ชาวอุบลฯ แค้นอุตสาหกรรมจังหวัด ร้องผู้ว่าฯ –เผาป้ายประท้วง

ชาวบ้านอุบล บุกศาลากลาง เผาป้ายอุตสาหกรรมจังหวัด ไม่พอใจอนุญาตเปิดโรงไฟฟ้า “บัวสมหมาย” ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านได้ ร้องผู้ว่าฯ อุบลฯ ให้ตรวจสอบและเอาผิด หากไม่เป็นผลถึงศาลปกครอง

เมื่อ ๑๗ พ.ย. ชาวบ้านใน ๕ หมู่บ้าน ๒ ตำบล ได้แก่ บ้านคำสร้างไชย บ้านคำนกเปล้า บ้านใหม่สารภี  ตำบล ท่าช้าง บ้านโนนเจริญ บ้านหนองเลิงนา ตำบลบุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ. อุบลราชธานี จำนวน ๑๕ คน นำโดยนายทองคับ มาดาสิทธิ์และนางสาวสดใส สร่างโศรก ได้เข้าพบนายสุรพล สายพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี แต่นายสุรพล ไปราชการ นายภัทรนันท์ บุญมานัส ผช.ป้องกันจังหวัด จึงออกมารับเรื่องแทน ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านการออกใบอนญาต และขอให้ตรวจสอบการอนุญาตสร้างโรง ไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด โดยให้ดำเนินการภายใน ๑๕ วัน นับจากวันยื่นหนังสือ ก่อนเดินทางกลับชาวบ้านได้เผาป้ายสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เตรียมมา เนื่องจากอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีโดย นายสมชาย เสงี่ยมศักดิ์ และ เชวงศักดิ์ หัสดิน หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมและ คนทั้งสองได้ดำเนินการเป็นประโยชน์แก่บริษัทฯ โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ชาวบ้าน ต.ท่าช้าง และ ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานีได้คัดค้านการอนุญาตตั้งแต่อยู่ขั้นการอนุญาตขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง เมื่อตุลาคม ๒๕๕๑ เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินกิจการผลิตไฟฟ้าชีวมวลโดยใช้แกลบเป็นวัตถุดิบ ด้วยกำลังการผลิต ๙.๙ เมกกะวัตต์ และที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่ที่กลางชุมชนหมู่ที่ ๑๗ บ้านคำสร้างไชย ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนล้อมรอบ

เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่อนุญาตการขอรับใบอนุญาต ของบริษัท บัวสมหมายฯ เนื่องจากคำขอไม่ถูกต้องครบถ้วนและขาดรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาถึง ๑๔ รายการ  โดยเฉพาะ ข้อ ๑๒ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญ คือ ยังไม่มีข้อยุติในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  และเมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ จังหวัดอุบลราชธานีได้แต่งตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตของบริษัทฯ เพื่อทำหน้าที่กำหนดกระบวนการชี้แจงข้อมูลและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แจ้งต่อตัวแทนชาวบ้าน โดยหนังสือลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ความว่า ที่ประชุมพิจารณาถึงข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่แล้วมีมติเห็นชอบให้ออกใบอนุญาตแก่บริษัทฯ แล้ว ทั้งๆ ที่สำนักงานกำกับกิจการพลังงานลงพื้นที่เพียงครั้งเดียว และชาวบ้านก็ไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้าง

เนื้อความในหนังสือที่ยื่นต่อผู้ว่าฯ ระบุว่า คณะทำงานชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไม่ทำงานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะเลขานุการ โดยมีการลัดขั้นตอนกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชน  และไม่ปฏิบัติตามมติของคณะทำงานฯ

นางสาวสดใส สร่างโศก ผู้นำชาวบ้านกล่าวว่า ขั้นตอนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมี ๕ ขั้นตอน ได้แก่ เปิดเผยข้อมูลของบริษัทฯ ต่อราชการและชุมชน มีการศึกษาข้อมูลผลกระทบและทางเลือกโดยการจัดเวที  ๒ ครั้ง เพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นอย่างมีส่วนร่วม ศึกษาข้อมูลวิเคราะห์ทางเลือกและจัดทำรายงาน และตรวจสอบผลการศึกษา และร่างรายงานอย่างมีส่วนร่วม  และทำเสนอผลการศึกษาเพื่อตัดสินใจ

“แต่ที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ในฐานะเลขานุการของคณะทำงานฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลผลดี-ผลเสีย เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลและข้อมูลบริษัท มีเพียงนายเชวงศักดิ์  หัว หน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ไปพบนายบุญชู สายธนู ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชย โดยได้สอบถามความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน ซึ่งนายบุญชูชี้แจงกับนายเชวงศักดิ์ว่า ชาวบ้านไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าในชุมชน และเสนอให้หาที่สร้างที่อยู่ห่างชุมชน ซึ่งการพบตัวแทนชาวบ้านไม่ใช่การจัดเวทีตามกระบวนการ ไม่ใช่เวทีสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การอนุญาตจึงไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน” นางสาวสดใสกล่าว

ผู้นำชาวบ้านคนดังกล่าวยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ชาวบ้านใน ๖ หมู่บ้าน ๒ ตำบล ในเขตรัศมี ๒ กิโลเมตร กำลังดำเนินการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพเบื้องต้นจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตามการร้องขอใช้สิทธิแห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ    ซึ่งคณะศึกษาประกอบด้วยนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มูลนิธินโยบายสุขภาวะ  ศูนย์อนามัยที่ ๗ อุบลราชธานี  และการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ

“ไม่รู้ว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุญาตได้ยังไง ไม่รู้มีแนวการพิจารณากันยังไง ถ้าทำกันอย่างนี้ ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกอื่น คงต้องพึ่งบารมีของศาลปกครอง” ผู้นำชาวบ้านกล่าวในที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท