Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จดหมายจากนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงและมิตรสหาย บอกเล่าถึงประสบการณ์จากน้ำท่วมครั้งล่าสุด เรื่องของคนกับศพ จะไปด้วยกันได้อย่างไร

000 
 
แจ้งข่าวครับ สุภัทรหายไปนานครับ
 
ไม่ได้หายไปไหน น้ำท่วมชีวิตก็เลยวุ่นวายมากขึ้น กว่าจะได้เขียน mail อย่างยาวก็วันนี้เอง
 
ที่โรงพยาบาลจะนะน้ำเข้ามาที่สุดในประวัติศาสตร์การตั้งโรงพยาบาล นับตั้งแต่ปี 2516 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 น้ำเข้านาทวี (อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา) โรงพยาบาลนาทวี ทยอยขนคนไข้กับรถทหารมาที่โรงพยาบาลจะนะรวม 35 คน กว่าจะเสร็จก็ตกเย็น จะนะฝากข้าวกล่องกลับไปกับรถทหารให้เจ้าหน้าที่นาทวี 100 กล่องเป็นอาหารเย็นที่กินตอนค่ำ
 
ยอดวันนั้นคนไข้อยู่ที่ประมาณ 80 เตียง โชคดีที่จะนะน้ำขึ้นตอนค่ำ และส่วนใหญ่รู้ตัวล่วงหน้าว่าน้ำนาทวีมาแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งก็รีบสมัครใจกลับบ้าน ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านในสถานการณ์วิกฤต คนไข้คนเฝ้าคงอยากกลับไปขนของหนีน้ำกัน ก็ถือว่าโรงพยาบาลขนาด 60 เตียงมีคนไข้ไม่แน่นเกินไป ตอนนั้นหมอเภสัชพยาบาลจะนะก็ปั่นป่วนกับคนไข้ที่ทะลักเข้ามาเหมือนน้ำป่า พอตกค่ำเรื่องคนไข้ก็เข้าที่เข้าทาง
 
ช่วงเช้ามีการประสานรถเติมออกซิเจนเหลวให้เข้ามาเติมออกซิเจนเหลวให้เต็มเป็นกรณีพิเศษโดยที่ยังไม่ถึงระดับที่ต้องเติม ซึ่งบริษัทเขาอยู่ที่หาดใหญ่ก็ยินดีมาเติมให้ 
 
ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปตลาดตุนอาหารสดเพิ่มขึ้นอีก เผื่อว่าจะท่วมหลายวัน ตุนน้ำมันสำหรับรถทุกคันให้เต็มถัง สั่งก๊าซหุงต้มถังใหญ่มาเพิ่มอีก 2 ถัง น้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟพร้อมแล้ว ข้าวสารอาหารแห้งพร้อมนานแล้ว เงินสดในมือก็พร้อมมีเงินอยู่เกือบ 50,000 บาท เพราะช่วงน้ำท่วมไฟดับ ธนาคารปิด ATM ไม่ทำงาน เงินสดเท่านั้นที่จะจับจ่ายได้
 
ข่าวน้ำจะท่วมจะนะ ในบ่ายวันนั้น ญาติคนไข้ก็พาคนไข้ขาประจำ 3-4 คน เช่นคนไข้ถุงลมโป่งพอง คนไข้สูงอายุที่บ้านชั้นเดียว พามาฝากนอนที่โรงพยาบาล แบบนี้เรียกว่า ชาวบ้านเขาทีการเตรียมตัว
 
ตอนเย็นเลิกงาน เป็นช่วงวัดใจ น้ำกำลังเข้าจะนะ ใครจะกลับบ้านเพราะห่วงบ้านก็คงเดาได้ว่า คงกลับมาไม่ได้แล้วในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่รีบกลับก็คงไม่ได้กลับ 
 
ผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่า ปีนี้ดูท่าน้ำสูงกว่าทุกครั้ง หมอที่อยู่เวรก็เป็นน้องๆ ใช้ทุน ภรรยากลับบ้านแล้ว คงไปขนของที่ร้านขายยา (ที่หาดใหญ่) ขออยู่เป็นกำลังใจและอำนวยการตามหน้าที่ให้โรงพยาบาลแล้วกัน ก็เลยนอนที่โรงพยาบาล
 
ตกค่ำน้ำขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นอย่างน่ากลัว ในตลาดท่วมหมดแล้ว แต่ตัวโรงพยาบาลตั้งในที่ที่สูงที่สุดของตลาด  มองไปเห็นโรงพัก อำเภอ ท่วมแล้ว น้ำเข้าโรงพยาบาลเริ่มท่วมโรงซักฟอก เครื่องซักผ้าเริ่มจม ไปสัก 1 ฟุต ก็พอไหว
 
สัก 3 ทุ่ม ผู้คนในโรงพยาบาลแตกตื่น เพราะกลัวว่าน้ำที่ท่วมถนนในโรงพยาบาล ซึ่งสูงกว่าถนนภายนอกเป็นฟุต แต่น้ำที่สูงขึ้นจนน่ากลัวว่าจะท่วมรถ จึงต้องมีการจัดระเบียบการจอดรถกับอย่างโกลาหล ทั้งรถส่วนตัวและรถโรงพยาบาล เอาขึ้นจอดตรงทางเชื่อมบ้าง ขึ้นที่สูงสักนิดบ้าง จนเรียกว่ามีรถจอดเต็มทางลาดที่เอาผู้ป่วยเข้าตึกบริการ 
 
หากมีคนไข้มาต้องกางร่มแล้วหามมาขึ้นทางบันได เพราะรถจอดเต็มหมดแล้ว แต่คืนนั้นคนไข้น้อยมาก  ส่วนใหญ่คงโกลาหลกับการขนของหนีน้ำ และถนนเส้นหลักน้ำท่วมจนยากที่จะเดินทางแล้ว
 
ตกค่ำนั้นเองไฟฟ้าก็ดับลงทั้งอำเภอ เครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลดังกระหึ่มในท่ามกลางความเงียบสงัด แสงไฟทั้งอำเภอมีแต่โรงพยาบาลเท่านั้นที่สว่าง มองไปจากชั้น 4 ของอาคารผู้ป่วยใน เห็นแต่โรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะ ที่มีท้องฟ้าสีสว่าง ซึ่งแปลว่าทั้งอำเภอน่าจะมีเพียง 3 แห่งที่มีไฟฟ้า เรียกว่า โคตรน่าอิจฉาที่สุดในอำเภอ 
 
ส่วนโรงพักและที่ว่าอำเภอที่ควรเป็นศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนนั้นมืดสนิท
 
การสื่อสารถูกตัดขาดหลังไฟฟ้าดับไม่นาน เข้าใจว่าเสารับส่งสัญญาณมือถือคงแบตเตอรี่หมด โทรศัพท์พื้นฐานใช้ไม่ได้ เป็นคืนที่เงียบสงบ ดึกน้ำทรงตัว ไม่ท่วมสูงจนเข้ารถที่จอดไว้ ท่าทางจะไม่วิกฤตกว่านี้แล้ว
 
มื้อเช้าทุกคนไปกินข้าวต้มไก่ได้ที่โรงครัว โรงครัวเลี้ยงอาหารทุกมื้อกับทุกคนในโรงพยาบาลทั้งคนไข้ ญาติและเจ้าหน้าที่ ถนนไม่มีรถวิ่ง มีแต่คนเดินลุยน้ำระดับเอวเดินชมเมืองในอีกบบรรยากาศ
 
หมอในโรงพยาบาลวันนี้มีตั้ง 4 คน ช่วยกันไป round ward 2 คน อีก 2 คนก็อยู่เฝ้าห้องฉุกเฉิน เป็นวันที่มีคนไข้มาโรงพยาบาลน้อยที่สุด คือประมาณ 30 คน
 
ไม่น่าเชื่อว่า ยังมีคนเดินลุยน้ำมาโรงพยาบาลตั้ง 30 คน เกือบครึ่งหนึ่งคือคนไข้กลุ่มสำคัญที่โรงพยาบาลจะนะให้บริการเขามายาวนาน คือคนไข้กลุ่มที่ติดเฮโรอีน แล้วมารับยาเมธาโดนทดแทนทุกวัน ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ 
 
ไม่น่าเชื่อคนกลุ่มนี้แม้น้ำจะท่วม แต่เขาก็บากบั่นลุยน้ำมากินยา แสดงว่าโรคสมองติดยานี้ทรมานจริงๆ น้ำท่วมหากพอมาได้ก็ยังมาดีกว่าขาดยา
 
ตอนเช้านั้นเอง ผมไปดูคนไข้บนตึก เป็นผู้ป่วยชายสูงอายุที่มาจากนาทวี เป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก  ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์แล้ว กลับมานอนรักษาต่อที่นาทวีได้ 1 วัน ก็ต้องย้ายหนีน้ำมาที่โรงพยาบาลจะนะ
 
