Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เป็นแบบนี้แหละ... อยู่ชายแดนก็ต้องทำใจ" สาวใหญ่เจ้าของร้านขายของชำกลางเมืองแม่สอด บอกกับผมหลังฟังรายงานข่าวการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่บ้านแม่โกนเกนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา "มันยังไม่จบหรอก ต่อไปนี้เรื่องแบบนี้ยังจะมีต่อเรื่อยๆ"

 
ความคิดเห็นของเจ้าของร้านค้าในเมืองแม่สอดที่ผมได้ฟังในเย็นวันนี้ ไม่ต่างจากลุงเจ้าของร้ายขายของชำที่ผมพบเมื่อเช้า ร้านของแกอยู่ข้างวัดห้วยมหาวงก์ในหมู่บ้านแม่โกนเกนซึ่งเป็นที่หลบภัยของผู้ลี้ภัยจากการสู้รบระหว่างทหารพม่าและกองกำลัง DKBA ภายใต้การนำของนายพลนาคามวย เขาบอกผมว่าไม่รู้สึกแปลกใจหรือตกใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาได้อยู่แล้วและการสู้รบครั้งนี้ก็เป็นเพียงการต่อสู้ครั้งเล็ก ๆ ครั้งนี้ไม่น่ากลัวหรอก เมื่อวานได้ข่าวว่ามีลูกปืนใหญ่ตกมาถูกควายตายไปหนึ่งตัว พวกหัวหน้าก็ไปคุยให้ เดี๋ยวก็ได้เงินคืนชดเชยแล้วก็จบกันไป นี่เมื่อกี้ก็ได้ยินเสียงตามสายประกาศบอกให้คนที่หนีเข้ามากลับไปได้แล้ว... ไม่เป็นไรหรอก" แกยังพูดอย่างไม่ยี่หระ
 
สายของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 สิ้นเสียงประกาศของเจ้าหน้าที่ไทยว่าทหารพม่าควบคุมสถานการณ์ในหมู่บ้านปะลูได้แล้ว ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ ลานวัดห้วยมหาวงก์ก็ดูวุ่นวายโกลาหลขึ้นมาทันที
ผู้ลี้ภัยกว่าพันคนเตรียมก๋วยใส่ของ ถุงกระสอบ เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มารอรถของเจ้าหน้าที่ที่จะพาพวกเขากลับบ้าน แต่อีกมุมหนึ่งของวัด กลุ่มชาวบ้านจากหมู่บ้านปะลูโพ (ผาลูน้อย) กำลังกังวลกับคำประกาศของเจ้าหน้าที่ให้พวกเขากลับบ้านได้
 
"ขอให้พวกเราอยู่ต่อ รอฟังข่าวอีกนิดไม่ได้หรือ ? ป้าคนหนึ่งจากบ้านปะลูโพบอกกับอาสาสมัคร
ชาวปกาเกอะญอที่เป็นล่ามให้เจ้าหน้าที่ไทย “DKBA ออกจากหมู่บ้านแล้วก็จริง แต่ทางที่พวกนั้นถอยทัพไปเป็นทางที่ต้องผ่านหมู่บ้านของฉัน จะแน่ใจได้อย่างไรว่าระหว่างการถอยทัพจะไม่มีการต่อสู้กันอีกรอบ ลองคิดดูถ้าทหารพม่าตามไปปราบกองกำลังฝ่ายตรงข้ามหรือกองกำลังฝ่ายตรงข้าม คิดจะกลับไปโจมตีทหารพม่าอีกครั้ง หมู่บ้านของฉันซึ่งอยู่ตรงกลางจะเป็นอย่างไร ให้พวกเรากลับไปตอนนี้ก็เท่ากับว่าส่งพวกเราไปอยู่กลางสงคราม
 
"ใครจะกล้ากลับ ..." ชายวัยกลางคนที่อุ้มลูกสาวตัวน้อยพูดขึ้น เขากลัวว่าหากกลับไปตัวเองจะต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบถ้าทหารพม่าคิดจะออก ติดตามกองกำลังฝ่ายตรงข้าม เขารู้ว่าหากถูกเลือกให้ไปเป็นลูกหาบแล้วจะต้องเดินนำหน้าทหารพม่าคอยเป็น เกราะกำบังลูกกระสุนปืนให้
 
