Skip to main content
sharethis

2 ธ.ค. 2553 - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงาน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม.กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า ในเรื่องนี้รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาการคุมขังที่ผ่านมาใช้เวลาเนิ่นนานเกินและถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้รัฐบาลควรปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังและยังไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญาเห็นว่า ควรเป็นดุลยพินิจของศาลในเรื่องของการประกันตัว อย่างไรก็ตามในการศึกษาหาข้อเท็จจริงที่กสม.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา ศึกษาในกรณีการชุมนุมช่วงตั้งแต่งวันที่ 12 มี.ค.- 20 พ.ค. และในช่วงหลังวันที่ 20 พ.ค.ที่มีการคุมขังแกนนำและผู้ชุมนุม พบว่า มีการละเมิดสิทธิทั้งสองช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ชุมนุม

นางอมรา กล่าวว่า ในการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่กสม.ที่ตั้งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการเก็บข้อมูลผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงจำนวน 201 คน จากที่เชิญไปกว่าพันคน และหลังจากนี้จะเชิญเจ้าหน้าที่รัฐมาชี้แจงในช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งในส่วนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มั่นใจว่านายกฯ จะให้ความร่วมมือมาชี้แจงหรือไม่ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถสรุปผลการตรวจสอบ เพื่อทำเป็นรายงานสรุปเสนอรัฐบาลได้ภายในเดือนม.ค.ปี พ.ศ. 2554

นางอมรา กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการฯพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายด้าน ประกอบด้วย

1.สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องขัง เพื่อออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติและต่อสู้คดี ซึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีสภาพที่ไม่คิดหลบหนีหรือออกไปก่อความรุนแรง เพราะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 10 คน และมีบางส่วนเป็นผู้เจ็บป่วยและมีโรคประจำตัว บางรายอยู่ในขั้นแพร่ไวรัสตับอักเสบอย่างรุนแรง นอกจากนี้มีหญิงรายหนึ่งเป็นเนื้องอกในมดลูกที่ต้องได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าร่วมดูเหตุการณ์หรือร่วมชุมนุมโดยมิได้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรง

2.การได้รับการช่วยเหลือทางคดีจากทนายความ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาที่ยากไร้ไม่สามารถจัดจ้างทนายความได้ บางส่วนเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ไม่ร้ายแรง แต่รัฐกลับไม่จัดหาทนายให้ ส่วนผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษร้ายแรง ทนายความที่รัฐจัดหาให้มักจะร่วมกับพนักงานสอบสวนเกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องหารับสารภาพ โดยอ้างว่า เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย หากรับสารภาพจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นหรือมีโทษรอลงอาญาเช่นเดียวกับคดีเมาแล้วขับ นอกจากนี้การควบคุมจะไม่อนุญาตให้มีการติดต่อสื่อสาร ทำให้ไม่มีโอกาสได้ปรึกษาหารือกับทนายความ

3.การทรมานและการทารุณกรรม เบื้องต้นพบว่ามีผู้ต้องหาจำนวน 16 คน โดยหนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีด้วยกระบองจนหมอบและถูก จับคุมขังในรถขนผู้ต้องขังเป็นเวลา 2 วัน โดยไม่ได้รับการรักษาพยาบาล แม้แต่ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบ

4.การใช้อำนาจเกินขอบเขตเข้าจับกุมตัว ควบคุมตามอำเภอใจและตั้งข้อหาร้ายแรง ตรวจสอบพบว่า บางครั้งเป็นการจับกุมตามภาพถ่ายและเป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแหไม่แยกแยะ ระหว่างผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เข้าร่วมดูเหตุการณ์หรือผู้ร่วม ชุมนุมโดยมิได้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรง และ 5.สภาพความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำบางแห่ง ตรวจสอบพบว่า ไม่มีการแยกผู้ต้องขังทางการเมืองกับผู้ต้องขังคดีอาญา รวมทั้งผู้ต้องขังต้องทำงานหนัก โดยให้ปั้นถ้วย ทำกรวยกระดาษ และประกอบไฟแช็คจำนวนมาก
 

ที่มา - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net