ผู้ป่วยอาการแย่ลง ซึม หายใจติดๆ คุยกับญาติว่าคงไม่ไหว ญาติเข้าใจลงความเห็นร่วมกับหมอว่าไม่ส่งต่อ ผมเห็นแล้วไม่นานคงไปแน่ เลยถามหาฟอร์มาลีนจากห้องยา ปรากฏว่าไม่มี ไม่ได้เตรียมไว้ ไปได้จากห้อง lab ที่เขาไว้ดองชิ้นเนื้อมาแค่ 400 ซีซี ก็ยังดี
 
โรงพยาบาลชุมชนไม่มีตู้เย็นเก็บศพ หากเสียชีวิตอีกวันเดียวก็เน่าเหม็นแล้ว พอเที่ยงเขาจากไป เราก็หยดฟอร์มาลีนทางน้ำเกลือ รักษาศพไว้ ไม่รู้เมื่อไรจะกลับบ้านได้
 
ช่วงบ่าย 3 รถทหารคันใหญ่มาส่งยาน้ำท่วม แล้วเขาจะไปนาทวีต่อ มีคนไข้และญาติขอติดรถเสี่ยงไปลงกลางทางหลายคน ผมเลยขอฝากศพนี้ไปกับญาติฝากไปให้ถึงตลาดนาทวีด้วย
 
ปรากฏว่าคนอื่นที่จะพลอยไปกลับรถขอลงหมดทั้งคัน ไม่มีใครยอมไปด้วยเลย โวยวายกันบ้าง ผมก็บอกว่า คนเป็นไม่เน่ารอได้ คนตายรอไม่ได้ กลับไปที่ตึกคนไข้ไปพักและหาข้าวกินก่อนแล้วกัน แล้วรถทหารที่ขนยาและศพก็ออกไปจากโรงพยาบาล
 
ผมได้คุยกับหมอที่อำเภอรัตภูมิ เขาบอกว่า ที่โรงพยาบาลรัตภูมิก็มีคนไข้เสียชีวิตตอนน้ำท่วมอำเภอ โรงพยาบาลต้องให้คนลุยน้ำไปยืมโลงเย็นมาจากวัดมาเสียบไฟฟ้าที่โรงพยาบาลก่อนที่น้ำจะลด แต่ผมลืมวิธีนี้ไปเลย
 
ในวันที่ 2 โรงพยาบาลตึกหน้าไม่มีน้ำใช้ เพราะเครื่องสูบน้ำบาดาลขึ้นหอถังสูงจมน้ำเมื่อคืนที่ผ่านมา ซึ่งเราไม่เคยนึกถึง มอเตอร์จมน้ำ แต่ตึกผู้ป่วยในยังมีน้ำใช้เพราะเป็นคนละระบบกัน ความเดือดร้อนจึงไม่มาก เครื่องปั่นไฟยังทำงาน 24 ชั่วโมง น้ำมันที่มีพอใช้อีก 2 วัน โรงพยาบาลกลายเป็นที่รับบริการชาร์จแบตเตอรี่มือถือประจำอำเภอ
 
คืนที่ 2 น้ำเริ่มลดลงในช่วงค่ำ ฝนไม่ตกเพิ่ม น้ำท่วมลดลงคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทันที น้ำลดแล้ว การส่งต่อผู้ป่วยก็เริ่มขึ้น แต่การสื่อสารยังแย่มาก ทำให้การตรวจสอบเส้นทางการส่งต่อยากลำบากว่า เส้นทางไหนไปได้ไปไม่ได้ หลักๆก็ส่งต่อไป โรงพยาบาลสงขลา เพราะหาดใหญ่ยังจมน้ำอยู่
 
ตกดึกการไฟฟ้าเริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า  แต่การสื่อสารยังยากลำบาก
 
ภาพรวมโรงพยาบาลก็มีอาคารซักฟอกจ่ายกลาง อาคารกายภาพบำบัด ศาลาละหมาด ซึ่งเป็นอาคารแนวเดียวกันที่ตั้งในที่ลุ่มที่สุดของโรงพยาบาลท่วมระดับเกือบหัวเข่า ความเสียหายมีเล็กน้อยคือ เครื่องซักผ้าเสีย เครื่องสูบน้ำ และเครื่อง compressor เป่าลมของยูนิตทำฟัน แต่ทั้งหมดนี้ซ่อมได้
 
วันที่ 3 น้ำในโรงพยาบาลแห้งสนิทแล้ว ถนนเส้นหลักเดินทางได้ มีแต่บ้านที่อยู่ในที่ลุ่มที่ยังมีน้ำท่วม คนไข้เริ่มมาโรงพยาบาลมากกว่าปกติ โดยเฉพาะคนไข้เรื้อรังเบาหวานความดันที่ยาลอยไปกับสายน้ำแล้ว 
 
หมอที่ติดน้ำอยู่หาดใหญ่ก็มาโรงพยาบาลได้แล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวนขึ้นพอรับมือกับผู้ป่วยไหว คนที่อยู่เวรสลับกันเฝ้าโรงพยาบาลมาตลอด 2 วันก็ไปพัก คนใหม่มาทำหน้าที่ทดแทน
 
ในวันที่ 3 ผมก็ได้กลับบ้าน ไปช่วยที่บ้านล้างร้านขายยาที่ท่วมระดับเหนือเข่าเล็กน้อย ยาที่ร้านขนทันครับ ภรรยากับน้องสาวขนกัน 2 คน ไม่รู้ขนทันได้ไง 
 
สุดท้ายก็ได้คำตอบว่า ที่ขนนั้นไม่ใช่ยา ขนเงิน เงินทั้งนั้นก็เลยขนทัน จะมีก็เครื่องเสียง ตู้เย็น ของเล่นลูก โซฟาจมน้ำ และจิปาถะสมบัติที่สะสมไว้หลังบ้านจมน้ำไปพอสมควร เพราะขนไม่ไหว ขนจนปวดเมื่อยไปหมดทั้งตัว
 
การกลับบ้านของผมในวันนั้น เป็นความหวังของคนที่บ้านเลย เพราะแต่ละขนปวดเมื่อยจนไม่มีแรงจะล้างบ้านแล้ว ต้องรีบล้างก่อนน้ำแห้ง จะได้เอาโคลนออกให้มากที่สุด แต่น้ำประปาไม่ไหล ทำให้การล้างบ้านยากเย็น เช้าไปทำงาน ตกเย็นก็กลับมารับหน้าที่ช่วยล้างขัดบ้านเก็บขยะจัดของอีกหลายวัน กว่าจะเป็นปกติ
 
ครั้งนี้จึงกลายเป็น 5 ส.จำเป็นกันทั้งเมืองหาดใหญ่ หรืออาจจะเกือบทั้งประเทศ
 
เพราะหมอในโรงพยาบาลจะนะมีน้อย  และชาวบ้านต้องการยาพื้นฐานมากกว่าต้องการหมอ ทางโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอเลยจัดหน่วยพยาบาลออกไปกับรถพยาบาลฉุกเฉินไปแจกจ่ายยา ออกไปเป็น 3 สาย แวะเป็นจุดจุดละสัก 1 ชั่วโมง แล้วก็ไปต่อจุดอื่น บางส่วนก็ฝากยาสามัญประจำบ้านไว้ที่บ้าน อสม.ให้เป็นจุดกระจายยา จัดบริการแบบนี้สัก 3 วันก็หยุดลง เพราะน้ำลด
 
ชาวบ้านส่วนใหญ่พึ่งตนเองและเดินทางสะดวกแล้ว จะมีก็แต่ชาวบ้านที่บ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมสูงจนข้าวของเสียหายหมด โดยเฉพาะรถเครื่องและเครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำหมด ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ แต่ละชีวิตก็ต้องดิ้นรนกันต่อไป
 
ผมคิดเอาเองว่า ชาวบ้านเขาเผชิญความทุกข์ยากมาทั้งชีวิต ความคิดฆ่าตัวตายหรือเครียดจัดจนต้องมาหาหมอจึงไม่มากเหมือนคนเมือง
 
สุดท้ายต้องขอบคุณบรรพบุรุษที่เลือกทำเลในการตั้งโรงพยาบาลจะนะได้เหมาะสมแล้ว
 
000
 
 
 
 
000
 
หมายเหตุ : งานเขียนข้างต้น คือ เนื้อหาในจดหมายอีเล็คโทรนิคส์ (อีเมล) ที่นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ที่เขียนถึงพรรคพวกเพื่อนฝูงและมิตรสหาย บอกเล่าถึงประสบการณ์จากน้ำท่วมครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net