สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 พ.ย. 2553

เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีคุมกำเนิดแรงงานต่างด้าว

22 พ.ย. 53 - นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแนวคิดในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวโดยให้มีการคุมกำเนิดแรงงานเพื่อ ควบคุมเด็กต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยว่า ปัญหาการคลอดลูกของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องทะเบียนราษฎร์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องภาพรวมของรัฐบาล แต่นายเฉลิมชัยเห็นว่าหากปล่อยปัญหานี้ไว้ จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเด็กเหล่านี้อาจการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากอยู่อย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงควรรีบช่วยกันแก้ไข

นายสุธรรม กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงได้มีการหารือกันเพื่อร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะการจัดทำทะเบียน และการตรวจสุขภาพ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่ามีเด็กๆ ที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติอยู่ในสังคมไทยเท่าไร และจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งนี้ อาจศึกษาระเบียบและวิธีการที่หลายประเทศนำมาใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ โดยพิจารณาว่าวิธีการไหนที่จะเหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด ซึ่งนายเฉลิมชัยเองก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อหามาตรฐานที่เทียบเคียงกับสากลให้มากที่สุด

ขณะที่นายแสงเมือง มังกร กรรมการเลขานุการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการคุมกำเนิดหรือส่งแรงงานต่างด้าวที่ท้องกลับ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงาน เนื่องจากการจะออกนโยบายใดๆ ก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงสิทธิในการมีครอบครัว หรือมีบุตรเช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็สนับสนุนมาตลอดทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล หรือสิทธิในการศึกษา อีกทั้งจำนวนของเด็กที่เกิดใหม่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

นโยบายของรัฐด้านการวางแผนครอบครัว เองก็มีอยู่แล้ว และยังมีความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและกระทรวงสาธารณสุขในการลง พื้นที่ชุมชน เพื่อให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่ แรงงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วิธีแก้ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่การสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือของหน่วยงาน ต่าง ๆ ในการเข้าถึงชุมชนแรงงานต่างด้าวมากกว่านายแสงเมืองกล่าว

(สำนักข่าวไทย, 22-11-2553)

จัดหางาน จ.บุรีรัมย์ ผวานายหน้าเถื่อนต้มแรงงาน

23 พ.ย. 53 - นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางาน จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า  ขณะนี้มีแก๊งมิจฉาชีพและแก๊งนายหน้าเถื่อนหลอกลวงคนงานไปขายแรงงานทั้งใน และต่างประเทศ  อ้างว่าสามารถฝากเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ได้ ซึ่งจากการสำรวจสถิตินักศึกษาที่จบใหม่ๆ และแรงงานจากภาคเกษตรว่างงานมีกว่า  21,000  ราย  และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกจากปัญหาน้ำท่วม  จึงขอให้ผู้ที่ต้องการหางานเข้าติดต่อลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนจังหวัดที่ สำนักจัดหางานได้ เพื่อป้องกันการถูกหลอก เนื่องจากในปี  2553 จ.บุรีรัมย์มีแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศจากสายนายหน้าเถื่อนกว่า  105 ราย สูญเงินไปกว่า  6  ล้านบาท  มีผู้เข้าแจ้งความ 67 เรื่อง

(ไทยโพสต์, 23-11-2553)

คนงานกู๊ดเยียร์รวมพลบุกแรงงานจังหวัดให้ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ

22 พ.ย. 53 - เวลาประมาณ 09.00 น. ทางกลุ่มสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย นำโดย นายอรรคพล  ทองดีเลิศ ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้เคลื่อนขบวนจากหน้าบริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 50/9 หมู่ 3 ถ.พหลโยธิน กม. 36 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีไป กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี นำขบวนโดยรถจักรยานยนต์จำนวน 20 กว่าคัน รถกระบะและกลุ่มเพื่อนอ๊อฟโรด จำนวน 20 กว่าคัน พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ประมาณ 200คน เพื่อไปให้กำลังกับตัวแทนเจรจา

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. นายสมภพ  ปราณีแก้ว  เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาท จากกระทรวงแรงงาน ได้มาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่าง ตัวแทนเจรจาฝ่ายนายจ้างนำโดย นายดนุพงศ์  นงภา   ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ บริษัท กู๊ดเยียร์ กับ นายอรรคพล ทองดีเลิศ ประธานสหภาพแรงงานฯ ผลการเจรจา ข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อ (ข้อเรียกร้องอ่านได้ที่ http://voicelabour.org/?p=1245) ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ครั้งนี้บรรยากาศในห้องประชุมในการเจรจาเป็นไปด้วยดี ทางตัวแทนบริษัทฯและทางสหภาพแรงงานฯ มีความประสงค์จะขอเจรจาต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งกำหนดเจรจาต่อครั้งต่อไป วันที่ 24พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 น. ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี

(นักสื่อสารแรงงาน, 23-11-2553)

คนงานมิตซูลิฟท์เดินรณรงค์หาข้อยุติทางการเจรจาร่วม

22 พ.ย. 53 - เวลา 17.00 น.สหภาพ แรงงานมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย (สร.มิตซู ลิฟท์) เป็นบริษัทผู้ผลิตบันไดเลื่อนและลิฟท์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.ชลบุรี เกาะกลุ่มรวมตัว หลังเลิกงาน แสดงได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อต่อต้าน ผลการเจรจาที่ไม่เป็นธรรม จนกระทั้งเวลา 17.45 น. สมาชิกกว่า 600 คน เดินขบวนไปตามท้องถนนในนิคมฯอมตะนคร มุ่งหน้าสู่ถนนบางนา-ตราด ระยะทางกว่า 5กิโลเมตร ริ้วขบวนยาวกว่า 100เมตร มีทั้งเดินเท้าและขบวนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ กว่า 150 คัน ส่งผลให้การจราจรขาออกของนิคมฯไม่สามารถใช้การได้ มากกว่า 1 ชั่วโมง ตลอดระยะทางการเคลื่อนขบวน

พนักงานหญิงฝ่ายผลิตคนหนึ่ง กล่าวว่า  การร่วมเดินขบวนเรียกร้องในครั้งนี้ มาด้วยความหวัง อยากให้ผู้บริหารบริษัทฯได้รับรู้ว่า พวกเราเดือดร้อนจริงๆ เราเข้าใจและติดตามการเจรจามาโดยตลอด ผู้บริหารบอกว่า ผลประกอบการในปีนี้ไม่ดี แต่เราอยู่ฝ่ายผลิต เรารู้ว่า ยอดผลผลิตยอดขายสูงขึ้นมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดทุน อยากให้นายจ้างตอบแทนบ้าง หลังจากที่พวกเราเหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งปี

การเคลื่อนพลเป็นไปด้วยความคึกคัก มีเสียงกระตุ้นจากแกนนำ ผ่านรถเครื่องขยายเสียงและเสียงตอบรับจากผู้ชุมนุมตลอดเวลา ทำให้การเดินขบวนครั้งนี้ มีแต่รอยยิ้ม แม้จะมีเหงื่อไคลไหลเต็มใบหน้าผู้ชุมนุมก็ตาม

นายวันชัย จันทร์เรือง กรรมการบริหารสหภาพฯ  กล่าวว่า  “เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ5 ปีการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ทำให้พวกเรานึกถึงการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ ที่ผ่านมาในครั้งนั้น ไม่คิดว่า เหตุการณ์อย่างวันนั้น จะเกิดขึ้นอีกในวันนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า ที่สหภาพแรงงานฯต่อสู้ เพื่อเรียกหาความกินดีอยู่ดี ยังไม่บรรลุตามความปรารถนา

นายวันชัย กล่าวต่อว่า   บริษัทฯก่อตั้งมา 18 ปี พนักงานมีอายุงานฉลี่ย 5-6 ปี ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 7,600 บาทต่อเดือน ปัญหาหลักของพนักงาน คือ การที่รายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม อย่างจังหวัดชลบุรี สหภาพแรงงานฯจึงร่วมกันผลักดันจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเพื่อช่วยลดราย จ่ายของพนักงานที่ไม่สมดุลกัน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยได้เท่าที่คาดหวัง ทั้งที่พวกเราต้องทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมงต่อเดือน ในวันนี้ผู้บริหาร บอกว่า ผลประกอบการไม่ดี ทั้งทีมีการขยายโรงงานเพิ่ม สร้างสายการผลิตใหม่ และเพิ่มการทำงานล่วงเวลาให้เป็น 60 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับที่บริษัทฯชี้แจงว่าผลประกอบการไม่ดี เมื่อตรวจสอบ จึงรู้ว่าไม่เป็นความจริง ทำให้พนักงานขาดความเชื่อมั่นในคำพูดของฝ่ายบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาข้อยุติ ทั้งนี้ในนาทีนี้ พวกเราขอเพียงแค่รายรับ-รายจ่ายต่อเดือน ไม่ติดลบก็เพียงพอแล้ว   นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย

เวลา 19.00 น. ขบวนแรงงานถึงลานเอนกประสงค์หน้านิคมฯที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ชุมนุม เพียงไม่กี่นาที พื้นที่มากกว่า 10ไร่ แน่นขนัดไปด้วยผู้ชุมนุม และผู้สังเกตการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน จังหวัดชลบุรี ร่วมด้วย กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเสียงปราศัย แถลงการณ์จากผู้แทนลูกจ้าง ชี้แจงผลการเจรจา สลับกับการกล่าวทักทายให้กำลังใจจากพันธมิตรแรงงานที่ร่วมสังเกตการณ์การ ชุมนุม พร้อมทั้งมีเสียงโห่ร้องแสดงความผิดหวังเป็นช่วงๆ เมื่อทราบผลการเจรจาจากสิ่งที่ได้รับจากนายจ้างตลอดเวลา ประเด็นขัดแย้งหลัก เป็นเรื่องโบนัสที่ บริษัทฯเสนอเพียง 4.7 เดือน บวกพิเศษ 5,000 บาท ขณะที่สหภาพแรงงานฯต้องการ 5.5เดือน บวกพิเศษ 10,000บาทต่อคน จากยอดการผลิตบันไดเลื่อนและลิฟท์ที่เพิ่มขึ้น ถึง 9,700 ยูนิท

ทั้งนี้ บริษัทมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย จำกัดตั้งอยู่เลขที่ 700/86  นิคมฯ อมตะนคร หมู่ 6 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000ประเภทอุตสาหกรรมลิฟท์ บันไดเลื่อน และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ในการประกอบลิฟท์และบันไดเลื่อนจัดตั้งมาด้วยเงินลงทุนเพียง 811 ล้านบาท เมื่อ 18ปีที่แล้ว มาปีนี้บริษัทฯมีทรัพย์สินรวมมากถึง 3,257ล้านบาท

(นักสื่อสารแรงงาน, 22-11-2553)

ปรับสูตรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่บวกภาษีสังคม

วันนี้ 23 พ.ย. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน นายสุนันท์ โพธิ์ทอง ประธานอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯมีมติเห็นชอบในหลักการคำนวณอัตราค่าแรง ขั้นต่ำที่สะท้อนคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน โดยเพิ่มปัจจัยเรื่องค่าสันทนาการ เช่น ค่าทำบุญงานบวช งานศพ ค่าเช่าบ้านฯลฯ บวกเข้าไปกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายทำกิจกรรมสังคมอื่นๆจาก ปัจจุบันที่ได้รับค่าจ้างตามอัตภาพซึ่งเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างเดียว ส่วนค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตที่จะบวกเพิ่มขึ้นมานั้น ขณะนี้อนุกรรมการกำลังอยู่ระหว่างคำนวณหาค่ากลางและคาดว่าจะเสร็จภายใน สัปดาห์นี้ โดยมีหลักการคือแบ่งเขตการคำนวณออกเป็น 4 ภูมิภาคคือภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคกลาง โดยนำค่าจ้างเชิงคุณภาพชีวิตในแต่ละภาคมาตัดอัตราที่สูงที่สุดและต่ำที่สุด ออกไป จากนั้นนำตัวเลขอื่นๆมาเฉลี่ยหาค่ากลางแล้วหารด้วย 5

เหตุที่ต้องหารด้วย 5 เพราะเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ต้องการปรับให้ทันกับค่าครองชีพที่แท้จริงภายใน 5 ปี หากปรับขึ้นครั้งเดียวจะส่งผลกับผู้ประกอบการและภาพรวมเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดแทนนายสุนันท์ กล่าว และว่า เมื่อได้ค่าเฉลี่ยสุดท้ายแล้วจึงจะนำมาบวกกับตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้าง แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมค่าจ้างกลางชุดใหม่ซึ่งจะเสนอรายชื่อให้ครม.แต่ง ตั้งใน 2 สัปดาห์นี้ โดยกระบวนการทั้งหมดเชื่อว่าจะเสร็จก่อนสิ้นเดือน ธ.ค.อย่างแน่นอน

(เดลินิวส์, 23-11-2553)

สหภาพแรงงานมิชลินฯ สุดเซ็งนายจ้างยื้อต่อ:จ่ายค่าจ้างวันหยุด

เมื่อวันที่ 23 พย 53 เวลา 9.00 น. ณ ศาลแรงงาน 2 จังหวัดชลบุรี แกนนำสร.มิชลินฯ 17 คน มีความหวังกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน ที่มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด หลังจากที่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้บริษัทฯดังกล่าวจ่ายค่าทำงานใน วันหยุดแก่แกนนำ แต่บริษัทฯก็ใช้สิทธิอุทรณ์คำสั่งต่อศาลแรงงาน 2  จังหวัดชลบุรี และวันนี้ (23.. 53) เจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยก็ได้ทำหน้าที่เพื่อหาข้อยุติ โดยฝ่ายบริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ คือให้สามารถสะสมวันหยุดได้เหมือนกับพนักงานทั่วๆไปดังเช่นที่ปฎิบัติกัน ส่วนฝ่ายแกนนำเองก็ได้ให้เหตุผลว่า ขอยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน การไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ โดยศาลนัดพิจารณาอีกทีในวันที่ 28 ธค 53

นายสมหมาย ประไว หนึ่งในผู้เสียหายคดีนี้ กล่าวว่า  จริงๆแล้วสำหรับวันนี้ทุกคนตั้งความหวังว่าบริษัทจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้า พนักงานตรวจ แต่เมื่อเรามาถึงปรากฎว่าเป็นการไกล่เกลี่ย ซึ่งประเด็นที่สรุปก็เป็นเรื่องเก่าที่เราเคยขอแล้ว ตั้งแต่หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งขอต่อหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อสมัยที่เราเคยขอความช่วยเหลือ ว่าพวกเราก็เป็นพนักงานเหมือนกับคนอื่นๆทำไมไม่ให้เราสะสมวันพักร้อนได้ เหมือนเขา บริษัทเองที่ให้เราอยู่นอกโรงงานไม่ให้เข้าทำงานเราจึงไม่ได้ใช้สิทธิลาพัก ร้อนและหักพักร้อนเราหมดเลย พอถึงวันนี้วันที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งว่าให้บริษัทฯจ่ายค่าเสียหายให้เรา ซึ่งทุกคนรวมกันแล้วเกือบสองแสน บริษัทกลับขอประนอมเป็น ให้สะสมวันพักร้อนได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราเคยขอร้องเมื่อในอดีต มาถึงวันนี้พวกเราเลยขอยืนยันตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจฯ พวกเราก็อยากจะรู้ความจริงเหมือนกันว่าศาลท่านจะตัดสินเช่นไร

(นักสื่อสารแรงงานศูนย์แรงงานภาคตะวันออก, 23-11-2553)

ภาคแรงงานยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

24 พ.ย.53 - คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ พ.ศ.(ฉบับบูรณาการแรงงาน) พร้อมนำรายชื่อผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกันตน จำนวน 14,500 รายชื่อ ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเป็นอิสระ และการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การขยายสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานทุกกลุ่ม รวมทั้งการบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ กรรมการมาจากการเลือกตั้ง และประธานกรรมการต้องมาจากการสรรหา รวมทั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ ทั้งนี้ เป็นการยื่นร่างกฎหมาย เพื่อเข้าไปประกบกับร่างของรัฐบาลที่มีอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาแล้ว

(เดลินิวส์, 24-11-2553)

เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ จี้นายจ้างซื้อประกันสุขภาพรายละ 500 บาท

25 พ.ย. 53 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนี เข้าเมืองที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ยังคงลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการเปิดให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องภายในช่วง กลางปี 2554 ภายใต้หลักการ 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จะต้อง แยกแยะตัวบุคคลได้ชัดเจนถูกต้อง เช่น มีลายนิ้วมือ รูปถ่าย สามารถเป็นหลักฐานติดตามตัวได้ 2.นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบในการดูแลแรงงานต่างด้าว และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 15 วัน หากมีการหลบหนี หากไม่ปฏิบัติตามก็จะลดโควตาในการจ้างแรงงานต่างด้าว และ 3. ต้องมีการดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว โดยอาจใช้วิธีเก็บเงินคนต่างด้าว เพื่อทำประกัน กรณีเกิดอุบัติเหตุ สูญเสียชีวิต หรือร่างกาย มีอัตราการจ่ายเทียบเคียงกับกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เบื้องต้นอาจจัดเก็บคนละ 500 บาท

สำหรับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวนั้น ที่ประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดถึง เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือของกระทรวงแรงงาน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะรายงานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

(สำนักข่าวไทย, 25-11-2553)

นายกระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 54 อีก 10 บาท

26 พ.ย. 53 - ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัว ข้อ "ประเทศไทย 2554 : พลิกความท้า ทายสู่โอกาส" ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเร่งกำลังซื้อในประ เทศ และจากแผนงานที่รัฐบาลได้วางไว้คือ การเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและรัฐ วิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.54 รวมทั้งมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย เห็นว่าการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจจากนี้ไป จะต้องไม่ใช่รูปแบบของการกดค่าแรงแล้วไปให้ความสำคัญกับด้านการส่งออกอีก แล้ว

"ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขึ้นเพียง 2-3 บาท แต่นโยบายรัฐบาลปีนี้จำเป็นต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าที่ทำมาในช่วง 1-2 ปี ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องการจะให้เป็นตัวเลข 2 หลักในระดับ 10-11 บาท" นายกฯ ระบุ

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ได้ให้ทางกระทรวงแรงงานดำเนินการอยู่ โดยต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี (คณะกรรมการค่าจ้างกลาง) ก่อน แต่ในส่วนของนโยบายรัฐบาลเห็นว่าจะต้องเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ซึ่งขึ้นเพียง 2-3 บาท ถ้านโยบายผ่านจะพยายามบังคับใช้ให้ทันช่วงปีใหม่ เพราะจะทำให้พร้อมๆ กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่จะขยายวงเงินในการรักษาพยาบาล ทำฟัน และอื่นๆ สำหรับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม

เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในปีหน้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ถือว่ากระโดดมาก เพราะว่าขึ้นอยู่แค่ประมาณ 10 บาทเท่านั้น ยังไม่ได้ขึ้นเป็น 100 บาทหรืออะไร สำหรับความกังวลภาวะเงินเฟ้อจะต้องดู เพราะว่าเรื่องปัญหาเงินเฟ้อยังมีมาตรการอื่นๆ อีก และขณะเดียวกันเรายังมีอีกขาหนึ่งในเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดแรงกดดันลงไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถูกมองว่าเป็นนโยบายการหาเสียงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่หรอกครับ เพราะเรื่องดังกล่าวผมได้ประกาศมานานแล้ว ทั้งเรื่องค่าแรงและประกันสังคม เพราะควรจะต้องมีการเพิ่ม อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ซึ่งผมได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด"

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนัก งานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของนายกฯ จะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นนโยบายดูแลสวัสดิ การสังคม ขณะเดียวกันจะกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค.ได้เคยศึกษาไว้ พบว่าหากมีการปรับค่าแรงเพิ่ม 1% จะทำให้จีดีพีปรับลดลง 0.04% หรือค่าแรงปัจจุบันที่ประมาณ 200 บาท หากปรับเพิ่มเป็น 210 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ก็จะกระทบการขยายตัวจีดีพีลดลง 0.2%

นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เป็นเพียงแนวคิดของนายกฯ เท่านั้น และไม่ว่าใครจะเสนอตัวเลขเท่าใดก็ตาม แต่ตามกฎหมายผู้ที่มีอำนาจในการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตามตัวเลขที่นายกฯ เสนอ 10-11 บาทนั้น น่าจะรับฟังได้มากกว่า 250 บาท เพราะพอจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

ทั้งนี้  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่ไร้ฝีมือที่เดินเข้า สู่ตลาดแรงงาน แต่วันนี้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแทบจะหาไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือราคาสินค้ามักจะขึ้นรอการปรับค่าจ้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้ การที่นายกฯ ออกมาพูดว่าจะขึ้นค่าจ้างนั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะลูกจ้างที่ค่าจ้างยังไม่ได้ขึ้นกลับต้องซื้อของแพงขึ้น.

(ไทยโพสต์, 26-11-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท