Skip to main content
sharethis

ทิวสน สีอุ่น เว็บมาสเตอร์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ตั้งข้อสังเกตต่อแนวทางการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ว่ายังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมทั้งแนวทางการตีความคำว่า “ความมั่นคง” อย่างกว้างเป็นปัญหาหลักของเสรีภาพในโลกออนไลน์

 

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ส่งผลให้ สื่อทางเลือกหรือ นิวมีเดียมีรูปแบบที่หลากหลายและนับวันจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี หรือวิทยุชุมชน จนกระทั่งช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาซึ่งประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ก็ทำให้ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ถึงนัยสำคัญที่มีต่อสังคมไทย กระทั่งเป็นที่จับตารอการทำความเข้าใจและอธิบาย

ขณะเดียวกัน สื่อสารมวลชนไทยกระแสหลักเองก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงการทำหน้าที่ตลอดช่วงความขัดแย้งดังกล่าว ไม่เพียงแต่การตั้งคำถามถึงจริยธรรม จรรยาบรรณ จุดยืน ตลอดจนท่าทีที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่างๆ ในบริบทของการแบ่งแยกขั้วแบ่งแยกข้างทางการเมือง จนนำไปสู่วิกฤติความน่าเชื่อถือของสื่อ และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ช่องทางและการสื่อสารใหม่ๆ มีผู้ใช้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนความคิดและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ประชาไท สัมภาษณ์นักคิด นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน และนักปฏิบัติการสื่อออนไลน์ 12 คน เพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยความสนับสนุนของมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ ซึ่งบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจะนำเสนอเป็นรูปเล่มต่อไป

ทิวสน สีอุ่น เป็นเว็บมาสเตอร์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ต http://thainetizen.org/ ตั้งแต่เมื่อต้นปีก่อน (2552) ขณะยังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ในสาขาวิศวกรรมการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน นอกจากการเป็นเว็บมาสเตอร์แล้ว ยังรับหน้าที่คอยติดตามเก็บข้อมูล เข้าฟังคดีต่างๆ ซึ่งถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประเด็นที่สนใจคือ การรณรงค์ให้ผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม เพียงแต่หลายคนอาจไม่รู้ถึงข้อมูล และแม้ว่าผู้ใช้อาจไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่หากไม่ป้องกันก็อาจมีโอกาสที่จะถูกสวมรอยและนำเอา ID ไปใช้ในการทำผิดได้

เสรีภาพมาช้ากว่าที่คิด และความมั่นคงถูกตีความอย่างกว้าง

ทิวสนเขียนบล็อก http://tewson.com/ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องเทคโนโลยีสื่อสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เขาบอกเหตุผลที่มาร่วมงานกับเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า เป็นเพราะเขาเห็นว่าพื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ แต่ในความจริงกลับมิใช่เช่นนั้น เสรีภาพในโลกออนไลน์ของไทยมาช้ากว่าที่เขาคิดไว้มากทีเดียว

“อาจจะเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตมันใหม่ คนก็เลยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้กับมันสักพัก แต่ผมคือคนที่อยู่กับมัน เป็นคนที่คุ้นกับมัน ก็อาจจะสามารถช่วยให้คนอื่นคุ้นชินกับมันได้มากขึ้น”

ในฐานะคนทำงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ทิวสน จับประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทำให้เขาเห็นว่าปัญหาหลักๆ ก็คือมาตรา 14 ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต และมาตรา 15 ว่าด้วยความรับผิดของตัวกลางหรือผู้ให้บริการ*ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ถูกใช้คือเรื่องของความมั่นคงและการละเมิดสถาบันหลักของชาติ

เขาติดตามกรณีที่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแล้ว 2 กรณีหลักๆ คือ “เบนโตะ” ซึ่งถูกฟ้องในฐานะผู้ใช้ ตามความผิดมาตรา 14 และจีรนุช เปรมชัยพร ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ตามความผิดมาตรา 15

กรณีของ เบนโตะนั้น มีการโพสต์ข้อความลงในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 และผู้โพสต์ถูกจับกุมในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ทิวสนบอกเหตุผลว่าคดีนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเพราะเป็นตัวอย่างความกำกวมของมาตรา 14 ที่ตีความเรื่องความมั่นคงอย่างกว้าง

“ตำรวจพบการโพสต์นิยายบนเว็บประชาไท แล้วก็มีการตีความว่าเป็นเรื่องอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทกษัตริย์  จึงไปขอข้อมูลจากผู้ให้บริการและสืบสาวราวเรื่อง จุดเด่นของคดีคือ เริ่มแรกนั้น การตีความ หรือคนที่ตีความเป็นคณะกรรมการพิเศษซึ่งเป็นตำรวจ และกรรมการนี้ตัดสินว่าเนื้อหาที่ปรากฏเป็นภัยต่อความมั่นคง จากนั้นตำรวจก็ขอหมายศาล”

ปัญหาใหญ่ คนไม่รู้สิทธิและวิธีปกป้องตัวเอง

ข้อสังเกตของทิวสนคือ คณะกรรมการชุดนี้ เป็นภาพแห่งความโปร่งใสในการดำเนินคดี ว่ากองปราบไม่ได้ดำเนินคดีเอง แต่มีคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหา ซึ่งเมื่อเราถามถึงความโปร่งใสหรือไม่ หรือความชัดเจนในการตีความเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดกฎหมายแล้ว เขาตอบเบาๆ ว่า

“จะพูดอะไรได้มากล่ะ ผมคิดว่ามันเป็นแค่การประทับตราเนื้อหาที่เขาเชื่อว่าหมิ่นฯ คณะกรรมการนี้มีหรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน แต่ถ้ามีกรรมการชุดนี้ ตำรวจก็มีข้ออ้างที่มีน้ำหนักขึ้นว่ามีการผ่านพิจารณาของคณะกรรมการ”

ประเด็นต่อ คือ ขณะที่มีการจับกุม ผู้ต้องหาไม่รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ทั้งเรื่องการมีทนายความขณะให้ปากคำ และการปกป้องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นหลักฐาน

“คนที่เป็นผู้ต้องหาเขาไม่รู้ว่าเขาควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างไรบ้าง เช่น การเก็บหลักฐาน มีแนวปฏิบัติอยู่ แต่ปัญหาคือคนทั่วไปไม่รู้ ทำให้เขาไม่สามารถปกป้องสิทธิตัวเองได้ คือกรณีของพี่จิ๋ว (จีรนุช เปรมชัยพร) โชคดีเพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อยู่ด้วย แต่กรณีเบนโตะ ตำรวจแค่ติดสติ๊กเกอร์รอบๆ แล็ปท็อป ตอนให้ปากคำ ผู้ต้องหาไม่มีทนาย ไม่มีคนให้คำปรึกษาในเชิงเทคนิค ตำรวจอ้างว่า ติดสติ๊กเกอร์แล้วไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วฮาร์ดดิสก์ก็ถอดออกได้ ซึ่งอาจจะฟังดูน่าเชื่อถือในชั้นพิจารณาคดีก็ได้”

คำว่า “ติดสติ๊กเกอร์” รอบๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหานั้น ทิวสนอธิบายขยายความว่าหมาย ถึงการเอาเทปกาวติดรอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการปิดผนึกเพื่อการันตีว่าจะไม่มีการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการ กับข้อมูลเพิ่มเติมในระหว่างที่ถูกอายัด ซึ่งนั่นไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่า คอมพิวเตอร์ของผู้ต้องหาจะได้รับการจัดเก็บเป็นหลักฐานอย่างปลอดภัยแล้ว เพราะอาจมีการเพิ่มเติมข้อมูลลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้แม้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของผู้ต้องหาแล้วก็ตาม

“ที่เป็นปัญหาคือจำเลยและทนายไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยี ก็น่าจะลำบาก จำเลยเป็นคนมีการศึกษาก็จริง แต่ไม่รู้เรื่องเชิงเทคนิคมากเพียงพอที่จะปกป้องตัวเอง เช่น ไม่รู้ว่าตำรวจควรจะทำอย่างไรกับคอมพิวเตอร์ตัวเองได้บ้างถึงได้ปล่อยให้ยกไปง่ายๆ และตอนที่ตำรวจมาจับก็ยอมขึ้นรถตู้ไปกับตำรวจ ซึ่งเขาน่าจะรู้ว่าเขามีสิทธิได้ปรึกษาทนายก่อน”

เมื่อเราถามว่าตำรวจทำอะไรกับคอมพิวเตอร์ของจำเลยได้บ้าง

“ก็ถอดฮาร์ดดิสก์ออกไป ใส่ใหม่ได้ และคดีนี้ก็มีการอ้างหลักฐานเป็นเมมโมรี่สติ๊กด้วย ซึ่งมันปิดผนึกไม่ได้ ข้อที่น่ากังวลสำหรับคดีแบบนี้คือการเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในภายหลัง เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ผมไม่ได้บอกว่าตำรวจจะทำนะ”

ทิวสนกล่าวยืนยันว่าจากการค้นข้อมูลของเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจมีแนวทางปฏิบัติอยู่ รวมถึงมีเครื่องมือในการปฏิบัติการจัดเก็บหลักฐานอย่างปลอดภัยด้วย แต่เขาพบว่าการปฏิบัติของตำรวจในแต่ละคดีกลับไม่ได้เป็นไปบนมาตรฐานเดียวกัน

