ระบบสุขภาพ เราจะไปทางไหน ประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพ มีกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ดีหรือไม่?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระยะของประสิทธิภาพ
ก่อนปีพ.ศ. 2520 นั้น แพทย์ในต่างจังหวัดเกือบทั้งหมด เป็นแพทย์ทั่วไป(GP-general practitioner) โรงพยาบาลอำเภอ (หรือโรงพยาบาลชุมชนในปัจจุบัน) มีแพทย์เพียง1-2 คน ส่วนโรงพยาบาลจังหวัด (หรือโรงพยาบาลทั่วไป ในปัจจุบัน) ขนาด 200-400 เตียง ก็มีแพทย์ประมาณ 10-20 คนเท่านั้น แพทย์ทุกคนจึงต้องรักษาได้ทุกโรค และต้องทำงานอย่างหนัก โรงพยาบาลที่มีแพทย์คนเดียวต้องรับผิดชอบ 24 ชั่วโมงต่อวัน และ 365 วันต่อปี แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดก็ต้องทำงานหนัก ไม่แพ้กัน ยุคนี้จึงเป็นยุคที่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้านคุณภาพ ต้องอ่อนด้อยไปบ้าง  

ระยะเปลี่ยนผ่าน
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมา เริ่มมีแพทย์เฉพาะทางสาขาหลัก(ศัลยกรรมทั่วไป อายุรกรรม สูตินรีเวช กุมารเวชกรรม ฯลฯ)จบจากการฝึกอบรม ทยอยเข้ารับราชการในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด แต่จำนวนยังน้อย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเหล่านี้ ต้องทำงานอย่างหนัก .เช่น ศัลยแพทย์ อาจต้องยืนผ่าตัด ตั้งแต่เช้าถึงค่ำถึงดึก บางครั้งแม้จะง่วง แม้จะหิว หรือแม้แต่ป่วย ก็ยังคงต้องทำงานเพื่อช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต ยุคนี้จึงยังคงเป็นยุคที่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้านคุณภาพยังพัฒนาขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากบางครั้งแพทย์ต้องทำงานหนักในสภาพที่ร่างกายไม่พร้อม และต้องทำงานในด้านกว้างมากเกินไป เช่นศัลยแพทย์ต้องผ่าได้ทั้งสมอง, กระดูก, ทรวงอก, ช่องท้อง, หลอดเลือด ฯลฯ  

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533     เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีกฎหมายประกันสังคม บังคับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า สิบคน ต้องขึ้นทะเบียน จ่ายเงินสมทบ และลูกจ้างจะได้สิทธิในการรักษาพยาบาล โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส) จะไปจ้างโรงพยาบาลให้รับรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วย โดยจ่ายค่ารักษาแบบเหมาต่อหัวให้แก่สถานพยาบาล แต่มีเงื่อนไข ว่าสถานพยาบาลที่จะรับรักษาลูกจ้างที่เจ็บป่วยนั้น จะต้องพัฒนาคุณภาพ เช่นต้องมีช่องทางพิเศษเพื่อความรวดเร็ว, มีระบบเวชระเบียนที่ดี, สภาพทางกายภาพของสถานพยาบาลต้องเหมาะสม ฯลฯ ระยะนี้ จึงเป็นระยะที่เริ่มมีการพัฒนาคุณภาพด้านการรักษาพยาบาลอย่างจริงจัง มีการนำระบบ OD, ESB, CQI , TQM และที่สุดรวมเป็นระบบ Hospital accreditation  มาจนถึงปัจจุบัน    

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคุณภาพได้พบอุปสรรคที่สำคัญ คือโครงการ “30บาทรักษาทุกโรค” ตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทำให้ผู้ป่วย เข้าถึงระบบการแพทย์สมัยใหม่ได้อย่างทั่วถึง จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ทำให้การพัฒนาคุณภาพดำเนินไปอย่างค่อนข้างเชื่องช้า    

