Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักทุกช่องทางนำเสนอเรื่องศพเด็กทารกที่เกินจากการทำแท้งมากกว่าสองพันศพที่วัดแห่งหนึ่ง ข่าวถูกตีสะพัดในหลายๆ แง่มุม บางฉบับเลือกนำเสนอเรื่องของการท้องไม่พร้อมและวิกฤตคุณแม่วัยรุ่น บางฉบับพูดถึงกฎหมายการทำแท้งเสรี หรือเลยเถิดไปกว่านั้นบางฉบับเลือกนำเสนอว่าบรรดาคอหวยพากันตีเลขเด็ดจากจำนวนศพทารก

คำถามก็คือ การเลือกนำเสนอในเรื่องดังกล่าวใครได้ประโยชน์? ไม่มีใครได้ประโยชน์ คือคำตอบ การพยายามตอกย้ำภาพที่สยดสยองเคล้าด้วยการเล่าข่าวด้วยอารมณ์แบบ Emotional Journalist เหมือนเป็นการไปกดโดน "แผลกดทับ" ของผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำแท้ง ถ้าหากมีทางเลือก พวกเขาเหล่านั้นคงไม่เลือกเดินไปในทางนี้ การรีรันภาพอย่างซ้ำไปซ้ำมาเป็นการเปิดแผลที่พวกเขาอยากจะลืม

ในวงเสวนาของเครือข่ายพลเมืองเน็ตล่าสุด ผู้ที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องเพศสภาพได้ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ไปทำแท้งส่วนใหญ่ไม่ใช่วัยรุ่น แต่เป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-40 ปีขึ้นไปที่ไม่มีความต้องการจะมีบุตร ทั้งเหตุผลด้านสุขภาพและทางเศรษฐกิจ เช่น เป็นสาวโรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของการเลือกนำเสนอของสื่อกระแสหลัก ที่เลือกหยิบประเด็นวัยรุ่นมาตีข่าวเพียงเพราะว่ามัน "ขายได้"

ปัญหาในการเลือกสรรนำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในประเทศที่เราเชิดชู "เปลือก" ภายนอกมากกว่าแก่นจนอาจเรียกได้ว่า "ระบอบหน้าตาธิปไตย" คือชื่นชมคนที่หน้าตาดี ปูมหลังดี ดูมีชาติตระกูล นั้นเรื่องเพศสภาวะได้ถูกนำเสนออย่างสนุกปาก

กระทู้จากเว็บบอร์ดยอดนิยมอันดับหนึ่งเคยมีตั้งคำถามว่า "ถ้าหากให้คุณเป็นสามีของน้องปอย คุณจะเอาหรือไม่?” ความคิดเห็นที่ถูกแสดงออกนั้นถูกแสดงออกมาในแง่ชื่นชมชื่นชอบน้องปอย เพียงเพราะว่าเปลือกภายนอกเธอนั้นดูสวยงามและน่าดึงดูด แต่ถ้าหากเปลี่ยนจากน้องปอย เป็นสาวประเภทสองจิตใจดีแต่รูปลักษณ์ภายนอกนั้นไม่น่าดูชม อวบอ้วน หรือหน้าปรุ คำตอบยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

ทำไมภาพลักษณ์ของสาวประเภทสองที่สวยงาม อย่างน้องปอย หรือโกโก้ สตรีเหล็กถูกนำเสนอในแง่ของความสวยงามและในทางตรงกันข้าม อีกหลายๆ กลุ่มกลับถูกเลือกนำเสนอในด้านตลกโปกฮา เพียงเพราะว่าเขาไม่สวยหรือ? มีการฟอร์เวิร์ดเมลภาพของกลุ่มสาวประเภทสองที่หน้าตาไม่ดี โพสต์ท่าเซ็กซี่ในแบบที่เขาคิดว่าสวย ซึ่งถูกถ่ายเก็บไว้ในอัลบั้มออนไลน์ส่วนตัว แต่ถูกนำไปเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตและกลายเป็นที่ตลกโปกฮา และวิพากษ์กันอย่างคะนองปากของผู้ที่ได้ชม ถามว่าในสิ่งที่เจ้าตัวคิดว่าสวยและเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลนั้น กลายเป็นที่ขบขันของคนส่วนรวม ใครเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความสวย?

เรื่องพื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในวงเสวนาที่ประเทศไต้หวันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประเด็นสังคมด้วยอินเทอร์เน็ต กลุ่มผู้หญิงในทวีปเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ได้เสนอข้อคิดเห็นว่าสาเหตุที่โซเชียลเน็ตเวิร์คได้รับความนิยมในกลุ่มผู้หญิงประเทศเอเชียใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่พวกเธอได้แสดง "ตัวตน"

บนฐานความเชื่อที่ว่าในโลกออนไลน์ไม่มีชั้นวรรณะ ไม่มีฐานะ และที่สำคัญไม่มีเพศ พวกเธอกล่าวว่าพวกเธอสามารถจะพูดจะสื่อสารอะไรก็ได้บนหน้าวอลล์ของเฟซบุ๊ก ในขณะที่โลกแห่งความจริง พวกเธอไม่แม้แต่มีสิทธิที่จะคิดในสังคมที่ยังไม่เปิดอย่างเต็มที่

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าคือเคยเกิดเรื่องน่าเศร้า ในประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียใกล้บ้านเรา ต้นเหตุเกิดขึ้นจากเกมออนไลน์ โดยมีผู้เล่นสองคนพบรักกันในเกมออนไลน์ โดยมีการแชทคุยกันในเกม มีการดูแลกัน แบ่งอาวุธและเงินในเกมให้กัน เสมือนผู้ชายจีบผู้หญิงในโลกแห่งความจริง

แต่ที่ไม่ปรกติก็คือ ตัวละครที่ถูกคิดว่าเป็นผู้หญิงนั้น แท้จริงคือผู้ชายอายุ40 ปีที่มีหน้าตาไม่ดึงดูดเสน่ห์นัก และเรื่องน่าเศร้าอุบัติขึ้นเมื่อพ่อหนุ่มที่เฝ้าประคบประหงมในโลกออนไลน์ ดันไปรู้ทีหลังว่าหญิงสาวอ่อนหวานที่อยู่ในเกมนั้นตัวจริงไม่ใช่ผู้หญิง ด้วยความอับอายเขาจึงลงมือทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนถึงแก่ชีวิต!!! ถูกต้อง สิ่งที่ฝ่ายผู้เสียชีวิตทำเข้าข่ายเรื่องการหลอกลวง แต่สมควรหรือที่เกิดการใช้ "อำนาจ"ในการตัดสินปัญหา เพียงเพราะว่าความสัมพันธ์ที่คิดว่าถูกต้องบนฐานชายควรคู่กับหญิงนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด การกระทำดังกล่าวเสมือนการกู้หน้าจากการถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี แทนที่จะให้กฏหมายดำเนินการ

น่าสนใจว่าในพื้นที่ที่เราคิดว่าเสรีนั้น เสรีจริงหรือไม่ กลุ่มคนพวกนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงพวกเขาถูกไล่พื้นที่จนต้องเลือกใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่แสดงตัวตน และในปัจจุบันก็มีคนที่พยายามจะนำ "สถาบัน" เช่น ศีลธรรม ค่านิยม และอาจรวมไปถึงกฏหมายบางอย่างเข้าไปจัดระบบระเบียบ ค่านิยมในโลกออนไลน์

บางทีเรื่องเพศ อาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดกันถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ในอันดับต้นๆ ของโลกออนไลน์ก็เป็นได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net