Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กล่าวกันว่า นโยบายพัฒนาที่ธนาคารโลกนำมาสู่ประเทศไทย ภายใต้เผด็จการสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ และทายาท ได้สร้างคนชั้นกลางรุ่นใหม่ขึ้นในสังคมไทย คนเหล่านี้ไม่อาจทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่กีดกันพวกตนออกไปจากการมี ส่วนร่วมทางการเมืองได้ จึงร่วมมือกับชนชั้นนำตามจารีต, ทุน และกลุ่มทหารที่ไม่พอใจการเมืองภายในกองทัพขับไล่ผู้นำเผด็จการทหารออกไปใน การปฏิวัติ 14 ตุลา

แต่การจัดสรรแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ร่วมกันโค่นล้มเผด็จการทหารหลังจากนั้น ไม่ได้ลงตัวและออกจะขัดแย้งกันอย่างเปิดเผย มีการช่วงชิงการนำกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งระหว่างกลุ่มและภายในกลุ่มกันเอง ในขณะที่ขบวนการนิสิตนักศึกษา พยายามผลักดันความเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ค่อนข้างถอนรากถอนโคน นั่นคือขยายสิทธิประชาธิปไตยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจลงไปถึงคนระดับ ล่าง ซึ่งอยู่นอกกลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ และอย่างเป็นรูปธรรม เช่นผลักดันกฎหมายเช่าที่นา และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

แม้เมื่อ ได้ขจัดบทบาททางการเมืองของกลุ่มนิสิตนักศึกษาไปได้หลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่การช่วงชิงการนำของกลุ่มทุน-ธุรกิจ, ชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, ราชการ ฯลฯ ก็ยังไม่ลงตัว มีการรัฐประหารซ้อนที่สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง สืบมาอีกหลายครั้ง ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปีต่อมา กว่าการช่วงชิงการนำจะลงตัว จนเกิดระเบียบที่ชัดเจนของการนำขึ้นมาได้

ทั้งนี้เพราะคนชั้นกลางมี พลวัตสูง โดยเฉพาะคนชั้นกลางรุ่นใหม่ซึ่งยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจ ย่อมก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในระบบ ทั้งโดยสงบและโดยวิธีรุนแรงได้ตลอดเวลา

ในที่สุดระบบก็มา ยุติลงตัวกันที่ระบอบเลือกตั้งที่มีการกำกับโดยกองทัพร่วมกับชนชั้นนำตามจารีต เข้ามาร่วมกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลโดยลับๆ หรือโดยเปิดเผยคือก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่

ภายใต้ระบอบ เลือกตั้งที่มีการกำกับนี้ กลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้ถูกผนวกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจ ก็ค่อยๆ ถูกผนวกเข้าไป จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ ในที่สุดก็มีความฝันอันเดียวกับชนชั้นนำในโครงสร้างอำนาจนี้
กล่าวคือ ฝันว่าระบอบนี้จะมีความยั่งยืนตลอดไป

ยุทธวิธี ที่นำไปสู่ความสำเร็จเช่นนี้น่าสนใจ แม้ไม่ได้มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นผู้คิดขึ้นทั้งหมดมาแต่แรก เพราะกลายเป็นบทเรียนที่ "อำนาจ" มีอยู่เพียงอย่างเดียว สำหรับการกลืนคนชั้นกลางรุ่นใหม่เข้ามาในระบบโดยไม่ให้สะเทือนทั้งโครงสร้าง

ยุทธวิธี นั้นคือ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ใช้ความรุนแรงอย่างป่าเถื่อนกับคนชั้นกลางรุ่นใหม่กลุ่มที่ไม่ยอมอยู่ภาย ใต้การกำกับของกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในโครงสร้างอำนาจ ปิดพื้นที่ทางการเมืองในระบอบของคนกลุ่มนี้ลงโดยสิ้นเชิง คนจำนวนเป็นพันที่ไม่ได้หนีเข้าป่า (คือหนีไปสู่พื้นที่ทางการเมืองที่อยู่นอกระบอบ) ถูกจำขังในเรือนจำ โดยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีในศาลยุติธรรม

ในขณะที่ปิดพื้นที่ทางการเมือง ที่เป็นอิสระของคนชั้นกลางรุ่นใหม่กลุ่มที่ไม่ยอมสยบต่อระบบ แต่ก็เปิดช่องทางที่จะเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับไว้ให้กว้าง จะออกจากป่า หรือออกจากคุก หรือจากที่ซ่อนใดๆ ก็ไม่มีอันตราย แต่อย่าสร้างพื้นที่ใหม่ทางการเมืองที่เป็นอิสระจากการกำกับเป็นอันขาด หากจะมีบทบาททางการเมืองก็ต้องเข้ามาสู่พื้นที่ภายใต้การกำกับ หากยอมรับพื้นที่นี้ได้ไม่เต็มที่ ก็ยังเหลือพื้นที่ตามชายขอบให้แก่การปฏิบัติงานของเอ็นจีโอ

แต่ถึงแม้เป็นพื้นที่ชายขอบ ก็ใช่ว่าจะเป็นพื้นที่อิสระ

การ กำกับโดยทางอ้อมก็ยังเอื้อมไปถึง เช่นหากการทำงานมีทีท่าว่าจะคุกคามความชอบธรรมของระบบ ก็อาจทำลายความชอบธรรมเสีย โดยการกล่าวหาว่ารับจ้างต่างชาติ หรือเป็นนายหน้าค้าความจน

ยิ่งมาในภายหลังเมื่อระบบหันมาใช้ นโยบายอุดหนุนการปฏิบัติงานของเอ็นจีโอโดยตรง ผ่านโครงการของหน่วยราชการหรือองค์กรของรัฐในเสื้อคลุม "ภาคประชาชน" เช่น สสส. การกำกับก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นผู้กุมกระเป๋าเงิน

ด้วย ยุทธวิธีเช่นนี้ ในไม่ช้าคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (ในรุ่นนั้น) ก็สามารถกลืนเข้าไปกับระบบได้ราบรื่น และแนบเนียนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างพอใจที่จะมีพื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับเพื่อความเป็นระเบียบเรียบ ร้อย และพากันยินดีต่อการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะถึงอย่างไร การรัฐประหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของระบอบการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้การ กำกับของชนชั้นนำทางอำนาจ ไม่ต่างอะไรจากการเลือกตั้งซึ่งต้องจัดขึ้นเป็นครั้งคราว

อันที่จริง จะยกความสำเร็จให้แก่ยุทธวิธีอย่างเดียวคงไม่ถูกต้องนัก เพราะในช่วงระยะเวลาจาก 6 ตุลาคม 2519 สืบมาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารด้านสังคม-เศรษฐกิจด้วย เช่นเมื่อการคมนาคมสื่อสาร ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศขยายตัวขึ้นอย่างมาก ก็เปิดให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆ แก่คนชั้นกลาง โดยเฉพาะในภาคบริการ สามารถดูดซับคนชั้นกลางรุ่นใหม่กับลูกหลานในเวลาต่อมาได้อีกมาก (ไม่ว่าจะดูจากภาคการเงิน, การท่องเที่ยว หรือธุรกิจสื่อ และโทรคมนาคม)

พูดง่ายๆก็คือ พื้นที่ทางการเมืองภายใต้การกำกับนั้นไม่ใช่พื้นที่ซึ่งอับจนทางเศรษฐกิจ

ความ เปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้เปิดโอกาสให้คนชั้นกลางรุ่น ใหม่เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสหรืออย่างน้อยก็คือนำความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางมาสู่ ชีวิตของคนส่วนใหญ่ด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้คนถูกดึงเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในภาคเกษตรกรรมหรือการขายแรงงาน

จำนวน มากของคนเหล่านี้มีรายได้เป็นตัวเงินสูงขึ้น และส่วนใหญ่อยู่นอกภาคเกษตรกรรม (แม้ไม่เท่าเทียมกับคนชั้นกลางที่ได้กลืนเข้าสู่ระบบแล้ว) เข้าถึงสื่อเช่นโทรทัศน์อย่างทั่วถึง บุตรหลานมีการศึกษาสูงขึ้น ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเมือง หรืออย่างน้อยก็สามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ไม่ยาก และมักเข้าไปเป็นประจำ

นี่คือคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (กว่า) ซึ่งพื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับยังไม่ได้ผนวกเข้าไป จากการสำรวจของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย พบว่าคนเสื้อแดงแถบนครปฐมมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ห่างไกลสุดกู่จากเส้นความยากจนของสภาพัฒน์

แต่คนเหล่านี้ ล้วนขาดหลักประกันความมั่นคงในชีวิต เช่นไม่ได้อยู่ในอาชีพที่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคม เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ไม่สะดวกนัก หาหลักประกันในด้านการศึกษาของบุตรหลานไม่ค่อยได้

คนเหล่า นี้ต้องการพื้นที่ทางการเมือง เพื่อผลักดันผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่เป็นปัญหาทางการเมือง ไม่ใช่การร้องทุกข์ทางเศรษฐกิจ หรือร้องขอการอุปถัมภ์จากรัฐ เขาจึงร่วมต่อสู้กับกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร หยิบฉวยสัญลักษณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่คิดว่าจะเพิ่มพลังของฝ่ายตน (เช่นทักษิณ) เรียกร้องเสรีภาพและเสมอภาคทางการเมือง รับเอาศัตรูทางการเมืองของบางกลุ่มมาเป็นศัตรูของตนเอง (ซึ่งก็ไม่ผิดนัก) และรวมเรียกว่า "อำมาตย์" ไม่มีโครงการหรือแผนการทางเศรษฐกิจอะไรที่ชัดเจน

แผนการทางการเมืองอย่างเดียวที่เรียกร้องคือการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลของการเลือกตั้งด้วย

ทั้ง นี้หมายความว่า แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของเขาคือกระบวนการปกติที่ใช้กันทั่วไปในระบอบ ที่เรียกตนเองว่าประชาธิปไตย ด้วยความเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และจะทำให้การเมืองแก้ปัญหาของเขาได้

แน่นอนว่า ความต้องการทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านี้ ย่อมกระทบต่ออำนาจการกำกับพื้นที่การเมืองของชนชั้นนำในระบบอย่างแน่นอน จะมากจะน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง (negotiation) แต่หากชนชั้นนำในระบบมองการเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อรอง เรื่องคงไม่นำไปสู่ความรุนแรงในเดือนเมษา-พฤษภา

แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้กลุ่มชนชั้นนำในระบบให้เข้าสู่การเจรจาต่อรอง

เพราะในขณะที่คนชั้นกลางรุ่นใหม่นอกพื้นที่การเมืองภายใต้การกำกับ กำลังจะดันตัวเองเข้าสู่พื้นที่การเมืองนี้เอง ภายในพื้นที่นี้เอง ก็กำลังมีการปรับตัวขนานใหญ่ เพราะคนชั้นกลางรุ่นเก่า (อันเคยเป็นคนชั้นกลางรุ่นใหม่เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว) กำลังขยับตัวเพื่อเข้าไปมีส่วนมีเสียงในพื้นที่นี้มากขึ้น กลุ่มทุนแตกร้าวกันเองอย่างหนัก ระหว่างกลุ่มที่เรียกว่า "ทุนเก่า" และ "ทุนใหม่" แม้ว่าชนชั้นนำตามจารีตยังยึดกุมภาวะการนำได้มั่นคง แต่ก็ไม่มีเอกภาพในการนำชัดเจนดังที่เคยเป็นมา

พูดสั้นๆ ก็คือสถานะในช่วงปั่นป่วนรวนเรของกลุ่มคนชั้นนำในระบบเอง ทำให้ตกเป็นฝ่ายอ่อนแอในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มคนนอก จึงย่อมปลอดภัยกว่าที่จะไม่มองการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ว่าเป็น ส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรอง

ทางเลือกที่เหลืออยู่ในการกันพื้นที่ทาง การเมืองในระบบไว้ให้อยู่ในกำกับต่อไปได้ ก็คือยุทธวิธีที่เคยใช้ได้ผลใน 6 ตุลา นั่นคือการปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่อย่าง เหี้ยมโหด แล้วปิดพื้นที่ทางการเมืองของกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่อาศัยมาตรการนอกกฎหมาย (หรือใช้กฎหมายโดยไม่มีกระบวนการตามกฎหมาย-due process) และนอกรัฐธรรมนูญ

ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ทางการเมืองไว้ให้แก่คนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เลือกจะ เข้ามา โดยยอมรับการกำกับของชนชั้นนำตามเดิม เช่นมีการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมการหาเสียง ปิดกั้นสื่ออิสระ และการจับกุมด้วยข้อหาที่คลุมเครือ

อย่าง ไรก็ตาม ยุทธวิธีที่เคยได้ผลดีมาก่อน เมื่อนำกลับมาใช้ใน พ.ศ.2553 ใหม่ ไม่น่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้อีก อย่างน้อยด้วยเหตุผลสองประการ

1/ การปิดพื้นที่ทางการเมืองของคนชั้นกลางรุ่นใหม่ไม่สามารถทำได้สนิทแนบแน่นเหมือนเมื่อ พ.ศ.2519-2520 ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ คือ ทำไม่ได้ในเทคโนโลยีสมัยปัจจุบันหนึ่ง และอำนาจทางวัฒนธรรมของระบบเสื่อมโทรมลง จนกระทั่งไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องข่าวสารและความเห็นอิสระได้ เสียแล้วอีกหนึ่ง

การปิดข่าวและความเห็นกลายเป็นการใช้อำนาจกับพรรค พวกตัวเอง เช่นสื่อที่เลือกจะยอมสยบต่ออำนาจเองกลับรู้สึกอึดอัดกับการควบคุมข่าวสาร ข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ

2/ จำนวนของคนชั้นกลางรุ่นใหม่มีมากกว่า "รุ่นใหม่" ของ 14 ตุลาอย่างเทียบกันไม่ได้ และบัดนี้ก็มีสำนึกทางการเมืองเสียแล้ว จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองระบอบเลือกตั้ง พรรคการเมืองใดที่ปฏิเสธบทบาทของคนกลุ่มนี้ก็ยากที่จะประสบชัยชนะ

เมื่อการแบ่งสีจืดจางลงในสังคมสักวันหนึ่งในอนาคต ทุกพรรคการเมืองก็ต้องพยายามเข้ามากวาดเก็บคะแนนจากคนชั้นกลางรุ่นใหม่เหล่านี้ การเมืองที่มีฐานมวลชนกำลังเริ่มเกิดในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฉะนั้นการรักษาการกำกับพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นนำจึงทำได้ยาก ตราบเท่าที่ยังเปิดให้มีพื้นที่การเมืองซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง จะกำกับพื้นที่นี้ด้วยการชักใยเบื้องหลังอย่างที่เคยทำมาจึงไม่ค่อยได้ผลนัก แม้แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้ รัฐบาลนั้นก็ขาดความชอบธรรมในสายตาของคนจำนวนมากในสังคม เช่นรัฐบาลปัจจุบัน

พื้นที่การเมืองซึ่งเคยอยู่ภายใต้การกำกับ กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความตึงเครียด จนแม้แต่การบริหารตามปกติก็ทำแทบไม่ได้ กลายเป็นพื้นที่ซึ่งต้องใช้กำลังทหารควบคุมไปทุกฝีก้าว (แม้แต่รองเท้าแตะ)

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พื้นที่นี้กลายเป็นพื้นที่ประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ ซึ่งสังคมไทยรับไม่ได้และนานาชาติจะรับไม่ได้มากขึ้นไปตามลำดับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net