ระยะของคุณภาพ
แต่เดิมนั้นโรงพยาบาลเอกชนมักก่อตั้งโดยมูลนิธิที่ไม่แสวงกำไร หรือไม่ก็เป็นกลุ่มแพทย์ ที่รวมตัวกันก่อตั้ง โดยคำนึงถึงจรรยาแพทย์เป็นหลัก แต่ต่อมาก็เริ่มมีนักธุรกิจนำระบบธุรกิจมาใช้ ระบบธุรกิจก็คือแสวงหากำไรสูงสุด ผู้ป่วยก็กลายเป็นลูกค้า ลูกค้าก็คือพระเจ้า เมื่อการรักษาผิดพลาด ก็นำเรื่องไปฟ้องศาล ส่วนการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ เดิมยังมีปัญหาไม่มาก เนื่องจากผู้ป่วยยังคิดว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ คือเมื่อตนเองหรือญาติป่วย การไปให้หมอรักษาถือว่าไปขอให้หมอช่วย จะช่วยได้มากหรือน้อย หรือช่วยไม่ได้ ก็คิดว่าเป็นเวรกรรม เป็นโชคชะตา แต่ต่อมารัฐได้ประชาสัมพันธ์ว่า การรักษาพยาบาลนั้น เป็นสิ่งที่รัฐมอบให้ประชาชน ประชาชนก็เริ่มเปลี่ยนความคิดว่าการไปโรงพยาบาลนั้นเป็น”สิทธิ” แพทย์ พยาบาลมี”หน้าที่”ต้องรักษาให้หาย ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ กับผู้ป่วยก็เริ่มเหินห่าง ผู้ป่วยเริ่ม”รักษาสิทธิ”ของตน มีอะไรไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ก็ร้องเรียน ประท้วงหรือกระทั่งฟ้องศาล ส่วนแพทย์ก็ต้องระวังตัว ไม่ให้ถูกฟ้องร้อง ระบบสุขภาพจึงถูกบีบบังคับให้เข้าสู่ระยะคุณภาพอย่างรวดเร็ว  

คดีร่อนพิบูลย์ เมื่อปี พ.ศ. 2550  เป็นคดีที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสุขภาพของไทย เพราะแพทย์ที่เจตนารักษาผู้ป่วยให้หาย แต่เกิดความผิดพลาด ไม่ว่าความผิดพลาดนั้น จะเกิดจากความไม่รู้, เกิดจากความประมาท, หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัยก็ตาม ต้องถูกพิพากษาให้จำคุก และต้องจำคุกจริงๆ ไม่มีการรอลงอาญา แม้คดีนี้จะได้รับการยกฟ้องในชั้นศาลอุทธรณ์ แต่ความหวาดกลัว และหวาดระแวงได้เกิดขึ้นกับแพทย์ทั่วประเทศแล้ว การรักษาผู้ป่วยกลายเป็นเหมือนการเดินอยู่กลางสนามที่มีทุ่นระเบิดอยู่ ถ้าผิดพลาด เท่ากับต้องติดคุก แพทย์ส่วนใหญ่ จึงต้องทำเวชปฏิบัติแบบป้องกันตัว คือ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด บันทึกเวชระเบียนทั้งที่ปกติและผิดปกติ (ธรรมดา เพื่อประหยัดเวลา แพทย์จะบันทึกเฉพาะการตรวจพบที่ผิดปกติ แต่ศาลวินิจฉัยว่าไม่บันทึก แปลว่าไม่ได้ตรวจ) ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจำนวนมาก เพื่ออุดช่องโหว่ในทุกความเป็นไปได้ และถ้ามีข้อสงสัย หรือไม่แน่ใจอะไรแม้แต่นิดเดียว ก็จะส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลที่สูงขึ้น เป็นภาระแก่ผู้ป่วย และญาติ อย่างมาก การรีบเร่งพัฒนาคุณภาพทั้งๆที่ยังมีทรัพยากรที่จำกัดนี้ ทำให้เกิดผลเสียทำให้ผู้ป่วยเกิดความไม่สะดวก ต้องรอนาน และเกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรของชาติอย่างมหาศาล  

ประสิทธิภาพ หรือ คุณภาพ
การฟ้องแพทย์ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลอย่างก้าวกระโดด แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดผลเสียด้านประสิทธิภาพอย่างมาก ได้แก่
    
    1.แพทย์จะต้องตรวจผู้ป่วย และบันทึกผลการตรวจอย่างละเอียดเพราะฉะนั้นผู้ป่วยก็จะต้องรอพบแพทย์นานขึ้น ปัจจุบันนี้ แพทย์ใช้เวลาตรวจผู้ป่วยเฉลี่ยเพียง 3-5 นาที ทำให้สามารถตรวจผู้ป่วยนอกได้วันละกว่าร้อยคน แต่ถ้าต้องเพิ่มเวลาตรวจต่อคนขึ้นเป็น 5-10 นาที ผู้ป่วยครึ่งหนึ่ง จะต้องรอไปตรวจวันรุ่งขึ้น และผู้ป่วยที่จะควรจะได้ตรวจวันรุ่งขึ้น ก็จะต้องถูกเลื่อนไป เป็นดินพอกหางหมูไปเรื่อยๆ

     2.แพทย์ต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรหลงหูหลงตาไป ที่จะสามารถเป็นต้นเหตุให้ถูกฟ้องได้ งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

     3.ถ้ามีกรณีสงสัย ไม่แน่ใจ แพทย์ก็จะต้องเลือกส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อในโรงพยาบาลระดับที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วย และญาติ ไม่ได้รับความสะดวก และสิ้นเปลืองค่าเดินทาง ค่าขาดรายได้ คำขวัญ”ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” กลายเป็นอดีตไปทันที  

การตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการแพทย์ โดยหวังว่าจะช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์นั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอน เนื่องจากเป็นการมอบ”สิทธิ”ในการเรียกร้องให้ผู้ป่วย ทุกครั้งที่การรักษาเกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา (adverse effect) หรือเกิดโรคแทรกซ้อน (complication) ขึ้น ผู้ป่วยก็จะแห่กันไปขอรับเงินนี้ เมื่อผู้ป่วยเชื่อว่าตนมีสิทธิจะได้รับ ถ้ากองทุนไม่จ่าย ก็จะเกิดการฟ้องศาลตามมา ถ้ากองทุนจ่าย ก็จะสิ้นเปลืองเงินอย่างมากจนรับภาระไม่ไหว ในที่สุดก็จะต้องไปไล่เบี้ยเอากับบุคลากรที่รักษา ทำให้บุคลากรเหล่านั้นยิ่งเพิ่มวิธีทำเวชปฏิบัติแบบป้องกันตัวมากขึ้นเรื่อยๆ    

การที่รัฐประสงค์จะได้ประสิทธิภาพสูงสุด (เช่น จ่ายเงินให้โรงพยาบาลหัวละพันกว่าบาท แต่ต้องรักษาหายทุกโรค หรือถือบัตรประชาชนใบเดียว ไปรักษาได้ทั่วประเทศ หรือโรงพยาบาลทุกแห่ง ต้องมี”สามดี” ฯลฯ) ขณะเดียวกัน ก็ต้องการคุณภาพชั้นเยี่ยม (ต้องมีการบันทึกเวชระเบียนอย่างละเอียด ต้องตรวจและรักษาตามมาตรฐานโลก ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ถ้าผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ต้องมีการสอบสวน มีการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งจากกองทุน และฟ้องศาล ฯลฯ) แน่นอนว่าย่อมเป็นไปไม่ได้ภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดนี้ รัฐจะต้องเลือกปรับประสิทธิภาพ และ คุณภาพ ให้สมดุล เพื่อให้ระบบดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การรีบร้อนมอบสิทธิต่างๆให้ประชาชน(สิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี ไม่จำกัดจำนวนและสถานที่,สิทธิในการได้รับบริการชั้นเยี่ยม,สิทธิในการเรียกร้องความเสียหายถ้าผลการรักษาไม่เป็นตามที่คาดหวัง ฯลฯ) จะทำให้ระบบรวน และพังทะลายไปในที่สุด                  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท