Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2553 ที่ สีดา รีสอร์ท จ.นครนายก โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์เรื่องแรงงานต่างชาติ ของขบวนการแรงงานไทย” โดยมีผู้นำแรงงานไทย และนักพัฒนาเอกชนประเด็นแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมงาน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้นก็ เพื่อทบทวนสถานการณ์และกรอบการทำงานเรื่องแรงงานต่างชาติที่ผ่านมา, จัดทำยุทธศาสตร์ร่วม ต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจ และเกิดความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยแรงงานต่างชาติ

เสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF)

ในการเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติผ่านกลไกสหภาพแรงงาน” ซึ่งนำเสวนาโดยเสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ดำเนินรายการโดย ศรีโพธิ์ วายุภักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า

เสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ชี้ว่าผู้นำขบวนการแรงงานต้องรู้เรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ โดยต้องเข้าใจในบริบทของประเทศไทยที่ทั้งส่งออกและรับเข้าแรงงานเข้ามา

โดยในการทำงานระหว่างสหภาพแรงงานไทยกับประเด็นแรงงานข้ามชาตินั้น เสถียรเห็นว่าการใช้แนวคิดกรรมกรทั้งผองพี่น้องกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำงานเชิงปรับทัศนคติเรื่องแรงงานข้ามชาติ กับสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังมีความหลากหลายอยู่ ชี้ให้เห็นว่าเรา (แรงงานไทย-ข้ามชาติ) เป็นแรงงานเหมือนกัน ถูกกดขี่ขูดรีดพอกัน

ส่วนการคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานข้ามชาตินั้น สหภาพแรงงานจะต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา สหภาพแรงงานต้องเปิดใจรับแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพ

สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่ากรณีของการขูดรีดแรงงานข้ามชาติกับการค้ามนุษย์นั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ที่ดีพอสมควร แต่รัฐเองก็พยายามตีความให้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะมองว่าแรงงานข้ามชาตินั้นสมัครใจที่จะเข้าไปทำงานยังสถานประกอบการณ์ต่างๆ แต่เรื่องการค้ามนุษย์นั้นรัฐพยายามให้ภาพว่าจะต้องเป็นเรื่องของการหลอกลวง เช่น การหลอกลวงในธุรกิจค้าประเวณี เป็นต้น จึงไม่สามารถใช้กฎหมายการค้ามนุษย์มาปกป้องแรงงานข้ามชาติเมื่อถูกกดขี่ได้

ในเรื่องของกลไกสหภาพแรงงานกับการช่วยคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติเมื่อเกิดปัญหานั้นนั้น ในหลายที่ยังไม่มีการใส่ใจ อย่างกรณีของคนงานที่โรงงานทออวลเดชา ที่ จ.ขอนแก่นนั้น บทบาทความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน ไม่ค่อยมีกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งเข้าใจว่าในแถบ จ.ขอนแก่นนั้นอาจจะมีสหภาพแรงงานน้อย แต่เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศก็พบว่าเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยตรง เช่น สหภาพแรงงานภาคเกษตรในสหรัฐอเมริกา ที่มีคนไทยไปทำงาน สหภาพแรงงานก็รับคนไทยเหล่านั้นเป็นสมาชิกและช่วยเหลือปกป้องสิทธิต่างๆ ให้

ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เล่าว่าจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาตินั้นก็ได้เห็นปัญหาในขบวนการแรงงานของไทยเอง เหมือนกับว่าเราขาดการเชื่อมโยงระหว่างแรงงานข้ามชาติกับสหภาพแรงงาน โดยที่ผ่านมามักจะมีคำพูดทำนองที่ว่าทำไมต้องเข้าไปยุ่ง  ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ทั้งนี้ในการทำงานก็จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องสมาชิกสหภาพแรงงานของไทยก่อนว่า แรงงานข้ามชาติก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ ต้องปรับทัศนคติตรงนี้ก่อน และถ้าถามว่าระยะเวลาในการปรับทัศนคติตรงนี้จะใช้เวลามากไหม ชุติมาให้ความเห็นว่าน่าจะนานพอสมควร แต่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของพวกเราที่จะช่วยกันทำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net