Skip to main content
sharethis

กรมการจัดหางานแจ้งความเอาผิดคนปล่อยใบปลิวโจมตี

8 พ.ย. 53 - นายธนิช นุ่มน้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว (สบร.) กรมการจัดหางาน (กกจ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการสอบสวนกรณีที่มีบัตรสนเท่ห์โจมตีการทำงาน ของผู้บริหาร กกจ.ไม่โปร่งใสจากการเก็บค่าหัวคิวการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ว่า ขอยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินงานขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพื่อพาไปพิสูจน์ สัญชาติถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าหัวคิวคนต่างด้าวแต่อย่างใด ที่ผ่านมาอาจมีบ้างที่นายจ้างใช้บริการจากบริษัทที่รับดำเนินการพาแรงงาน ต่างด้าวไปพิสูจน์สัญชาติ แต่ก็เป็นบริษัทที่ได้รับมอบหมายจาก กกจ.ตามระเบียบทุกอย่าง

นายธนิต กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการตั้งโต๊ะรับกรอกเอกสารให้กับแรงงานต่างด้าวนั้น กระทรวงฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของเอกชนกับของนายจ้างเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมาก และนายจ้างอาจไม่มีเวลาสำหรับกรอกเอกสารที่มีความซับซ้อนให้กับลูกจ้างของตน ได้ทั้งหมด เพราะในแต่ละวันมีแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ของกรมไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง การตั้งโต๊ะให้บริการกรอกเอกสารจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนายจ้างและ ลูกจ้างต่างด้าว

นอกจากนี้ ในประเด็นการละเมิดสิทธิคนต่างด้าวด้วยการปิดให้บริการห้องน้ำบริเวณชั้น 3 กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นทะเบียนแรงงานนั้น ไม่ใช่การละเมิดสิทธิแต่เป็นช่วงเวลาที่แม่บ้านทำความสะอาดตามปกติเท่านั้น เนื่องจากห้องน้ำมีผู้ใช้บริการมากและค่อนข้างสกปรก จึงต้องให้แม่บ้านทำความสะอาดทุก 15 นาที เพื่อให้ห้องน้ำมีความสะอาด ถูกสุขอนามัยเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากปรากฏข่าวมีบริษัทเอกชนตั้งโต๊ะรับจ้างกรอกเอกสารชุดละ 20 บาท ที่บริเวณชั้น 3 หน้าสำนักบริหารแรงงานฯ กันอย่างเอิกเกริก โดยมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชาหมุนเวียนมาใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 300 คน ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ที่หน่วยราชการเปิดช่องให้มีการหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าวที่ต้องเสีย ค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติที่สูงถึงอยู่แล้ว (หัวละ 4,500 บาท) และยังต้องจ่ายค่ากรอกเอกสารเพิ่มเติมอีก อย่างไรก็ดี ล่าสุดผู้บริหาร กกจ. ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้บริการตั้งโต๊ะดังกล่าว และเป็นผลให้บริษัทเอกชนมารวมตัวกันตั้งโต๊ะรับกรอกเอกสารอยู่ด้านข้างประตู ทางเข้ากระทรวงแรงงาน ประตู 3 แทน

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายของกรมการจัดหางาน ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมการจัดหางาน ให้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ดินแดง กรณีที่มีบัตรสนเท่ห์โจมตีการจัดส่งแรงงานไทยไปลิเบียในทำนองไม่โปร่งใส และการละเมิดสิทธิแรงงานต่างด้าว รวมทั้งมีการโยกย้ายในระดับ 8 ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้มีการแจ้งความใน 2 ข้อหา คือ หมิ่นประมาท และการโฆษณาเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ โดยได้ขอให้เจ้าหน้าที่เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 8-11-2553)

วุฒิฯ มีมติผ่านร่าง กม.ความปลอดภัย ด้วยเสียง 72 ต่อ 1

8 พ.ย.53 - ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่... พ.ศ.... ซึ่งได้พิจารณาแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ มี ส.ว.เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง ทั้งในส่วนของถ้อยความในบทบัญญัติ และการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ โดย นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งมั่นให้เกิดความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน แต่กลับมีผลเฉพาะหน่วยงานเอกชน ยกเว้นหน่วยราชการ รวมถึงผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน ตนเห็นว่า ไม่ควรมีการกำหนดมาตรฐานที่ต่างกัน โดยเฉพาะหน่วยงานราชการควรเป็นแบบอย่างที่ดี และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของกระทรวงแรงงาน และร่าง พ.ร.บ.รับงานไปทำที่บ้าน ที่ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการชุดเดียวกันไปแล้ว เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียว ไม่ให้เกิดความลักลั่นในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน
 
เช่นเดียวกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ที่เห็นว่า ในกฎหมายฉบับนี้มีการยกเว้นบังคับใช้ในหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น แต่กลับมีถ้อยคำกำหนดให้หน่วยงานเหล่านั้น ต้องมีมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยอาชีวะอนามัยให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายฉบับ นี้ ซึ่งขัดแย้งกัน จึงเสนอให้มีการแก้ไขให้ชัดเจน
 
ทางด้านกรรมาธิการ ได้ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้ ได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้ครอบคลุมหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการบังคับไว้ โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อมิให้ขัดแย้งต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้กำหนดให้นายจ้าง เป็นผู้ดำเนินการมาตราการการจัดการความปลอดภัยอาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐานตามกฎกระทรวง โดยไม่ขัดแย้งต่อกฎหมายฉบับอื่นๆของกระทรวงแรงงานอย่างแน่นอน
 
โดยหลังจากใช้เวลาในการพิจารณากว่า 8 ชั่วโมง ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่... พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขมา ด้วยคะแนนเสียง 72 ต่อ 1 เสียง โดยขั้นตอนต่อไปจะได้มีการนำเสนอร่างที่วุฒิสภาแก้ไขต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อ พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ผ่านมาที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่... พ.ศ.... ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสนอขึ้นมา โดยไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง 80 ต่อ 0 เสียง โดย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ การยกเลิก หมวด 8 ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยให้ไปออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ คือ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ฉบับที่... พ.ศ.... ดังกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-11-2553)

แรงงานพม่า 3 พันตกค้างไทยกับ ปท.ไม่ได้

8 พ.ย. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สาละวินโพสต์ ระบุถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA กับกองกำลังทหารของรัฐบาลพม่า ว่า แรงงานพม่า ที่เข้ามาทำงานในโรงงานในฝั่งไทย ตรงชายแดน

ด่านเจดีย์สามองค์ จำนวน 3 พันคน ต้องติดค้างอยู่ฝั่งไทย และไม่สามารถกลับบ้าน ในฝั่งพม่าได้ในขณะนี้ เนื่องจาก เหตุการณ์การสู้รบ

พร้อมกันนี้ มีรายงานว่า ชาวบ้านในเมืองเมียวดี ฝั่งพม่า ได้หนีภัยสงครามเข้าไทยกว่า 1 หมื่นคนแล้ว โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นผู้หญิงและเด็ก ขณะที่ยังเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและรอบเมืองเมียวดี ในขณะ เดียวกัน ผู้นำกะเหรี่ยงพุทธ ได้สั่งให้ชาวบ้าน หนีออกจากเมืองเมียวดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบ ทำให้ ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนได้หนีเข้าป่า ขณะที่บางส่วน ได้หนีเข้ามายังฝั่งไทยแล้ว

(ไอเอ็นเอ็น, 8-11-2553)

ก.แรงงาน หวั่นสถานการณ์สู้รบในพม่ายืดเยื้อส่งผลกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

9 พ.ย. 53 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า บริเวณด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากการปะทะกันของกองกำลังกะเหรี่ยงกับรัฐบาล พม่า เนื่องจากที่ด่าน อ.แม่สอด ทางการพม่าได้ปิดทำการชั่วคราวมาหลายเดือนก่อนหน้านี้ ทำให้ไม่มีแรงงานพม่าเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่ด่านดังกล่าวมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ที่ศูนย์ประสานการพิสูจน์สัญชาติไทยใน จ.ตาก มีลูกระเบิดยิงจากฝั่งพม่ามาตกที่ด้านหน้าศูนย์ฯ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้รับบาดเจ็บ ถูกสะเก็ดระเบิดถากบริเวณชายโครง ซึ่งได้รับการดูแลรักษาแล้ว ขณะนี้ทหารไทยที่ดูแลในพื้นที่ได้สั่งให้ทุกหน่วยราชการหยุดการทำงานชั่ว คราว เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ข้าราชการ โดยที่ด่านพิสูจน์สัญชาติ อ.แม่สอด มีเจ้าหน้าที่ไทยทำงานอยู่ประมาณ 10-11 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าให้ต้องล่าช้าออกไป แต่ยังยืนยันว่า ยังไม่มีการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับทางการพม่าให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ พิสูจน์สัญชาติตรงด่าน จ.ระนอง และด่านแม่สาย จ.เชียงราย เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนการพิสูจน์สัญชาติต่อวันให้มากขึ้น แทนการปิดด่านที่ อ.แม่สอด ส่วนกรณีที่มีผู้อพยพหนีภัยเข้ามาฝั่งไทยเป็นจำนวนมาก เกรงว่าจะลอบเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทางการได้มีการควบคุมและจัดระเบียบอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าจะสามารถควบคุมได้

