Skip to main content
sharethis

บางกอกโพสต์:คุยกับเลขาธิการองค์กรนิรโทษกรรมสากลถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทยและในอาเซียน

ซาลีล เช็ตตี (Salil Shetty) เลขาธิการคนใหม่ของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลและดอนนา เกสต์ (Donna Guest) รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก ได้สนทนากับอัจฉรา อัจฌายกชาติ เกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยและอาเซียนโดยองค์กรซึ่งมีที่ตั้งที่กรุงลอนดอน

Q:ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยทำให้ความเป็นกลางของสมาชิกบางส่วนของคณะกรรมการบริหาร      แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทยสูญเสียไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรัฐประหารปี 2549 ปัจจุบันสมชาย หอมลออซึ่งถูกมองว่าเข้าข้างรัฐบาล ก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล จะพยายามหาจุดสมดุลของมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนที่แตกขั้วในบริบทของไทยอย่างไร

ซาลีล เช็ตตี คนไทยต้องจ่ายให้กับความวุ่นวายและการประท้วงที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาที่กล่าวถึง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้แก้ไขสถานการณ์เรียบร้อยแล้ว นายสมชายได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานตามระบอบประชาธิปไตย กระบวนการทำงานของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลมีลักษณะจากล่างสู่บน ไม่ใช่บนสู่ล่าง

ดอนนา เกสต์ ในกรณีการดำรงตำแหน่งประธานของนายสมชาย เขาเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนมาหลายทศวรรษ และครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนักโทษการเมือง   เราไม่ได้เรียกร้องให้สมาชิกในประเทศคนใดต้องยอมประนีประนอมด้านทัศนะทางการเมือง แต่พวกเขาต้องทำหน้าที่อย่างเป็นภววิสัย และเป็นกลางในนามของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล           

Q:แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลมีรายการตรวจสอบเพื่อปรับปรุงสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างไร           

ซาลีล เช็ตตี ประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพและกฎหมายความมั่นคง ภายหลังความวุ่นวายและความรุนแรงเป็นเวลาหลายเดือน เรากังวลถึงความรับผิดของผู้ละเมิด         

มีความรู้สึกว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจากทุกฝ่ายและทุกสี         

เราต้องประกันว่าคนเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ และไม่ยอมปล่อยให้มีการงดเว้นโทษแม้แต่เล็กน้อย         

ความกังวลที่สองของเรามีต่อการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยเฉพาะการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ต วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับ         

ประการที่สาม เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงอย่างเช่น พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ         

สุดท้าย เราให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับภาคใต้และความรับผิดและการไม่งดเว้นโทษ (ทั้งในฝ่ายรัฐบาลและผู้ก่อความไม่สงบ) ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ในช่วงไตรมาสที่สองของปีหน้า แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลจะเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับภาคใต้ของไทย         

Q:ได้หยิบยกประเด็นนี้เพื่อพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์และนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหรือไม่           

ซาลีล เช็ตตี ครับ แม้ว่าเราจะรู้จุดยืนของพวกเขาและพวกเขาก็รู้จุดยืนของเรา แต่ก็ควรมีการพูดคุยซึ่งหน้า เพื่อเน้นย้ำข้อกังวลของเรา เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลของประเทศ ทั้งสองท่านยืนยันกับเราถึงเจตจำนงที่มีต่อสิทธิมนุษยชน และจุดยืนเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ         

เรายังถือว่าไทยเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน และยังเป็นประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ไทยจึงมีความรับผิดชอบเพิ่มเติมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่น         

ความคาดหวังกับประเทศไทยมีอยู่สูง ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไทยมีความสำคัญยิ่ง และบทบาทของไทยในอาเซียนกับสภาสิทธิมนุษยชนทำให้เกิดความคาดหวังมาก ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม ภาคประชาสังคมไทยมีความเปิดเผยและทำงานอย่างเข้มแข็ง และมีสื่อมวลชนที่มีบทบาทสำคัญ ถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค 

Q:มีความเห็นต่อกระบวนการหลังความขัดแย้งอย่างไร  เช่น คณะกรรมการแสวงหาความจริงและคณะกรรมการปฏิรูป           

ซาลีล เช็ตตี เรายินดีกับความพยายามเหล่านี้ และขอกระตุ้นให้คณะกรรมการไต่สวนความจริงเดินหน้าไปสู่การฟ้องร้องคดี           

ดอนนา  เกสต์  มีการถกเถียงในระดับโลกเกี่ยวกับความจริงและความยุติธรรม แต่เพื่อให้สามารถเดินหน้าและเยียวยาบาดแผลได้ เราคงต้องทำทั้งสองเรื่อง           

Q:มีความเห็นต่อกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนที่ทำงานเป็นปีแรกอย่างไร

ซาลีล เช็ตตี เป็นการพัฒนาที่มีประโยชน์มาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องพม่า แต่ละประเทศก็มีปัญหาของตนเอง แต่อย่างน้อยพวกเขาก็จำแนกจุดยืนว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก         

แน่นอนว่าการได้ฉันทามติยังเป็นแกนกลางของกระบวนการ (ตัดสินใจ) แต่อย่างน้อยไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ก็มีความจริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้เกิดความหวังมากขึ้น         

เวลาที่คนทำงานด้วยกันหลายคน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่พวกเขาจะใช้มาตรฐานต่ำสุด แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการกดดันจากประเทศต่าง ๆ เหมือนกัน           

ดอนนา เกสต์ เราต้องการกระตุ้นให้หน่วยงานนี้ทำหน้าที่ด้านป้องกัน นอกเหนือจากให้เกิดความก้าวหน้าด้านผู้หญิงและเด็ก และการเข้าเมือง         

เราจะพยายามผลักดันข้อกังวลของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลที่ไม่ต้องการเห็นอะไรต่ำกว่านี้อีก (เนื้อหาในการร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค) แต่เราก็ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและกลุ่มระดับรากหญ้าที่เข้มแข็ง (ในกระบวนการร่างปฏิญญา)

 

แปลจาก:

Bangkok Post 15 พฤศจิกายน 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net