Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เช่นเคย นักเคร่งศีลธรรมมักแสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อมีการอภิปรายว่าควรจะอนุญาตให้ ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งด้วยตนเองได้หรือไม่ ว.วชิรเมธี กล่าวว่าการทำแท้งเป็นบาปเพราะเป็นการฆ่าคน ทั้งคนทำแท้งและคนรับทำแท้งจะมีบาปติดตามตัวไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า เขาชี้ว่าหากไม่เร่งปลูกฝังศีลธรรมในเยาวชนและหากผู้คนยังตกเป็นทาสวัตถุ นิยม ปัญหาการทำแท้งจะไม่หมดไปจากสังคมไทย   

แต่การทำแท้ง รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มีนัยกว้างขวางและซับซ้อนเกินกว่าจะจำกัดขอบเขตการอภิปรายไว้เฉพาะการตีความ กฎศีลธรรม เพราะการมีเพศสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบทบาทที่ไม่เสมอกันระหว่างชายหญิง การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์หลายกรณีเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจของคู่สามี ภรรยา และการทำแท้งก็เป็นการท้าทายอำนาจเหนือความเป็นความตายของพลเมืองในรัฐสมัย ใหม่อย่างแหลมคม การอภิปรายรูปแบบการใช้ร่างกายทั้งสามอย่างรอบด้านและเท่าทันจำเป็นต้อง พิจารณาประเด็นเหล่านี้ประกอบด้วย

 
ผู้หญิงไทยมักถูกกำหนดให้เป็นฝ่ายตั้งรับในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างเพศ ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมคำสอนประเภทรักนวลสงวนตัวต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาษิตสอนหญิง เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประพันธ์ว่า “เป็นสตรีนี้ไซร้มิใช่ง่าย สงวนกายเราไว้อย่าให้หมอง” หน้าที่หลักของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องของการรักษาพรหมจารีของตนเองไว้ให้สามี ส่วนผู้หญิงที่ผันตัวเองเป็นฝ่ายรุกมักถูกตำหนิว่าร่านหรือใจแตก หรือหากไปมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสก็จะถูกพิพากษาทางสังคมว่ามีความผิดฐานคบ ชู้สู่สมหรือมีพฤติกรรมสำส่อน ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายไทยถูกจัดวางให้สวมบทรุกในความสัมพันธ์ระหว่างเพศ เช่น ได้รับอนุญาตให้เกี้ยวพาราสีผู้หญิงได้แต่พองาม ขณะที่หากผู้ชายฝ่าฝืนข้อกำหนดทางเพศก็ไม่จำเป็นต้องถูกประณามแต่เพียงสถาน เดียว ไม่ว่าจะเป็นเฒ่าหัวงูหรือพวกมักมากในกาม แต่พฤติกรรมดังกล่าวสามารถเป็นคุณสมบัติที่มีนัยพึงประสงค์ได้ เช่น การได้รับการขนานนามว่าเป็นขุนแผนหรือคาสโนวา ไม่เคยปรากฏว่าผู้ชายไทยถูกประณามว่าคบชู้หรือสำส่อนเมื่อนอกใจภรรยาหรือว่า คู่ควงไม่ว่าในกรณีใดๆ  
 
ความคาดหวังที่ไม่เสมอ กันดังกล่าวสร้างความยุ่งยากให้กับผู้หญิงไทยเมื่อถึงคราวมีเพศสัมพันธ์ เช่น เพราะถูกคาดหวังให้เป็นฝ่ายตั้งรับ ผู้หญิงไทยจึงประสบความยากลำบากในการสวมบทบาทเป็นผู้ริเริ่มหรือนำเสนอ มาตรการการมีเพศสัมพันธ์ที่รอบคอบและปลอดภัย จะให้ผู้ชายคิดกับผู้หญิงอย่างไรหากผู้หญิงพกถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์คุม กำเนิดอื่นๆ มาด้วยในการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกันครั้งแรก แทนที่จะเป็นสาวพรหมจรรย์อย่างที่ถูกคาดหวัง การกระทำดังกล่าวเปลี่ยนสถานภาพผู้หญิงเป็นผู้จัดเจนเรื่องโลกีย์ในทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าอย่างสำคัญ ฉะนั้น หากต้องการให้ผู้หญิงมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสร้างสรรค์การมีความสัมพันธ์ ทางเพศที่ปลอดภัยก็จำเป็นจะต้องตั้งคำถามกับข้อกำหนดและความคาดหวังต่อ ผู้หญิงในความสัมพันธ์ระหว่างเพศดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งแปลว่าจะต้องท้าทายกฎศีลธรรมส่วนที่มักถูกนำมาใช้ในการคัดค้านการทำแท้ง โดยตรง
 
ขณะเดียวกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มักถูกลดทอนให้เป็นเพียงผลพวงของการมี เพศสัมพันธ์ที่ไร้วุฒิภาวะ เป็นผลลัพธ์ของความรักสนุกที่ขาดความรอบคอบและยับยั้งชั่งใจของเด็กวัยรุ่น ใจแตก ทว่าในความเป็นจริงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์สามารถเกิดขึ้นได้ในหลาย เงื่อนไข โดยนอกจากกรณีสุดขั้วอย่างเช่นการข่มขืน การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยา (ไม่จำเป็นว่าจะต้องจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่) ในบางกรณีสามารถนำไปสู่การตั้งครรภ์ในลักษณะดังกล่าวได้ เช่น ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ คนหาเช้ากินค่ำหรือคนงานค่าแรงต่ำจำนวนมากไม่มีเวลาให้กับการคิดเรื่องการ คุมกำเนิดมากนัก การป้องกันมักกระทำอย่างไม่รัดกุม โอกาสพลาดจึงมีสูง และเมื่อพลาดแล้วก็ไม่สามารถที่จะแบกรับภาระทางเศรษฐกิจที่จะตามมาได้ จึงกลายเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ไปในที่สุด ฉะนั้น การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาความบกพร่องทางศีลธรรมของ ปัจเจกบุคคลที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเทศนา หรือเป็นอาการใจแตกของเด็กวัยรุ่นที่สามารถป้องกันได้ด้วยการอบรมสั่งสอน แต่เป็นอาการปรากฏของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องอาศัยการจัด ระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ใหม่ในการคลี่คลาย
 
นอกจากนี้ การต่อต้านและการประณามการทำแท้งด้วยกฎศีลธรรมทำให้มองไม่เห็นว่าการทำแท้ง เป็นปัญหาของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเหนือชีวิตระหว่างปัจเจกบุคคลกับรัฐ สมัยใหม่ โดยนอกจากการปกป้องชีวิตพลเมืองในฐานะทรัพย์สิน รัฐสมัยใหม่ผูกขาดสิทธิและอำนาจเหนือความเป็นความตายของผู้คนในเขตแดนของตน มีเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน ได้อย่างถูกกฎหมาย มีเฉพาะผู้พิพากษาโดยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่สามารถออกคำสั่งประหารชีวิตผู้ กระทำผิดได้ (และมีเฉพาะพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ทรงพระราชทานอภัยโทษประหารชีวิตได้) ส่วนความรุนแรงและความตายที่ไม่เข้าข่ายนี้จัดเป็นอาชญากรรมหรือฆาตกรรมที่ จะต้องถูกลงทัณฑ์ ฉะนั้น การที่ผู้หญิงทำแท้งโดยพลการหรือไม่มีกฎหมายรองรับจึงเป็นฆาตกรรมในสายตาของ รัฐ เพราะเป็นการทำลายชีวิตที่รัฐอ้างสิทธิในการปกป้องคุ้มครอง ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายอำนาจเหนือความตายของผู้คนของรัฐ เพราะมีแต่รัฐเท่านั้นที่มีสิทธิอำนาจจะพรากชีวิตพลเมืองของตนได้ ผู้หญิงอาจมีสิทธิในการให้ชีวิต แต่ไม่สามารถใช้สิทธิเหนือเนื้อตัวหรือร่างกายของตนเป็นข้ออ้างในการพราก ชีวิตผู้อื่น เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากรัฐ เพราะแม้กระทั่งชีวิตของผู้หญิงเองก็มีรัฐเป็นผู้ผูกขาดสิทธิอำนาจในการปก ป้องและทำลายมาตั้งแต่ต้น
 
การทำแท้งจึงชี้ให้เห็นปัญหารากฐาน ของสังคมร่วมสมัยที่ไปไกลกว่าความเสื่อมทรามทางศีลธรรมและการตกเป็นทาสของ วัตถุนิยมของผู้คน เพราะนอกจากจะเป็นผลพวงของความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ไม่เสมอกันที่กีดกัน ผู้หญิงออกจากการมีบทบาทในการสร้างสรรค์เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การทำแท้งเป็นอาการปรากฏของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สร้างรูปแบบชีวิต ที่สุ่มเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และมีทางเลือกในการแก้ปัญหา จำกัดเฉพาะสถานทำแท้งราคาถูก ขณะเดียวกันการถกเถียงเรื่องการทำแท้งก็ชี้ให้เห็นว่าร่างกายเป็นอาณาบริเวณ ที่ปัจเจกบุคคลกับรัฐช่วงชิงการอ้างสิทธิและอำนาจอย่างเข้มข้น การหาข้อยุติให้กับปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย กระนั้นก็คงไม่ใช่ด้วยการเทศนาหรือว่าอบรมจริยธรรม เพราะนอกจากจะลดทอนความสลับซับซ้อนของปัญหา วิธีการทั้งสองคือส่วนหนึ่งของปัญหาเมื่อมาถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง หญิงชายในสังคมไทย
 
 
 
เผยแพร่ครั้งแรกใน:คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 13 วันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net