สำหรับตัวเลขล่าสุดของการพิสูจน์ สัญชาติ ทั้งหมดมี 245,120 คน แยกเป็น พม่า 188,322 คน ลาว 25,370 คน และกัมพูชา 31,428 คน ตัวเลขของการขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ทั้งหมดมี 932,255 คน แยกเป็น พม่า 812,984 คน ลาว 62,792 คน และกัมพูชา 56,479 คน ขณะที่จำนวนแรงงานต่างด้าวเฉพาะใน จ.ตาก มีจำนวนทั้งสิ้น 30,525 คน

(สำนักข่าวไทย, 9-11-2553)

ปลัดแรงงานเดินหน้าจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เป็นรูปธรรม

10 .. 53 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำชับในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ให้กระทรวงแรงงานเร่งจัดระบบและแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เป็นรูปธรรม รวมถึงวางแนวทางป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ว่า มีแนวคิดที่จะให้นายจ้างรายงานความคืบหน้าในการจ้างแรงงานต่างด้าวทุก 3 เดือน เพื่อให้ทราบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ให้ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวมักมีการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนนายจ้างตลอด เวลา จนทำให้ฐานข้อมูลด้านแรงงานไม่ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อนำมาวางแผนการจ้างแรงงานต่างด้าวให้สอดรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในประเทศ

เบื้องต้นได้สั่งการให้กรมการจัดหา งานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการหา งานและพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้ที่ต้องการหางานให้ตรงกับตำแหน่งงานว่างก่อน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองต้องมีการปรับสถานที่ทำงานให้ได้มาตรฐานปลอดภัย รวมทั้งมีสวัสดิการที่ดีและจูงใจ จึงจะสามารถทำให้ผู้ว่างงานที่มีในประเทศยอมเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก่อนที่จะหันมาจ้างแรงงานต่างด้าว ส่วนรูปแบบการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ยังหลบซ่อนอยู่จะเร่งแก้ ปัญหา และวางรูปแบบที่ชัดเจนให้เป็นรูปธรรมภายในเดือนเมษายน 2554 โดยตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยมีตนเป็นประธานและอธิบดีทุกกรมในกระทรวงแรงงานเป็นคณะกรรมการ

(สำนักข่าวไทย, 10-11-2553)

ก.แรงงาน สรุปตัวเลขเยียวยาน้ำท่วม อยุธยาโรงงานเสียหายมากสุด

10 พ.ย. 53 - นพ.สมเกียรติ ศรีฉายะวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ทำการสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา อุทกภัย จำนวนตัวเลขล่าสุดวันนี้ (10 พ.ย.) พบว่า มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบ จำนวน 2,030 แห่ง และลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วม จำนวน 156,773 คน จังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด คือ จ.พระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการเสียหายกว่า 387 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 44,867 คน รองลงมา คือ จ.นครราชสีมา สถานประกอบการเสียหาย 421 แห่ง ลูกจ้างเดือดร้อน 22,266 คน

นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในพื้นที่ประสบปัญหา เร่งสำรวจและให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนโดยด่วน สำหรับความช่วยเหลือกรณีประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ กระทรวงฯ จะมีโครงการจ้างงานเร่งด่วนรองรับ เช่น โครงการซ่อมแซมบูรณะสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ การซ่อมแซมบ้านเรือน อุปกรณ์การทำงานที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ส่วนความช่วยเหลือในสถานประกอบการ เบื้องต้นได้ออกเป็นประกาศกระทรวงฯ ขอความร่วมมือไปยังสถานประกอบการไม่ให้ตัดค่าแรงพนักงาน

สำหรับงบประมาณในการช่วยเหลือเยียว ยาครั้งนี้ นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า มีการใช้งบประมาณไปกว่า 139 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอ ยังเหลือประชาชนกว่าอีก 100,000 ราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ ซึ่งกระทรวงฯ จะเร่งของบประมาณมาช่วยเหลือประชาชนอย่างเร็วที่สุด

(สำนักข่าวไทย, 10-11-2553)

จนท.แรงงานยูเอ็นทั่วโลกรวมตัวกันประท้วง

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายคริสโตเฟอร์ แลนด์กัซเลาซ์กัส ประธานคณะกรรมการสหภาพองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของสหประชาชาติ เผยเมื่อ 10 พ.ย. ถึงเหตุเจ้าหน้าที่ 3,000 คน ในสำนักงาน 50 แห่งทั่วโลก รวมตัวกันประท้วงและคิดหาวิธีกดดันต่อไปเพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้อง ทั้งเรื่องสภาพที่ทำงาน และการต่อรองผลประโยชน์ร่วมที่ทางสำนักงาน ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ทำให้เกิดสภาพความขัดแย้งในการทำงาน ทั้งที่ไอแอลโอส่งเสริมมาตรฐานแรงงานสากลทั่วโลก.

(ไทยรัฐ, 11-11-2553)

ยื้อปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานฯโยนทบทวน ชี้ยังไม่สะท้อนคุณภาพ

12 พ.ย. 53 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2554 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกลองค่าจ้าง กลับไปทบทวนอัตราค่าจ้างของแต่ละจังหวัดใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมองว่า ตัวเลขล่าสุดที่เสนอให้ทุกจังหวัดปรับขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 บาท ขณะที่กทม.และปริมณฑลปรับขึ้น 7 บาทเป็น 213 บาท และ จ.ภูเก็ต 10 บาทนั้น เป็นอัตราค่าจ้างเชิงอัตภาพ ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ ที่ต้องการจะเห็นคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น

นพ.สม เกียรติ กล่าวต่อว่า อัตราค่าจ้างที่ต้องการเห็น คือ อัตราค่าจ้างเชิงคุณภาพ ซึ่งผลการวิจัยของสำนักงานเศรษฐกิจการแรงงานพบว่า อัตราดังกล่าวจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น อาทิ กทม. ต้องปรับขึ้นอีก 22 บาท เป็น 228 บาท ปัตตานีต้องปรับขึ้นอีก 107 บาท ยะลา 66 บาท กาฬสินธุ์ 82 บาท ศีรษะเกศ 27 บาท เลย 78 บาท น่าน 49 บาท แม่ฮ่องสอน 54 บาท และประจวบฯ 11 บาท

อย่าง ไรก็ตาม การจะปรับขึ้นได้เท่าใด คณะอนุกรรมการฯจะต้องไปศึกษารายละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่ ที่จะเริ่มประชุมครั้งแรกในสัปดาห์หน้า และจะต้องหาข้อสรุปการปรับขึ้นค่าจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

"ใจผมอยากให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบเชิงคุณภาพทั้งหมด แต่ต้องดูความสามารถในการจ่ายของนายจ้างด้วย เช่น หากมีการปรับขึ้นครั้งเดียว 50 บาท นายจ้างก็จะได้รับผลกระทบมาก จึงอาจต้องใช้วิธีทอดเวลาออกไป เช่น ปรับขึ้นภายในระยะ 3 ปี"

นพ.สม เกียรติ ยอมรับด้วยว่า อัตราค่าจ้างที่จะปรับขึ้นครั้งนี้ คงไม่สามารถทำให้เป็น 250 บาททั่วประเทศทันที ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายไว้ เพราะจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และเศรษฐกิจโดยภาพรวมโดยเฉพาะตัวเลข จีดีพี ที่จะลดลง ส่วนปัญหาน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ที่จะส่งผลกระทบถึงการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้

(แนวหน้า, 12-11-2553)

ร่วมด้วยช่วยกัน กรรมกรลงแขกผลักดันกฎหมายประกันสังคม

14 .. 53 - กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ นัดประชุมแกนนำ 13 สหภาพฯ ชี้แจงทำความเข้าใจร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ( ฉบับบูรณาการแรงงาน ) ในการลงพื้นที่หารายชื่อเสนอกฎหมาย ณ. ศูนย์วัฒนธรรมกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ทุกสหภาพฯให้ความร่วมมือและกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน เน้นประเด็นสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน

สาระสำคัญ 1. สิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ เช่น จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 120 เดือน มีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง จ่ายเงินสมทบ 120 ขึ้นไป มีสิทธิรับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 80 ของค่าจ้าง 2. ผู้ประกันตนที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวขึ้นตามระยะเวลาจ่าย เงินสมทบ เช่น จ่ายเงินสมทบไม่เกิน 10 ปี มีสิทธิรับเงินทดแทนต่อเนื่องอีก 8 เดือน ถ้าจ่ายสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิรับเงินทดแทนต่อไปได้อีก 12 เดือน 3. กำหนดให้ผู้ประกันตนที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพนอกงานได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ตั้งแต่วันแรกที่เป็น ลูกจ้าง

4. ผู้ประกันตนเลือกใช้บริการสถานพยาบาลได้ทุกแห่งที่มีข้อตกลงกับสำนักงาน ประกันสังคม ปกติหรือฉุกเฉิน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย 5. ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ 6.ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำ ศพ เงินสงเคราะห์การตาย กรณีบำเหน็จชราภาพ 7.กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนมีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน

จากนั้นวันที่ 14 พ.ย.53 กลุ่มคนงานประมาณยี่สิบคนได้ร่วมกันคัดเลือกรายชื่อที่รวบรวมได้ ว่ามีเอกสารที่ใช้เสนอกฎหมายได้มีกี่ชุดและยังคัดแยกไว้เป็นหมวดหมู่ตาม จังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ 

ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารแรงงานกล่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ (นักสื่อสารแรงงาน, 14-11-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net