ไม่นานนักรถของเจ้าหน้าที่คันหนึ่งก็ถอยเข้ามาบริเวณลานวัดพร้อมกับเสียงคนขับที่ตะโกนว่า เกาะมะนาว...เกาะมะนาวแต่ป้าแก่ๆคนหนึ่งยังคงนั่งนิ่งอยู่ข้างกระสอบใส่ของ "สถานการณ์แบบนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าจะกลับดี ไม่กลับดี... ข้าวสักต้นก็ยังไม่ได้เกี่ยว ข้าวโพดในไร่ก็เหลืองอยู่รอให้หัก ถั่วอีกสองปี๊บที่พึ่งลงดินไปก็ไม่มีใครดูแล ถ้าไม่กลับตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะเอาอะไรกิน"
 
แม้จะบอกอย่างนี้แต่แกก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะลุกไปขึ้นรถ แกบอกกับผมว่า จริงๆแล้วไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการกินอยู่มากนักหรอก เพราะหากไม่มีข้าวก็ยังข้ามน้ำมาฝั่งไทยเพื่อรับจ้างทำงานแลกข้าวกินได้ แต่ที่ห่วงก็คือหนี้ที่เกิดจากการลงทุนปลูกข้าวโพดและถั่ว แกไปยืมเมล็ดพันธุ์มาจากเถ้าแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งเถ้าแก่ก็รับมาจากฝั่งไทย กู้กันเป็นทอดๆ ราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าก็ต้องแพงขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าแกไม่รีบกลับไปเก็บเกี่ยวผลผลิตตอนนี้ แกก็คงไม่มีทางปลดหนี้ที่กู้มาลงทุนได้แน่ ๆ
 
ผู้ลี้ภัยกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าทยอยขึ้นรถกลับบ้าน กระทั่งบ่ายสองกว่าๆ อาสาสมัครปกาเกอะญอผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามบอกกับคนที่ยังเหลือว่า "เราช่วยพูดให้เต็มที่ได้เท่านี้ ถ้ายังไม่กล้ากลับไปหมู่บ้าน ก็ให้รอดูสถานการณ์อยู่ริมแม่น้ำก่อน เตรียมที่หลับที่นอนหุงหาข้าวกินอยู่แถวนั้น ถ้าสถานการณ์ไม่ดีก็ให้กลับมา" แล้วเขาก็หันไปคุยกับเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ข้างๆว่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ยังกลัวว่าหากมีการสู้รบอีก ทหารไทยจะไม่ยอมให้หนีเข้ามา เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ข้างๆ หันมายิ้มอย่างเป็นมิตรให้กับผู้ลี้ภัย แล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรหรอก ยังไงก็ให้กลับเข้ามา ถึงจะเป็นทหารก็มีมนุษยธรรมพอนะ
 
หลังจบการข่าวห้าโมงเย็น ผมขับรถออกจากร้านขายของชำกลางเมืองแม่สอด ค่ำนี้แม่สอดดูไม่คึกคักเหมือนหลายเดือนก่อน ร้านรวงต่างๆเริ่มปิด ผู้คนทยอยกลับเข้าบ้าน ผมไม่รู้ว่าเด็กน้อยที่ถูกแม่อุ้มขึ้นเรือเพื่อข้ามน้ำไปเกาะมะนาวเมื่อกลางวันจะกลับถึงบ้าน หรือต้องนอนคอยฟังสถานการณ์อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอีกคืน เหตุการณ์เหล่านี้คงจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาเมื่อเขาโตขึ้นเป็นคนชายแดน คนที่ต้องทำใจกับสงครามที่ไม่มีท่าทีจะจบลง   
 
 
ใครๆมักถามว่าศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนเป็นใคร ? ---แนะนำกันอีกครั้งค่ะ
 
 
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนเป็นพื้นที่ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ อดิศร เกิดมงคล, พรสุข เกิดสว่าง, บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ และบัณฑิต แป้นวิเศษ พวกเราเชื่อว่า สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net