Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: 
In the Time of the Butterfliesชื่อ มิใช่เพียงความรุนแรงต่อสตรี แต่คืออาชญากรรมรัฐที่กระทำต่อประชาชนผู้ “ไม่จงรักภักดี”
[i]

 


Dede-Mirabal


Hnas-Mirabal


Minerva


Trujillo-dictators

 

            ขบวนการเฟมินิสต์ทั่วโลกใช้ความพยายามนานกว่าสองทศวรรษในการผลักดันให้โศกนาฏกรรมที่เกิดกับพี่น้องหญิงตระกูลมิราเบิลในสาธารณรัฐโดมินิกัน เมื่อปี พ.ศ.2503 เป็นสัญลักษณ์สากลของ “ความรุนแรงต่อสตรี” โดยในที่สุด ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ พ.ศ.2524 ได้ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรี” (International Day for the Elimination of Violence Against Women)

            25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 ศพของสามสาวพี่น้องชาวโดมินิกัน แพทเทรียเดอ กอนซาเรซ (Patria Mirabal de Gonzáles), มิเนอว่า มิราเบิล เดอ ทวาเรซ (Minerva Mirabal de Tavárez) และ มาเรีย เทเรซา มิราเบิล เดอ กุซมาน (Maria Teresa Mirabal de Guzman) พร้อมคนขับรถ รูฟิโน เดอ ลา ครูซ  [Rufino de la Cruz] ถูกพบพร้อมซากรถที่เชิงผาบนเส้นทางเลียบเขาระหว่างเมือง Salcedo และ Puerto Plata ในสาธารณรัฐโดมินิกัน รัฐบาลแถลงว่าเป็นอุบัติเหตุรถตกหน้าผา แต่ความจริงที่ปรากฎต่อมา คือ มันเป็นฆาตกรรมอำพรางในเงาเงื้อมของอำนาจรัฐ

            แม้ว่านักสตรีนิยมจะหยิบยกโศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับสามสาวพี่น้องมิราเบิลมาเป็นประเด็นรณรงค์ในเรื่องการยุติ ”ความรุนแรงต่อผู้หญิง” แต่ข้อเท็จจริงที่มิอาจปฏิเสธได้อีกประการหนึ่งคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องมิราเบิลนั้นมิได้เป็นเพียงความรุนแรงที่กระทำต่อสตรีเท่านั้น แต่เป็นอาชญากรรมรัฐที่กระทำกับทั้งหญิงและชายที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงประชาชน และผู้นำที่บังคับให้ประชาชนเทิดทูนเขาราว “พระเจ้า”

            ประวัติศาสตร์อาชญกรรมรัฐของสาธารณรัฐโดมินิกันในช่วงนั้นได้ถูกบันทึกไว้ผ่านการต่อสู้ทางการเมืองและความตายของพี่น้องตระกูลมิราเบิลในหนังสือเรื่อง In the Time of the Butterflies โดย Julia Alvarez นักเขียนหญิงเชื้อชาติโดมินิกัน ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2537 และยังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2544

            Alvarez เล่าไว้ในบันทึกท้ายเล่มว่า ครอบครัวของเธอลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้สี่เดือนก่อนที่พี่น้องตระกูลมิราเบิลจะถูกฆาตกรรม บิดาของ Alvarez เป็นสมาชิกขบวนการใต้ดินเช่นเดียวกับพี่น้องมิราเบิล ตอนนั้น Alvarez ยังเป็นเด็กหญิง แต่เธอไม่เคยลืมข่าว “อุบัติเหตุ”ครั้งนั้นเลย ในการเขียนหนังสือ In the Time of the Butterflies เล่มนี้  Alvarez เดินทางกลับไปสาธารณรัฐโดมิกันหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องมิราเบิลและสถานการณ์ทางการเมืองของสาธารณรัฐโดมินิกันในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ คนที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในการช่วยเรียงร้อยให้ประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณรัฐโดมินิกันและการไม่ยอมสยบกับอำนาจผู้นำเผด็จการของพี่น้องมิราเบิลออกมาโลดแล่นในหนังสือ In the Time of the Butterflies คือ เดเด้ มิราเบิล (Dedé Mirabal) น้องสาวคนที่สองของตระกูลที่รอดชีวิตเพราะไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยในวันที่เกิด “อุบัติเหตุ”

            ปัจจุบัน เดเด้อายุ 85 ปี ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านหลังเดิมในเมือง Salcedo ที่เป็นสถานที่เกิดของพี่น้องทั้งสี่คนและทั้งหมดได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังนี้ในช่วงสุดท้ายก่อนที่ แพทเทรีย, มิเนอว่า และมาเรีย เทเรซ่า จะถูกฆาตกรรม

ปัจจุบัน เดเด้ทำบ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มิราเบิล (Museo Hermanas Mirabal) จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆของ แพทเทรีย, มิเนอว่า, และมาเรีย เทเรซ่า ในบรรดาของที่จัดแสดงนั้น สิ่งหนึ่งที่มีความหมายยิ่งต่อเดเด้ คือ ผมเปียของมาเรีย เทเรซ่า ที่เธอบรรจงตัดจากร่างไร้วิญญานของน้องสาวมาเก็บรักษาไว้

            เดเด้บอกกับทุกคนว่า “ฉันมีชีวิตอยู่เพื่อเล่าเรื่องของพี่สาวและน้องสาวของฉัน”
 

0 0 0

 ตรูจิโล.. ผู้นำที่โหยหาความจงรักภักดี
ย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2473 นายพลราฟาเอล ลีออนนีดาส ตรูจิโล (Rafael Leónidas Trujillo) วัย 38 ปี ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาผ่านการเลือกตั้งที่ไม่ชอบมาพากล เขาชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถึง 95% ท่ามกลางความกังขาของประชาชนทั่วไป และผู้พิพากษาที่ออกมาระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยสิ่งผิดปกติและการทุจริตนั้นต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง

พลันที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี นายพลตรูจิโล ประกาศคำขวัญให้ชาวโดมินิกันทุกคนท่องจำกันว่า “พระเจ้า และตรูจิโล” (God & Trujillo)

ทุกบ้านต้องมีรูปของตรูจิโลประดับข้างฝา เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำที่เปรียบตัวเองเสมือน “พระเจ้า”

ในสถาบันการศึกษา นักเรียนทุกคนต้องกล่าวคำขวัญสดุดีตรูจิโลทุกเช้าก่อนเข้าห้องเรียน

ในวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ทุกคนต้องกล่าวสดุดีตรูจิโล และในพิธีฉลองการสำเร็จการศึกษา บัณฑิตทุกคนต้องกล่าวขอบคุณตรูจิโล;

ประชาชนทุกคนต้องพึงตระหนักว่าความสำเร็จทุกอย่างล้วนแล้วแต่มาจากความกรุณาปราณีของผู้นำ

ถนนเกือบทุกสายในเมืองหลวงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อของสมาชิกในครอบครัวของตรูจิโล

และตามท้องถนน ที่สาธารณะ หรือแม้แต่หน้าบ้าน หากมีใครสักคนตะโกนขึ้นมาว่า “ตรูจิโล..จงเจริญ” ทุกคนที่อยู่บริเวณนั้นต้องขานรับด้วยข้อความเดียวกัน มิฉะนั้นจะถูกข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดี” มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจลับเอาไว้สืบหา “พวกไม่จงรักภักดี” เพื่อลากตัวมาลงโทษ นอกจากตำรวจลับแล้ว สังคมโดมินิกันขณะนั้นยังเต็มไปด้วยพวก “เชลียร์” ผู้นำ คอยสอดสายตาหาตัว “ผู้ไม่จงรักภักดี” ส่งให้เจ้าหน้าที่รัฐลงโทษ

ตลอด 30 ปีภายใต้การปกครองของตรูจิโล มีการใช้อำนาจรัฐคุกคามประชาชนอยู่ทุกที่ โดยเฉพาะการคุกคามกลุ่มผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

การใช้กฎหมายและอำนาจบังคับให้ประชาชนต้องจงรักภักดีต่อผู้นำ  นำไปสู่ความอึดอัดของประชาชนจำนวนมาก  และทำให้ขบวนการใต้ดินต่อต้านอำนาจรัฐโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะทั้งประชาชน เยาวชน คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักศึกษาพากันเข้าร่วมกับขบวนการใต้ดิน  รัฐบาลตรูจิโลโต้ตอบด้วยการจับกุมคุมขังนักศึกษาที่ต้องสงสัยไว้จำนวนมาก

 

สี่สาวตระกูลมิราเบิล กับการต่อต้านอำนาจรัฐ
ครอบครัวมิราเบิลมีบุตรสาวทั้งหมด 4 คน คือ แพทเทรีย, เดเด้, มิเนอว่า, และมาเรีย เทเรซ่า บิดาของพวกเธอชื่อ ดอน เอนริเก้ (Don Enrique) เป็นชาวไร่และทำการค้าพืชไร่จนมีฐานะดี มารดาของพวกเธอ คือ ดอน่า เชีย (Doña Chea) อ่านหนังสือไม่ออกเลย แต่สนับสนุนให้ลูกสาวทั้งสี่คนได้รับการศึกษา พวกเธอทุกคนจึงถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนคอนแวนต์

ตอนที่ถูกฆาตกรรมนั้น  แพทเทรีย อายุ 36 ปี มิเนอว่า อายุ 34 ปี และมาเรีย เทเรซา มีอายุเพียง 25 ปี ทุกคนแต่งงานมีครอบครัวแล้ว

มิเนอว่า เป็นคนแรกที่เริ่มเกลียดชังและแข็งขืนกับอำนาจเผด็จการตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมในคอนแวนต์ เพราะได้รับรู้เรื่องราวที่ครอบครัวของเพื่อนสนิทของเธอถูกอำนาจรัฐคุกคามข่มเหง  เธอเริ่มขวนขวายหาช่องทางรับรู้ข่าวสารของขบวนการใต้ดินต่อต้านรัฐจากสถานีวิทยุคลื่นสั้นต่างๆ

ครอบครัวมิราเบิลมีฐานะอยู่ในแวดวงของผู้มีอันจะกินของเมือง Salcedo จึงได้รับเชิญไปร่วมงานสังสรรค์สโมสรที่ภาครัฐจัดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ครั้งสำคัญคืองานราตรีสโมสรที่จัดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล หนังสือ In the Time of the Butterflies เล่าว่าในงานคืนนั้น ความสวยของมิเนอว่าเป็นที่ต้องตาของตรูจิโล แต่มิเนอว่าหลบเลี่ยงแข็งขืนและครอบครัวมิราเบิลรีบพากันหนีกลับก่อนที่งานจะเลิก

นั่นกลายเป็นความผิดถึงขั้นที่บิดาของเธอถูกเรียกไปสอบสวนและถูกจำคุกอยู่ถึง 2 ปี เพราะตรูจิโลตั้งกฎไว้ว่า ห้ามแขกที่ได้รับเชิญมาร่วมงานกลับก่อนได้รับอนุญาต  

ชาวโดมินิกันทุกคนในยุคนั้นซึมซาบกันดีว่า ตรูจิโลคือกฎหมาย และอยู่เหนือกฎหมาย

ท้ายที่สุดครอบครัวมิราเบิลถูกบังคับให้ไปขออภัยโทษจากตรูจิโล รวมทั้งมิเนอว่าต้องขออนุญาตจากตรูจิโลให้โอกาสเธอได้เข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย

มิเนอว่าเลือกเรียนนิติศาสตร์ ที่ University of Santo Domingoซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า “Ciudad Trujillo” มิเนอว่าเข้าร่วมกับขบวนการใต้ดินของนักศึกษาโดยทันที เธอกลายเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของขบวนการนักศึกษาในเวลาไม่นานนัก มิเนอว่าพบกับสามีในอนาคตของเธอที่นี่ มานูเอล (Manuel Aurelio Tavarez Justo) เป็นนักศึกษานิติศาสตร์เหมือนกัน เขาเป็นผู้นำนักศึกษาในขบวนการใต้ดินเช่นกัน  

มิเนอว่าใช้เวลา 5 ปีในการเรียนจนได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณทิต เธอเขียนวิทยานิพนธ์ หัวข้อ "The Principle of the Irretroactiveness of Laws and Dominican Jurisprudence" ตั้งคำถามกับสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในรัฐโดมินิกัน เป็นเหตุให้มีคำสั่งจาก “เบื้องบน” ไม่ให้มีการออกใบอนุญาตทนายความให้กับเธอ

มาเรีย เทเรซ่า น้องสาวคนสุดท้องของตระกูลเข้าศึกษาต่อสาขาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเดียวกันกับพี่สาว มาเรีย เทเรซ่า พบกับลีอันโดร กุซมาน (Leandro Guzmán) นักศึกษาคณะ

วิศวกรรม สามีในอนาคตของเธอที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน เธอตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการใต้ดินในเวลาต่อมา

มิเนอว่ามีรหัสชื่อสำหรับใช้ในขบวนการเคลื่อนไหวว่า “mariposa #1” แปลว่า “ผีเสื้อหมายเลข 1” ส่วนมาเรีย เทเรซ่า ได้รับรหัสชื่อว่า “mariposa #2” คือ “ผีเสื้อหมายเลข 2”

แพทเทรีย พี่สาวคนโตของตระกูล  ผู้มีศรัทธาแรงกล้าในพระเจ้าจนเกือบจะตัดสินใจบวชเป็นชีมืด และเป็นผู้ที่ไม่แคยฝักใฝ่การเมืองมาก่อนเลย ตัดสินใจเข้าร่วมกับน้องสาวทั้งสองในเวลาต่อมาเพราะไม่อาจทนกับการที่รัฐบาลใช้อำนาจปราบปรามเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามได้อีกต่อไป แพทเทรียได้รับรหัสชื่อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวว่า “mariposa #3” คือ “ผีเสื้อหมายเลข 3”

แพทเทรียไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เธอแต่งงานหลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนคอนแวนต์ สามีของเธอเป็นชาวไร่

เดเด้ น้องสาวคนที่สองของพี่น้องตระกูลมิราเบิล เป็นคนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขบวนการใต้ดิน  เมื่อพี่สาวและน้องสาวทั้ง 3 คนถูกฆาตกรรม เดเด้และมารดารับภาระเลี้ยงดูเด็กๆทั้งหมด 9 คนที่เป็นลูกของแพทเทรีย 4 คน, ลูกของมิเนอว่า 2 คน, ลูกของมาเรีย เทเรซ่า 1 คน และลูกของเธอเองอีก 2 คน

 

นักโทษการเมืองหญิง
มิเนอว่า และมาเรีย เทเรซ่า ถูกจับพร้อมกับสามีของพวกเธอ และสามีของแพทเทรีย  เธอทั้งสองและนักโทษการเมืองหญิงทั้งหมดถูกนำตัวไปขังรวมกับผู้ต้องขังหญิงในคดีอาชญากรรมอื่นๆ

ในหนังสือ In the Time of the Butterflies เล่าว่ามิเนอว่าถูกนำตัวไปสอบสวนโดยถูกจับเปลือยกายท่ามกลางเจ้าหน้าที่สอบสวนและผู้คุมชาย และต่อหน้ามานูเอล สามีของเธอ เพื่อบังคับให้มานูเอลเปิดเผยเกี่ยวกับขบวนการใต้ดิน แต่ในหลักฐานอื่นๆบางชิ้นระบุว่าพี่น้องสองสาวถูกกระทำทารุณกรรมทางเพศในระหว่างที่ถูกคุมขังด้วย

หลังถูกคุมขังอยู่ในคุกนาน 7 เดือน ในเดือนสิงหาคม 2503 ทาง OAS (The Organization of American States) ได้ส่งผู้แทนมาเข้าเยี่ยมเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษหญิงในเรือนจำ มาเรีย เทเรซ่า ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนนักโทษในการให้ปากคำกับผู้แทนคณะกรรมการ OAS เธอฉวยโอกาสนี้แอบม้วนกระดาษแผ่นเล็กๆที่เขียนข้อความสำคัญซ่อนไว้ในผมเปียของเธอและแอบส่งให้กรรมการฯคนหนึ่ง

สองวันต่อมา มิเนอว่า และมาเรีย เทเรซ่า ได้รับการปล่อยตัว แต่พวกเธอยังคงถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง พวกเธอได้รับอนุญาตให้ออกพ้นเขตบ้านของตัวเองเพียงสัปดาห์ละ 2 วัน คือไปเยี่ยมสามีของพวกเธอทุกวันพฤหัส และไปโบสถ์ทุกวันศุกร์

ตำรวจลับถูกส่งมาเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของครอบครัวมิราเบิล บ่อยครั้งที่ยามดึกดื่น พวกเขาลุกขึ้นมาตระโกนว่า “ตรูจิโลจงเจริญ” เพื่อต้องการฟังเสียงขานรับของสมาชิกทุกคนในครอบครัวมิราเบิล

และทุกคนในบ้านต้องส่งเสียงขานรับทีละคนว่า “ตรูจิโลจงเจริญ”

           

วันสังหารผีเสื้อ...อาชญากรรมรัฐ และคำสารภาพของฆาตกร
“อุบัติเหตุ” เกิดขึ้นในวันที่มิเนอว่าและมาเรีย เทเรซ่า ได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมสามีของพวกเธอที่เพิ่งถูกย้ายที่คุมขัง สามีของแพทเทรียไม่ได้ถูกย้ายไปด้วย แต่แพทเทรียร่วมเดินทางไปกับน้องสาวทั้งสองด้วย โดยมีเดเด้รับหน้าที่ดูแลเด็กๆอยู่ที่บ้าน

หลังเกิดเหตุ อัล คาริเบ้ (El Cáribe) เจ้าหน้าที่รัฐแถลงว่า "อุบัติเหตุทีทำให้คนขับรถ รูฟิโน ครูซ และพี่น้องมิราเบิล คือ แพทเทรีย เดอ กอนซาเลซ, มิเนอว่า มิราเบิล เดอ ทวาเรซ และมาเรีย เทเรซา เดอ กุซมาน เสียชีวิตนั้น สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ครูซไม่สามารถควบคุมรถได้"

นิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2503 ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ “อุบัติเหตุ” ที่คร่าชีวิตพี่น้องมิราเบิล โดยเรียก อัล คาริเบ้ ว่าเป็น “กระบอกเสียงของตรูจิโล” และตั้งข้อสังเกตว่า “มีอีกหลายเรื่องที่ อัล คาริเบ้ ไม่ได้พูด” โดยบทความนี้ยังได้รื้อฟื้นถึงเหตุการณ์ที่มีการเล่ากันว่า

มิเนอว่าถูกตรูจิโลลวนลามในงานราตรีสโมสรที่ทำเนียบรัฐบาล จนบิดาต้องแอบพาเธอหนีออกมาจากงาน ซึ่งเป็นเหตุให้บิดาของเธอต้องถูกจำคุกอยู่ถึง 2 ปี ไทมส์ระบุด้วยว่าบิดาของมิเนอว่าถูกทรมานในระหว่างที่ถูกจำคุก และเขาเสียชีวิตหลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมาได้เพียง 15 วัน

บทความของไทมส์ชิ้นนี้ วิเคราะห์ไว้ว่าความตายอย่างทารุณของพี่น้องมิราเบิลและคนขับรถนั้นเป็นประเด็นที่ขบวนการใต้ดินฯคงจะต้องครุ่นคิด

หลังเหตุการณ์ฆาตกรรมอำพรางเพียง 6 เดือน ตรูจิโลถูกลอบสังหารในวันที่ 30 พฤษภาคม 2504
 

หลังการตายของตรูจิโล่  Ciriaco de la Rosa เจ้าหน้าที่ในหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาล ถูกจับกุมและนำตัวมาดำเนินคดี เขาถูกพิพากษาจำคุก 30 ปีในความผิดฐานฆาตกรรมสามพี่น้องและคนขับรถ ตำรวจลับอีก 4 คนที่ร่วมทีมสังหารถูกพิพากษาจำคุกคนละ 20 ปี

Ciriaco de la Rosa ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสังหารให้ปากคำว่า:

 

“...เมื่อสั่งให้รถหยุดแล้ว เราขับรถไปอยู่ตรงจุดที่ใกล้ๆกับรอยแยกหน้าผา ผมสั่งให้ Rojas เลือกจัดการกับคนหนึ่ง เขาเลือกเอาคนมีผมเปียยาว [มาเรีย เทเรซ่า]ไป  Alfonso Cruz จัดการกับคนที่สูงที่สุด [มิเนอว่า] ผมจัดการกับคนตัวท้วมผมสั้น [แพทเทรีย] และ Malleta จัดการคนขับรถ [Rufino de la Cruz] ผมสั่งให้เอาตัวพวกเธอไปที่ไร่อ้อยที่อยู่สุดถนน และให้แต่ละคนแยกกันไปจัดการโดยไม่ให้พวกเธอได้ยินเสียงกันและกัน ผมสั่งให้ Perez Terrero คอยเฝ้าดูต้นทางว่ามีใครผ่านมามาเห็นเหตุการณ์หรือไม่ นั่นคือความจริงของเหตุการณ์ ผมไม่ได้ต้องการโกหก ผมพยายามแล้วที่จะไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ แต่ไม่สามารถขัดขืนได้ เพราะถ้าผมไม่ทำ เขา [ตรูจิโล]จะต้องฆ่าพวกเรา..”

จากคำสารภาพของ Ciriaco de la Rosa เจ้าหน้าที่ของ the Military Intelligence Service (SIM) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสังหาร

 
Ciriaco de la Rosa และทุกคนหลบหนีจากคุกไปได้ในช่วงเกิดสงครามเย็น ปี 2508  Ciriaco de la Rosa หนีไปตั้งรกรากอยู่ในสหรัฐอเมริกาจนเสียชีวิตในปี พ.ศ.2545 เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ภาพยนตร์เรื่อง In the Time of the Butterflies ออกฉาย

 

ภาคผนวก:
เรื่องของพี่น้องหญิงตระกูลมิราเบิลกลายเป็นตำนานการต่อสู้ทางการเมืองของสาธารณรัฐโดมินิกัน  ที่ได้รับการบันทึกไว้ในตำราเรียน 

ภาพของสามสาวพี่น้องมิราเบิลถูกนำไปพิมพ์บนแสตมป์และธนบัตรของสาธารณรัฐโดมินิกัน

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ในวาระครบรอบ 47 ปีของการเสียชีวิตของพวกเธอ จังหวัด Salcedo ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Hermanas Mirabal เพื่อเป็นการยกย่องการต่อสู้ทางการเมืองของพี่น้องตระกูลมิราเบิล

ทายาทของตระกูลมิราเบิลรุ่นปัจจุบัน 2 คน เป็นนักการเมืองคนสำคัญของสาธารณรัฐโดมินิกัน คือ ไจมี่ เดวิด เฟอร์นันเดช มิราเบิล (Jaime David Fernandez Mirabal) บุตรชายของเดเด้ เป็นรองประธานาธิบดีระหว่างปี พ.ศ. 2539-2543 และมิเนา ทวาเรซ มิราเบิล (Minou Tavarez Mirabal) ลูกสาวคนโตของมิเนอว่าได้รับเลือกเป็นสมาชิกรัฐสภาหลายสมัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน 

ทุกๆปี ในช่วงวาระครบรอบคำประกาศวันขจัดความรุนแรงต่อสตรี เดเด้ และมิเนา จะได้รับเชิญไปเป็นแขกเกียรติยศในงานต่างๆที่มีการจัดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เดเด้ มิราเบิล ยังคงทำหน้าที่เล่าประวัติศาสตร์อาชญากรรมรัฐที่พรากชีวิตพี่สาวและน้องสาวของเธอไป เดเด้ใช้เวลาทั้งหมดของเธอดูแลพิพิธภัณฑ์ Museo Hermanas Mirabal  

เธอบอกกับผู้มาเยี่ยมชมทุกคนว่า

"ฉันมีชีวิตอยู่เพื่อเล่าเรื่องของพี่สาวและน้องสาวของฉัน"

 

 

 

 


[i] ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่ 1577 (ประจำวันที่ 5-11พฤศจิกายน พ.ศ.2553) และฉบับที่ 1578 (ประจำวันที่ 12-18 พฤศจิกายน พ.ศ.2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net