“เท่าที่ติดตามดูพบว่าตำรวจมีความรู้ทางเทคนิคเพียงพอที่จะจัดการ ดูจากกรณีที่พี่จิ๋ว (จีรนุช เปรมชัยพร) ซึ่งตำรวจปฏิบัติอย่างดี อยู่ที่จำเลยรู้หรือไม่รู้ แต่ผมจะพูดว่าตำรวจทำไม่เหมาะสมได้หรือเปล่า หรือเป็นเรื่องของผู้ต้องหาควรรู้และปกป้องตัวเอง”

ในเรื่องนี้ เขาเองในฐานะของคนทำงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรณรงค์ให้คนเข้าใจโดยเร็ว “สิ่งที่ต้องรู้ คือ มีเกณฑ์วิธีระเบียบในการอายัดเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเกณฑ์ปฏิบัติของตำรวจ ซึ่งคนทั่วไปควรจะได้อ่าน”

ความคืบหน้าคดีเบนโตะ ทิวสนบอกว่า อยู่ในขั้นตอนสืบพยานจำเลย ในชั้นศาล

มาตรฐานการปฏิบัติในชั้นสืบสวนสอบสวนไม่เป็นอย่างเดียวกัน

อีกคดีที่ทิวสนติดตามอย่างใกล้ชิด คือคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเขาเรียกว่า “พี่จิ๋ว” เขาบอกว่า ความน่าสนใจของคดีนี้ก็คือ การเป็นตัวกลางหรือผู้ให้บริการแล้วถูกดำเนินคดี ซึ่งกรณีตัวกลางเท่าที่เป็นที่รับรู้มี 4 ราย คือ พระยาพิชัย, กรณีของจีรนุช, เว็บมาสเตอร์ 212 cafe ซึ่งถูกฟ้องร้องเนื่องจากมีคนโพสต์รูปโป๊เปลือย และคดีล่าสุดคือ นปช. ยูเอสเอ

“ที่น่าสนใจก็คือประชาไทก็มีชื่อเสียงในแง่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เมื่อโดนคดีนี้จึงน่าสนใจว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า และอีกประเด็นคือ โดนจับเพราะเป็นตัวกลางจริงๆ ไม่ได้ทำเอง ก็เลยเข้ากระแสเรื่องความรับผิดของตัวกลาง ในต่างประเทศก็มีปัญหานี้เหมือนกัน และก็ยังมีการจับกุมครั้งที่สองที่ประหลาดมาก”

ทิวสนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของจีรนุชนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหามากกว่าคดีเบนโตะ ส่วนหนึ่งเขาเชื่อว่าเพราะมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อยู่ด้วยคือตัวเขาเองและอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ตอีกราย

ในแง่ของการตีความกฎหมายหรือกระบวนการดำเนินการ ทิวสนมองว่าถ้าได้อ่านคำฟ้องจะเห็นว่าเป็นการเอาเนื้อหาที่มีผู้โพสต์เป็นนิยายมาตีความ เหมือนกับอ่านใจคนเขียนหรือเดาใจคนเขียน

“ก็เลยดูเหมือนว่า ถ้าจะตีความกันแบบสุดๆ ก็ทำได้ แต่ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง คือถ้าอยากจะจับก็ตีความให้จับได้ และอีกอย่างคือ ตอนที่มาจับแจ้งข้อหาจากกระทู้เดียวแล้วตอนฟ้องก็ไปเอาอีก 9 กระทู้มาซึ่งเป็นกระทู้ที่อายุมากแล้ว และปรากฏอยู่เพียงแค่วันสองวันบนหน้าเว็บ เหมือนเป็นการพยายามหาข้อหามาเพื่อให้โดนสักข้อหาหนึ่ง ผมก็ไม่รู้ว่ากันเหนียวหรือเปล่า แต่ก็สงสัยทำไมถึงเพิ่มกระทู้เหล่านี้เข้ามา”

สำหรับทิวสนแล้ว ทั้งกรณีของเบนโตะและจีรนุช เป็นการถูกฟ้องร้องโดยกฎหมายฉบับใหม่ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่มีการตีความอย่างจริงจัง ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตควรปฏิบัติคือ ความระมัดระวังเรื่องความสุ่มเสี่ยงในข้อความที่ตัวเองโพสต์

“ผมเข้าใจว่าเราศึกษาวิธีเขียนถึงเรื่องสุ่มเสี่ยงได้จากนักวิชาการ ว่าพูดอะไรได้บ้าง อย่างกรณีของอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างในการโพสต์ข้อความได้รัดกุม”

อีกประการหนึ่งก็คือ การซ่อนตัว

“เมื่อเรารู้ว่ามีกฎหมายอย่างนี้อยู่ เราก็สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของเราได้โดยวิธีการหลายอย่างที่ทำให้เราไม่สุ่มเสี่ยง ถ้าผมพูดไปก็เหมือนชี้ช่อง แต่คุณสามารถใช้พร็อกซี่ได้”

แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาหลักหมดไป ทิวสนมองว่า สาระสำคัญของมาตรา 14 และ 15 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก็คือ “คนโพสต์สามารถปกปิดตัวตน ถ้าจับคนโพสต์ไม่ได้ ตัวกลางก็จะซวย” และนั่นก็กลับมาสู่การเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้ให้บริการ ดังนั้นทางออกที่เขามองเห็นก็คือต้องแก้กฎหมาย

ความขัดแย้งทางการเมืองกับปัญหาเสรีภาพออนไลน์

เมื่อถามถึงบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำรงอยู่ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยอย่างไรบ้าง ทิวสนตอบบนฐานของประเด็นรณรงค์ของเครือข่ายพลเมืองเน็ตว่า

เครือข่ายพลเมืองเน็ตมีประเด็นรณรงค์หลัก 5 เรื่องคือ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพในการแสดงออก ความเป็นส่วนตัว ความรับผิดชอบ และความเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่นี้ส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ของเครือข่าย 3 ประเด็นหลักๆ คือ กระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งที่ผ่านมามีการบล็อคข้อมูลข่าวสารอย่างมโหฬาร กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งมีการพยายามจับผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นที่ชอบใจของรัฐบาล และกระทบความเป็นส่วนตัว คือมีกระบวนการโซเชียลแซงชั่นเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ซึ่งส่งผลมาสู่โลกออฟไลน์ ทำให้มีคนโดนจับกุมด้วยความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 แล้ว 2 ราย

แต่แม้จะมีกฎหมายและการปฏิบัติที่เข้มงวดอย่างที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ ทิวสนกลับมองว่า วิธีการที่รัฐใช้ในการควบคุมความเห็นอันไม่พึงประสงค์อย่างที่กำลังทำอยู่นั้นช่างไร้ประโยชน์ เพราะเขาเชื่อว่า อินเทอร์เน็ตไม่ใช่พื้นที่ที่จะควบคุมได้ และรังแต่จะสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับสิ่งที่ไม่คุ้มต้นทุนที่ต้องจ่าย

“โดยฟังก์ชั่นแล้วอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปิดกั้นได้ เพราะฉะนั้นอย่ามามัวเสียเวลามาควบคุมมันเลย นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกออกไป ก็คือสุดท้ายแล้วคุณทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก นอกจากจะทำให้มันช้าลง ซึ่งท้ายสุดมันก็ไม่อาจจะปิดกั้นได้ ถ้ามามัวควบคุมก็จะเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์”

ประเด็นปัญหาเสรีภาพในการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ของไทยเป็นประเด็นที่เขาสนใจอย่างยิ่ง พร้อมๆ กับความไม่เข้าใจแบบคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีว่า ความเห็นของคนในชาติ จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้อย่างไร ยิ่งหากคนมีความเห็นไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งมากถึงระดับหนึ่ง ความเห็นนั้นก็ยิ่งไม่ควรกลายเป็นความคิดเห็นหลักๆ ของชาติหรอกหรือ

“ความมั่นคงของชาติก็บอกไม่ได้ว่าตีความยังไง แต่รัฐหรือคนบางกลุ่มเขาอาจจะรู้สึกมากๆ กับคำๆ นี้ อย่างคนไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ ก็อาจจะเป็นภัยต่อความมั่งคงของชาติก็ได้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะว่ามันอธิบายไม่ได้ว่า มันสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง คือทำไมเขาไม่เขียนให้มันละเอียดว่า อะไรคือความมั่นคง แล้วมันเสียหายอย่างไร

ผมไม่เห็นว่าความเห็นมันจะทำให้เป็นภัยได้ คือความเห็นมันจะทำให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก็ไม่น่าจะเป็นไปได้แล้ว ถ้าจะบอกว่าการแสดงความคิดเห็นมากๆ เป็นภัยความมั่นคง แล้วถ้าความเห็นมันมากขนาดนั้นแล้วมันก็คงเป็นความเห็นหลักๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือมันก็คือความคิดเห็นของคนในชาติ ซึ่งถ้าคิดตามตรรกะแบบผม ก็อาจจะสรุปได้ว่า ความคิดเห็นไม่สามารถเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้”

 

หมายเหตุ

*มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

    (๑) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

    (๒) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

    (๓) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

    (๔) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

    (๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ(๔)

มาตรา ๑๕ ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มี การกระทําความผิดตามมาตรา ๑๔ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตาม มาตรา ๑๔

http://www.thaiall.com/article/law.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net