Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตามที่มีข่าวว่าจะมีการตัดต้นจามจุรี (ก้ามปู ฉำฉา) ยักษ์อายุนับร้อยปีจำนวนหลายต้นและต้นไม้ขนาดใหญ่อื่น ในพื้นที่ใกล้ปากซอยสุขุมวิท 35 และก็มีกลุ่มคน Bigtrees Project ที่มีสมาชิก 5,723 ราย (นับถือขณะเขียนบทความ) ออกมาปกปักรักษาต้นไม้กันใหญ่ ก่อนที่จะคิดทำอะไรต่อ ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจึงขอประมาณการต้นทุนการอนุรักษ์ต้นจามจุรีดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิจารณา

ที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ห่างจาก ถ.สุขุมวิท 35 ตรงข้ามห้างเอ็มโพเรียมประมาณ 100 เมตร มีสภาพทิ้งรกร้างเป็นป่า มีต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีอยู่หลายต้น ตามข่าวบอกว่าเจ้าของที่ดินคือกลุ่มไบเทค และจะนำที่ดินดังกล่าวไปสร้าง ‘เอ็มโพเรียม 2’

ได้มีข้อเสนอให้ย้ายต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ออกนอกพื้นที่แทนที่จะตัดทิ้ง อย่างไรก็ตาม หากจะย้ายต้นไม้จริง ต้องริดกิ่งที่แผ่กิ่งก้านในรัสมี 30 เมตร เหลือสภาพคล้าย ‘ธูป’ การย้ายต้นไม้เช่นนี้ ต้นไม้มีโอกาสรอด 20% และหากต้นไม้รอดตาย ก็เสียกิ่งก้านที่สวยงาม และต้องใช้เวลานานนับเดือน

หนทางเดียวที่จะรักษาต้นไม้ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ก็คือการไม่ตัดต้นไม้ ซึ่งหมายความว่าต้องมีการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวมาทำเป็นป่าหรือสวนสาธารณะ และปรับปรุงทัศนียภาพ ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามในการนี้ ต้องมีต้นทุนค่าดำเนินการ ซึ่งต้นทุนหลักคงเป็นต้นทุนด้านที่ดิน ส่วนต้นทุนการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้เป็นเช่นสวนสาธารณะ ค่าดำเนินการ สิ่งอำนวยความสะดวก การดูแลรักษา คงเป็นเงินไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าที่ดิน
จากการสำรวจต่อเนื่องของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งดำเนินการสำรวจราคาที่ดินต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 พบว่า ราคาที่ดินติดถนนสุขุมวิทในบริเวณติดรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์นี้ เป็นเงินตารางวาละ 800,000 บาท

สำหรับที่ดินในซอย เช่นที่ดินแปลงนี้อาจเป็นเงินตารางวาละประมาณ 500,000 บาท อย่างไรก็ตามหากสามารถนำมาเชื่อมต่อกับแปลงหน้าเพื่อก่อสร้างเป็น ‘เอ็มโพเรียม 2’ ราคาที่ดินทั้งผืนที่ติดถนนและผืนที่เป็นป่ารวมกันคงเป็นเงินไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 600,000 บาท หากที่ดินแปลงนี้มีขนาด 1,000 ตารางวา มูลค่าที่ดินหรือต้นทุนที่ดินในการทำสวนสาธารณะคงเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท

เงิน 500 ล้านบาทนี้ ใครควรเป็นผู้จ่าย ชาวบ้านหรือเจ้าของที่ดินใกล้เคียงที่จะได้รับประโยชน์โดยตรง จะยินดีจ่ายหรือไม่ ชาวกรุงเทพมหานครหรือกลุ่มอนุรักษ์จะสามารถระดมเงินมาจ่ายหรือไม่ กรุงเทพมหานครสมควรจ่ายหรือไม่ เพราะผู้ได้ประโยชน์อาจอยู่ในพื้นที่เขตคลองเตยและเขตวัฒนาเป็นสำคัญ

หากรัฐบาลส่วนกลางเป็นผู้จ่าย ก็เท่ากับการจ่ายเงินจากภาษีอากรของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ เพื่อคนที่ได้รับประโยชน์จำนวนหนึ่งเป็นสำคัญ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมในอีกแง่หนึ่ง ดังนั้นทุกฝ่ายจึงควรพิจารณาให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตามปัญหานี้เป็นผลของปัญหาการไม่มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะหากมีภาษีประเภทนี้ เจ้าของที่ดินก็คงไม่เก็บที่ดินให้รกร้างว่างเปล่ามานับร้อยปีจนต้นไม้มีอายุนับร้อยปี เพราะจะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 0.5% ต่อปี ยิ่งในต่างประเทศก็คงเสียภาษีมากกว่านี้คือประมาณ 1-2% ต่อปี

หากมีกฏหมายการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเจ้าของที่ดินไม่ได้จ่ายภาษีมาถึงทุกวันนี้ ก็เท่ากับที่ดินแปลงนี้น่าจะตกเป็นของรัฐ หรือของประชาชนโดยรวมไปแล้ว ไม่ใช่กลายเป็นการทิ้งไว้ให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นและได้ประโยชน์เฉพาะเจ้าของที่ดิน (โดยเฉพาะรายใหญ่) เช่นที่เกิดขึ้นเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่หนึ่งต้นจามจุรีนี้ใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งหักง่าย เป็นอันตรายต่อคนอยู่ใกล้ เรียกว่าเป็นต้นไม้สง่างามที่ ‘สวยแต่รูป จูบไม่หอม’ ถ้าเราคิดจะอนุรักษ์ไว้โดยไม่ใช้เงินจากกระเป๋าของเรา ก็อาจถือเป็นความดีที่ไร้รากนะครับ

อ้างอิง:
ชาวเฟซบุ๊กโวยต้านนายทุนตัด"ต้นจามจุรี100ปี"
คนออนไลน์ฮึดหนุน โปรเจ็กต์"BIGtrees" ยื้อชีวิตต้นไม้ใหญ่ใน กทม.
“Pmoi Chuchu” มิตรใน facebook ของผมเขียนว่า “หนูไปได้ข้อมูลจากกรมป่าไม้ มาว่า พบข้อเสียของต้นจามจุรีว่า 1. จามจุรีเป็นพืชตระกูลถั่ว เป็นไม้เนื้ออ่อนแตกกิ่งก้านสาขามาก ระบบรากไม่ลึก อาจล้มได้ จึงไม่ควรปลูกใกล้ๆบ้านเรือนที่พักอาศัย 2. ใบมีพิษ ประกอบด้วยแอลคาลอยด์ที่เป็นน้ำมันซึ่งสามารถใช้ เป็นยาสลบที่มีคุณสมบัติไปทำลายปลายประสาท 3. ดอก มีเกสรที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้. . . แต่ไม่ใช่ว่าจามจุรี จะไม่มีประโยชน์ซะทีเดียว คุณประโยชน์ของจามจุรีก็มีมากมายเหมือนกัน . . . หนูจำได้ว่าหลายปีก่อน ต้นจามจุรีแถวถนนหน้าโรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามเคยล้ม เนื่องภายในลำต้นเป็นโพรง พอพายุฝนฟ้าคะนองมา ก็ล้ม รู้สึกจะทับเด็กเสียชีวิตด้วยค่ะ”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net