นักวิชาการแนะใช้ “หลัก 3R” และใช้วัสดุแบบเดียวกันลอยกระทง

สวทช. แนะ 3 วิธี ลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1.เลือกวัสดุของกระทงให้เหมาะสมกับพื้นที่ 2.ใช้หลัก 3R กับการลอยกระทง คือ ลด (Reduce) ใช้ร่วมกัน (Reuse) แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ3.ชวนชุมชนและหน่วยงานรณรงค์ “ลอยกระทงวัสดุแบบเดียวกัน” เพื่อให้สะดวกต่อการจับเก็บและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ธนาวดี ลี้จากภัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีโพลิเมอร์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การระบุว่าวัสดุประเภทใดดีที่สุดสำหรับการลอยกระทงเป็นเรื่องยาก เพราะไม่สามารถพิจารณาได้จากตัววัสดุเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการประเมินจากสภาพพื้นที่ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการขยะของในพื้นที่นั้นๆ เป็นองค์ประกอบด้วย

“ทั้งนี้เราสามารถอาศัยหลักเกณฑ์ง่ายๆ ให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกวัสดุลอยกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 3 แนวทาง คือ 1.เลือกวัสดุลอยกระทงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หากประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่หาวัสดุ จากธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ดอกบัว ได้ง่าย ก็ควรเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพราะหาง่าย ราคาถูก และเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย แต่หากอยู่ในเมืองซึ่งหาวัสดุจากธรรมชาติได้ยาก ให้พิจารณาเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ หรือวัสดุทางเลือกอื่นๆ ที่ย่อยสลายง่าย เช่น ขนมปัง กระดาษ ชานอ้อย ฯลฯ ส่วนจะเลือกใช้วัสดุชนิดใดนั้นให้ดูจากพื้นที่ เช่น หากลอยในแม่น้ำ หรือสระน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำเยอะ ก็ควรเลือกกระทงขนมปัง ควรหลีกเลี่ยงการใช้กระทงที่ทำจากโฟมและพลาสติก เพราะหากปลาฮุบชิ้นโฟมหรือพลาสติกเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้ รวมทั้งแนะนำว่ากระทงขนมปังไม่จำเป็นใส่สี ควรเป็นกระทงสีธรรมชาติซึ่งดูสวยอยู่แล้ว และไม่ควรตกแต่งกระทงด้วยวัสดุอื่นเช่นโรยกากเพชร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน

ขณะที่แหล่งน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เช่น บ่อ บึง หนองน้ำ ที่ไม่มีปลาเยอะ หากใช้กระทงขนมปัง ควรพิจารณาถึงปริมาณของกระทงที่จะถูกนำไปลอยด้วย ตรงนี้อาจต้องลองประเมินคร่าวๆได้จากจำนวนกระทงที่ลอยในปีก่อนๆ ถ้าปริมาณกระทงขนมปังเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา กลับเป็นการได้บุญ 2 ต่อ ได้ขอขมาพระแม่คงคา และยังได้ทำทานกับเหล่าสัตว์น้ำอีกด้วย แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปริมาณ มากเกินไป อาจหลีกเลี่ยงมาใช้กระทงใบตอง หรือวัสดุอื่นแทน เพราะเมื่อขนมปังเปื่อยยุ่ย จมลงพื้นบ่อน้ำ จะทำให้จัดเก็บได้ยากและทำให้น้ำเสียได้
2.ใช้หลัก “3R” กับการลอยกระทง ได้แก่ 1) ลด (Reduce) ลดขนาด จำนวนชั้น และการตกแต่งให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพราะเท่ากับช่วยลดการใช้วัสดุ ประหยัดทรัพยากร และลดปริมาณการกำจัด ทำลายด้วย 2) ใช้ร่วมกัน (Reuse) คือ ใช้ซ้ำแบบใช้ร่วมกัน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่า เช่น หนึ่งกระทง หนึ่งครอบครัว หรือ หนึ่งกระทง เพื่อนหนึ่งกลุ่ม ฯลฯ และ 3) แปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยชุมชนและหน่วยงานต่างๆ อาจช่วยกันวางแผนการคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไปหมักในถังหมักสำหรับทำปุ๋ยชีวภาพ หรือแก๊สชีวภาพ เป็นต้น”

ดร.ธนาวดี กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่ 3 คือ การรณรงค์ “ลอยกระทงวัสดุแบบเดียวกัน” เนื่องจากปัญหาสำคัญของการลอยกระทง คือการจัดเก็บและทำลายกระทงภายหลังการจัดงาน ซึ่งหัวใจของการจัดการในตอนสุดท้ายที่ดี คือ ถ้าวัสดุที่นำมาใช้เหมือนกัน การจัดการจะง่าย และจัดการได้ทีเดียวพร้อมกันทั้งหมด ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการคัดแยก
“ด้วยเหตุนี้หากเป็นไปได้จึงอยากแนะนำให้ชุมชนและหน่วยงานผู้รับผิดชอบต่างๆ มีการรณรงค์ให้ใช้วัสดุแบบเดียวกันในแต่ละพื้นที่ โดยเริ่มต้นจากการมองไปที่ปลายทางก่อน ว่าในพื้นที่ของตนเองมีวิธีการหรือแนวทางการจัดการกับขยะ อย่างไรบ้าง เช่น หากในชุมชนมีถังหมัก สามารถนำขยะจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กาบกล้วย ดอกไม้ มาหมักให้เกิดเป็นปุ๋ยชีวภาพ หรือ หมักโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนให้เกิดแก๊สชีวภาพได้ ชุมชนก็อาจจะกลับมาร่วมกันรณรงค์ที่ต้นทาง คือ ให้คนในชุมชนใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแบบเดียว ห้ามใช้โฟม พลาสติก หรือกระดาษเด็ดขาด เพื่อให้การจัดเก็บง่ายและนำไปใช้กับถังหมักได้ทันที เช่นเดียวกับในกรณีของกทม. ที่ในบางเขตพื้นที่มีโรงงานหมักขยะมูลฝอย ก็อาจรณรงค์ให้ประชาชนหรือชุมชนบริเวณนั้น ใช้กระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติแบบเดียว เพื่อให้จัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย

นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น สถานที่ท่องเที่ยว หรือวัด ที่มีสระน้ำ บึงน้ำที่มีปลาอาศัยจำนวนมาก ก็เลือกรณรงค์ให้ใช้กระทงขนมปังแบบเดียวกัน โดยจำกัดปริมาณขนมปัง ด้วยการทำกระทงให้เล็ก และบางลง เพื่อไม่ให้มีปริมาณมากจนทำให้น้ำเน่าเสีย หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่หาวัสดุธรรมชาติได้ยาก แต่ว่ามีโรงงานรีไซเคิลโฟมในบริเวณนั้น ก็อาจชักชวนให้ใช้กระทงโฟมทั้งหมด สำหรับจัดเก็บโฟมไปส่งให้โรงงานรีไซเคิลโฟม นำกลับมาใช้ใหม่ต่อไป”

ดร.ธนาวดี กล่าวว่า การเลือกใช้วัสดุต้องพิจารณาตามความเหมาะสมกับพื้นที่ของตน วัสดุทุกประเภทมีคุณค่า และสามารถนำมาใช้งานได้ ไม่มีวัสดุประเภทไหนที่ดีหรือไม่ดีไปทั้งหมด เพราะการจัดการขยะของบ้านเราส่วนใหญ่ใช้วิธีการฝังกลบ ดังนั้นหากในพื้นที่ฝังกลบไม่มีการจัดเก็บก๊าซที่ถูกปลดปล่อยจากการย่อยสลายไปใช้ประโยชน์ต่ออย่างเป็นระบบ วัสดุจากธรรมชาติก็มีโอกาสย่อยสลายและปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้เช่นกัน ขณะที่โฟมในกรณีที่นำไปฝังกลบจะมีการย่อยสลายที่ยากมาก จึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศในทันที แต่มีผลเสียทำให้ต้องใช้พื้นที่ฝังกลบจำนวนมาก คราวนี้อาจต้องมาจับเข่านั่งคุยกันก่อน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เลือกใช้ในสิ่งที่มี เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด

ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ จึงควรมีการรักษาสืบสานประเพณีนี้ต่อไป เพียงแต่พิจารณาเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ลดการใช้ และหาวิธีการกำจัดหรือนำกลับมาใช้ใหม่อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้การลอยกระทง สร้างมลพิษน้อยที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท