถ้าเราพูดในแง่ออนไลน์เป็นสื่อ แต่ถ้าพูดในแง่ที่ว่าเราใช้ชีวิตประจำวันหลายอย่างหลายด้าน มันก็ประหลาดๆ ที่จะใช้กลไกสื่อ แล้วปกติกลไกของรัฐจะมาจัดการมันต้องมีเหตุเกิดขึ้นแล้วค่อยมายุ่ง ไม่ใช่คิดเผื่อแล้วจัดการไว้ก่อน แน่นอนเราคงต้องมีรัฐเอาไว้ เพราะรัฐก็มีฟังก์ชั่นของมัน แต่ต้องให้มีเรื่องเดือดร้อนก่อน เช่นคดีหมิ่นประมาท ก็ให้คนที่เขาเดือดร้อนมาฟ้อง มาฟ้อง ไม่ใช่แค่คดีหมิ่นนะ แต่คืออีกหลายๆ อย่างคือการไปทำแทนเขาน่ะ”

ในมุมมองของอาทิตย์ ดูเหมือนว่าเขาจะยอมรับในเงื่อนไขข้อจำกัดของข้อกฎหมายได้พอสมควร แต่ที่สำคัญก็คือวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ที่กำกับการแสดงออกของคนในสังคมได้อย่างแข็งแกร่งกว่ากฎหมาย ในขณะเดียวกันหากจะมองจุดอ่อนของการแสดงออกของประชาชนผ่านสื่อใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่าเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์แล้วล่ะก็ คำถามสำคัญของอาทิตย์อาจจะกลับไปอยู่ที่ว่า แล้วสื่อแต่ดั้งแต่เดิมที่มีอยู่นั้น ไม่ได้มีข้อจำกัดเป็นอย่างเดียวกัน ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกันหรอกหรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net