จนท.ไอซีทีเผย การขึ้นบัญชีดำบล็อคเว็บ "ล้มเหลว"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยเห็นว่าการขึ้นบัญชีดำปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ได้ผลและควรถูกยกเลิก

นายธงชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวในงานประชุมด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต องค์การโทรคมนาคมแห่งเอชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecommunity) ที่จัดขึ้นรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าการขึ้นบัญชีดำปิดกั้นเว็บไซต์นั้นเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยและสร้างภาระในการจัดการที่เกินความจำเป็นแก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

"เราต้องการปล่อยให้ผู้ปกครองและครูเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกคัดกรองอะไร เพราะ [ระบบปัจจุบันนี้] มันเกินกำลัง" นายธงชัยกล่าว

"บัญชีดำเว็บไซต์นั้นเพิ่มขนาดขึ้นมากจนเป็นภาระของผู้ให้บริการ การขึ้นบัญชีดำนี้ใช้การไม่ได้"

เมื่อพิจารณาจากกระแสของปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เช่น ข้อจำกัดของการปิดกั้นและการไม่สามารถป้องกันการหลบเลี่ยงได้นั้น นายธงชัยกล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียอาจแค่กำลังหาแรงสนับสนุนจากประชาชนต่อแผนการคัดกรองเว็บไซต์ที่ตอนนี้ล้าสมัยไปแล้ว

"คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่ารัฐบาลกำลังพยายามทำอะไรสักอย่าง ภาพพจน์ก็จะดูดี" นายธงชัยกล่าวกับ ZDNet

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยใช้วิธีขึ้นบัญชีดำ URL และการกรองเว็บไซต์ที่ระดับเกตเวย์ โดยถูกโจมตีอย่างมากจากกลุ่มนักกิจกรรมทางสังคมต่อการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในทางกดขี่

นายธงชัยเสริมว่าการปิดกั้นเว็บไซต์โดยรัฐบาลนั้นเป็นไปตามคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม เคยมีการกล่าวอ้างว่าผู้ให้บริการที่ไม่ให้ความร่วมมือต่อการสั่งปิดกั้นอย่างไม่เป็นทางการนั้นจะต้องพบกับโทษบางอย่าง

การคัดกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตนั้นยังถูกโจมตีจากนักกิจกรรมทางสังคมในนิวซีแลนด์ หลังจากที่ระบบดังกล่าวถูกประกาศใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

มาร์ติน ค็อกเกอร์ ผู้อำนวยการองค์กรเพื่อเด็กและเยาวชน NetSafe ในนิวซีแลนด์ กล่าวแก่ ZDNet ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการคัดกรองเว็บไซต์ เนื่องจากไม่สามารถป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายได้จริง แต่ก็ยอมรับว่ามันช่วยขัดขวางได้บ้าง

แผนการคัดกรองเนื้อหาออนไลน์ของนิวซีแลนด์ต่างจากของออสเตรเลียตรงที่มีการปิดกั้นเพียงเนื้อหาอนาจารเด็กเท่านั้น โดยมีบริษัท Telecom NZ เป็นผู้เริ่มทดลองดำเนินการแผนนี้

แปลและเรียบเรียงจาก http://www.zdnet.com.au/our-blacklist-has-failed-us-thai-minister-339307333.htm

 

รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายคัดกรองเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต โดยจะทำให้มีการปิดกั้นเนื้อหาลามก ความรุนแรง ภาษาหยาบคาย การใช้ยาเสพติด ไปจนถึงเนื้อหาอนาจารเด็ก โดยรวมเนื้อหาที่เคยถูกจำกัดอายุไว้แล้ว ตั้งแต่เนื้อหาที่ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าชม ไปจนถึงเนื้อหาที่ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม

ทั้งนี้ จากสถิติเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 มีการลงรายการที่ต้องปิดกั้นไว้ 1,175 หน้าเว็บ มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่เป็นเนื้อหาอนาจารเด็ก

อย่าง ไรก็ตาม หลังจากการทบทวนแนวนโยบายแล้ว ประเทศออสเตรเลียต้องรอเวลาอีกหนึ่งปีก่อนการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้กฎหมายนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา ซึ่งพรรคฝ่ายค้านยังคงคัดค้านอยู่ นอกจากนั้นแล้วนโยบายดังกล่าวยังถูกคัดค้านโดยนักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอย่าง Google และ Yahoo พรรคการเมืองอื่น และองค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพออนไลน์อย่าง Electronic Frontiers Australia มาโดยตลอด

ปัจจุบัน พลเมืองออสเตรเลียมากกว่า 19,000 คนลงชื่อคัดค้านนโยบายการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตนี้
 


เรียบเรียงจาก แผนเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตในออสเตรเลีย และการคัดค้าน, เครือข่ายพลเมืองเน็ต
http://thainetizen.org/censorship-in-australia

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท