การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและแหล่งเงินทุนของ SME

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยเรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ได้นำเสนอบทความวิจัยหัวข้อ การสร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ : โอกาสสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก-ขนาดกลาง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
 
ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแสดงว่าในปี พ.ศ. 2552 มีวิสาหกิจในประเทศไทยทั้งหมด 2,832,651 ล้านราย จากจำนวนดังกล่าวเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมตามนิยามที่กำหนดโดยประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2545 [1] ถึง 2,819,547 เป็นวิสาหกิจขนาดกลางเพียง 8704 รายและขนาดใหญ่ 4388 ราย นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงว่า จากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด เพียงร้อยละ 20 หรือประมาณ 5 แสนกว่ารายจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่เหลือเป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะของคณะบุคคลหรืออาจเป็นกิจการนอกระบบที่ไม่ได้นำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล
 
นโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นนโยบายที่มีมาตลอดทุกรัฐบาลทุกสมัย การศึกษานี้ต้องการที่จะประเมินว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐที่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและแหล่งเงินทุนมากน้อยเพียงใด โดยมาตรการที่ศึกษามีทั้งหมด 11 รายการ ประกอบด้วยมาตรการในการลดหล่อนภาษีสรรพากร 2 รายการ มาตรการยกเว้นหรือชดเชยภาษีศุลกากร 4 รายการ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2 รายการ มาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุน (equity) 2 รายการ และ แหล่งเงินกู้ 1 รายการตามที่ปรากฏในตารางด้านล่าง
 
 
คุณสมบัติวิสาหกิจที่สามารถใช้สิทธิ
จำนวน SME ที่ใช้ประโยชน์ 2552
1.   การลดหย่อนภาษีนิติบุคล
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 431 และ 471)
ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท
174,990
2.   การลดอัตราค่าสึกหรอและค้าเสื่อมราคาทรัพย์สิน
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 395 และ 473)
สินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
 
 
ไม่มีข้อมูล
3.   สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนทั่วไป
การลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน และมีอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1
848 (จำแนกตามขนาดของโครงการ)
4.   สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะสำหรับ SME ตามประกาศ 6/2546
การลงทุนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาทไม่รวมที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน และมีอัตราหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 3 ต่อ 1
20
(ข้อมูลปี 50)
5.   การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ venture capitalist
(พรฏ ตามประมวลรัษฎากรฉบับที่ 396)
-        เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
-        ต้องลงทุนใน SME ตามสัดส่วนของเงินทุนจดทะเบียนชำระแล้วตามข้อกำหนด
0
6.   การร่วมทุนโดย สสว.
เป็น SME ตามนิยามของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
55
7.   การให้สินเชื่อโดย ธพว.
เป็น SME ตามนิยามของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม
18,789
8.   ยกเว้นภาษีในการนำเข้าวัตถุดิบเขตปลอดอากร
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
158 (ข้อมูล ตค 53)
9.   มาตรา 19 ทวิ
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
1,423 (ข้อมูล ตค 53)
10. ขอชดเชยอากรสินค้าส่งออก
ไม่มีข้อกำหนดใดๆ
3,092 (ข้อมูล ตค 53)
 
ผลการประเมินพบว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพียงไม่กี่รายที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ยกเว้นในกรณีของมาตรการในการลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 1.77 แสนรายที่ยื่นเสียภาษีนิติบุคคลในปี พ.ศ. 2552 ใช้สิทธิเกือบทุกราย เนื่องจากสิทธิพิเศษดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขใดๆ ในการใช้ประโยชน์นอกจากขนาดของทุนจดทะเบียนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม การเข้าถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ล้วนมีข้อจำกัด ในส่วนของมาตรการลดหล่อนภาษีโดยการหักค่าเสื่อมในอัตราที่สูงกว่าปกติยังไม่สามารถประเมินการใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากยังไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้สิทธิดังกล่าวโดยสรรพากร ในขณะที่สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนนั้นไม่มีการแยกสถิติข้อมูลการส่งเสริมตามขนาดของวิสาหกิจที่ได้รับการส่งเสริมหากแต่มีการจำแนกตามขนาดของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งส่วนมากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง ยกเว้นในกรณีของโครงการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเป้าเฉพาะสำหรับ SME ซึ่งมีการประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2546 นั้นมีผู้ได้รับสิทธิเพียง 20 รายในปี พ.ศ. 2550
 
ในส่วนของมาตรการยกเว้นหรือชดเชยภาษีศุลกากรนั้น พบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไม่กี่รายได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ระบบคลังสินค้าทัณฑ์บนหรือเขตปลอดอากร ส่วนมากจะใช้สิทธิในการชดเชยภาษีอากรมากกว่า เนื่องจากต้นทุนในการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์ค่อนข้างสูงในขณะที่เขตปลอดอากรมีจำกัด ส่วนมากจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมยกเว้นในกรณีของอุตสาหกรรมที่รัฐส่งเสริม เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ หรือ อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการประกาศให้เขตโรงงานผลิตเป็นเขตปลอดอากร
 
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนมากใช้สิทธิในการชดเชยอากรตาม พ.ร.บ. ชดเชยภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2424 หากแต่การชดเชยยังมีปัญหาความล่าช้าในการชดเชยซึ่งมีผลทำให้ SME ขาดสภาพคล่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของศุลกากรที่ผ่านมาคือการให้ผู้ประกอบการต้องวางเงินค้ำประกันลอย หรือให้บุคคลหรือหน่วยงานเอกชนอื่นค้ำประกันแทนจึงจะได้รับการชดเชยที่รวดเร็วรวมทั้งได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีอีกด้วย เงื่อนไขดังกล่าวสร้างภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่วิสาหกิจขนาดย่อมที่มีเงินทุนจำกัด
 
สุดท้าย ในส่วนของมาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุนให้แก่ SME นั้น พบว่ามาตรการที่มุ่งสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนร่วมลงทุนกับ SME โดยให้การลดหย่อนภาษีรายได้นิติบุคคลนั้นล้มเหลวเนื่องจากไม่มีบริษัทรายใดที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้เลยในช่วง 8 ปีผ่านมา ในขณะที่การเข้าไปร่วมลงทุนของภาครัฐเองโดยผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผ่านมา 6 ปีมีโครงการที่เข้าไปร่วมทุนเพียง 55 โครงการ และในปัจจุบันยังติดพันกับปัญหาจากการที่โครงการที่เข้าไปร่วมทุน 43 โครงการในช่วงรัฐบาลทักษิณในอดีตนั้นไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรรมการของ สสว. อีกด้วย
 
มาตรการในการอำนวยความสะดวกแหล่งเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดย่อมนั้นพบว่าเงื่อนไขในการให้สินเชื่อนั้นมีความเข้มงวดไม่ต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนถึงให้เห็นว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีการประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากกว่าในเชิงส่งเสริม เนื่องจากกระทรวงการคลังยังคงให้ความสำคัญแก่ดัชนีชี้วัดผลดำเนินการทางการเงินของ ธพว. นอกจากนี้แล้วโครงการสินเชื่อกว่าครึ่งหนึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ เช่น การปล่อยกู้โครงการแท็กซี่เอื้ออาทรในอดีต หรือ โครงการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกรณีการประท้วงที่ราชดำริ โครงการเหล่านี้นอกจากจะเป็นการเบียดเบียนทรัพยากรที่ควรได้รับการจัดสรรให้แก่ SME ที่มีความจำเป็นในการมีแหล่งเงินกู้แล้ว ยังสร้างภาระหนี้เสียให้แก่ ธพว. อีกด้วยเนื่องจากมีการผ่อนปรนเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการตามนโยบายรัฐบาล
 
คณะผู้วิจัยมีความเห็นว่า แนวนโนยายและมาตรการในการส่งเสริม SME ไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่โดยเริ่มจากการทบทวนหลักเกณฑ์ในการจำแนกขนาดของวิสาหกิจที่กระชับมากขึ้น โดยการกำหนดให้วิสาหกิจที่จัดเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขจำนวนการจ้างงานและทุนจดทะเบียน นอกจากนี้แล้วอาจพิจารณาใช้รายได้เป็นเกณฑ์เพิ่มเติมอีกด้วย รวมทั้งมีการจำแนกวิสาหกิจขนาดย่อมจำนวน 2.9 ล้านรายในปัจจุบันเป็นกลุ่มย่อย ทั้งนี้ นโยบายในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมของรัฐบาลควรจะแยกแยะระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพราะวิสาหกิจในสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างมากจึงไม่ควรเหมารวมกัน
 
นอกจากนี้แล้ว การที่วิสาหกิจกว่าร้อยละ 80 อยู่นอกระบบนั้น รัฐควรมีมาตรการด้านภาษีในการจูงใจให้วิสาหกิจขนาดย่อมและรายย่อยเข้ามาในระบบมากขึ้น อัตราภาษีนิติบุคคลที่ค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 30 เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้วิสาหกิจจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้าระบบจึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ นอกจากนี้แล้วควรมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่างๆ ที่มีอยู่ว่ามีประสิทธิผลในการช่วยลดภาระต้นทุนให้แก่ SME ได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการใช้สิทธิให้ใช้ประโยชน์ได้จริงมากขึ้น สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการค้ำประกันเช่นในกรณีของการชดเชยภาษีศุลกากรนั้น รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ขาดทุนทรัพย์ด้วย
 
สำหรับมาตรการในการส่งเสริมแหล่งเงินทุนและแหล่งเงินกู้ให้แก่ SME นั้น คณะผู้วิจัยเห็นว่าในส่วนของแหล่งเงินทุนรัฐควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนา SME มากกว่าการให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมลงทุนเอง ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎ ระเบียบที่ให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีแก่ผู้ที่ร่วมลงทุนให้ใช้ประโยชน์ได้ในทางปฏิบัติ โดยการปรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถใช้สิทธิและข้อกำหนดในการลงทุนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ
 
ในส่วนของ แหล่งเงินกู้นั้น รัฐควรพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขในส่วนของสินทรัพย์ค้ำประกันในการปล่อยกู้สำหรับวิสาหกิจขนาดย่อมโดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ต้องการรับสินเชื่อต้องปรับปรุงวิธีการในการบริหารธุรกิจให้เป็นระบบโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายและงบดุลเป็นการแลกเปลี่ยน การปล่อยกู้ตามนโยบายของภาครัฐนั้นควรแยกบัญชีรายรับ รายจ่ายและหนี้เสียซึ่งแสดงในรายงานผลการดำเนินงานประจำปีของ ธพว. เพื่อที่จะสามารถประเมินผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธนาคารรวมทั้งประเมินความเสียหายจากโครงการตามนโยบายของรัฐด้วย ทั้งนี้ การประเมินผลงานของ ธพว. และระบบแรงจูงใจที่ใช้ควรสะท้อนขีดความสามารถในการกระจายสินเชื่อสู่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการแหล่งเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าผลการดำเนินงานทางการเงิน
 
[1] กิจการผลิตสินค้า ที่มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท