คลิปอดีตเลขาฯ ประธานศาลรัฐธรรมนูญโผล่ล่าสุดจับตาหนักคดียุบพรรค พท.เชื่อ" เหตุแพร่คลิป รู้ข้อมูลภายในหวังแสดงนัยยะการเมือง หลายฝ่ายยังกังวลถึงทางออกหากลงคะแนนเสียงเท่ากัน สุริยะใสวอนประชาชนมีสติ เชื่อคลิป “พสิษฐ์” มีกระบวนการปล่อยข่าวจากภายใน ชวน เตรียมอ่านคำแถลงปิดคดียุบปชป.พรุ่งนี้ จตุพรเบรคคนเสื้อแดงชุมนุมหน้าศาล หวั่นถูกใช้เป็นเงื่อนไข ขณะที่เพื่อไทยจับตามาตรฐานคำตัดสิน
นายพสิษฐ์กล่าวในคลิปว่า "วันนี้ ผมได้พ้นจากหน้าที่ต่างๆ หมดสิ้นแล้ว วันนี้กระผมได้ตัดสินใจมาพูดคุยกับท่านและมีการติดต่อสื่อสารกันเป็นครั้งแรก...มีเรื่องจะเล่าให้ฟังว่า มีบริษัทอยู่บริษัทหนึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง บริษัทนี้มีประธานบริษัท มีกรรมการบริหารบริษัท และมีเจ้าหน้าที่บริษัท วันหนึ่งผู้จัดการดูแลโครงการของนิคมมาบอกประธานบริษัทว่า ให้บริษัทนี้ยุติการติดต่อสัมพันธ์กับบริษัทอื่นๆ ที่มีหน้าที่เอาวัตถุดิบต่างๆ เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับทางบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็มีหลายบริษัท แต่ผู้จัดการของนิคมอุตสาหกรรมมาบอกประธานบริษัทว่าให้เลือกบางบริษัทนั้นอยู่ ติดต่อบริษัทนั้นได้ แต่บางบริษัทก็ไม่สมควรให้อยู่ ทั้งๆ ที่บริษัทเหล่านั้นก็ทำผิดข้อบังคับของทางนิคม"
"ถ้าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยึดมั่นในความถูกต้องก็คงไม่สามารถอดรนทนอยู่ได้ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิด คือ กระแสจากบุคคลภายนอกบริษัทสามารถบอกให้บริษัทนั้นซ้ายหันขวาหันได้ ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากลัว และที่น่ายิ่งยวด คือ การซ้ายหันขวาหันได้นั้นไม่สมควรจะเกิดขึ้น ดังนั้นทุกอย่างควรจะมีความตรงไปตรงมา ในการดูแลบริษัทที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในมาตรฐานเดียวกัน วันนี้ กระผมเป็นเพียงแค่นาฬิกาปลุก หวังอย่างยิ่งว่าคงจะเข้าใจในสิ่งที่กระผมพูด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรรมการบริหารบริษัทนี้ และประธานกรรมการบริหารบริษัทนี้ จะไม่ใช้คำว่ารอการกำหนดโทษกับบางบริษัทที่ผู้จัดการบริษัทให้การสนับสนุนอยู่" นายพสิษฐ์ กล่าว
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข่าวว่ามีข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีข้อ 11 ระบุว่า หากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคะแนนเสียงเท่ากัน ต้องยกประโยชน์ให้แก่การคัดค้าน ซึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์ว่า เป็นความคลาดเคลื่อน ข้อกำหนดดังกล่าวใช้กรณีการร้องคัดค้านว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดมีอคติกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงต้องให้ที่ประชุมตุลาการพิจารณาคำคัดค้าน หากที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากันให้ถือตามคำคัดค้าน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถอนตัวไป
"ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ใช้กับการตัดสินคดี เพราะข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ไม่ได้มีการเขียนไว้ว่า กรณีการลงมติในการวินิจฉัยคดีและคะแนนเสียงเท่ากันจะทำอย่างไร และไม่มีการเขียนว่าให้ยกประโยชน์ให้แก่ผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกันหากโหวตแล้วเกิดคะแนนเสียงเท่ากันขึ้น แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกรณีที่โหวตแล้วคะแนนเสียงเท่ากัน จึงไม่มีการเขียนหาทางออกในเรื่องนี้ไว้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญว่า หากคะแนนเสียงลงมติในการวินิจฉัยคดีเท่ากัน จะเป็นอย่างไร" นายจรัญ กล่าว
นายจรัญ ระบุว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกจุดหนึ่ง คือ กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถอนตัวจากคดีไป แต่เสียงในการวินิจฉัยคดีก็ต้องใช้ 5 เสียงเป็นอย่างน้อย เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า องค์คณะของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมากของตุลาการเท่าที่เหลืออยู่ในการวินิจฉัยคดีนั้น
ขณะเว็บไซต์คมชัดลึก รายงานอ้างแหล่งข่าว ซึ่งเป็นผู้พิพากษารายหนึ่งซึ่งเสนอแนะทางออกกรณีที่เสียงของตุลาการเท่ากัน 3 ต่อ 3 ว่า อาจใช้วิธีให้ประธานที่ประชุมคือประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ลงคะแนนอีกครั้งหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด หรืออาจใช้วิธีลงคะแนนหลายรอบก็ได้ จนกว่าจะได้เสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตกลงกันเสียก่อนว่า จะใช้วิธีอย่างไรในกรณีที่โหวตแล้วเกิดคะแนนเสียงเท่ากัน ไม่ใช่มาตกลงกันในภายหลังที่มีการโหวตกันแล้วเกิดคะแนนเสียงเท่ากัน
นายไพศาล พืชมงคล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ทวิตข้อความในเว็บไซต์ www.twitter.com โดยระบุว่า "ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถอนตัวอีก 2 คน ที่เหลือจะตัดสินคดีไม่ได้ ถ้าถอนหมดต้องพิจารณาคดีใหม่ สนุกวุ้ย"
นายกฤช เอื้อวงศ์ หนึ่งในคณะทำงานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มอบหมายให้ดำเนินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตผอ.สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กกต. เปิดเผยว่า สำหรับการแถลงปิดคดีด้วยวาจาที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดให้คู่กรณีมาแถลงปิดคดีนั้น ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาว่าให้ใช้เวลาเท่าไร แต่ในส่วนของกกต. หลังจากได้ส่งคำปิดคดีเป็นเอกสารจำนวน 86 แผ่น ให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว กกต.ก็ได้สรุปคำแถลงปิดคดีแบบย่อจาก 86 แผ่นเหลือเพียงแค่ 18-20 แผ่น ซึ่งการแถลงคดีด้วยวาจาของกกต.เบื้องต้นตั้งไว้อยู่ประมาณ 30 นาที ซึ่งการแถลงของกกต.ก็จะอยู่ในกรอบ 5 ประเด็น ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งประเด็นไว้ และไม่มีประเด็นอะไรเพิ่มเติม ซึ่งกกต.ได้มอบให้ นายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นผู้แถลงปิดคดี
ส่วนที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมหากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาร่วมรับฟังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีหน่วยปราบจลาจลในท้องที่ของทุกหน่วยมาซักซ้อม นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้นำแผงเหล็กมากั้นด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ฝั่งที่ติดถนนแจ้งวัฒนะ ติดกับสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า จะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาติดตามรับฟังประมาณ 500-1,000 คน คาดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง
นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำกลุ่ม นปช.และ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เปิดแถลงข่าวประกาศห้ามคนเสื้อแดงแม้แต่คนเดียวเข้าไปชุมนุมที่ด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันพรุ่งนี้ เพราะไม่ต้องการให้นำไปเป็นประเด็น หรือเงื่อนไขในการตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เชิญแกนนำพรรคมาหารือในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อประเมินสถานการณ์ทางการเมืองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เนื่องจากวันที่ 29 พฤศจิกายน เป็นการแถลงปิดคดียุบพรรคด้วยวาจาโดย นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ในฐานะหัวหน้าคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งประเมินสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถอนตัวจากการเป็นตุลาการเป็นคนที่ 3 ว่า คงเป็นไปตามแนวปฏิบัติ เพราะเมื่อเป็นคู่กรณี โดยมารยาทก็ต้องถอนตัวก็ถือเป็นเรื่องของทางศาล ส่วนการพิจารณาคดีจะมีปัญหาหรือไม่คงไม่มีใครตอบได้ อยู่ที่วันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งองค์คณะที่เหลืออยู่ก็เป็นผู้ลงคะแนน
นายบัณฑิต ศิริพันธ์ ทนายความต่อสู้คดียุบปชป. เปิดเผยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าคณะทำงาน จะเป็นผู้อ่านคำแถลงปิดคดีในวันพรุ่งนี้ โดยใช้เวลา 30 นาที ซึ่งในเนื้อหาคำแถลงปิดคดี จะเป็นการชี้แจงข้อแท็จจริง สาระสำคัญของคดีโดยสรุป รวมถึงชี้ให้เห็นพฤติกรรมในการข่มขู่คุกคามตุลาการ เพื่อนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง จนถึงตุลาการ ส่วนเรื่ององค์ประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เหลือเพียง 6 คนนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญาหต่อการพิจารณาคดี และเชื่อว่าในวันพรุ่งนี้น่าจะมีการอ่านคำพิพากษาวันแถลงปิดคดีเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาจากคดียุบพรรคอื่นๆ ที่ผ่านมา
ด้านพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ในฐานะคณะทำงานติดตามคดีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ของพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วยวาจาในวันที่ 29 พ.ย.ว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจคือมาตรฐานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นมาตรฐานเดียวกับคดียุบพรรคการเมืองก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะข่าวที่ปรากฏผ่านสื่อ กรณีคลิปลับทำให้เกิดความหวั่นใจว่าการพิจารณาคดีอาจไม่เที่ยงธรรม แต่หากใช้มาตรฐานเดียวกันวันที่ 29 พ.ย. หลังผู้ถูก ร้องแถลงปิดคดีศาลรัฐธรรมนูญจะต้องอ่านตัดสินเหมือนกับคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย แต่จนถึงวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีคำยืนยันใด ๆ ต่างจาก 3 พรรคที่ออกมาบอกล่วงหน้าว่าจะตัดสินในวันแถลงปิดคดีเลย
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยภายหลังการหารืออย่างไม่เป็นทางการของคณะติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล (คตร.)ว่า ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อนุญาตให้นาย สุพจน์ ไข่มุกด์ ลาออกจากองค์คณะพิจารณา คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่มีเหตุผลและสืบเนื่องจากกรณีเดียวกับนายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือเพราะมีผลต่อคะแนนเสียงภายในองค์คณะหรือไม่
ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากเกิดกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค จะไม่มี ส.ส.งูเห่าในพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเปลี่ยนขั้วไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้าม เพราะใครทำอย่างนั้นอนาคตทางการเมืองจบแน่ เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายอายุรัฐบาลแล้ว พรรคจะไม่เคลื่อนไหวจับขั้วใหม่ตั้งรัฐบาล แต่จะมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง เพราะประชาชนคาดหวังให้พรรคเป็นรัฐบาล
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ล่าสุดมีการเผยแพร่คลิปนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขาประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เว็ปไซต์ยูทูปเพื่อส่งสัญญาณคดีให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีนัยยะทางการเมืองสอดคล้องกันหรือไม่ เพราะคนระดับนายพสิษฐ์ ซึ่งเคยเป็นเลขาประธานศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะรู้ข้อมูลภายในเป็นอย่างดี และมีความใกล้ชิดกับตุลาการทุกคน ส่งสัญญาณแรงเหมือนบอกนัยยะส่งสัญญาณคดีให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน น่าจะรู้ข้อมูลภายในอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล จึงยอมทำตัวเป็นเกะดำจนมีคดีติดตัว ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำลายองค์กร และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แปลกและซับซ้อนเป็นอย่างมาก ว่าคนอย่างเลขาประธานศาล ทำไมถึงคิดสั้นยอมฮาราคีรีตัวเอง เพื่อทำร้ายองค์กรที่ตัวเองสังกัด หรือสุดท้ายจะเป็นพวกปิดทองหลังพระ สังคมต้องติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง ล่าสุดกล่าวเปิดใจผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ ยูทูป กล่าวเตือนสติคนในครอบครัวเดียวกันเองดังๆ ผ่านสื่อไปทั่วโลก เรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีนัยยะทางการเมืองแบบชอบกล รวมถึงการเตรียมกำลังพลของทหารและตำรวจเต็มอัตราศึกภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่มีการแถลงปิดคดีอย่างเป็นทางการว่า มีนัยยะแถลงปิดคดีเช้า แล้วน่าจะมีการตัดสินคดีตอนเย็นเลยหรือไม่ เพราะมีการจัดเตรียมกำลังอย่างผิดปกติเกินกว่าเหตุ เหมือนมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง" นายพร้อมพงศ์กล่าว
นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ในการตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะคดีนี้เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญรวมถึงความอยู่รอดของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และเป็นการพิสูจน์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของกฎหมายบ้านเมืองว่าสามารถบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ แถลงว่า กรณีที่จะมีการแถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) พรรคมีความเป็นห่วงเนื่องจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ อาจส่งสัญญาณความขัดแย้งรอบใหม่ ที่จะกลายเป็นวิกฤติทางการเมืองได้ ดังนั้นพรรคจึงขอให้ทุกฝ่ายรอฟังข้อเท็จจริง และผลคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญควรประกาศนัดหมายที่ชัดเจนในการอ่านคำตัดสินเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน
ส่วนกรณีมีคลิปนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูป ระบุว่า มีอำนาจพิเศษสั่งอุ้มพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า เรื่องนี้ขอให้สังคมฟังหูไว้หู และรอพิจารณาเหตุและผล ของคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก การเผยแพร่คลิปฉาวทั้งหมด เป็นที่เชื่อได้ว่ามีการดำเนินการเป็นขบวนการและเชื่อว่านายพสิษฐ์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
นายสุริยะใส กล่าวว่า ส่วนกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจลงมติด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 3 อาจเป็นข่าวปล่อย ที่ต้องการหวังผลทางการเมือง และไม่แน่ใจว่ามาจากศาลจริงหรือไม่ แต่หากมติออกมาเช่นนั้น อาจนำไปสู่สูญญากาศทางการเมืองรอบใหม่ได้ “อาจเป็นข่าวปล่อยจากคนในศาล เพราะเชื่อว่าคุณพสิษฐ์ไม่ได้ทำงานคนเดียว แขนขาคุณพสิษฐ์อาจยังอยู่จึงเป็นไปได้ว่ามีคนคอยปล่อยข่าว ส่วนสูญญากาศ คือ ช่องว่างที่พรรคประชาธิปัตย์อาจทวงถามไปที่ศาลว่าถ้าคะแนนออกมาสามต่อสาม แล้วคะแนนเสียงข้างมากจะเป็นอย่างไร”
พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตเลขาธิการ คมช. กล่าวหลังร่วมงานรำลึกครบรอบ 30 ปี พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด ถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่า น่าจะมีทางออก ฝ่ายการเมืองพยายามแก้ไขปัญหา ส่วนประชาชนพยายามลดราวาศอกไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ถึงจุดรุนแรง ดูแล้วเงื่อนไขยังไม่ให้ปฏิวัติ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คลิปล่าสุดของ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นการวางแผนมาตั้งแต่ต้น มีขบวนการพยายามเชื่อมโยงให้เห็นความไม่ยุติธรรม ต้องการดิสเครดิตตุลาการศาล เพื่อให้กระทบกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคนไทยที่ติดตามก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่า เรื่องดังกล่าวมีการเตรียมการที่จะทำลายความน่าเชื่อถือ เพื่อให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในทีมกฎหมายสู้คดียุบพรรค กล่าวถึงกรณีที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เหลือเพียง 6 คน หากคะแนนออกมา 3 ต่อ 3 อาจทำให้ประธานต้องออกเสียงชี้ขาดว่า เรื่องการออกเสียง 2 ครั้งมีผู้วิจารณ์กันมาก ที่สำคัญคือ ผู้ที่เคยให้ความเห็นในคดีเอาไว้แล้ว จะเปลี่ยนความเห็นจากที่เคยให้ไว้ได้อย่างไร
เรียบเรียงจาก เว็บไซต์คมชัดลึก, มติชน, เดลินิวส์, แนวหน้า, สำนักข่าวไทย