กรรมการสิทธิ 5 ประเทศออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า

เมื่อวันที่ 16 .. 53 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

คณะกรรมการสิทธิฯ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้

 

ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า

 

ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมแถลงการณ์ กับหัวหน้าคณะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์ เลสเต้ เกี่ยวกับการที่ ออง ซาน ซู จี และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า ในระหว่างการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 มีสาระสำคัญดังนี้

 

การปล่อยตัว ออง ซาน ซู จี เป็นอิสระถือเป็นชัยชนะเพียงบางส่วนของการต่อสู้อันยาวนานเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอื่นๆ

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศประกาศที่จะร่วมมือกัน เพื่อให้มีการคุ้มครองเสรีภาพของออง ซาน ซู จี อย่างไม่มีเงื่อนไข และเห็นว่า รัฐบาลพม่าควรประกันว่า ไม่ควรมีการจับกุมบุคคล ตามอำเภอใจ กักขัง หรือถูกผลักดันให้ออกนอกประเทศ และควรคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล ชนพื้นเมืองดั้งเดิม และชนกลุ่มน้อย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศ สนับสนุนกระบวนการหารือเพื่อสันติภาพ ระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างประชาธิปไตยและมีการปกครองโดยหลักนิติธรรม ออง ซาน ซูจี และประชาชนทุกกลุ่มควรได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองที่เป็นธรรม โดยไม่มีการข่มขู่ทำร้าย

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 5 ประเทศหวังว่า พม่าจะมีการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม ตามกำหนดเวลา เพื่อสนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชนในพม่า เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้ง 5 ประเทศ ในนามของ SEANF ได้แสดงท่าทีร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพต่อกรณีการปล่อยตัวของ ออง ซาน ซู จี นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์ ในเดือนมกราคม 2554 ต่อไป

 

16 พฤศจิกายน 2553

 

หมายเหตุ :

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติของไทย (กสม.) มาเลเซีย (SUHAKAM) ฟิลิปปินส์ (CHRP) และอินโดนีเซีย (Komnas HAM) จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันในนามของ The South East Asia National Human Rights Institutions Forum (SEANF) โดยการประชุมครั้งที่ 7 จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2553

 

ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท